Rivian รถยนต์ไฟฟ้า แบบ รถกระบะ ชั้นนำของโลก – Brand Inside

rivian

Rivian คือ Startup เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่โดดเด่นด้วยการขายรถกระบะ และ SUV แถมกำลังจะ IPO จนมูลค่ากิจการอาจพุ่งไปถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัญญาผลิตรถตู้ส่งของที่ไม่ปล่อยมลพิษให้กับ Amazon หลายแสนคัน

แต่เส้นทางความสำเร็จของ Rivian ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเคยเจอกับเหตุการณ์บริษัทเหลือพนักงานไม่ถึง 10 คน, R.J. Scaringe ผู้ก่อตั้ง ต้องเอาบ้านไปจำนองเพื่อเอาเงินมาหมุน จนไปถึงการทำรถยนต์ต้นแบบออกมา และไปเร่ขายไอเดียให้กับนักลงทุน ซึ่งสุดท้ายก็เหลวตลอด

12 ปี คือระยะเวลาที่ Rivian ต้องเผชิญ เปรียบได้กับการวิ่งมาราธอนที่ต้องใช้ความตั้งใจทั้งฝึกซ้อม และลงแข่งจริง Brand Inside จึงอยากชวนมาติดตามเบื้องหลัง ปัจจุบัน และอนาคตของ Rivian ว่าจะสามารถแข่งขันกับ Tesla และแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมได้หรือไม่

หลงไหลในความแรง ก่อนเปิดบริษัทตัวเอง

ย้อนไปช่วงกลางทศวรรษ 2000s ใน Sloan Automotive Laboratory ที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ตัว R.J. Scaringe กำลังเรียนปริญญาเอกเกี่ยวกับยานยนต์ และทุกครั้งที่ไปเรียน เขาจะพบกับ Porsche รุ่น 914 ที่ถูกแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

แต่เขากลับเลือกที่จะเดินผ่าน และไปทุ่มกับการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในให้เผาไหม้ และใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ถึงขนาดเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาบอกว่า He wasn’t an electric guy, He was a car guy. หรือไอ้หนุ่มคนนั้นไม่ใช่คนที่หลงไหลในรถยนต์ไฟฟ้า เขาคือคนที่จริงจังกับรถยนต์แบบดั้งเดิม

ไม่แปลกนักที่เพื่อนเขาจะบอกแบบนั้น เพราะพ่อของ R.J. Scaringe เป็นวิศวกร และมีช้อปเล็ก ๆ เพื่อพัฒนาวัสดุต่าง ๆ ส่วนบรรพบุรุษของเขาก็เป็นวิศวกรที่พัฒนาเครื่องจักรต่าง ๆ เช่นกัน และเมื่อจบการศึกษา เขาได้ไปเปิด Mainstream Motors บริษัทเล็ก ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์

แม้จะไม่รู้ว่าธุรกิจจะเดินหน้าไปได้แค่ไหน แต่ R.J. Scaringe เชื่อว่า การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือการตัดสินใจเริ่มต้น และทำมันอย่างจริงจัง แม้จะเจออุปสรรคก็ต้องผ่านมันไปให้ได้

ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีของเขาหรือไม่ที่เดือน ก.พ. 2009 หรือช่วงปีสุดท้ายในการศึกษาปริญญาเอก เขาได้เรียนกับ Daniel Roos และ James Womack ผู้เขียนหนังสือที่รวมประวัติศาสตร์ยานยนต์ The Machine That Changed the World แถมช่วงจบชั้นเรียนได้พูดคุยเพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจกับพวกเขา

รถยนต์ไฟฟ้า
R1T ของ Rivian

The Blue Thing รถต้นแบบที่วัดอนาคต

R.J. Scaringe ได้จ้างดีไซเนอร์ และวิศวกรรวม 15 คน เพื่อเดินพัฒนา รถสปอร์ตสมรรถนะสูง แถมประหยัดเชื้อเพลิง มาพร้อมราคาที่เอื้อมถึงได้ หรือเอาง่าย ๆ คือค่อนข้างถูกกว่าที่มีในตลาด แถมแนวคิดที่บ้าคลั่งแบบนี้ยังจูงใจให้คนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานกับ Mainstream Motors ได้ไม่ยากอีกด้วย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การเริ่มต้นที่ดีคือการเริ่มต้นทันที ทำให้ R.J. Scaringe ไม่เคยคิดว่าต้องขายรถยนต์ให้ได้กี่คัน/ปี, ต้องผลิตรถยนต์ดังกล่าวอย่างไร มีเพียงอยากให้ทุกอย่างออกมาราคาไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์ แต่นั่นมาพร้อมกับโครงสร้างอลูมิเนียม และใช้พลาสติกพิเศษเพื่อตกแต่ง ซึ่งนั่นมาพร้อมต้นทุนมหาศาลในการผลิต

จากแนวคิดบ้าคลั่ง และความพยายามไปถึงเป้าหมายเดียว ทำให้ R.J. Scaringe และทีม ทำงานอย่างหนัก บางครั้งทำติดต่อกัน 4 วัน 4 คืน แต่ก็มีช่วงพักผ่อน เช่นการไปกินข้าวด้วยกันทุกเที่ยงวันศุกร์ หรือการไปดูแข่งรถยนต์ Daytona เพื่อฟื้นพลังด้วยความแรง

ผ่านมา 1 ปี Mainstream Motors ได้ฤกษ์พัฒนารถยนต์ต้นแบบ แต่มีแค่แบบโครงสร้าง ส่วนเครื่องยนต์ยังไม่ได้ออกแบบใด ๆ ทำให้ R.J. Scaringe และทีม ส่งแปลนโครงสร้าง พร้อมรถ Mini Cooper 1 คัน ไปให้พาร์ตเนอร์ที่ Detroit พร้อมบอกให้พาร์ตเนอร์ทำโครงสร้าง และใส่เครื่องยนต์ Mini Cooper ก่อนส่งกลับมาก็พอ

สุดท้ายรถยนต์ต้นแบบคันนั้นก็เสร็จสมบูรณ์ในปี 2010 ถูกตั้งชื่อว่า The Blue Thing มีรูปร่างคล้ายรถ 5 ประตูคันเล็ก ๆ ของ Honda แต่มันมีแค่รูปร่าง เพราะขับจริงไม่ได้ แถมไม่รู้ว่าสุดท้ายจะผลิตออกมาอย่างไร ที่แน่ ๆ The Blue Thing คันนี้ถูกเอาไว้นำเสนอกับนักลงทุนเพื่อเอาเงินมาหมุนความฝัน

รถยนต์ไฟฟ้า
R1S ของ RIvian

ไม่ชัดเจนขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่จะเงินหมด

ถึงจะได้ทีมงานเก่ง ๆ แต่ด้วยความมุทะลุที่จะเริ่มต้นมันอย่างเดียว สุดท้าย Mainstream Motors จึงเงินหมด ถึงขนาด R.J. Scaringe และพ่อของเขาต้องเอาบ้านไปจำนองเพื่อเอาเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์มาหมุน โดยพนักงานคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า

“มันเหมือนวังวนเดิม ๆ นั่นคือ เขา กับทีมงาน พยายามออกแบบบางอย่างเพื่อนำไปเสนอนักลงทุน นักลงทุนบอกปฏิเสธ และมันก็กลับมาที่จุดแรกใหม่ วนไปซ้ำ ๆ อย่างนี้”

แม้ว่าจะมีโอกาสจากนักลงทุนเข้ามาทักทายบ้าง เช่นการพัฒนารถยนต์ประสิทธิภาพสูงขึ้น และราคาสูงกว่าเดิม เแต่ทั้งหมดก็ไม่เวิร์ก และในปี 2012 เริ่มมีพนักงานถูกเลิกจ้าง หรือบางคนก็ลาออกไปทำอย่างอื่น เพราะไม่เห็นอนาคตของบริษัท

แต่ท่ามกลางวิกฤต ก็มีเหมือนโอกาสเล็ก ๆ มอบให้กับ R.J. Scaringe เพราะหลังจากเขาเริ่มทบทวนสิ่งต่าง ๆ พร้อมเปลี่ยนชื่อ Mainstream Motors เป็น Rivian เขาได้คำแนะนำจาก Daniel Roos หรือคนที่สอนเขาในช่วงสุดท้ายของการศึกษาให้ไปพบกับนักลงทุนที่น่าสนใจคนหนึ่ง

เขาคนนั้นคือ Mohammed Abdul Latif Jameel อดีตเด็ก MIT และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Abdul Latif Jamee หรือ ALJ กลุ่มธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ยักษ์ใหญ่ในยุโรป และญี่ปุ่น ถึงขนาด R.J. Scaringe ต้องบินไปหาถึงประเทศ ซาอุดิอาราเบีย หลังจากได้รับคำแนะนำนี้ไม่กี่เดือน

จุดเริ่มต้นของ รถยนต์ไฟฟ้า และกระบะ

หลังจากพบกับ ALJ ทางนั้นได้ให้โจทย์กับ R.J. Scaringe ว่า อยากได้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นรถกระบะแบบเท่ ๆ เพราะพวกเขาชื่นชอบ Ford F-150 กระบะที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา รวมถึงความเป็น Toyota Prius และรถ Buggy แบบเท่ ๆ สักคัน

ผ่านไป 1 ปี R.J. Scaringe ได้ส่งแผนการพัฒนาให้กับกลุ่มทุน ALJ ซึ่งทั้งนั้นตกลงที่จะให้ทุนตามที่เขาต้องการ แต่ช่วงนั้นบริษัทกลับเหลือพนักงานไม่ถึง 10 คน แถมพนักงานภายในยังงง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ให้พัฒนารถสปอร์ตสมรรถนะสูง แต่อยู่ ๆ ให้มาพัฒนารถกระบะ ถึงขนาดบางคนบอกว่าอาจเป็นยุคมืดของบริษัทจริง ๆ แล้วก็ได้

สำหรับแผนนั้นเป็นการพัฒนารถกระบะหรูหรา แทนที่จะเป็นรถกระบะเพื่อใช้งานในทะเลทราย เจาะตะวันออกกลางโดยเฉพาะ แต่ก็ค่อนข้างยาก เพราะรถกระบะก็คือรถกระบะ ทำให้แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ค่อนข้างยาก แต่เมื่อคิดจนตกผลึก R.J. Scaringe ตัดสินใจทำมันออกมาเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบกระบะ

การคิดแบบนี้ไม่มีใครคาดคิด และทีมงานก็งง ๆ เช่นเดิม แต่ถึงจะมีข้อโต้แย้งแค่ไหน เขาก็ยังยืนยันที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบกระบะ โดยสุดท้ายในเดือน พ.ย. 2018 ทาง Rivian ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ 2 รุ่น ประกอบด้วยรถกระบะ และ SUV ราคาเริ่มต้น 67,500 ดอลลาร์

หลังจากเปิดตัว Rivian ถูกจับตามองจากนักวิเคราะห์ และคู่แข่งในตลาดทันที เพราะด้วยการออกแบบที่หรูหรา ไม่เหมือนกระบะทั่วไป แถมด้วยการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ทำให้เติมเต็มการใช้งานรถกระบะได้มากขึ้น เช่นช่องตรงกลางระหว่างกระบะ กับห้องโดยสารที่ใส่ของได้เพิ่ม รวมถึงด้านกระโปรงหน้ารถเช่นกัน

นอกจากนี้ Rivian ยังเลือกสื่อสาร รถถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองด้วยการเอาเทคโนโลยีเป็นตัวนำ ช่วยส่งเสริมความแตกต่างกับรถกระบะในตลาดขึ้นไปอีก จนสุดท้ายมียอดจองมากกว่า 48,000 คัน และเตรียมส่งมอบภายในเดือน ต.ค. 2021 แต่ปัจจุบันก็ไม่ใช่ Rivian ที่เป็นผู้เล่นในตลาดรถกระบะไฟฟ้าเพียงเจ้าเดียว

เพราะมีทั้งกลุ่ม GM ที่พัฒนา Hummer EV รถกระบะ และ SUV ไฟฟ้าล้วนแบบหรูหรา ราคา 80,000 ดอลลาร์ ส่วน Ford พัฒนา F-150 Lighting กระบะไฟฟ้าล้วนที่ต่อยอดจากกระบะที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา ถึงตอนนี้มียอดจองมากกว่า 1.5 แสนคัน

สุดท้ายการวิ่งมาราธอนของ Rivian และ R.J. Scaringe กว่า 12 ปี แม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ความพร้อมที่จะปรับตัว และกล้าตัดสินใจในสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ น่าจะเป็นอีกตัวอย่าง และแรงบันดาลในให้กับผู้เริ่มต้นธุรกิจ และ Startup ให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อประสบความสำเร็จในอนาคต

อ้างอิง // Autoblog

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา