Maserati Ghibli Hybrid เฉียด 6 ล้านบาท แพง แต่แรงดีและแน่นขึ้น

มาเซราติ แบรนด์หรูสัญชาติอิตาลี ที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานโดยเฉพาะชื่อเสียงในสนามแข่งที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับคนไทยเมื่อครั้ง พระองค์เจ้าพีระฯ ใช้เป็นรถแข่งคู่ใจในการเข้าแข่งขันที่ยุโรป ส่วนการทำตลาดในไทยมีการเปลี่ยนมือผู้ดูแลหลายเจ้า ปัจจุบัน มาเซราติ อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่ม เอ็มจีซี เอเชีย



สำหรับ มาเซราติ กิบลี ทำตลาดมาอย่างยาวนาน เฉพาะเจเนอเรชันล่าสุด เปิดตัวมาแล้วราว 8 ปี ในตลาดโลก ส่วนเมืองไทยเพิ่งจะมีการทำตลาดรุ่น เฟซลิฟต์ หลังจากที่กลุ่ม เอ็มจีซี ได้รับสิทธิ์ในการดูแลมาเซราติอย่างเป็นทางการ และตัวเฟซลิฟต์ เวอร์ชัน ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วพร้อมกับการมาของเทคโนโลยีใหม่ ไฮบริด มาชมกันว่า กิบลี ไฮบริด จะมีอะไรเพิ่มเติมแตกต่างจากตัวเดิมไปอย่างไรบ้าง



ไมลด์ไฮบริด 4 สูบ 330 แรงม้า

หัวใจสำคัญของรุ่นนี้อยู่ที่เครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นระบบไฮบริดอันเป็นผลงานชิ้นแรกของฝ่ายพัฒนาเครื่องยนต์ในเมืองโมเดนา ของมาเซราติ ที่จะกลายเป็นพื้นฐานให้กับรถทุกรุ่นในอนาคต ด้วยเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ทุกค่ายรถยนต์จำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อลดมลภาวะ

เครื่องยนต์ เป็นแบบเบนซิน 4 สูบ เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร มีกำลังสูงสุด 330 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร เทียบกับรุ่น วี6 สูบ  แตกต่างเล็กน้อยคือ มีกำลังสูงสุด 350 แรงม้า ในแง่ของตัวเลขแล้วแค่ 20 แรงม้าที่หายไป ยังไม่ถึง 10% ย่อมส่งผลไม่มากเท่าใด ซึ่งผลลัพธ์ด้านอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 5.7 วินาที และความเร็วสูงสุด 255 กม./ชม. ถือว่าไม่ได้ด้อยกว่ารุ่นวี 6 แต่ประการใด



ลักษณะของไฮบริดตัวนี้เป็นแบบไมลด์ไฮบริด คือมี มอเตอร์มาช่วยในการอัดอากาศ ที่มาเซราติเรียกว่า อิเล็กทรอนิกส์ซูเปอร์ชาร์จ (e-Booster) โดยทำงานร่วมกับอัลเทอร์เนเตอร์ 48 โวลต์ที่จะมีสายพานในการปั่นกระแสไฟเอาไปเก็บไว้ใน แบตเตอรี่ แบบ 48 โวลต์ ที่แยกต่างหากจากแบตเตอรี่ปกติแบบ 12 โวลต์

เหนืออื่นใด จากการเลือกใช้เครื่องยนต์แบบ 4 สูบ และการจัดวางตำแหน่งแบตเตอรี่เอาไว้ด้านท้ายเพื่อให้มีการกระจายน้ำหนักที่สมดุล ทำให้ กิบลี ไฮบริด มีน้ำหนักโดยรวมเบากว่า กิบลี รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลถึง 80 กิโลกรัม แน่นอนว่าการทำตลาดมานานถึง 8 ปีแล้วอาจจะทำให้หลายคนลังเล แต่เชื่อได้เลยว่าตัวนี้จะยังคงมีอายุต่อเนื่องไปอีกราว 2 ปีเป็นอย่างต่ำ



ขณะที่การออกแบบภายนอกจะมีจุดสังเกตคือ การใช้สีฟ้าที่โลโก้ตรีศูล, ช่องระบายอากาศ 3 ช่องด้านข้างซุ้มล้อหน้า และคาร์ลิปเปอร์เบรกสีฟ้า รวมถึงการออกแบบกระจังหน้าใหม่ โดยใช้รูปทรงของส้อมเสียงมาเป็นแบบในการดีไซน์กระจังหน้า

ส่วนภายในห้องโดยสาร ยังคงดีไซน์เดิมในสไตล์ความเป็นสปอร์ตเอาไว้ แต่จะมีจุดที่เปลี่ยนแปลงแบบชัดเจนคือ หน้าจอใหม่ขนาด 10 นิ้ว แบบไร้กรอบที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติใหม่ รองรับการเชื่อมต่อโลกดิจิทัลครบวงจร ผ่านโปรแกรม Maserati Connect และ Maserati Intelligent Assistant โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานจาก Android Automotive พร้อมอัปเดตฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ โดยอัตโนมัติ



แรงสมตัว ช่วงล่างแน่น

การทดลองขับคราวนี้เป็นการขับแบบสั้นๆ วิ่งวนรอบเมืองกรุงโดยใช้ทางด่วนเป็นหลัก รวมระยะทางราว 30 กม. สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ เสียงของท่อไอเสียที่มาเซราติ เคลมว่าเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรเอาไว้เรียบร้อยแล้ว คุณไม่มีทางหาเสียงแบบนี้ได้ในรถคันอื่น ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบต้องมาฟังกันเอง แต่สำหรับเราเสียงแบบนี้ บ่งบอกถึงความเป็นรถสปอร์ตระดับซูเปอร์คาร์ สายพันธ์อิตาลี และแน่นอนว่าเราชอบสไตล์นี้

การขับแม้จะเป็นระยะทางไม่ยาวและใช้เวลาไม่นานราว 30 นาที แต่เพียงพอจะบอกถึงบุคลิกของการขับขี่ได้ โดยขอเทียบกับรุ่นเครื่องยนต์ วี 6 สูบ ที่เราเคยขับเมื่อครั้งก่อนเป็นหลัก



การตอบสนองของอัตราเร่ง ไม่ทำให้ใครผิดหวังอย่างแน่นอน พละกำลังมีเพียงพอพร้อมแรงดึงแบบหลังติดเบาะในระดับต้น ให้ความรู้สึกสนุกสนานในการขับขี่ได้ เทียบกับรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์วี 6 แล้ว ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างมีนัยยะในด้านความแรง เรียกว่าใกล้เคียงกัน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะด้อยกว่าแต่อย่างใด

การทำงานของมอเตอร์ทำหน้าที่เมื่อเรากดคันเร่งหนัก เมื่อรถต้องการกำลังสูงๆ โดยจะมีวาล์วบายพาสให้มอเตอร์อัดอากาศเข้ามาในห้องเผาไหม้ได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ช่วยลดภาระของเครื่องยนต์ ส่งผลทำให้เครื่องยนต์ 4 สูบสามารถมีกำลังไม่ด้อยไปกว่าเครื่องแบบ 6 สูบได้ และยังลดมลพิษพร้อมกับลดอัตราการบริโภคน้ำมันได้ด้วยเช่นเดียวกัน



ช่วงล่างคือจุดเด่นที่สุดของเจ้ากิบลี ไฮบริด ด้วยการเซตอัพที่ค่อนข้างเฟิร์ม การเข้าโค้งจะให้ความรู้สึกที่หนึบและเกาะแบบมั่นใจเมื่อใช้ความเร็วสูง รวมถึงเวลาที่กดคันเร่งหนักๆ รถวิ่งได้นิ่งดี ส่วนเมื่อเจอกับหลุมหรือฝาท่ออาจจะต้องทำใจสักหน่อยเพราะจะรับรู้ได้อย่างชัดเจน พวงมาลัยแม่นยำ หนักมือขึ้นตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น

ความเร็วสูงสุดที่เราขับได้ในคราวนี้อยู่ที่ราว 140 กม./ชม. ส่วนความเร็วที่ใช้เฉลี่ย 80-100 กม./ชม. ตามสภาพการจราจรบนทางด่วนที่ค่อนข้างหนาแน่น ภาพรวมของการขับตัวไฮบริดทำให้เรารู้สึกถึงความแรงและความหนึบในการขับขี่ที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงซูเปอร์คาร์ ซึ่งแตกต่างกับเมื่อครั้งที่ได้ขับรุ่นเครื่องยนต์วี6 ที่คราวนั้นไม่สนุกเท่านี้



เมื่อหันมาดูที่ค่าตัว 5,990,000 บาท ในรุ่นเริ่มต้น ด้วยมิติตัวถังที่ต้องยอมรับความจริงว่าอยู่ในพิกัดเดียวกับคู่แข่งอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสและบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5 ทำให้ มาเซราติ กิบลี ดูแพงขึ้นมาทันที แต่หากเทียบสมรรถนะแล้ว 330 แรงม้า เหนือกว่าอีก 2 แบรนด์แบบชัดเจน และหากมองไปที่จุดเด่นเรื่องเสียงคำรามและการรับรู้ของแบรนด์ทำให้มาเซราติมีแต้มต่อในส่วนนี้อยู่พอสมควร ซึ่งหากคุณเข้าใจในเรื่องของภาษีนำเข้าด้วยจะทำให้ทราบว่า ต้นเหตุความแพงมาจากภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่าเนื่องด้วยเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปนั้นเอง

เหนือสิ่งอื่นใด สำหรับคนที่กังวลในเรื่องของค่าบำรุงรักษา มาเซราติ กิบลี ไฮบริด ค่าตัวจะรวม warranty 3 ปี ไม่จำกัดระยะทาง และฟรีค่าบำรุงรักษา 3 ปี หรือ 60,000 กม. เอาไว้ด้วยเรียบร้อย ดังนั้นจึงวางใจในการใช้งานไปได้ในระดับหนึ่ง



เหมาะกับใคร

หากมองในมุมที่ใช้จำนวนเงินเป็นตัวตั้ง คือราว 6 ล้านบาท แล้วคุณอยากได้รถที่มีสมรรถนะน้องๆ ซูเปอร์คาร์ และสัญชาติอิตาลีไว้ใช้งานสักหนึ่งคัน ในตลาดเมืองไทย คงมีเพียงมาเซราติ กิบลี ไฮบริดที่ตอบโจทย์ได้ตรงที่สุด แน่นอนว่างบราว 6 ล้านบาท สามารถเลือกคบหาเรือธงอย่าง เอส-คลาส หรือ ซีรี่ส์7 ได้ สุดท้ายขึ้นกับว่าคุณอยากได้แบบไหนมากกว่ากัน