เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้พยายามผลักดันให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย จนกระทั่งถึง “โค้งสุดท้าย” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เผยว่า ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ?. ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยหลังจากนี้จะจัดทำประกาศตามกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และคาดว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
ทำความรู้จักบริการ และร่างกฎหมายแอปเรียกรถ
ในยุคสมัยที่ชีวิตของผู้คนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตที่ง่ายและสะดวกสบาย ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัลที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของสังคมเมือง รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงบริการเรียกรถผ่านแอป (Ride-hailing) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการให้สามารถเจอกับผู้ขับขี่ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กฎหมายไทยยังไม่ได้เปิดกว้างหรือรองรับให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการสาธารณะได้ โดยเน้นให้ความสำคัญไปกับรถรับจ้างอย่างแท็กซี่เท่านั้น
กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็น “รถยนต์รับจ้าง” กับกรมการขนส่งทางบกเพื่อนำไปให้บริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ แอปพลิเคชัน) ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถหลายราย ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ (Grab) โบลท์ (Bolt) ไลน์แมน แท็กซี่ (LINE MAN Taxi) โกเจ็ก (Gojek) ทรูไรด์ (True Ryde) และ บอนกุ (Bonku)
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวยังครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดขนาด กำลังขับเคลื่อน (กิโลวัตต์) หรือประเภทของรถที่จะสามารถนำมาให้บริการ การต้องติดเครื่องหมายบนตัวรถว่าเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอป การกำหนดอายุการใช้งานของรถที่ต้องไม่เกิน 9 ปี และต้องตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายสะอาดและสุภาพ ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต้องมีระบบการลงทะเบียนคนขับ การกำหนดให้ต้องมีการแสดงตัวตนของคนขับ เลขทะเบียนรถ ระยะทาง ระบบติดตาม-ตรวจสอบเวลา สถานที่รับส่ง ระบบคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ตลอดจนระบบแจ้งข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ เป็นต้น
เมื่อแอปเรียกรถถูกกฎหมาย แล้วใครบ้างที่ได้ประโยชน์
ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นับหลายหมื่นคัน ยังไม่นับรวมคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่หันมารับงานจากแอปเรียกรถเหล่านี้ ฝันของประชาชนคนไทยที่จะสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป แม้จะตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเวียดนาม แต่ก็ยังไม่สายเกินไป? อดใจอีกนิด ไม่นานเกินรอ
Discover the panel d…
This website uses cookies.