รถหรูในไทยแข่งเดือด BMW ประกาศเป็นผู้นำ 2 ปีซ้อน หวังรุ่นประกอบไทย และรถไฟฟ้า ช่วยรักษาแชมป์ ด้าน Mercedes-Benz ขอทวงตำแหน่งด้วยรุ่นใหม่ และรถไฟฟ้าประกอบไทย นักวิเคราะห์ คาด รถหรูโตกว่ารถตลาด
อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน และซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า เมื่ออ้างอิงข้อมูลยอดการจดทะเบียนจากกรมขนส่งทางบก BMW Group มียอดจดทะเบียนมากที่สุดในกลุ่มรถหรูปี 2564 หรือคิดเป็น 45.5% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 44.6% ในปี 2563 ผ่านการทำตลาดภายใต้แบรนด์ BMW และ Mini
สำหรับแบรนด์ BMW มียอดจดทะเบียนทั้งหมด 9,982 คัน ส่วน Mini อยู่ที่ 1,050 คัน รวมทั้งหมด 11,032 คัน ส่วนยอดการผลิตรถยนต์ BMW และจักรยานยนต์ BMW Motorrad ในโรงงานประเทศไทยอยู่ที่ 33,428 คัน เพิ่มขึ้น 17.8% และผลิตเพื่อส่งออกได้เพิ่มขึ้น 11.6%
ทั้งนี้ BMW Group ไม่เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในไทย โดยให้อ้างอิงจากยอดจดทะเบียนแทน แต่ยอดจดทะเบียนนี้อาจอ้างอิงได้ไม่ชัดเจน เพราะรวมรถขายโดยดีลเลอร์ และผู้นำเข้าอิสระ นอกจากนี้การจดทะเบียนไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากขายรถ ทำให้ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อน เช่นกรณีส่งมอบรถได้ช้า เป็นต้น
เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาด BMW เลือกส่งรถยนต์รุ่นประกอบในประเทศไทย เช่น X7 xDrive40d M Sport ราคาโดยประมาณ 6.1-6.3 ล้านบาทบาท รวมถึงการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วน เช่น i4 M50 รถยนต์นั่งขนาดกลาง ราคาจำหน่าย 4.999 ล้านบาท และ iX3 M Sport รถยนต์ SUV ขนาดกลาง ราคาจำหน่าย 3.399 ล้านบาท
BMW ยังเลือกใช้กลยุทธ์จองออนไลน์แบบจำกัดจำนวนเช่นเดิม โดยรุ่น i4 จะเปิดจองวันที่ 14 ก.พ. 2565 จำกัดจำนวน 22 คัน ส่วน iX3 จะเปิดจองวันที่ 14 ก.พ. เช่นกัน จำกัดจำนวนไว้ที่ 33 คัน นอกจากนี้ BMW ยังทยอยเปิดตัว Mini กับ BMW Motorrad รุ่นใหม่ รวมทุกแบรนด์กว่า 10 รุ่น
“การเปิดจองออนไลน์ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เช่น ปี 2563 Mini Cooper SE รถยนต์ไฟฟ้าล้วน ราคา 2.29 ล้านบาท 25 คัน หมดไม่ถึง 1 นาที หรือเมื่อกลางปี 2564 BMW iX รถยนต์ไฟฟ้าล้วนราคา 5.999 ล้านบาท 20 คัน หมดภายใน 6 นาที” ปรีชา นินาทเกียรติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย กล่าว
หลังเสียตำแหน่งผู้นำตลาดรถหรูในประเทศไทยให้ BMW 2 ปีติดต่อกัน Mercedes-Benz ต้องการตำแหน่งดังกล่าวคืน เพราะยืนเป็นอันดับ 1 มาก่อนหน้านี้นานราว 20 ปี เบื้องต้นทางบริษัทมีการเปิดเผยแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกในประเทศไทย และเปิดตัวรถยนต์รุ่นต่าง ๆ รวมถึงทำการขายให้จูงใจผู้ซื้อมากขึ้น
“ในประเทศไทย ความต้องการในตลาดรถยนต์ระดับลักชัวรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะมีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด” โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว โดยปี 2564 บริษัทมียอดจดทะเบียนทั้งหมด 9,817 คัน
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่จะจำหน่ายในประเทศไทยคือ EQS รถยนต์นั่ง 4 ประตูขนาดใหญ่ และรุ่นดังกล่าวจะประกอบในประเทศไทย แต่ถือว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพราะจริง ๆ แล้ว Mercedes-Benz ควรจะเริ่มทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วงปี 2563 กับรุ่น EQC ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC มองว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น
ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถหรูของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รถยนต์หรูพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น โดย EIC คาดการณ์ว่าในปี 2022 มูลค่าตลาดรถยนต์หรูของไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์หรูยังคงเผชิญกับความท้าทายล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่อาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตรถยนต์หรูบางรุ่น ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายที่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
อ้างอิง // BMW, Mercedes-Benz, EIC
อ่านข่าวเกี่ยวกับ BMW และรถยนต์หรูเพิ่มเติมได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา
As part of their spo…
This website uses cookies.