วิกฤติชิพวงการผลิตรถยนต์ป่วนซัพพลายเชนโลก – กรุงเทพธุรกิจ

ปีที่ผ่านมาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (ซัพพลายเชน) เป็นวงกว้าง วิกฤติขาดแคลนชิพของผู้ผลิตรถยนต์ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและกระจายไปยังภาคส่วนอื่นด้วย

วิกฤติชิพเกิดจากในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทั่วโลกออกข้อจำกัดควบคุมการเดินทางการใช้รถใช้ถนนน้อยลง ผู้ผลิตชิพให้ความสำคัญกับสินค้าประเภทสมาร์ทโฟนและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นมากกว่าก่อน

ชิพถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อนเพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์ จากนั้นพัฒนามาใช้ในรถยนต์จนกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดและราคาแพงสำหรับอุปกรณ์ทันสมัยที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ การที่อุปทานชิพมีไม่พอทำให้ขาดแคลนไปทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากความต้องการสมาร์ทโฟนและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงเกินคาดในช่วงโควิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ระยะหลังชิพหรือเซมิคอนดักเตอร์ ถูกออกแบบมาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น การผลิตก็ยากขึ้น นี่คือเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้ซัพพลายโลกขาดแคลน หากจะตั้งโรงงานใหม่ต้องใช้เวลาและเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่่องจากโควิด-19 ระบาดทำให้ซัพพลายชิพน้อยลง ปัจจัยหลักมาจากมาตรการกักตัวเปิดทางให้ผู้คนทำกิจกรรมที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน หรือความบันเทิง ซึ่งต้องกระทำผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต แม้แต่เครื่องเล่นเกม

โควิดยังบีบให้หลายๆ บริษัทพัฒนาระบบการทำงานทางไกล และติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งชิพนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับเทคโนโลยีทุกด้าน ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ไปจนถึงในระบบรถยนต์ไฟฟ้า ปัญหาคอขวดช่วงโควิดจึงเริ่มที่อุตสาหกรรมรถยนต์ก่อน

สำนักข่าวอนาโดลูของตุรกีรายงานอ้างข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (เอสไอเอ) ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกปี 2563 เพิ่มขึ้น 6.5% จากปี 2562 ทะลุ 4.39 แสนล้านดอลลาร์ หากเทียบเป็นรายภูมิภาคยอดขายในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น 19.8% ขณะที่ยอดขายในจีน ตลาดชิพใหญ่สุดของโลกเพิ่มขึ้น 5%

ดีมานด์สูงเกินคาด

ความต้องการที่สูงมากชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมแรกที่รู้สึกได้ถึงวิกฤติขาดแคลนชิพทั่วโลก รายงานจากบริษัทที่ปรึกษา “ดีลอยต์” เผยว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่จอแอลซีดีไปจนถึงระบบภายในจะมีสัดส่วนถึง 45% ของต้นทุนการผลิตรถหนึ่งคันภายในปี 2573

ต้นทุนส่วนประกอบที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นพื้นฐานสำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้คาดว่าเพิ่มเป็น 475 ดอลลาร์ในปี 2563 และ 600 ดอลลาร์ในปี 2573

แม้ความต้องการชิพเพื่อใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ในรถเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยความกังวลว่ามาตรการจำกัดการเดินทางช่วงโควิดจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ ทำให้ผู้ผลิตยกเลิกคำสั่งซื้อชิพ กลายเป็นว่าความต้องการจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นแทน ผู้ผลิตรถยนต์จะมาซื้อชิพทีหลังย่อมทำได้ยาก

ความยากลำบากในการหาซื้อชิ้นส่วนที่ต้องใช้ชิพและไมโครชิพทำให้ฟอร์ด เจนเนอรัลมอเตอร์ส โตโยต้า โฟล์คสวาเกน ฮอนด้า สเตลแลนติส และบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “นีโอ” ต้องลดการผลิตหรือปิดโรงงาน

ความปั่นป่วนนี้ก่อให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์บีบให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องแข่งกับยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์อย่างแอ๊ปเปิ้ลซื้อชิพที่มีอุปทานจำกัด

บริษัทที่ปรึกษาอลิกซ์พาร์ทเนอร์สคาดว่า การขาดแคลนชิพอาจบั่นทอนรายได้อุตสาหกรรมรถยนต์โลกลงมากถึง 6.06 หมื่่นล้านดอลลาร์

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นวิกฤติชิพอาจเป็นสาเหตุให้การผลิตหลายสาขาปั่นป่วนตามไปด้วย เช่น การผลิตสมาร์ทโฟน

เมื่อโควิดกระจายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมชิพกำลังเตรียมการสำหรับช่วงหลังโควิดด้วยการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อรับมือวิกฤติ

ลงทุนแก้ปัญหาขาดแคลน

ขณะนี้ชิพถูกมองว่าเป็นปัจจัยการแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆ เมื่อบริษัทและนานาประเทศต่างพยายามกำหนดความเป็นไปในอุตสาหกรรมชิพผ่านการลงทุนมหาศาล เช่น อินเทล หนึ่งในผู้ผลิตชิพรายใหญ่สุดของโลก ประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตชิพใหม่อีกสองโรงในรัฐแอริโซนาด้วยเม็ดเงินลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์

ซัมซุง ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้ก็กำลังวางแผนใช้งบประมาณ 1.16 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งเป้าเป็นบริษัทผลิตชิพรายใหญ่สุดของโลกภายในปี 2573 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าซัมซุงกำลังก่อสร้างโรงงานใหญ่แห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปีนี้

ด้านไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์แมนูแฟคเจอริง (ทีเอสเอ็มซี) ผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่สุดของโลก ก็กำลังก่อสร้างโรงงานแห่งหนึ่งมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในแอริโซนาเหมือนกับอินเทล คาดว่าเริ่มผลิตได้ในปี 2567

ในจีนที่ต้องการลดการพึ่งพาชิพจากต่างประเทศ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสองรายให้เงินทุนราว 2.25 พันล้านดอลลาร์แก่เอสเอ็มไอซี ผู้ผลิตชิพชั้นนำของจีน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานในเซี่ยงไฮ้ คาดว่าโรงงานแห่งนี้จะมีศักยภาพการผลิตเพิ่มเป็นสามเท่าในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อุตสาหกรรมชิพกำลังเตรียมตัวรับระเบียบใหม่จากการที่เศรษฐกิจโลกเปิดดำเนินการอีกครั้ง และนักออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ก็มีงานใหญ่รออยู่ข้างหน้าในการกำหนดระเบียบโลกใหม่หลังโควิด-19

จ่อลากยาวถึงปีหน้า

คาร์ลอส ทาวาเรส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)สเตลแลนติส บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก กล่าวในงานสมาคมสื่อรถยนต์ที่เมืองดีทรอยต์ของสหรัฐ เมื่อกลางเดือน ก.ค.ตอกย้ำความเห็นของเดมเลอร์เอจีที่กล่าวไว้ก่อนในวันเดียวกันนั้นว่า การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เล่นงานผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกส่งผลให้การผลิตรถยนต์ติดขัด อาจลากยาวไปถึงปี 2565

“วิกฤติเซมิคอนดักเตอร์เท่าที่ผมเห็นตอนนี้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเห็นได้ทุกอย่าง กำลังลามเข้าสู่ปี 2565 ได้ไม่อยาก เพราะผมยังไม่เห็นสัญญาณการผลิตเพิ่มเติมจากแหล่งผลิตในเอเชีย เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับโลกตะวันตกในอนาคตอันใกล้” ทาวาเลสกล่าวและว่า สเตลแลนติสกำลังตัดสินใจเปลี่ยนชิพที่ใช้ให้หลากหลาย ซึ่งการปรับไปใช้ชิพที่แตกต่างออกไปต้องใช้เวลาราว 18 เดือน เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อน

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ช่วยหนุนราคารถยนต์ใหม่และรถมือสองต่อเนื่องมาถึงความต้องการชิพ ผู้ผลิตบางรายรับมือปัญหาขาดแคลนชิพด้วยการลดบางฟีเจอร์ในรถยนต์ลง บางรายใช้วิธีผลิตโดยไม่ต้องใส่ชิพก่อนรอให้ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยประกอบทีหลัง