ช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้วเชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยและอยากทำความรู้จักกับบริษัทรถยนต์อิสระแห่งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าด้วยกระแสที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีแต่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นก็คือเหตุผลหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมากสุดเห็นจะเป็นเรื่องที่อดีตนักฟุตบอลชื่อดังและในปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัวอย่าง David Beckham ได้หันมาสนใจและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทรถยนต์แห่งนี้
นั่นทำให้ชื่อ Lunaz Company ถูกพูดถึง และทำให้หลายคนสนใจกับบริษัทแห่งนี้ขึ้นมาทันที จนกระทั่งเกิดข้อสงสัยว่าบริษัทแห่งนี้มีความน่าสนใจอย่างไรถึงขนาดที่อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษถึงให้ความสนใจ…วันนี้เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
ชุบชีวิตความคลาสสิคให้โลดแล่นบนท้องถนน
Lunaz เป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นในรูปแบบของ Start-up ที่นำทัพโดย Jon Hilton อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของทีมแข่ง Renault F1 โดยมี David Lorenz เป็น Co-Founder และ CEO ซึ่งบริษัทเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า ‘The most beautiful and celebrated cars in history ready for the future’ เรียกง่ายๆ คือ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับรถยนต์คลาสสิคเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายหลักที่ Lunaz เล็งเอาไว้คือ รถยนต์แบรนด์หรูอย่าง Rolls-Royce, Bentley และ Jaguar
ขณะที่รถยนต์ของ Aston Martin พวกเขาก็สนใจ เพียงแต่ว่าไม่ได้ถูกชูออกมาเพราะว่าทาง Aston Martin เองก็มีการตั้งแผนกขึ้นมารองรับตรงนี้เอาไว้แล้ว และเคยเปิดตัวผลผลิตที่เรียกว่า Heritage DB Volante ออกมาเมื่อปี 2018 ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่เรียกว่า Cassette สำหรับเข้ามาแทนที่ชุดเครื่องยนต์สันดาปภายในได้เลย ซึ่งตรงนี้ น่าจะทำให้ลูกค้า Aston Martin เลือกใช้บริการทางแบรนด์มากกว่า
สำหรับ Lunaz ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 และนอกจาก Hilton แล้ว ผู้ถือหุ้นของบริษัทแห่งนี้ยังประกอบด้วยครอบครัวตระกูล Rueben และ Barclay โดยที่มี Beckham เป็นรายล่าสุด ‘Lunaz แสดงให้เห็นถึงวิธีในการที่จะจัดการให้รถยนต์ระดับหรูหราของอังกฤษสามารถที่จะเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปกับบริษัทที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วยการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบเข้ามาช่วย ผมได้ถูกเชิญเข้ามาที่นี่เพื่อดูการทำงานของพวกเขาทั้งในเรื่องของการฟื้นฟูรถยนต์คลาสสิคและการปรับปรุงเพื่อนำระบบไฟฟ้าเข้ามาใช้งานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก’ Beckham กล่าว
บริษัทแห่งนี้จะมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ Lunaz Design ซึ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูสภาพของรถยนต์คลาสสิค Lunaz Applied Technologies เน้นไปที่เรื่องธุรกิจการรีไซเคิลรถยนต์ และ Lunaz Powertrain เป็นการผลิตและพัฒนาระบบขับเคลื่อนให้กับตลาดรถยนต์ ซึ่งธุรกิจทั้งหมดจะมีความสัมพันธ์กัน
โดยภายในปี 2024 ทางบริษัทเชื่อว่า จะมีอัตราการเติบโตของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และวางแผนเอาไว้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่และพนักงานที่ทำงานร่วมอยู่ในบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 อัตราจ้าง ซึ่งสะท้อนถึงการขยายตัวของธุรกิจนี้ ซึ่งในปัจจุบันแม้ว่าจะมีเจ้าครองตลาดเพียงไม่กี่ราย แต่ทว่าก็มีคนมองเห็นลู่ทางในการเติบโต และกระโดดเข้ามาสู่พื้นที่แห่งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษออกกฎรถยนต์ใหม่ที่ขายในอังกฤษในปี 2030 ห้ามใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน
ความแตกต่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ขณะที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการผลิตในลักษณะของ Mass Production เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่กำลังเกิดขึ้นและการเดินทางของคนส่วนใหญ่ในอนาคตกำลังมุ่งหน้าไปสู่รถยนต์พลังไฟฟ้า แต่ทว่า Lunaz ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็น Start-up มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซิลเวอร์สโตน กลับมองต่าง และเล็งเห็นว่ายังมีช่องว่างที่พวกเขาสามารถสอดแทรกเข้าไปได้ ด้วยการรับงานในการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้กับรถยนต์ระดับหรูสุดคลาสสิคให้กับรถยนต์ที่มีอยู่ในตลาด และการนำรถยนต์คลาสสิคที่มีขายอยู่แล้วมาปรับปรุงระบบและขายทั้งคัน
จะว่าไปแล้วแนวคิดของบริษัทแห่งนี้ก็อยู่บนความเสี่ยงในระดับหนึ่ง เพราะตามปกติแล้วรถยนต์คลาสสิคเหล่านี้มักอยู่ในมือของบรรดาคอลเล็กเตอร์ที่มีเงินถุงเงินถัง และทุกคนพร้อมที่จะเก็บของที่เรียกว่า ‘แบบดั้งเดิม’ มากกว่าที่จะดัดแปลงเพื่อให้เสียราคา แต่ทว่าก็ยังมีเศรษฐีอีกกลุ่มที่นิยมนำรถยนต์คลาสสิคเหล่านี้ออกมาใช้งาน และถ้าต้องออกมาใช้งาน ความหมายคือ รถยนต์คันนั้นก็ต้องมีมาตรฐานที่ผ่านข้อกำหนดในแง่มลพิษที่ถูกกำหนดโดยภาครัฐ ซึ่งถ้าเป็นในอนาคตแล้วต้องบอกว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วคงยากที่จะผ่านข้อกำหนดอันเข้มงวดของพวกเขา
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือ เปลี่ยนต้นตอของปัญหา จากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้ตัวรถยนต์สามารถใช้งานได้ หรือไม่ก็ซื้อใหม่ทั้งคันที่มีการติดตั้งระบบไฟฟ้ามาแล้วอย่างถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการใช้งานและไม่ได้เกี่ยวข้องกับคอลเล็กชั่นของพวกเขา
แน่นอนว่าแนวคิดนี้น่าสนใจและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ยังไม่มีคู่แข่งมากเท่ากับกลุ่มที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ออกมา และช่องว่างในตลาดยังมีให้มากพอที่ Lunaz จะสามารถแทรกตัวเข้าไปได้ และการจับคู่กับ Beckham ที่เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทแห่งนี้ 10% ถือว่าเป็นการจับคู่ที่ลงตัว เพราะวิธีการเข้าถึงกลุ่มคอลเล็กเตอร์ และบรรดาเซเลบริตี้ที่ดีที่สุดนั้นคือ การใช้ตัวเซเลบริตี้นั่นแหละ ซึ่ง Beckham มีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วน
ผลผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นับจาก 2018 ที่เริ่มดำเนินธุรกิจ ทาง Lunaz เองได้เปิดตัวรถยนต์ที่เกิดจากการทำงานของพวกเขาออกสู่ตลาดมาแล้วหลายรุ่น เช่น Rolls-Royce Phantom V รุ่นปี 1961 Rolls-Royce Cloud รุ่นปี 1956 และ Jaguar XK120 โดยรถยนต์ทั้งหมดที่นำมาเปิดตัวและขายนั้นจะได้รับการฟื้นฟูสภาพก่อนเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ก่อนที่จะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าเข้าไป
กระบวนการจัดการในส่วนการแปลงร่างรถยนต์คลาสสิคเป็นรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะเริ่มจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงรูปทรง น้ำหนัก และพลวัตรในการขับที่จะเกิดขึ้นของตัวรถยนต์คันนั้น จากนั้นก็จะมีการใช้ซอฟแวร์ด้วยระบบ 3D-Scanned ในการจัดการเปรียบเทียบกับขุมพลังและชิ้นส่วนต่าง ๆ ดั้งเดิมของตัวรถเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการอ้างอิงสำหรับวางระบบ
จากนั้นตัวรถก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสภาพซึ่งทุกขั้นตอนจะเป็นการทำงานด้วยมือ พร้อมกับการปรับปรุงให้ตัวรถมีความทันสมัยเช่นการติดตั้งระบบนำทาง หรือสัญญาณ Wi-Fi ในขณะที่ชิ้นส่วนดั้งเดิมของตัวรถ เช่น หน้าปัด ฝาถังน้ำมัน และช่องระบายความร้อนต่าง ๆ ในตัวรถจะมีการคงเอาไว้ให้เหมือนเดิมที่สุด ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน เช่น ระบบเบรกหรือระบบช่วงล่างจะมีการอัพเกรดเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากจำนวนแรงม้าที่เพิ่มขึ้น
สำหรับ Phantom V ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ของพวกเขาที่ปรับปรุงและพัฒนาขึ้นมานั้นจะมาพร้อมกับตัวถังที่รองรับได้ถึง 8 ที่นั่ง และใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุในระดับ 120 kWh ขณะที่ Jaguar XK120 นั้นจะใช้แบตเตอรี่ชุดเล็กกว่ามีขนาด 80 kWh โดยรถยนต์ทุกคันที่ถูกปรับปรุงให้เป็นเวอร์ชันไฟฟ้านั้นจะมาพร้อมกับความสามารถในการรองรับกับการชาร์จเร็วและการใช้ระบบเปลี่ยนพลังงานจลย์ที่เกิดจากการเบรกหรือการชะลอความเร็วเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่ด้วย เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รถยนต์ยุคนั้นไม่มี เช่น ครูสคอนโทรล หรือแทร็คชั่นคอนโทรล เพื่อให้ตัวรถมีความน่าใช้มากขึ้น
สำหรับราคาของรถยนต์ที่ผ่านการดัดแปลงเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้จะเริ่มต้นที่ 350,000 ปอนด์เป็นต้นไป และเริ่มารับจองแล้ว ก่อนที่จะเริ่มทยอยปล่อยรถยนต์ล็อตแรกออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายนนี้
แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่คนเดียวในตลาด
ตลาดกลุ่มนี้ถูกจับตามองมาสักระยะหนึ่งแล้ว และไม่ใช่ Lunaz เพียงรายเดียวเท่านั้นที่มองเห็นช่องในการเข้าถึงลูกค้าอีกกลุ่มที่มีจำนวนมากและเต็มไปด้วยศักยภาพ แต่ผู้ที่กระโดดเข้าสู่ตลาดกลุ่มนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวแบรนด์รถยนต์เองอย่าง Aston Martin และ Jaguar ก็สนใจ รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์อิสระรายอื่น อีกด้วย เช่น Rimac จากโครเอเชีย Renovo ที่นำรถสปอร์ตอย่าง Shelby Daytona มาขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า Zelectric Motor กับการเปิดตลาดด้วยการคืนชีพโฟล์คเต่าพลังไฟฟ้า Bloodshed Motors กับตลาดรถสปอร์ตที่เน้นไปที่ Ford Mustang รุ่นคลาสสิค หรือแม้แต่ Singer และ EV4U ที่จับเอา Porsche 911 รุ่นแรกมาดัดแปลง
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างคร่าวๆ ที่แสดงให้เห็นว่า แม้โลกจะเปลี่ยนไป และตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาครองเมือง แต่สุดท้ายก็ยังมีพื้นที่เล็ก ๆ เหลือให้ผู้ที่คิดต่างหรือมองเห็นช่องทางเข้ามาจับจอง และสามารถเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจได้
This website uses cookies.