Covid-19 ระบาดนาน มาตรการช่วยลูกหนี้อาจไม่พอ แนะรัฐตั้ง AMC บริหาร – ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ตั้งเป้าแก้หนี้คนไทยทั้งระบบหลังหนี้คนไทยมากกว่า 100 ล้านบัญชี นักการเงินชี้ต้องทำทุกมิติ ทั้งอัตราดอกเบี้ย ค่านิยมคนไทย สิ่งอำนวยความสะดวกจากรัฐ สภาพเศรษฐกิจ มีผลต่อการก่อหนี้ทั้งสิ้น แถม Covid-19 กินเวลานานกว่ามาตรการช่วยเหลือ อีกทั้งสถาบันการเงินมีข้อจำกัด แนะตั้ง AMC รับซื้อหนี้มาบริหาร เสนอเงื่อนไขที่เอื้อต่อลูกหนี้ได้มากกว่าสร้างแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เข้าถึงง่าย

นับว่าเป็นการออกมากล่าวถึงปัญหาหนี้สินของประชาชนครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 มิถุนายน 2564

“ปัญหาของประเทศของเรา ถ้าประชาชนของเรามีหนี้สินเป็นจำนวนมาก มีหนี้ตั้งแต่อายุน้อยมันจะมีผลต่อทั้งชีวิตของเขา ซึ่งเราก็พยายามแก้ไขมาโดยตลอด แก้ไขในเรื่องของหนี้นอกระบบที่ต้องเข้มงวดให้มากยิ่งขึ้น ให้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประเด็น ทุกประการ”

วันนี้เราต้องแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งหนี้สินกลุ่มต่างๆ ตอนนี้ที่ร้อนใจมากที่สุดคือหนี้ของ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี ปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

มาตรการระยะสั้นเราจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 6 เดือน ทั้งเรื่องการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน

นอกจากนี้ ยังพิจารณาการไกล่เกลี่ยหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีต่อประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ และให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี จัดให้มี softloan สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็น NPLs เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนองเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินจำนวนจำกัดอยู่เพื่อจะเข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้

มาตรการระยะต่อไปคือ การเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะต้องออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพิ่มการดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น



ระบาดนานกว่ามาตรการช่วยเหลือ

แหล่งข่าวจากวงการการเงินกล่าวว่า การระบาดในระลอกแรก ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่างๆ และขยายระยะเวลาความช่วยเหลือออกไปตามสถานการณ์ แต่ด้วยระยะเวลาที่ยืดยาวจนเข้าสู่ปีที่ 2 ของ Covid-19 ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขยายระยะเวลาความช่วยเหลือออกไปเป็นรอบที่ 3

การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอาจใช้เวลา 1-2 ปี รอเรื่องวัคซีนเข้ามาเป็นตัวช่วย ยิ่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้สถานการณ์ของโรคอยู่ในวงจำกัด ภาคธุรกิจต่างๆ ก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ การจ้างงานก็จะค่อยๆ ฟื้นตัว ประชาชนเริ่มมีรายได้เข้ามา เพื่อการดำรงชีพและจัดการกับปัญหาหนี้สินคงค้างที่มีอยู่

แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจและประชาชน ย่อมต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่าสถานการณ์ของโรค ดังนั้น มาตรการของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือ เช่น ลดดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย กับระยะเวลา 3-6 เดือน อาจไม่ยาวนานพอที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

แบงก์เอกชนมีข้อจำกัด

สถานการณ์นี้ไม่มีใครประเมินได้ว่าทุกอย่างจะจบเมื่อไหร่ ทำให้ยากต่อการออกมาตรการช่วยเหลือให้ตรงจุด เนื่องจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ก็มีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ควบคุมการดำเนินการอยู่เช่นกัน ทั้งกฎระเบียบทางการเงิน รวมไปถึงโครงสร้างทางธุรกิจที่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเกี่ยวข้องอีกหลายกลุ่ม

ดังนั้น การที่จะตัดสินใจใดๆ ในเรื่องลูกหนี้ จำเป็นต้องมีเรื่องของกำไร-ขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ การช่วยเหลือลูกหนี้จึงมีข้อจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติออกโรงเป็นแกนนำช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคที่ยาวนาน สถาบันการเงินเอกชนมีข้อจำกัดในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงอุปสรรคในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อต่อลมหายใจให้ภาคธุรกิจ ส่งผลให้การช่วยเหลือในบางธุรกิจไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง



แก้หนี้ต้องมองให้ครบทุกมิติ

นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า ที่จริงแล้วหลักการในการช่วยเหลือลูกหนี้มีแนวทางหลักๆ คือ ปรับโครงสร้างหนี้และเติมเงินใหม่ให้ลูกหนี้หรือภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งทั้ง 2 ทางจะมีรายละเอียดแยกย่อยลงไป นอกจากนี้ ยังต้องมีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริมเพื่อเอื้ออำนวยให้การช่วยเหลือลูกหนี้ทำได้สำเร็จ ทั้งเกิดขึ้นเองตามสถานการณ์โลกหรือฝ่ายรัฐบาลเข้ามาสร้างขึ้น นั่นคือ การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ปัญหาเรื่องคนไทยกับการเป็นหนี้นั้นต้องมองในหลายมิติ อย่างกรณี กยศ. ด้านหนึ่งเป็นเรื่องการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเงินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อใช้เป็นค่าเทอมในการเรียนระดับที่สูงขึ้น อีกด้านหนึ่งคือ ค่าเทอมของสถาบันการศึกษาแพงเกินไปหรือไม่ มหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งก็ขอออกนอกระบบ ประการต่อมาคือ วินัยทางการเงินของคนไทยมีมากพอหรือไม่ หลายรายที่สำเร็จการศึกษามีงานทำแล้ว เบี้ยวหนี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน เดือดร้อนไปถึงคนค้ำประกัน

ส่วนหนี้ประเภทอื่นๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เป็นไปเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนจะฟุ่มเฟือยหรือจำเป็น ตัวลูกหนี้คงทราบคำตอบดี หนี้บ้านอาจเป็นเรื่องของความมั่นคงในชีวิต หนี้รถเพื่อความสะดวกในการเดินทาง สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปถึงสภาพสังคมของบ้านเราว่าเป็นอย่างไร

เมืองไทยไม่แข่งปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

เรื่องอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ แบงก์ชาติที่กำกับดูแลได้กำหนดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดไว้ แต่ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าปรับต่างๆ ที่เลี่ยงออกไป แม้จะมีคำสั่งให้รวมทุกอย่างแล้วว่าไม่เกินเท่าไหร่ แต่เกือบทุกรายก็ยังคิดดอกเบี้ยใกล้หรือเท่าเพดานที่กำหนด

“ไม่มีผู้ให้บริการรายใดกล้าที่จะแข่งขันกันในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทุกรายล้วนพึงพอใจในอัตราดอกเบี้ยที่สูงใกล้เคียงกัน”

ที่ผ่านมา มีธนาคารออมสินที่เข้าไปซื้อบริษัทเงินสดทันใจของศรีสวัสดิ์ แล้วมาทำตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ไม่เกิน 11% ทั้งสินเชื่อใหม่และรับรีไฟแนนซ์ ขณะที่ดอกเบี้ยประเภทนี้อยู่ที่ 24-25% ถือเป็นการเข้ามาแทรกตลาดประเภทนี้ ดึงรายอื่นๆ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา วิธีการนี้นับเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

บ้านเราไม่มี Lead Bank ที่จะเข้ามาถ่วงดุลตลาด ตลาดสินเชื่อกลายเป็นตลาดของผู้ประกอบการ อย่างในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยฝากของไทยสูง ผู้ประกอบการบัตรเครดิตบางรายเคยร้องขอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต (ขณะนั้น 28%) แต่วันนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.25-0.5% พวกเขาเงียบ หากแบงก์ชาติไม่สั่งลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ยังคงอยู่ที่ 18% (แบงก์ชาติสั่งเหลือ 16%)

ที่จริงแล้วหากรัฐจะเข้ามาช่วยดึงดอกเบี้ยของสินเชื่อทุกประเภทลง ควรใช้แนวทางที่ธนาคารออมสินทำ คือใช้สถาบันการเงินในสังกัดของรัฐเข้ามาแทรกตลาดประเภทนี้ เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละประเภทลงมา

หากออกแบบให้ดี รัฐสามารถช่วยประชาชนได้ทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยการออกพันธบัตรดอกเบี้ย 1.8-3% เสนอขายให้ประชาชน เป็นการช่วยประชาชนที่พอมีเงินออมให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าดอกเบี้ยฝากในตลาด แล้วนำเงินมาเป็นทุนสำหรับปล่อยสินเชื่อที่ดอกเบี้ยไม่สูง เท่ากับเป็นการดึงให้ดอกเบี้ยกู้ในแต่ละสินเชื่อลดลงมา หรืออาจทำควบคู่ภายใต้อำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย หากไม่ติดขัดในข้อกฎหมาย



แนะตั้ง AMC บริหารหนี้

อีกแนวทางหนึ่งหากการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ทุกประเภทไม่คืบหน้า หรือเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ยากต่อการปฏิบัติ รัฐบาลควรตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขึ้นมา ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตปี 2540 เราเคยใช้มาแล้ว ปัจจุบันมีบริษัทบริหารสินทรัพย์หลายแห่งที่รับบริหารหนี้ในอดีตอยู่

รัฐอาจตั้งขึ้นมาใหม่เสนอเงื่อนไขที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติต่อลูกหนี้ ด้วยการรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินที่อาจมีข้อจำกัดมาบริหารแทน ที่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ย ยืดระยะเวลา เสนอแนวทางทั้งพักต้น พักดอก หรือตัดหนี้บางส่วน โดยมีข้อเสนอต่อลูกหนี้ที่ยืดหยุ่นและผ่อนปรนกว่าการปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงิน แน่นอนว่ารัฐบาลต้องแบกรับกับเรื่องของหนี้สูญบ้าง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดในทางการเมือง

ทุนดำเนินงานอาจมาจากภาครัฐ หรือระดมเงินจากประชาชนทั้งในรูปพันธบัตรหรือกองทุนรวม ในอดีตก็มีกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่รัฐบาลการันตีผลตอบแทน จะส่งผลให้คนที่มีเงินออมได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพิ่มกำลังซื้อไปในตัว และตัวลูกหนี้อยู่ในสถานะที่ไม่ลำบากต่อการรับผิดชอบภาระหนี้ที่มีอยู่ เพื่อให้เขาผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้



เร่งฟื้นเศรษฐกิจควบคู่

แต่การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ต้องทำควบคู่กับการฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศ สร้างงาน ผลักดันให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อได้

การหาแนวทางที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ทุกรัฐบาลทำไม่ได้ ทั้งเหตุผลจากปัจจัยทางการเมืองหรืออื่นๆ สร้างทางเลือกใหม่ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ถ้าสามารถทำได้ก็จะเป็นการลดการพึ่งพาเจ้าหนี้นอกระบบได้ไปในตัว นี่คือช่องว่างที่ผู้บริหารประเทศต้องคิดและหาทางออกให้ประชาชน

นอกจากนี้ การให้ความรู้ทางด้านการเงินกับประชาชน ปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้สังคม เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญที่จะช่วยให้คนที่ต้องการเป็นหนี้ต้องพิจารณาและศึกษาให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ลูกหนี้แข็งแรงพอที่จะประคองตัวและฟื้นตัวได้ในอนาคต