1908 นิวยอร์ก – ปารีส : การแข่งรถรอบโลกที่ “วุ่นวาย” ที่สุดในประวัติศาสตร์ – Sanook

ดาการ์ แรลลี่ อาจจะเป็นที่รู้จักในฐานะการแข่งรถสุดหฤโหด ด้วยการที่นักขับเคยต้องซิ่งรถข้ามทวีปท่ามกลางภูมิประเทศทุรกันดาร ทว่าเมื่อกว่า 100 ปีก่อน มันมีการแข่งขันที่หินกว่านั้น และ 1908 นิวยอร์ก – ปารีส คือรายการที่ว่า

มันคือการแข่งรถสุดท้าทายที่มีเส้นทางรอบโลกผ่าน 3 ทวีป จากอเมริกาเหนือ สู่เอเชีย แล้วมาสิ้นสุดที่ยุโรป จนได้รับการยกย่องให้เป็นการแข่งรถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดีเมื่อถึงวันแข่งจริง ศึกนี้ล้วนเต็มไปด้วยความวุ่นวายที่ทำให้บางทีมแข่งต่อไม่จบ หรือกว่าจะเข้าเส้นชัยก็ล่าช้าไปหลายเดือน

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

การแข่งรถสุดระห่ำ 

ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บของเช้าวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1908 ที่ ไทม์สแควร์ ย่านแมนแฮตตัน กลับคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนนับแสนคน ที่นี่ไม่ได้มีคอนเสิร์ต ไม่ได้มีการประท้วง แต่กำลังจะมีการแข่งรถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 

มันคือการแข่งรถเหนือจินตนาการ จากมหานครนิวยอร์กของประเทศสหรัฐอเมริกาไปสู่กรุงปารีสของประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เส้นทางฝั่งตะวันตก ซึ่งมี Le Matin หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส และ The New York Times เป็นสปอนเซอร์หลัก โดยผู้ชนะเลิศจะได้ถ้วยรางวัลที่มีน้ำหนักมากถึง 1,400 ปอนด์ (635 กิโลกรัม) ไปครอบครอง

สำหรับเส้นทางที่วางเอาไว้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะออกสตาร์ทที่ไทม์สแควร์ แล้วขึ้นเหนือไปแคนาดา ก่อนจะเลี้ยวซ้ายไปทางตะวันตก เพื่อไปให้ถึงอะแลสกา ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของประเทศ 

จากนั้นพวกเขาจะต้องใช้สะพานน้ำแข็งที่ทอดยาวผ่านช่องแคบแบริ่ง เพื่อข้ามไปยังรัสเซีย แล้วใช้เส้นทางสายไซบีเรียที่ไม่เคยมีรถคันไหนเคยขับผ่านมาก่อน มุ่งหน้าไปยังมอสโก, เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และเบอร์ลิน ก่อนจะเข้าเส้นชัยที่ปารีส เป็นระยะทางรวมกว่า 22,000 ไมล์ (ราว 35,000 กิโลเมตร)  

“มันคือการแข่งขันประวัติศาสตร์ ก่อนปี 1908 มีชายเพียงแค่ 9 คนที่เคยขับรถยนต์ข้ามประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ใช่ตอนฤดูหนาวด้วย โดยใช้เวลาเร็วที่สุดคือ 14 วัน” The New York times ระบุ

อันที่จริง นิวยอร์ก-ปารีส ไม่ใช่การแข่งรถข้ามโลกครั้งแรก เพราะ 1 ปีก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์ Le Matin ก็เคยจัดการแข่งขันในเส้นทาง ปักกิ่ง-ปารีส มาก่อน โดยผู้ชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนั้นคือเจ้าชายสกิปิโอเน บอร์จีส จากอิตาลี ที่ใช้เวลาไปทั้งสิ้นรวม 2 เดือน 

แต่สิ่งที่ทำให้การแข่งขันครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งก่อน คือเส้นทางที่ทอดยาวผ่าน 3 ทวีปจากอเมริกาเหนือ เอเชีย และยุโรป รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน และที่สำคัญความท้าทายของมันคือการจัดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศที่เลวร้าย

มันคือการแข่งขันที่บ้าระห่ำ และมันก็ทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันแทบบ้าจริง ๆ

เริ่มต้นก็พังเสียแล้ว 

อันที่จริงการแข่งขันเริ่มส่อเค้าลางของความวุ่นวายตั้งแต่ก่อนเริ่มแข่ง เมื่อจากบรรดาผู้สมัคร 13 ทีม มีเพียงแค่ 6 ทีมที่ปรากฏกายหน้าไทม์สแควร์ ทำให้ผู้ร่วมชิงชัยจากจุดออกสตาร์ทประกอบไปด้วย ทีมโธมัส (Thomas) จากสหรัฐฯ, โปรโตส์ (Protos) จากเยอรมัน, ซัสต์ (Zust) จากอิตาลี และ 3 ทีมจากฝรั่งเศส คือ เดอ ดิยง บูตอง (De Dion-Bouton) โมโตบล็อค (Moto-Bloc) และ ซิแซร์ นัวแดง (Sizaire-Naudin) 

นอกจากนี้ จอร์จ บรินตัน แม็คเคิลแลน จูเนียร์ นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก ที่จะมาเป็นประธานในการปล่อยรถยังมาสาย จนทำให้นักธุรกิจที่มีชื่อว่า คอลเกต ฮอยต์ ทนไม่ไหว จึงหยิบปืนขึ้นมาลั่นไกในเวลา 11.15 น. ซึ่งช้ากว่ากำหนดการเดิม 15 นาที

และทันทีที่เสียงปืนดังขึ้น รถทั้ง 6 คันก็ทะยานออกจากไทม์สแควร์ ท่ามกลางผู้คนกว่า 250,000 คนที่มาให้กำลังใจยืนเรียงรายเต็มสองข้างทางของถนน โดยในช่วงแรกทีมโธมัส ที่มี มอนเทจ โรเบิร์ตส์ นักแข่งรถชื่อดังเป็นคนขับ และ จอร์จ ชูสเตอร์ เป็นช่างเครื่อง คือผู้นำ ตามมาด้วยทีม ซัสต์ และโปรโตส์ ส่วนสามทีมของฝรั่งเศสอยู่ในกลุ่มท้าย 

การแข่งขันดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งพ้นเขตเมืองพวกเขาก็พบว่าสภาพของถนนมันเลวร้ายกว่าที่คิด ทั้งขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ จนทำให้หลายคันต้องขับ ๆ จอด ๆ และท้ายที่สุด ซิแซร์ นัวแดง ของฝรั่งเศส ก็กลายเป็นทีมแรกที่ต้องออกจากการแข่งขัน หลังเฟืองท้ายรถหักจนวิ่งต่อไม่ได้ เมื่อผ่านไปเพียงแค่ 96 ไมล์ (154 กิโลเมตร) 

นอกจากนี้จากการแข่งขันที่จัดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทำให้นักขับต้องเผชิญกับหิมะที่ท่วมสูง แถมบางครั้งพวกเขาต้องเผชิญกับพายุหิมะ ซึ่งเป็นอุปสรรคให้กับรถหลายคัน โดยเฉพาะ โธมัส ฟลายเออร์ ของทีมโธมัส ที่ไม่มีทั้งฮีตเตอร์ หลังคา หรือแม้แต่กระจกหน้ารถ

แม้ว่าพวกเขาจะเอาตัวรอดไปได้ แต่หลังจากนั้นไม่นานอุปสรรคใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดความตึงเครียดในหมู่นักขับ จากข้อตกลงว่าจะสลับตำแหน่งผู้นำ ทุก 5 ชั่วโมง แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครยอมทำตาม

สุดท้ายมันก็มาถึงจุดแตกหักตอนถึงมิดเวสต์ เมื่อทีมซัสต์ ของอิตาลี กล่าวหาทีมโธมัสว่าโกงการแข่งขัน จากการเอารถขึ้นวิ่งไปบนรางรถไฟ เมื่อเจอกับถนนไม่ดีหรือทางขาด 

“ผมไม่ชอบพวกอเมริกันเลย เหมือนกับที่ผมไม่ชอบคนขายชีสที่ถูกหวย หรือคนที่ร่ำรวยจากราคามันฝรั่งที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขามีความเป็นคนเลี้ยงสัตว์มากเกินไป” อันโตนิโอ สกาโฟกลิโอ นักข่าวที่เดินทางมากับทีมของซัสต์ บันทึกไว้ 

ขณะเดียวกันทีมโธมัส ยังถูกร้องเรียนจากโมโต บล็อค และโปรโตส์ ว่าในขณะที่พวกเขาต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อจ้างชาวบ้านมาช่วยเหลือ แต่ทีมจากอเมริกากลับมีคนที่พร้อมช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าตอบแทน 

“เรารู้สึกท้อแท้ ชาวนาเรียกร้องเงิน 3 เหรียญต่อไมล์ สำหรับการช่วยเหลือ พวกเขายังคิดเงินอีกคนละ 5 เหรียญเพื่อให้เราสามารถนอนหลับบนพื้นได้” จดหมายที่ทีมจากฝรั่งเศสและเยอรมัน เขียนถึงประธาน Chicago Automobile Club

“ตลอดทางชาวนาช่วยขุดหิมะให้รถของผู้นำ และด้วยการช่วยเหลือรถของโทมัส เป็นไปได้ไหมที่จะบอกคนให้ช่วยเราบ้าง” 

แน่นอนว่าไม่เพียงแต่คำขอร้องของพวกเขาจะถูกปฏิเสธเท่านั้น แต่มันยังถูกประจานบนหน้าหนังสือพิมพ์ ด้วยพาดหัวว่า “การอุทธรณ์ที่น่าสมเพชของพวกต่างชาติ” 

อย่างไรก็ดีเรื่องวุ่นไม่ได้มีแค่นี้

เส้นทางที่แทบเป็นไปไม่ได้ 

เมื่อถึงรัฐโคโลราโด ผู้นำยังเป็นทีมโธมัส ของอเมริกา แถมพวกเขามีผู้โดยสารคนใหม่ชื่อว่า ฮาน เฮนดริก แฮนเซน อดีตคนนำทางของทีม เดอ ดิยง ที่ถูกไล่ออกหลังไปทะเลาะกับ บูร์ซิเยอร์ เดอ แซงต์ ชาร์ฟเรย์ นักขับของทีม 

ส่วนทีม ซัสต์ ที่มี เอมิลิโน ซิร์ตอรี เป็นนักขับยังอยู่ที่เมืองโอมาฮา ในรัฐเนบราสกา ตามมาด้วย เดอ ดิยง ที่อยู่ที่เมืองซีดาร์ รัฐไอโอวา และ โมโต บล็อค ที่ตอนนี้อยู่ที่ เมเปิ้ล พาร์ค รัฐอิลลินอยส์ โดยมีโปรโตส์ รั้งท้าย แต่ก็ตามหลังอยู่ไม่ห่าง 

และเมื่อทีมโธมัส มาถึงรัฐไวโอมิง โรเบิร์ตส์ ก็ส่งไม้ต่อให้กับ ชูสเตอร์ เนื่องจากเขามีภารกิจต้องไปแข่งกรังด์ปรีซ์ที่ทวีปยุโรป ซึ่งช่างเครื่องของ โธมัส มอเตอร์ จะขับในเส้นทางจากไวโอมิงไปถึงยูทาห์ 

หลังจากนั้น แฮร์โรลด์ บลิงเกอร์ จะเป็นคนขับของโธมัสในเส้นทางจากยูทาห์ไปถึงซานฟรานซิสโก และชูสเตอร์ ก็จะกลับมานั่งหลังพวงมาลัยอีกครั้งที่อลาสกา และไซบีเรีย จนเมื่อไปถึงยุโรป โรเบิร์ตส์ ก็จะมาขับต่อจนถึงเส้นชัย 

แต่เส้นทางของพวกเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อทีมโธมัส ต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกมากมายตลอดเส้นทาง ทั้งพายุหิมะ พายุทราย หรือน้ำมันหมดกลางทาง ที่ทำให้ชูสเตอร์ ต้องเดินเท้าเป็น 10 ไมล์ในตอนกลางคืนเพื่อหาเชื้อเพลิง 

ไม่ต่างกับทีมอิตาลี ที่นอกจากจะไม่คุ้นเส้นทางแล้ว พวกเขายังเจอกับเหตุการณ์ถูกฝูงหมาป่าเข้าโจมตี ในตอนที่อยู่ในเทือกเขาร็อคกี้ จนเกือบเอาตัวไม่รอด แต่สุดท้ายก็ผ่านมันมาจนได้ 

“เราเคลื่อนที่ไปยังเส้นทางที่ไม่มีถนน และบางครั้งก็เจอกับคาวบอยกำลังคุยกัน วันหนึ่งในเทือกเขาร็อคกี้ ซัสต์ เคลื่อนที่ได้ช้าลงหลังหิมะตกลงมา มันช้าจนแทบจะเหมือนคลาน” บันทึกของ สกาโฟกลิโอ ระบุ

“หลังจากนั้นเราก็ได้ยินเหมือนเสียงเด็กร้อง และเห็นบางอย่างเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ รถ และรู้ได้ว่ามันคือฝูงหมาป่าเกือบ 50 ตัว” 

“รถพยายามเร่งความเร็วแต่ก็เร่งไม่ขึ้น ซิร์ตอรี พยายามบีบแตรขู่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงหยุดรถแล้วไปหยิบปืนไรเฟิล แล้วจัดการหมาป่าฝูงนั้น”  

ยกเว้นเพียงแค่ทีม โมโต บล็อค ที่ต้องโยนผ้ายอมแพ้ เมื่อรถของพวกเขามีปัญหาเรื่องกลไก จนทำให้เจ้าของบริษัทบอก ชาร์ลส์ กอดดาร์ด นักขับของทีมว่า “เลิกแข่ง ขายรถ แล้วกลับบ้าน” ทำให้ผู้ร่วมชิงชัยเหลือเพียงแค่ 4 ทีม

และ 41 วันหลังออกสตาร์ท ทีมโธมัส ก็มาถึงซานฟรานซิสโก เป็นทีมแรก ทำให้พวกเขากลายเป็นคนกลุ่มแรกที่สามารถขับรถข้ามประเทศสหรัฐฯ ในฤดูหนาว โดยมีทีม ซัสต์ ตามหลังพวกเขาอยู่ 900 ไมล์   

“สถิติของรถโทมัสจากนิวยอร์กถึงซานฟรานซิสโกนั้นยอดเยี่ยมมาก” The New York Times สรุป  

“หลายคนรู้สึกแคลงใจ ตอนที่นักแข่งออกเดินทางบนเส้นทางนิวยอร์ก-ปารีสในฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ พวกเขาบอกว่าคงไม่มีใครจะข้ามไวโอมิ่งได้จนกว่าจะถึงหน้าร้อน บางคนพูดว่าพวกเขาคงไปไม่ถึงชิคาโก และบางคนบอกว่าพวกเขาไม่สามารถข้ามรัฐนิวยอร์กได้ด้วยซ้ำ” 

ทว่าการผจญภัยของพวกเขาดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

เส้นทางที่หายไป ? 

หลังจากเดินทางข้ามประเทศได้สำเร็จ เส้นทางต่อไปของทีมโธมัสคืออลาสกา โดยต้องเอารถขึ้นเรือไปซีแอตเทิล แล้วต่อเรือสินค้าไปเมืองวัลเดซ รัฐอะแลสกา และเริ่มขับต่อจากตรงนั้น 

แต่เมื่อมาถึงวัลเดซ ชูสเตอร์ ที่รับไม้ต่อจากบลิงเกอร์ ต้องงงเป็นไก่ตาแตก เมื่อถนนที่จะนำทางไปยังช่องแคบแบริ่งที่ผู้จัดการแข่งขันบอกดันไม่มีอยู่จริง ที่นี่มีเพียงแค่เส้นทางสำหรับลากเลื่อนเท่านั้น และวิธีเดียวที่จะให้รถผ่านไปได้ คือแยกชิ้นส่วนแล้วขนใส่ลากเลื่อนให้สุนัขลากไป 

ยิ่งไปกว่านั้นสะพานน้ำแข็งที่ทอดยาวผ่านช่องแคบแบริ่ง ที่เป็นเหตุผลให้ผู้จัดจัดการแข่งขันในฤดูหนาว แม้ว่าอาจจะเคยมีอยู่จริง แต่มันก็ได้ละลายไปหมดแล้วเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ทำให้การเดินทางผ่านช่องแคบแบริ่งเป็นไปไม่ได้เลย 

ผู้จัดการแข่งขันจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผน ให้ทีมโธมัส กลับไปยังซีแอตเทิล แล้วนั่งเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังญี่ปุ่นแทน จากนั้นค่อยเดินทางต่อไปเมืองวลาดิวอสตอคของรัสเซีย และขับรถไปปารีสจากทางนั้น 

แน่นอนว่าการเสียเวลาที่อะแลสกา ทำให้ทีมโธมัสถูกทีมอื่นแซงไปจนหมด (เพราะทีมอื่นไม่ได้ไปอะแลสกา) ผู้จัดการแข่งขันจึงปรับสมดุลด้วยการหักเวลาของทีมโธมัสออก 15 วัน ซึ่งหมายความว่าแม้โธมัสจะเข้าเส้นชัยช้ากว่าทีมแรก 2 สัปดาห์ พวกเขาก็จะยังเป็นผู้ชนะอยู่ดี 

นอกจากนี้ผู้จัดการแข่งขันยังสั่งปรับทีมเยอรมันอีก 15 วัน หลังทีมโปรโตส์ แอบเอารถขึ้นรถไฟในเส้นทางจากยูทาห์ ไปซีแอตเทิล อีกด้วย 

อย่างไรก็ดีเมื่อถึงรัสเซีย ด้วยความที่ดินแดนแห่งนี้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแรร์ไอเท็ม ทำให้ผู้ร่วมการแข่งขันตกลงกันเองว่า จะให้เวลาหนึ่งวันเพื่อให้แต่ละทีมไปหาน้ำมัน แล้วค่อยมาออกสตาร์ทพร้อมกัน

ทว่าการตุกติกของของ บูร์ซิเยอร์ เดอ แซงต์ ชาฟเฟรย์ (Bourcier de St. Chaffray) นับขับทีม เดอ ดิยง ที่กว้านซื้อน้ำมันจนหมด ทำให้เจ้าของทีมไม่พอใจและสั่งให้เขาถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้เหลือทีมผู้ชิงชัยที่จุดออกสตาร์ทอีกครั้งที่รัสเซียแค่เพียง 3 ทีมคือ โธมัส, ซัสต์ และโปรโตส์ 

แม้ว่าคู่แข่งจะลดลงแต่เส้นทางที่เหลือของพวกเขาก็ไม่ได้ง่ายเลย เมื่อสภาพภูมิประเทศของไซบีเรีย ในช่วงฤดูใบไม้ผลินั้นอาจจะเลวร้ายกว่าถนนในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ เมื่อทุ่งทุนดราได้แปรสภาพเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่จากหิมะที่เริ่มละลาย 

“เราอาจจะพบ โจรจีน เสือโคร่งแมนจูเรีย ไข้ โรคระบาด โรคติดต่อ และความอดอยากบนท้องถนน ไม่ต้องพูดถึงโคลนที่เกิดขึ้นหลังฝนตกสามเดือน ยุงตัวเท่าตั๊กแตน และสัตว์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน” สกาโฟกลิโอ บรรยายถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น 

นอกจากนี้เหล่านักขับยังมีปัญหากับเส้นทาง เมื่อคนรัสเซีย ไม่เข้าใจภาษามือที่พวกเขาสื่อสาร ส่วนพวกเขาก็ไม่เข้าใจภาษารัสเซีย โดยเฉพาะทีมจากอเมริกา ที่ต้องเสียเวลาไปถึง 15 วันจากการไปผิดทาง จนทำให้โปรโตส์ ที่มี ฮานส์ คอปเพิล นายทหารเป็นนักขับออกนำ ตามมาด้วยทีมโธมัส ส่วนทีมอิตาลีอยู่อันดับสุดท้าย โดยตามหลังอยู่เป็นพันไมล์ 

โชคยังดีที่หลังออกมาจากรัสเซีย ถนนเริ่มดีขึ้น ทำให้พวกเขาทำเวลาได้ จนกระทั่งในวันที่ 26 กรกฎาคม 1908 ฮานส์ คอปเปิล ก็ขับโปรโตส์ ของเยอรมันมาถึงกรุงปารีส โดยใช้เวลาไปทั้งสิ้น 5 เดือนครึ่ง ในระยะทาง 22,000 ไมล์

แต่เขาก็ไม่ได้เป็นผู้ชนะ เพราะแม้ว่า ชูสเตอร์ ขับ โธมัส ฟลายเออร์ เข้าเส้นชัยที่ปารีสหลังจากเขา 4 วัน คือวันที่ 30 กรกฎาคม 1908 แต่เมื่อบวกลบเวลาที่หายไป โธมัส กลายเป็นทีมที่ทำเวลาได้ดีที่สุด ด้วยเวลารวมทั้งสิ้น 169 วัน ชนะโปรโตส์ไป 26 วัน ส่วนอันดับ 3 คือซัสต์ ที่ตามหลังผู้ชนะอยู่ 48 วัน และทำให้พวกเขากลายเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันบริษัทแรกที่ชนะเลิศการแข่งรถในระดับนานาชาติ 

และการแข่งขันครั้งนี้ไม่เพียงแค่สามารถพิสูจน์ศักยภาพของมนุษย์และเครื่องยนต์เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบคมนาคมของโลกอีกด้วย

การแข่งรถเปลี่ยนโลก  

ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความที่เยอรมันคือชาติแรกที่เป็นผู้จดสิทธิบัตรรถยนต์ บวกกับการที่รถจากอิตาลี เข้าเส้นชัยเป็นคันแรกในรายการ ปักกิ่ง-ปารีส จึงทำให้ชื่อเสียงในด้านยานยนต์เทไปอยู่ในฝั่งยุโรปอยู่หลายสิบปี 

แต่การแข่งขัน นิวยอร์ก-ปารีส ก็ทำให้มุมมองของผู้คนเปลี่ยนไป และทำให้ชื่อของ โธมัส มอเตอร์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้ยอดขายของบริษัทรถสัญชาติอเมริกันพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

“การแข่งขันพิสูจน์ให้เห็นว่ารถยนต์เป็นการคมนาคมที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้” เจฟฟ์ มาร์ล หลานของชูสเตอร์ บอกกับ The New Yrok Times 

“มันยังเป็นหมุดหมายของการเติบโตของรถยนต์อเมริกัน ก่อนปี 1908 คนยังคิดว่ายุโรปผลิตรถได้ดีกว่าอเมริกา” 

นอกจากนี้ เส้นทาง นิวยอร์ก-ปารีส ยังก่อให้ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่บวกที่ตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทวิจารณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่โจมตีสภาพของถนนในสหรัฐฯ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงถนนทั่วอเมริกา 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อยางมะตอยได้ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1910 ก็ทำให้ถนนของสหรัฐฯ พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังสิ่งนี้กลายส่วนผสมสำคัญในการทำถนนสาย ลินคอล์น ไฮเวย์ ถนนข้ามทวีปสายแรกที่สร้างเสร็จในปี 1913 

ขณะเดียวกันถนนสายนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจของการสร้างทางหลวงระหว่างรัฐ ที่ช่วยยกระดับการคมนาคมของสหรัฐอเมริกา โดยมีจุดเริ่มต้นที่ไทม์สแควร์ เมืองนิวยอร์ก และไปสิ้นสุดที่ซานฟรานซิสโก 

แต่สำหรับ จอร์จ ชูสเตอร์ นอกจากถ้วยชนะเลิศ เขาก็ไม่ได้รับรางวัลใด ๆ เลย รวมถึงเงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 29,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.5 แสนบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน) ที่สมาคมยานยนต์แห่งอเมริกาเคยสัญญาว่าจะให้ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1972 ด้วยวัย 99 ปี 

เช่นกันกับโบนัสจากต้นสังกัด จากการทำให้ โธมัส มอเตอร์ มีชื่อเสียงโด่งดัง เขาก็ไม่ได้รับแม้แต่แดงเดียว แต่ยังดีที่ได้รับคำสัญญาจากบริษัทว่าเขาจะมีงานทำไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี น่าเศร้าที่ “ตลอดชีวิต” ของเขานั้นสั้นเหลือเกิน เมื่อเงินที่ทุ่มไปในการแข่งขันนิวยอร์ก-ปารีส ทำให้ โธมัส มอเตอร์ สูญเงินไปมากถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 95 ล้านบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน) จนทำให้บริษัทล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์ในปี 1912 

และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันไม่คุ้นหูกับบริษัทรถสัญชาติอเมริกันรายนี้