ทุกการเดินทางที่มีความเร็วเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมต้องมีเรื่องราวความปลอดภัยติดสอยห้อยตามมา เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือลดความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด
นั่นคือหนึ่งในสิ่งที่ รถแข่งฟอร์มูล่าวันกับการออกสำรวจอวกาศ มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งสองอย่างเป็นการเดินทางด้วยความเร็วสูงและมีระบบความปลอดภัยให้ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนนี้เป็นจุดที่บริษัทผู้ผลิต “เข็มขัดรถแข่ง” อย่าง Sabelt จะได้เข้าไปเติมเต็มให้กับทั้งสองกิจกรรมนี้
แต่ทำไมการเข้ามาแตะเรื่องราวอวกาศของ Sabelt ถึงน่าสนใจ? มาเจาะลึกข้อมูลจากทั้งฝั่งการทำเข็มขัดให้รถแข่ง และการบุกเบิกเส้นทางสายอวกาศอย่างเต็มตัวได้ในบทความนี้กับ Main Stand
เริ่มต้นจากรถแข่ง
บริษัทสัญชาติอิตาลีรายนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1972 ด้วยเป้าหมายในการผลิตเข็มขัดนิรภัยในรถแข่ง ทั้งกับรายการ F1 และ WRC ที่ต่างได้เลือกใช้เข็มขัดของแบรนด์ดังกล่าวมาตั้งแต่ยุค 1970s พร้อมกับถูกติดตั้งไว้ในรถยนต์ส่วนบุคคลในประเทศอิตาลีตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา
ในปัจจุบัน พวกเขาเป็นพาร์ตเนอร์ให้กับทีมผู้ผลิตมากถึง 7 จาก 10 เจ้า เช่น เฟอร์รารี่, แอสตัน มาร์ติน, แมคลาเรน และ ฮาส โดยก่อนนำมาใช้นั้นต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจาก FIA หรือ สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ ที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้รองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ
กับรถยนต์ทั่วไป คุณอาจขับขี่ด้วยความเร็วราว 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่กับรถแข่งระดับฟอร์มูล่าวันแล้ว ความเร็วของรถสามารถพุ่งไปแตะหลัก 200-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมต้องเผชิญกับแรงที่กระทำต่อร่างกายระหว่างการแข่งขันที่มีถึง 6G หรือหกเท่าของน้ำหนักตัว ดังนั้น มาตรฐานของเข็มขัดนิรภัยจึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ห้ามผิดพลาดโดยเด็ดขาด เพราะนี่อาจเป็นจุดตัดสินระหว่างความเป็นและความตายได้เลย
ยกตัวอย่างในกรณีของ โรแมง โกรส์ฌอง อดีตนักแข่งฟอร์มูล่าวันของทีมฮาส ผู้ประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับรั้วกั้นข้างทางขณะกำลังอยู่ในรอบแรกของการแข่งขันบาห์เรน กรังด์ปรีซ์ 2020 ด้วยความเร็ว 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนตัวรถทะลุผ่านรั้วกั้น ก่อนฉีกขาดเป็นสองท่อน พร้อมกับมีเพลิงลุกไหม้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ตามกฎของ FIA แล้ว นักแข่งจะต้องปลดเข็มขัดที่รัดร่างกายไว้ 6 จุด พร้อมกับลุกขึ้นจากที่นั่งของตนให้ได้ในเวลาไม่เกิน 5 วินาที ซึ่งมีการทดสอบกับทั้งตัวของนักแข่งและผู้ผลิตเข็มขัดนิรภัยอยู่ทุกปี เพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์แบบที่บาห์เรนขึ้น ซึ่งจากทั้งการออกแบบโครงสร้างรถให้รองรับแรงกระแทก ตัว Halo ที่ช่วยป้องกันส่วนบนของนักแข่ง และนวัตกรรมใหม่ในเข็มขัดนิรภัย ที่พัฒนามาใช้วัสดุแบบเส้นใย Vectran จนมีน้ำหนักเบาและทนทานต่อไฟได้ ต่างมีส่วนช่วยให้เรารอดพ้นจากการสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตไปแบบฉิวเฉียด
จากการสร้างมาตรฐานไว้ได้สูงเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ชื่อของ Sabelt จะไปปรากฏในอุตสาหกรรมอวกาศ แถมพวกเขาไม่ได้เข้ามาแตะงานด้านนี้แบบเล่นๆอีกด้วย
จาก F1 สู่ดวงดาว
ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักกับ Sabelt ครั้งแรกในงาน IAC 2021 ซึ่งเป็นงานประชุมอวกาศนานาชาติ ที่รวมหน่วยงานต่างๆ และผู้คนระดับโลกมาไว้ในงานเดียวกัน ที่ได้จัดขึ้นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในงานดังกล่าว พวกเขาได้นำต้นแบบทั้งเข็มขัดนิรภัย, เก้าอี้ และชุดนักบินอวกาศ มาจัดแสดงให้นักลงทุน รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆได้ยลโฉม พร้อมกับแสดงแผนการเข้ามาจับด้านตลาดอวกาศแบบจริงจัง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เริ่มต้นจากความเชี่ยวชาญด้านการทำเข็มขัดนิรภัยในวงการมอเตอร์สปอร์ตที่เบิกทางสู่การมุ่งสู่ดวงดาวให้พวกเขา
ด้วยประสบการณ์อย่างยาวนานในวงการแข่งรถความเร็วสูง จึงไม่แปลกที่ Sabelt จะเข้ามาแตะในฝั่งของอวกาศ เช่นเดียวกับที่พวกเขาได้ผลิตสายรัดให้กับอุตสาหกรรมอากาศยานและกองทัพไว้ใช้งาน ซึ่งจากความร่วมมือกับ Thales Alenia Space บริษัทด้านอวกาศรายใหญ่ของยุโรป ผู้ผลิตส่วนปรับความดันของยาน Cygnus หนึ่งในยานขนส่งเสบียงสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ที่ทำให้เข็มขัดนิรภัยและตาข่ายกักเก็บอุปกรณ์ของ Sabelt ได้ถูกติดตั้งอยู่ในยานรุ่นดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2010
เรียกได้ว่า สเปกความปลอดภัยจากการแข่ง F1 ทั้งการใช้วัสดุน้ำหนักเบา, ทนทานต่อไฟ, ปลดออกง่าย และรองรับแรงได้อย่างมหาศาล ต่างถูกต่อยอดมาจนตัวเข็มขัดและตาข่ายรัดของ Sabelt ผ่านเกณฑ์ขององค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรปได้อย่างง่ายดาย จนถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดสูงสุดของบริษัทเจ้านี้ เพราะจากการพูดคุยกับตัวแทนในงาน ผู้เขียนได้ทราบว่า Sabelt ยังมีแผนจะก้าวเดินไปให้ไกลกว่านี้อีก
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีต้นแบบชุดนักบินอวกาศสำหรับสวมใส่ภายในยานที่ทำมาจากวัสดุกันไฟอย่าง Nomex แบบเดียวกับที่นักแข่ง F1 สวมใส่ และแผนการสร้างบริเวณอยู่อาศัย (นอน) แบบส่วนตัวของนักบินอวกาศ ที่ทั้งเก็บเสียงและกันไฟได้ เพื่อเตรียมนำขึ้นไปใช้งานในอนาคตไว้อีกเช่นกัน
กาลครั้งหนึ่งเราเคยสูญเสีย 3 นักบินอวกาศในภารกิจอพอลโล 1 จากเหตุเพลิงไหม้ไปอย่างสยดสยอง เช่นเดียวกับในวงการฟอร์มูล่าวัน ที่เปลวเพลิงเคยพรากชีวิตเหล่านักแข่งมาแล้วในอดีต ซึ่งด้วยเทคโนโลยีและการไม่หยุดขยายขอบเขตความรู้ของมนุษย์เราก็ได้ช่วยรักษาชีวิตอีกหลายชีวิตเอาไว้ได้ เช่นในกรณีของ โรแมง โกรส์ฌอง เป็นต้น
เพราะอวกาศคือพรมแดนสุดท้ายและเป็นช่องทางแห่งโอกาสอันยิ่งใหญ่ เพราะจักรวาลแห่งนี้ไม่ได้มีโลกอยู่เพียงลำพัง และยังมีพื้นที่อีกหลายพันล้านกิโลเมตรที่เปิดกว้างให้เราออกไปสำรวจอยู่
This website uses cookies.