อาการลื่นไถลเสียหลัก สาเหตุและวิธีแก้ไข – ไทยรัฐ

– สมาธิหลุดจากอารมณ์ที่หงุดหงิด แล้วใช้ความเร็วสูง

– ออกตัวด้วยการเร่งความเร็วอย่างรุนแรงบนผิวทางที่เปียกชื้น หรือมีกรวดทราย น้ำมัน ปกคลุมอยู่บนผิวถนน

– เบรกกะทันหัน หรือใช้เบรกอย่างเต็มกำลังขณะขับเคลื่อนในย่านความเร็วสูง

– ขับรถด้วยความเร็วสูง ท่ามกลางสภาพผิวถนนที่เปียกชื้น

– หักพวงมาลัยอย่างรวดเร็วในขณะที่ใช้ความเร็วสูง 

– เบรกอย่างรุนแรงในโค้ง

– เบรกและหักพวงมาลัยหลบไปพร้อมๆ กัน 

– เหยียบคลัตช์ขณะขับเข้าโค้งหรือเลี้ยว 

แรงต้านที่เกิดขึ้นกับรถ ด้วยการกระทำของคนขับ เป็นที่มาของสาเหตุอาการลื่นไถลออกนอกเส้นทาง บางครั้งอาจจะเกิดอันตรายถึงกับชีวิต เมื่อรถที่ขับหมุนไปฟาดกับต้นไม้ เสาไฟฟ้า หรือแม้แต่คอสะพาน อาการลื่นไถล จึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง และไม่สร้างตัวแปรที่จะทำให้เกิดอาการดังกล่าว 

ลักษณะของการลื่นไถลออกนอกเส้นทาง

อาการลื่นไถลของรถยนต์ แบ่งออกเป็นสามอาการหลักที่ขึ้นตรงกับระบบขับเคลื่อนในรถยนต์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นรถขับหน้า FWD รถขับหลัง RWD หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD จะมีอาการก่อนการเสียหลักหรือลื่นไถลที่แตกต่างกันออกไป

รถขับเคลื่อนล้อหน้า

ไม่สามารถหักเลี้ยว หรือควบคุมพวงมาลัยได้ ด้านหน้าของรถพุ่งตรงออกนอกทางโค้ง วิธีแก้ไขก็คือ ยกคันเร่ง ตัดการส่งแรงบิดไปยังล้อขับเคลื่อน ประคองพวงมาลัย หรือบังคับพวงมาลัยรถให้เลี้ยวมากกว่าเดิม การถอนคันเร่งก็เพื่อให้รถถ่ายเทน้ำหนักมาที่ล้อหน้าและตัดกำลัง เพื่อลดการสูญเสียแรงยึดเกาะของล้อหน้า พยายามบังคับให้รถวิ่งไปตามทางโค้ง จนแรงยึดเกาะกลับมาเหมือนเดิม หากไม่เข้ามาเร็วเกินไปจนเกินกว่าขอบเขตข้อจำกัดของรถ รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าก็จะไม่เกิดอาการดังกล่าว เมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถควบคุมรถได้ก็ให้ใช้เบรกเต็มกำลัง เพื่อป้องกันการหลุดจากถนน

รถขับเคลื่อนล้อหลัง 

เมื่อขับรถเข้าโค้งแล้วล้อหลังมีอาการปัด ส่าย หรือกวาดออกด้านข้าง (แล้วแต่สภาพของโค้งและความเร็วที่ใช้) รถจะไถล โดยส่วนท้ายจะแถออก ทำให้รถหมุนกลางโค้งได้ อาการนี้จะเกิดขึ้นกับรถขับเคลื่อนล้อหลัง รวมไปถึงรถซุปเปอร์คาร์เครื่องยนต์วางกลางลำตัว และรถสปอร์ตที่วางเครื่องยนต์ไว้ด้านท้าย พวงมาลัยเบาและส่วนท้ายของรถเริ่มเบนออกนอกเส้นทาง อาการท้ายปัด ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ใช้ในโค้ง ถ้าเข้ามาด้วยความเร็วที่เกินมากๆ อาการท้ายปัดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่อาการท้ายปัดดังกล่าว สามารถแก้ใขได้ด้วยการเข้าโค้งในย่านความเร็วที่เหมาะสม ท้ายที่ปัดออกด้านข้าง อาจทำให้คนที่มีฝีมือในการควบคุมรู้สึกสนุก คล้ายกำลังดริฟต์เพื่อให้ส่วนท้ายบานออกแล้วเข้าโค้งแบบขวางทั้งลำ โดยทำให้ล้อหลังซึ่งเป็นล้อขับเคลื่อนสูญเสียการยึดเกาะ

วิธีแก้อาการโอเวอร์สเตียร์ หรืออาการท้ายปัด สำหรับมือใหม่ ขอแนะนำว่า อย่าทำให้อาการนี้เกิดขึ้นด้วยการขับเร็วเกินไป รถขับเคลื่อนล้อหลังในปัจจุบัน (ยกเว้นรถกระบะและ PPV SUV ซึ่ง ไม่ควรใช้ความเร็วสูงอยู่แล้ว) ส่วนใหญ่เป็นรถประสิทธิภาพสูง และมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็น BMW / Mercedes Benz หรือ Lexus เป็นรถที่มีสมรรถนะการยึดเกาะถนนดีกว่ารถขับเคลื่อนล้อหน้า จากลักษณะของการวางเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน ช่วงล่าง และการกระจายน้ำหนักที่เหนือกว่ารถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่หากความเร็วในโค้งสูงเกินไป ต่อให้ช่วงล่าง และระบบช่วยทรงตัวดีขนาดไหน

วิธีแก้ ผมแนะนำแบบเดียวกันคือชะลอความเร็วลงก่อน อาจจะสวนพวงมาลัยช่วย ซึ่งในความเป็นจริง คนที่ทำได้ และทำได้พอดี บนท้องถนนจริงแทบไม่มี ดังนั้นชะลอความเร็วในกรณีโอเวอร์ อาจต้องถึงกับใช้เบรกจนรถหยุดไว้ก่อน ไม่ใช่พยายามแก้อาการจนสะบัดเพิ่ม แล้วไปจบลงข้างทาง สิ่งที่สำคัญไปกว่าการจะแก้อาการต่างๆ คือคนขับต้องมีสติ มองในทางที่จะพารถไป แล้วแก้ไขตามอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่เคยฝึก ต้องบอกว่าทำได้ยาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่คนขับไม่มีเวลาพอที่จะคิด ทุกอย่างต้องออกมาตามจิตใต้สำนึกจากการฝึก ชะลอความเร็วคือคำตอบที่ง่ายที่สุด มีความเป็นไปได้มากที่สุดในคนทั่วไป

รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

มักจะมาพร้อมกันสองอาการ เริ่มด้วยพวงมาลัยหักไม่เข้า ตามด้วยท้ายที่ปัดออกด้านข้างอย่างรุนแรง ทุกอย่าง จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่มีเวลา หรือระยะทางเหลือพอให้ทำก่ารแก้ใขได้ ถ้าคุณขับจนรถขับเคลื่อนสี่ล้อเกิดอาการลื่นไถล โดยเฉพาะในรถยนต์ประสิทธิภาพสูงซึ่งมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น 4Matic Quattro xDRIVE หรือ Symmetrical all-wheel drive ความเร็วในจุดที่ทำให้รถหลุดจากการควบคุม มักจะสูงมากกว่ารถขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถขับเคลื่อนล้อหลัง

วิธีแก้ไขก็คือ ไม่ควรทำให้รถขับเคลื่อนสี่ล้อสมรรถนะสูง เกิดอาการลื่นไถล เพราะคุณจะต้องแก้อาการอย่างรวดเร็วเป็นลิงพันแห เริ่มจากยกคันเร่ง สวนพวงมาลัย หรือแม้แต่การแก้ใขในขั้นตอนสุดท้ายที่ดีที่สุด นั่นก็คือการเบรกแบบเต็มกำลังก่อนที่รถจะแหกหลุดออกจากเส้นทางจนทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ต้องเกิดขึ้นภายในพริบตาเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่เมื่อรถขับเคลื่อนสี่ล้อสมรรถนะสูง แล้วเกิดอาการสูญเสียการควบคุม มักจะจบลงด้วยอุบัติเหตุรุนแรงเสมอ 

ประสิทธิภาพการยึดเกาะของยางและรูปแบบของรถกับช่วงล่าง เป็นสิ่งสำคัญตราบใดที่ความฝืดของยางกับผิวถนนยังมีประสิทธิภาพดีอยู่ หมายความว่ายังมีแรงยึดเกาะของรถดีอยู่ บนถนนสภาพดีและแห้ง ยางยังคงอยู่ในสภาพใช้งาน การยึดเกาะกับถนนหรือความฝืดก็จะมีมาก เมื่อแรงยึดเกาะดี การควบคุมรถยนต์ก็จะดีตามไปด้วย สิ่งที่จะมาทำลายการยึดเกาะของยางกับผิวถนนมีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การใช้ความเร็วและการเบรก สภาพของรถและยาง การหมุนพวงมาลัย และสภาพของถนน พื้นฐานดังกล่าว นักขับควรเข้าใจองค์ประกอบขั้นพื้นฐานและควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

ยางที่หมดอายุการใช้งานจะแข็งและไม่มีแรงจิกเมื่อเบรก มีอาการลื่นไถลเมื่อเจอเข้ากับถนนลื่นๆ ลมยางที่ไม่เท่ากันทุกล้อก็อาจเป็นสาเหตุได้ รวมถึงดอกยางที่หมดจนกลายเป็นยางหัวโล้นไม่มีดอก ควรใส่ใจตรวจดูยางรวมถึงการบรรทุกของหนัก

ระบบเบรกจับเท่ากันหรือไม่เมื่อใช้เบรก ผ้าเบรกยังมีเหลือพอหรือไม่สำหรับการใช้งานปกติ ระบบช่วยเบรกต่างๆ รวมถึงระบบรักษาเสถียรภาพของรถจะช่วยคุณได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากความเร็วที่ใช้สูงเกินไป ระบบอะไรก็เอาไม่อยู่ พวงมาลัยที่ฟรีมากไปจากอายุการใช้งานทำให้ขาดความแม่นยำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญขณะขับรถ ช่วงล่างที่ถูกปล่อยปะละเลยมานาน เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการลื่นไถล ลักษณะของรถแต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกัน อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้คุณไปสู่อาการที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

การแก้ไขอาการลื่นไถล

การแก้ไขเมื่อเกิดอาการลื่นไถลนั้นยากเย็นเหมือนลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเป็นยุงตีกัน แม้แต่นักแข่งมือขั้นเทพก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด แทบจะทุกคนที่เป็นครูฝึกสอนการควบคุมรถยนต์ จะแนะนำว่าไม่ควรทำให้เกิดอาการลื่นไถลแล้วมาตามแก้ ควรป้องกันอาการนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ทำให้อาการลื่นไถลเกิดขึ้นด้วยการขับให้ช้าลง หรือใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดก็จะช่วยลดอาการลื่นไถลลงไปได้มาก ความเร็วคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอาการลื่นไถลเสียหลัก หากใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตรงหน้า รู้ว่าฝนตกถนนลื่นก็ควรลดความเร็วลงมา ขับแบบไปเรื่อยๆ ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้า ไม่ขับแบบรีบร้อนเปลี่ยนช่องทางเร็วๆ หรือขับเร็วอย่างต่อเนื่องบนผิวถนนที่เปียกชื้น แค่นี้คุณก็จะอยู่ไกลจากอาการลื่นไถลแล้วครับ

เมื่อขับเร็วจนรถเสียหลัก เกิดการหมุนปัดหรือแถ ให้ลดความเร็วลงทันที หรือใช้เบรกเต็มกำลัง การพยายามควบคุมทิศทางรถด้วยการประคองพวงมาลัย (อย่างนิ่มนวลตามตำราบอก) พูดง่ายแต่ทำยากมากในการพยายามให้ทิศทางของรถกลับมาอยู่กับร่องกับรอย คุณมีเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีซึ่งเป็นเวลาที่น้อยมากในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เมื่อรถเริ่มต้นสูญเสียแรงยึดเกาะ อย่างที่บอกว่าแม้แต่มือขั้นเทพยังไม่อยากเจอกับท่ายากแบบนี้นอกจากจะเป็นนักแข่งแบบดริฟต์

สำหรับมือใหม่ เมื่อรถที่คุณขับเสียหลักอย่างรุนแรง ให้ถอนเท้าออกจากคันเร่ง จับพวงมาลัยให้มั่นคง แล้วเบรกเต็มแรงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่ารถจะเป๋ปัดไปทางไหนก็เบรกให้เต็มที่ไว้ก่อน หากไม่มีสิ่งกีดขวางอาจตกข้างทางแต่ไม่ได้พุ่งไปฟาดกับต้นไม้ ตกลงไปในคลองชลประทาน หรือฟาดเสาไฟฟ้าซึ่งจะอันตรายมาก รัดเข็มขัดนิรภัยเวลาขับ ลดความเร็วเมื่อฝนตกถนนลื่น ขับด้วยความระมัดระวัง มีสมาธิจดจ่ออยู่กับทางข้างหน้า และใช้ความเร็วให้เหมาะสม ก็จะช่วยให้รอดปลอดภัยจากอาการลื่นไถลครับ.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ

E-Mail chang.arcom@thairath.co.th

Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/