Motor Sport Sponsored

11 ปีที่หายไป…การกลับมาอีกครั้งของ “Ralliart” – ผู้จัดการออนไลน์

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored


ในโลกยานยนต์ จุดเริ่มต้นของซับแบรนด์ที่ถูกสื่อให้เห็นถึงจุดเด่นด้านความสปอร์ตและความแรงของแต่ละแบรนด์ไม่แตกต่างกัน เพราะทุกอย่างล้วนถือกำเนิดมาจากสนามแข่งเหมือนกัน และแบรนด์เหล่านั้นนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ การเข้าถึงความต้องการของลูกค้าที่มีเท้าขวาหนักเป็นพิเศษ เพียงแต่ Ralliart ของค่ายมิตซูบิชิอาจจะแตกต่างจากใครเพื่อน เพราะพวกเขาถือกำเนิดมาจากสนามแข่งทางฝุ่น ไม่ใช่ทางเรียบเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่มักจะมาจากทางเรียบ

ช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นของมอเตอร์สปอร์ตสมัยใหม่ และการเชื่อมโยงของผู้ผลิตรถยนต์กับการแข่งประเภทนี้มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกลุ่มบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นนั้นถือว่า 4 ค่ายหลักมักจะมีซับแบรนด์คู่บุญที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีในสนามแข่งมาใช้กับรถยนต์ที่จำหน่ายในตลาด ซึ่งโตโยต้า มี TRD (Toyota Racing Development) ฮอนด้า มี Mugen Nissan มี Nismo และมิตซูบิชิ มี Ralliart หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ในการสนับสนุนงานด้านมอเตอร์สปอร์ตและนำองค์ความรู้ที่ได้จากสนามแข่งมาต่อยอดเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าและเชื่อม 2 โลกเข้าด้วยกัน


แน่นอนว่าเมื่อมองจาก 4 ค่ายนี้ ดูเหมือนว่าจะมีแค่ มิตซูบิชิเท่านั้นที่เอาจริงเอาจังในการนำซับแบรนด์ด้านความแรงของตัวเองเข้ามาสร้างความคุ้นเคยกับคนไทย และจะว่าไปแล้ว Ralliart เป็นที่รู้จักของคนไทยมายาวนาน แม้ว่าจะมีช่วงหนึ่งที่ขาดหายไป แต่ทว่าในตอนนี้ชื่อของ Ralliart ได้กลับมาสู่ตลาดบ้านเราอีกครั้ง

จุดกำเนิดจากสนามแข่งแรลลี่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 มอเตอร์สปอร์ตที่ยุโรปเบ่งบาน และการใช้ความสำเร็จจากสนามแข่งมาเป็นจุดแข็งในการสร้างความได้เปรียบเชิงการตลาดเพื่อผลักดันยอดขาย นั้นถือเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นต่างบินข้ามน้ำเข้ามาสร้างชื่อและมองหาความท้าทายจากสนามแข่งเหล่านี้


มิตซูบิชิอาจจะแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เมื่อพวกเขาเลือกที่จะโฟกัสการแข่งขันทางฝุ่นอย่างแรลลี่ ไม่ว่าจะเป็น Sprint Rally หรือ Rally-Cross และมี 2 รายการใหญ่เป็นสิ่งที่พวกเขาเน้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของตัวรถ นั่นคือ WRC หรือ World Rally Championship และ Paris-Dakar ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ Dakar Rally

การเข้ามาของมิตซูบิชิ ถูกทำผ่านทางทีม Andrew Cowan Motorsports (ACMS) ภายใต้ชื่อของ Ralliart Europe ซึ่งทีมนี้ได้รับการดูแลโดย Andrew Cowan ซึ่งเป็นนักแข่งรถที่ใช้รถแข่งของมิตซูบิชิในการแข่งแรลลี่ที่ยุโรปจนได้รับชัยชนะ และเพื่อนร่วมทีมของเขา Doug Stewart ซึ่งมิตซูบิชิได้มอบหมายให้ทั้งคู่ก่อตั้งทีมงานเพื่อดูแลและสนับสนุนการทำงานของมิตซูบิชิในโลกมอเตอร์สปอร์ตที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป และนั่นได้นำไปสู่การก่อตั้ง Ralliart Europe เมื่อปี 1984

ความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การเข้าร่วมการแข่งขัน WRC ครั้งแรกในปี 1989 ด้วยตัวแข่ง Galant VR-4 ก่อนที่จะมาสร้างชื่ออย่างสุดๆ จนครองศักราชทางฝุ่นคู่กับซูบารุ ในการแข่งขันรายการนี้คือ การนำตัวแข่งรุ่น Lancer Evolution มาใช้ครั้งแรกปี 1993 และประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์โลกครั้งแรกปี 1996 ด้วยฝีมือของ Tommy Makinen พร้อมกับคว้าแชมป์โลกถึง 4 สมัยติดต่อกันคือ 1996-1999


ขณะที่ในรายการ Paris-Dakar เป็นหน้าที่ของ Pajero และ มิตซูบิชิเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้มานานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 12 สมัย อีกทั้งยังมีส่วนในการผลักดันนักแข่งชาวไทยเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การแข่งสุดโหดด้วย ทั้งพรสวรรค์ ศิริวัฒนกุลที่ลงแข่งระหว่างปี 1992-1995 ส่วนอีกคนคือ มานะ พรศิริเชิด ที่ลงแข่งในปี 2009 ก่อนที่ชื่อของ Ralliart จะหายไปจากสนามแข่งเพราะการถอนตัวของมิตซูบิชิอย่างเป็นทางการในปี 2010


สนามแข่งสู่การสร้างแบรนด์แก่งความสปอร์ต

แน่นอนในแง่ของวิศวกรรมนั้น การเข้าร่วมมอเตอร์สปอร์ตคือ การพิสูจน์ความสามารถ และประสิทธิภาพของรถยนต์ที่แบรนด์เหล่านั้นพัฒนาขึ้นมาว่าเจ๋งขนาดไหนเมื่อต้องอยู่บนสังเวียนที่ต้องใช้องค์ความรู้ด้านยานยนต์ระดับสูงสุด แต่ในทางกลับกัน ชัยชนะเหล่านี้ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และงานด้านการตลาดเพื่อนำไปสู่ยอดขายในที่สุดทั้งรถยนต์รุ่นที่ถูกนำไปใช้ในการแข่งขัน และอุปกรณ์ตกแต่ง


ตรงนี้คือ สิ่งได้รับจากการใช้มอเตอร์สปอร์ตเป็นตัวนำ และ Ralliart ได้นำสิ่งที่เรียกว่า ‘Mitsubishi-ness Driving’ ซึ่งเป็นประสบการณ์ในการขับขี่ที่แตกต่างและมีรูปแบบเฉพาะตัวจากรถยนต์ที่ถูกปรับแต่งด้วยแผนก Ralliart มาเป็นสิ่งดึงความสนใจ

ตลอดเวลาของการที่มีส่วนร่วมอยู่ในตลาด เราได้เห็นผลผลิตที่เป็น Homologation Rule จากการแข่งขันแรลลี่ระดับโลกถูกผลิตออกขายในท้องตลาดตามข้อบังคับของการแข่งขัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สายพันธุ์ Evolution ของทั้ง Lancer และ Pajero รวมถึงชุดแต่งที่ผลิตออกขายเพื่อรองรับกับรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ขายอยู่ในตลาดของมิตซูบิชิทั้งญี่ปุ่น และตลาดโลก แน่นอนว่า สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดกลุ่มคนและแฟนพันธุ์แท้ของมิตซูบิชิขึ้นมาทั่วโลก


กลับมาอีกครั้งหลังจากหายไปกว่า 10 ปี

หลังจากถอนตัวออกจากการแข่งขันระดับโลก ประกอบกับสถานการณ์ด้านยอดขายรถยนต์ของมิตซูบิชิ ไม่ค่อยดีเท่าไร ส่งผลให้ชื่อของ Ralliart หายหน้าจากตลาดไปด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปี 2021 เราได้ยินข่าวดี และมิตซูบิชิวางแผนในการนำชื่อ Ralliart กลับมาสู่ตลาดอีกครั้งเพื่อสนับสนุนด้านการทำตลาดรถยนต์ และการกระตุ้นเหล่าแฟนๆ ให้เตรียมพร้อมกับการสัมผัส ‘Mitsubishi-ness Driving’ กันอีกครั้ง


‘สำหรับลูกค้าของเราที่มีความต้องการสัมผัสถึงความเป็น ‘Mitsubishi-ness Driving’ ของเรา แน่นอนว่าเราจะทำการเปิดตัวอุปกรณ์ตกแต่งออกมารองรับกับรถยนต์ที่จำหน่ายอยู่ในตลาด เช่นเดียวกับการกลับมาเข้าร่วมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง’ Takao Kato CEO ของ Mitsubishi Motors กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวในครั้งนั้น

ส่วนหนึ่งมีการให้ความเห็นว่าเป็นเพราะ DNA ของแบรนด์ในด้านมอเตอร์สปอร์ตที่หลับใหลมานานได้ถูกปลุกขึ้นหลังจากคู่แข่งสำคัญอย่างโตโยต้า ประสบความสำเร็จในสนามแข่งแรลลี่โลก WRC เมื่อปี 2018 และทำให้มิตซูบิชิและซูบารุซึ่งเป็นอีก 2 ชื่อที่ประสบความสำเร็จอย่างมากใน WRC เกิดความฮึกเหิมในการกลับมาสู่โลกแห่งการแข่งขันอีกครั้ง และก็เช่นเดียวกัน พวกเขานำชื่อ GR เข้ามาสู่ตลาดด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ในเมื่อคุณมี Heritage หรือมรดกแห่งความสำเร็จในอดีตที่ถือว่ามีความเป็นมายาวนาน แล้วทำไมถึงจะไม่นำสิ่งเหล่านี้มาต่อยอดในตลาดรถยนต์ละ ? นี่คือเครื่องหมายคำถามที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าเป็นเหตุผลหลักในการทำให้ชื่อของ Ralliart กลับมาอีกครั้ง ไม่เฉพาะในสนามแข่งเท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่วางขายอยู่ในตลาด


ในงาน Motor Expo 2021 ที่บ้านเรามิตซูบิชิได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเขาวางแผนเอาไว้กับการเปิดตัวรถยนต์ของพวกเขาอย่าง Pajero Sport และ Triton โดยที่มีคำว่า Ralliart แปะท้ายเอาไว้ด้วย

นี่คือจุดเริ่มต้นของการกลับมา แต่อย่าเพิ่งหวังไกลถึงขนาดที่ชื่อของ Lancer Evolution ที่ถือเป็นตัวแรงขวัญใจคนรักรถยุค 90 จะกลับมาสู่ตลาดอีกครั้งหลังจากที่ชื่อนี้สิ้นสุดในการทำตลาดเพียงแค่เจนเนอเรชันที่ 10 เท่านั้น…งานนี้คงต้องรอดูกันต่อไป


ดีเอ็นเอของความเป็นแชมป์ส่งต่อมารุ่นปัจจุบัน “ปาเจโร่ สปอร์ต แรลลี่อาร์ต”- “ไทรทัน แรลลี่อาร์ต”

เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้เรียนรู้3 คุณค่าสำคัญจากชัยชนะมากมายจากการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการสุดหฤโหดทั้งการแข่งปารีส-ดาการ์ แรลลี่ และรายการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลกโดยหลังการเอาชนะเกมการแข่งขันสุดโหดมาได้นั้น เราได้เรียนรู้ว่ารถยนต์ของเราต้องมี‘สมรรถนะชั้นยอด’‘ความแข็งแกร่งทนทาน’ และ‘ความสะดวกสบาย’ จึงสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้อย่างมั่นใจซึ่งดีเอ็นเอของความเป็นแชมป์จากการแข่งขันทั้งหมดนี้ฝังอยู่ในรถยนต์รุ่นปัจจุบันของเราและแรลลี่อาร์ทถือเป็นแบรนด์ที่ดีที่สุดที่สามารถสะท้อนดีเอ็นเอและแรงบันดาลใจอันแรงกล้าของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์แรลลี่อาร์ทที่กลับมาใหม่อีกครั้ง


มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต ใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรถแข่งแรลลี่ในอดีต ซึ่งมิตซูบิชิมอเตอร์สเคยคว้าชัยชนะรวมทั้งสิ้น34 สนาม ในช่วงระหว่างปี2516 – 2548 โดยมิตซูบิชิระบุว่า“แรลลี่อาร์ต” ได้ตระหนักถึงความต้องการในธุรกิจรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องการรถยนต์ที่มีรูปลักษณ์การดีไซน์ที่โดดเด่น สามารถสัมผัสได้ถึงความสปอร์ต ความปราดเปรียว และจิตวิญญาณแห่งชัยชนะ โดยไม่จำเป็นต้องปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มสมรรถนะ

มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต ใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของรุ่นGT Plus ตกแต่งภายนอกด้วยชุดแต่งแรลลี่อาร์ต ประกอบด้วย ชุดแต่งกันชนหน้า-หลังแรลลี่อาร์ต, ชุดแต่งบังโคลนซุ้มล้อแรลลี่อาร์ต, แผ่นกันโคลนสีแดงแรลลี่อาร์ต และสติกเกอร์ด้านข้างแรลลี่อาร์ตโลโก้ ขณะที่ห้องโดยสารมาพร้อมพรมปูพื้นตกแต่งด้วยสัญลักษณ์แรลลี่อาร์ต


ขณะที่ชุดแต่งอื่นๆ ของปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต ประกอบด้วย กระจังหน้าสีดำ, ไฟหน้าพร้อมแถบตกแต่งสีดำ, หลังคาสีดำ, ราวหลังคาสีดำ, เสาอากาศแบบครีบฉลามสีดำ, สปอยเลอร์หลังสีดำ และล้ออัลลอยสีดำขนาด18 นิ้ว สามารถเลือกตัวถังได้ 2 สี ประกอบด้วย สีขาวไวท์ไดมอนต์หลังคาดำ และสีดำเจ็ทแบล็กไมก้า

ขุมพลังของ ปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ต เป็นเครื่องยนต์คลีนดีเซล 4 สูบ ขนาด 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด430 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ รองรับน้ำมัน B20 ได้ และมีให้เลือกเฉพาะรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อเท่านั้น


สำหรับ ไทรทัน แรลลี่อาร์ต ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของรุ่น GLX เมกะแค็บ 2 ประตูตอนครี่ง และดับเบิลแค็บ4 ประตู (ตัวเตี้ย) มาพร้อมชุดแต่งแรลลี่อาร์ตจากญี่ปุ่น ได้แก่ ชุดตกแต่งใต้กันชนหน้าแรลลี่อาร์ต, แผ่นกันโคลนสีแดงแรลลี่อาร์ต, สติกเกอร์ด้านข้างแรลลี่อาร์โลโก้, พื้นปูกระบะแรลลี่อาร์ต และพรมปูพื้นแรลลี่อาร์ตภายในห้องโดยสาร

ส่วนชุดแต่งอื่นๆ ของไทรทัน แรลลี่อาร์ต ประกอบด้วย กระจังหน้าสีดำ, หลังคาสีดำ, กรอบกระจกมองข้างสีดำพร้อมไฟเลี้ยว, มือเปิดประตูด้านนอกสีดำ, มือเปิดกระบะท้ายสีดำ และล้ออัลลอยสีดำ โดยรุ่นเมกะแค็บเพิ่มเติมด้วยกันชนท้ายสีดำ และเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อApple CarPlay และAndroid Auto ได้


ขณะที่เครื่องยนต์ของ ไทรทัน แรลลี่อาร์ต ทั้ง 2 รุ่น เป็นเครื่องยนต์ดีเซล4 สูบเทอร์โบและอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด128 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด240 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500-3,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และมีให้เลือกเฉพาะรุ่นขับเคลื่อน2 ล้อเท่านั้น

รถยนต์รุ่นแรลลี่อาร์ท จะวางจำหน่ายใน 3 รุ่นย่อย จากรถยนต์จำนวน 2 รุ่น ที่ขายดีที่สุดของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย อย่างไทรทัน และปาเจโร สปอร์ต โดยราคาเริ่มต้นของไทรทัน แรลลี่อาร์ท เมกะ แค็บ อยู่ที่ 667,000 บาท รุ่นไทรทัน แรลลี่อาร์ท ดับเบิ้ล แค็บ อยู่ที่ 705,000 บาท ในขณะที่รุ่นปาเจโร สปอร์ต แรลลี่อาร์ท ราคา1,365,000 บาท

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

Recent Posts

This website uses cookies.