Motor Sport Sponsored

TOYOTA กับพลังงานไฮโดรเจน และการปลุกปั้นความเป็นกลางทางคาร์บอน

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

TOYOTA กับพลังงานไฮโดรเจน และการปลุกปั้นความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย ด้วยทิศทางพลังงานแห่งการขับเคลื่อน ต้นแบบของใบเบิกทางไปสู่ระดับโลก

ในวันที่เราทุกคนรับรู้ว่า… ถนนทุกสาย ในโลกของการขับเคลื่อนกำลังมุ่งหน้าสู่ เทคโนโลยีรถไฟฟ้า ที่เราเชื่อมั่นว่ามันคือทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน มอบพลังงานสะอาด  ไร้มลพิษ​

TOYOTA กับพลังงานไฮโดรเจน การรุกเร้าของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ขายทั่วโลก อาจจะกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดนั้น…

ย้อนไปในปี 2021 เดือนพฤศจิกายน โตโยต้า เคยถูก Green peace ประนามว่า เป็น 1 ใน 5 ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ล้มเหลวต่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศโลก ที่ไม่ยอมประกาศถึงเป้าหมายในการยกเลิกการผลิตเครื่องยนต์สันดาป

ก่อนที่ในเดือนถัดมา..ของปีเดียวกัน อะกิโอะ โตโยะดะ (Akio Toyoda) ประธานใหญ่ของโตโยต้า แถลงข่าวในญี่ปุ่น ว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (TMC) พร้อมบุกธุรกิจรถ EV อย่างเต็มกำลัง ทั้งหมดทั้งมวล ก็เพื่อการเดินหน้าไปสู่ “Toyota 6 Environment Challenge 2050” ว่าด้วยความท้าทาย 6 ประการ ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

จนมีคำถามกันว่า…ทำไมก่อนหน้านี้ เคยไม่สนับสนุนและไม่เห็นดีงามกับรถไฟฟ้า แถมยังแสดงความคิดเห็นคัดค้านกับรัฐบาลญี่ปุ่นเสียด้วย

นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วอาจทำให้คนตกงานจำนวนมหาศาลแล้วนั้น …

อะกิโอะ เคยตอบคำถามนักข่าวไว้ว่า วิธีการทำให้เป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถปรับใช้ได้กับสภาพในแต่ละเมือง หรือจะพูดให้ถูกต้องก็คือ ควรมีเสรีภาพในการนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้เพื่อให้เป็นกลางทางแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ การลดค่าคาร์บอนไดออกไซด์

ในการทำให้เป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ ศัตรูของเรา คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่เครื่องยนต์สันดาปภายใน จำเป็นต้องมีแนวทางและข้อกำหนดอย่างเป็นทางการ ในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพในแต่ละเมือง และในแต่ละภูมิภาค

Toyota มองว่าโลกใบนี้ ไม่ได้มีพลังงานใดที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด แต่ผู้บริโภคควรมีทางเลือกในการเข้าถึงเทคโนโลยีการขับเคลื่อน และแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงได้อย่างหลากหลาย และเหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่

แนวทางการนำเสนอการขับเคลื่อนด้วยพลังงานชนิดใหม่ ไม่ใช่เพิ่งคิด…และเกิดขึ้น แต่มันเริ่มมองหาและพัฒนามายาวนาน 

ย้อนไปสัก 5-6 ปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปนั่งเรียนรู้ เรื่องเทคโนโลยีของโตโยต้าในระเทศญี่ปุ่น ณ วันที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุครถไฟฟ้า แต่ในเวลานั้น โตโยต้า เริ่มสื่อสารเรื่องรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน อย่าง FCEV ใน Mirai พูดเรื่องการใช้พลังงานในไฟฟ้าในรถโดยสาร พูดเรื่องการพัฒนาแบตเตอรี่แบบ solid state

ในงานวันนั้น มีนักข่าวจากตะวันออกกลาง ท่านหนึ่ง ตั้งคำถามว่า ประเทศเขามีโอกาสจะได้ใช้รถไฟฟ้าไหม… คำตอบ คือ  เราจะนำเสนอโปรดักซ์ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

สรุปเองแบบเข้าใจง่าย ประเทศ ผลิตน้ำมันเองได้ รถไฟฟ้าจะจำเป็นอะไร ?

หากฉายภาพ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก โตโยต้า ขายรถไฮบริดมาแล้วกว่า 25 ปี ทั่วโลก

เริ่มขายรถไฟฟ้ามาได้ 2 ปี และประกาศแล้วว่า ภายในปี 2025 ระยะเวลาอันใกล้ จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 15 รุ่น

แต่…พัฒนา FCEV (ไฮโดรเจนแปลงเป็นไฟฟ้า) ที่อยู่ใน Mirai มาเกือบ 30 ปี…จนวันนี้วิ่งได้ในระดับมากกว่า 700 กิโลเมตร ด้วยความจุไฮโดรเจนในถัง ประมาณ 141 ลิตร 

และเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี H2 Engine มาได้เกือบ 10 ปี…

ล่าสุด การมาเยือนประเทศไทยของ Akio Toyoda ด้วยระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ในการใช้ชีวิตในเมืองไทย จึงไม่ใช่แค่ การมาเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย  หรือ มาร่วมแข่งขันในกีฬาสุดรักอย่างมอเตอร์สปอร์ต

แม้จะสร้างเสียงฮือฮา ด้วยการเปิดตัว 2 รถกระบะต้นแบบรุ่นใหม่ล่าสุดเป็นครั้งแรกในโลกอย่าง IMV 0 และ Toyota Hilux BEV ที่เตรียมจะวางขายกันในเร็ววันข้างหน้า

การเข้าพบ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ พร้อมแถลงความร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ศึกษาการผลิตไฮโดรเจนจากมูลสัตว์ และพัฒนารถบรรทุกเล็กพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) เพื่อใช้ในกิจกรรมของ ซีพี สำหรับการใช้งานภาคขนส่ง นำร่องเพื่อยืนยันนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ดูเป็นสาระสำคัญมากเรื่องหนึ่ง

แนวคิดโตโยต้ากับพลังงานทางเลือก

การประชาสัมพันธ์ให้คนเห็นถึงคุณประโยชน์ของไฮโดรเจนในการนำมาใช้เป็นพลังงานและช่วยลดมลพิษ ก็ส่วนหนึ่ง แต่การทำให้เห็นว่า ไฮโดรเจน มีมูลค่ามหาศาล ผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารที่สามารถกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี คือ ทางลัดสำคัญที่จะช่วยเร่งโตเทคโนโลยีนี้ได้เป็นอย่างดี

หากมองลงไปให้ดูน่าสนใจ และ ทำตัวเป็นกูรูสักหน่อย สารตั้งต้นในการนำมาผลิตแบตเตอรี่ อย่าง นิเกิล โคบอล และแมงกานีส ถูกถือครองในรูปแบบสัมปทานอยู่ในมือของยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ประเทศ  หนึ่งในนั้น คือ จีน

ส่วน ลิเธียม ออสเตรเลีย คือ ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แต่ จีน ก็ยังเป็นผู้ควบคุมกลุ่มซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่ อีกเช่นกัน

แม้จะมีความพยามในการรวบรวมแร่ต่าง ๆ จากประเทศฝั่งยุโรป และมีรายงานว่า จะสามารถนำไปผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับรถไฟฟ้าได้หลายร้อยล้านคัน

โตโยต้า คงมองว่า มันไม่ควรเป็นแบบนั้น ทั้งความหลากหลายของพลังงาน ไปจนถึงการเข้าถึงวัตถุดิบที่อาจควบคุมไม่ได้ในอนาคต

ความพยายามในการนำเสนอ เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน จึงเป็นทางออก ทางแก้ และอาจจะเป็นทางเลือกหลัก ในอนาคต

แนวคิดการนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้งาน ถูกนำเสนอออกมา ดูน่าสนใจ ชักชวนให้คล้อยตามได้ง่ายอยู่พอควร….คือ

ไฮโดรเจน มีมากมายรอบตัวเรา ประโยชน์ที่ถูกนำไปใช้มีหลากหลายได้ ตั้งแต่วงการอุตสาหกรรมไปยันวงการอาหาร

สิ่งสำคัญ คือ สามารถผลิตได้จากหลายแหล่งที่มา ทั้ง การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันหรือถ่านหิน), การใช้ชีวมวล (เศษไม้หรือขยะ) และการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม) ทั้งยังกักเก็บได้นาน ราคาไม่แพง

เป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่ง ที่สามารถเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความหลากหลายในรูปแบบพลังงาน ได้เป็นอย่างดี

ภาพการจับมือกับซีพี จึงค่อนข้างชัดเจนว่า โตโยต้า มุ่งมั่นจะเอาให้ชัดในเรื่องนี้ แค่ไหน

ส่วนวิธีการนำไฮโดรเจนไปเป็นพลังงานขับเคลื่อนของโตโยต้า อย่างในรถ Mirai รถที่ค่ายนี้พยามฟูมฟักและนำเสนอมาโดยตลอด ก็คือ การแปลงพลังงานจาก ไฮโดรเจน ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยผ่านตัวแปรอย่าง Fuel cell stacks แล้วส่งไปใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนตัวรถ

อ่านแค่ 2-3 บรรทัดข้างบน เหมือนง่ายแต่เค้าใช้เวลามายาวนานกว่าจะออกมาสมบูรณ์แบบได้

Toyota Cross H2 ที่นำมาโชว์ตัวพร้อมให้สื่อมวลชนได้ร่วมนั่งแต่ไม่ได้ขับ(ก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยสร้างการรับรู้เรื่องอะไรนอกจากการมีตัวตนของรถรุ่นนี้) คือ รถที่พัฒนาให้สามารถใช้ไฮโดรเจนแทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ วิธีการมีความคล้ายคลึงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานก๊าซแอลพีจี, เอ็นจีวี เพียงแต่มีแรงดันของการทำงานที่สูงกว่า จนต้องพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้รองรับการทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นท่อแรงดันสูงเ และปรับหัวฉีดพื่อเครื่องยนต์ไฮโดรเจนโดยเฉพาะ

ปลายทางของรถทั้ง 2 รุ่น เป้าหมายหลักคือ การเพิ่มทางเลือกของพลังงานใหม่ และการไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ออกมาเป็นมลพิษ

เพียง Toyota Cross H2 ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกสักพักใหญ่ กว่าจะออกมาเป็นโปรดักชั่นคาร์ให้ได้ใช้งานกัน

ด้านความปลอดภัย วิศวกรโตโยต้าบอกว่า มีการออกแบบและพัฒนามาเป็นเวลายาวนานด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง  พร้อมทั้งมีการทดสอบการชนว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ก๊าซไฮโดนเจนจะถูกปล่อยออกจากถังทันที โดยไม่มีการระเบิด

ความเชื่อมั่นสร้างด้วยตัวตน

วิธีการในการสร้างเชื่อมั่น ไม่มีอะไรดูจะดีไปกว่าลงมือพิสูจน์ให้เห็นด้วยตัวเอง จึงยกทีมแข่ง Rookie Racing พร้อมรถแข่งที่พัฒนาให้ใช้พลังงานไฮโดรเจนอย่าง GR Collora H2 Concept มาลงวิ่งแข่งขันในรายการ Idemtisu 1500 Super Endurance 2022 สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ และลงไปขับด้วยตัวประธาน Akio Toyoda และ Daisuke Toyoda ลูกชายของเขา

ทั้งยังขนสถานีเติมไฮโดรเจน พร้อมถังบรรจุมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อสาทิตการเติมเชื้อเพลิงชนิดนี้ให้เห็นถึงความไวในการเติมเต็มถังด้วยการใช้เวลาเพียง 4-5 นาที ไม่ต่างจากการเติมน้ำมัน แถมยังใช้ก๊าซจากพันธมิตร อย่าง BIG ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจรของประเทศไทย

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง…ว่า การโปรเจคการนำเสนอเรื่อง Carbon Neutral ในประเทศไทยครั้งนี้ ทุ่มงบประมาณไปกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะสามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็สร้างเงินหมุนเวียน สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทยได้ไม่น้อย

เมื่อนำภาพทุกอย่าง ตั้งแต่การเดินทางมาถึงประเทศไทยของ อากิโอะ โตโยดะ พร้อมทีมงานชุดใหญ่ ตั้งแต่วันแรกจนบินลัดฟ้ากลับมาตุภูมิของตนเองไป มาขยุมรวมกัน

การเลือกประเทศไทยในการส่งสารไปถึงทิศทางใหม่ของโตโยต้าไปยังคนทั่วโลก หากไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ชัดเจนว่า ประเทศไทย ยังสำคัญยิ่งในสายตาของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น

เมื่อไฮโดรเจน เป็นก๊าซที่สามารถผลิตได้จากหลากหลายกรรมวิธี ในฐานะบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก การพัฒนาสินค้าให้สามารถรองรับการใช้งานพลังงานชนิดนี้ได้ เป็นการกระตุ้นให้มีผู้ลงทุนในธุรกิจพลังงานชนิดนี้ให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งเมื่อเกิดความแพร่หลาย เรื่องการเข้าใกล้เป้าหมาย Zero Carbon ภายในปี ค.ศ.2050 ก็ดูว่าจะไม่ยาก

ซึ่งดูว่าประเทศไทย มีทั้งทรัพยากร มีแนวทางของภาครัฐและเอกชน ที่เปิดโอกาศและพร้อมใจสนับสนุนให้ไปในทางนั้น

การฝังเมล็ดพันธ์ ไฮโดรเจน ลงบนความรู้สึกของผู้บริโภค จึงไม่ใช่แค่เรื่องของอีโก้ ที่เคยถูกค่อนแคะมาตลอดระหว่างการพัฒนารถพลังงาน FCEV ว่าทำไปทำไม ?

แต่เหมือนเป็นการบอกว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว ทางเลือกของพลังงานสะอาดยังมีอีกมาก และควรหันมามองพลังงานยั่งยืนที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่ไปกระจุกตัวอยู่ในเพียงกำมือใครและใคร สักฝ่าย

ความหลากหลายต่างหาก ที่เป็นคำตอบ

ส่วนจะสำเร็จดั่งใจหวัง ท่านประธาน ไหม นั่นมันเป็น อีกเรื่องงง

เรื่อง  : กองบรรณาธิการ

เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE

ภาพ : GRANDPRIX, TOYOTA PR

ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.