ในวงการรถแข่งรายการใหญ่อย่าง MotoGP หรือ WorldGP ในอดีต ไม่ใช่เป็นเพียงการแข่งขันเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน แต่ยังเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ที่ตกผลึกก่อนจะถูกพัฒนาไปสู่รถมอเตอร์ไซค์ที่จำหน่ายในท้องตลาด ณ ช่วงเวลานั้นๆ ไล่เรียงได้ตั้งแต่ เครื่องยนต์ กลไกภายใน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวถัง อุปกรณ์อากาศพลศาสตร์ หรือแม้แต่สิ่งของที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามอย่าง โซ่ ยาง ระบบกันสะเทือน น้ำมันหล่อลื่นหรือแม้แต่ชุดสีบนตัวแฟร์ริ่งเอง หลายๆโมเดลที่เราคุ้นเคยก็มีพัฒนาการมาจากการแข่งขันทั้งแบบที่เราทราบและไม่ทราบกัน จนเป็นที่มาของบทความนี้ ที่พวกเราทีมงาน GreatBiker เองจะขอพาเพื่อนๆ ไปพบกับ 10 รถแข่งที่สร้างนวัตกรรมให้กับโลกมอเตอร์ไซค์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
Honda NR500 (1979)
หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับ Honda NS500 ตัวแข่งในยุคสองจังหวะของ Honda แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่า ในความจริงแล้ว เครื่องยนต์ของ NS500 ในปี 1979 นั้น เป็นแบบ 4 จังหวะ ซึ่งถ้าให้เทียบกับยุคปัจจุบันเครื่องยนต์ 500 ซีซี จัดว่าเป็นเพียงเครื่องยนต์ในพิสัยกลาง โดยที่ช่วงเวลานั้นกฎระเบียบของ WorldGP ได้ทำการจำกัดขนาดความจุของเครื่องยนต์สูงสุดที่ 500 ซีซี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์แบบสองจังหวะ หรือ สี่จังหวะ ซึ่งนี้คือความท้าทายของ Honda เป็นอย่างมาก
ทางผู้ผลิตเองก็ได้รังสรรค์งานชิ้นเอกมาประดับวงการรถแข่งด้วยเครื่องยนต์สี่ลูกสูบ 500 ซีซี ที่ภายนอกอาจจะดูธรรมดาๆ แต่ภายในนั้นอัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมที่เกินกว่ารถแข่งในยุคปัจจุบันได้ทำกันไว้ ด้วยการติดตั้งวาล์วเหนือลูกสูบจำนวน 8 วาล์วต่อสูบ ทำให้ตัวรถนั้นมีจำนวนวาล์วรวมที่มากถึง 32 วาล์ว ก้านลูกสูบแบบคู่ต่อสูบ และเสื้อสูบแบบวงรีทรงไข่ เพื่อเป็นการเลียนแบบการทำงานของเครื่องยนต์ แบบ V8 และสร้างขีดจำกัดในการเร่งความเร็วต่อรอบสูงสุดที่ 20,000 รอบต่อนาที และไม่เพียงเท่านี้ ตัวรถยังมาพร้อมกับโครงสร้างส่วนล่างแบบ Monocoque พร้อมกับการติดตั้งหม้อน้ำระบายความร้อนที่ปกติเราจะเห็นว่ามันจะอยู่ส่วนหน้าของเครื่องยนต์เสมอ แต่กับเจ้า NS500 นั้นจะเป็นหม้อน้ำแบบวางข้าง
ถึงแม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีสูงสุดในการแข่งขัน แต่ถึงกระนั้นค่าใช้จ่ายต่อปีก็สูงเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับทีมอื่นๆในระดับเดียวกัน และเมื่อผลการแข่งขันจะอยู่ในแถวหน้าแต่การขาดแชมป์การลงทุนลงแรงที่มากมายขนาดนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เหนื่อยเกินไปสำหรับ Honda จึงส่งผลให้ NS500 อยู่กับการแข่งขันได้ 5 ฤดูกาล ก่อนที่ทางทีมจะกลับมาใช้งานเครื่องยนต์ สองจังหวะอีกครั้งในปี 1984
Kawasaki KR500 (1980)
รถแข่งสองจังหวะจากค่ายยักษ์เขียว เป็นที่รู้จักกันดีด้วยการเลือกใช้เครื่องยนต์แบบสองจังหวะ สี่ลูกสูบทรงจตุรัส ขนาด 500 ซีซี แต่นวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมของตัวแข่งในปี 1980 นั้นกลับเป็นชุดแชสซี ที่ใช้งานรูปแบบของโครงสร้าง Monocoque ทั้งคัน ซึ่งเป็นรถครั้งแรกของรถแข่งที่ได้รับโครงสร้างแบบไร้ขอบหล่อชิ้นเดียวแบบนี้ ด้วยชุดโครงสร้างแกนหมุนของหัวบังคับเลี้ยวและแกนสวิงอาร์มเชื่อมโดยตรงกับถังเชื้อเพลิงอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของรถมอเตอร์ไซค์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทางยักษ์เขียวได้ใช้งานชุดแชสซีแบบเดียวกันนี้ 2 ฤดูกาลก่อนที่จะหลับไปใช้งาน massive aluminium backbone อีกครั้ง แต่ถึงกระนั้น ชุดโครงสร้างนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาโครงสร้างสำหรับรถสปอร์ตฟูลแฟร์ริ่งในหลายๆ ค่ายในยุคปัจจุบัน
Honda NSR500 (1984)
การหวนกลับมาอีกครั้งของเครื่องยนต์สองจังหวะของทีมแข่งปีกนก Honda การกลับมาในปีแรกนั้นทาง Honda เองก็ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถแข่งที่ส่งต่อมาในยุคปัจจุบัน ได้ส่งงานออกแบบ Low CG หรือแบบจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ที่ทำให้ตัวรถนั้นมีความคล่องแคล่วกว่าเดิม โดยในปีแรกนั้น NS500 มีถังเชื้อเพลิงติดตั้งอยู่ใต้เครื่องยนต์ และท่อไอเสียถูกวางเหนือด้านบน ไม่ยิงออกข้างเหมือนกับรถแข่งคันอื่นๆ จนเป็นที่มาของรถแข่งที่มีจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่เพียงจุดเดียว ไม่กระจายหรือกระจุกอยู่ที่ส่วนหน้าของรถที่เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่บนสนามที่คดเคี้ยว
แต่น่าแปลกเป็นอย่างมากสำหรับรถจุดศูนย์ถ่วงต่ำอย่างเจ้า NSR500 จะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อมีน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถัง แต่เมื่อลงทำการแข่งจริงแล้ว จำนวนเชื้อเพลิงลดลงกลับไม่พริ้วเหมือนตอนออกตัว ซึ่งทาง Honda เองก็พยายามปรับปรุงแต่ก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้ จนทำให้ช่วงท้ายฤดูกาล 1984 Freddie Spencer ต้องกลับไปใช้งานเจ้า NS500 ในสวนที่เหลือแทน
Elf 4 (1987)
รถแข่งของทีมรองอย่าง Team Elf-ROC ที่ใช้บริการตัวแข่งของทีม Honda กับเจ้า NSR500 V4 แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างของตัวแข่งคือการเลือกใช้งานระบบช่วงล่างแบบสวิงอาร์มหน้าหลัง พร้อมกับแกนหมุนบังคับเลี้ยวแบบ Hub-Steering เหมือนกับที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Bimota โดยเจ้า Elf-4 นั้นสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยการจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 4 ด้วยฝีมือของ Ron Haslam เจ้าของฉายา “The Rocket” พ่อบังเกิดกล้าของ Leon Haslam ที่สังกัดกับทีม HRC บนเวที WorldSBK ในปัจจุบัน
Aprilia RSW2 (1994)
Aprilia ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์จากอิตาลี ผู้อยู่ในแวดวงการผลิตรถแข่งในคลาส 125 ซีซี และ 250 ซีซี อย่างยาวนาน และความท้าทายใหม่ของบริษัทคือการก้าวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุด 500 ซีซี โดยมี RSW2 เป็นอาวุธหลัก โดยเจ้า RSW2 นั้นมีความแตกต่างกับรถแข่ง 500 ซีซี สองจังหวะในยุคนั้น ด้วยการเลือกใช้งานเครื่องยนต์แบบ V-Twin และมีความจุเครื่องยนต์ที่น้อยกว่าด้วยพิกัด 410 ซีซี เท่านั้น โดยสาเหตุที่ทางทีมเลือกใช้งานเครื่องยนต์แบบนี้ก็เพราะทางทีมสังเกตเห็นว่ารถแข่งในคลาส 250 ซีซี ในรอบการคัดเลือกนั้นจะเร็วกว่ารถแข่งในระดับ 500 ซีซีแบบหลายวินาที จนทำให้ทีมไปลองค้นหาสาเหตุจนได้พบกำการแปรผันตามน้ำหนักของรถแข่ง ซึ่งทาง Aprilia เองก็ใช้ข้อมูลนี้ในการสร้างพื้นฐานให้กับ RSW2 ที่มีน้ำหนักตัวที่เบาเพียง 105 กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับรถ 500 ซีซี ที่มีระดับน้ำหนักเฉลี่ยที่ราวๆ 130-133 กิโลกรัม
ด้วยความเบาของเจ้า RSW2 นั้นเป็นอาวุธชั้นดีบนสนามที่มีความคดเคี้ยว หรือจุดเลี้ยวโค้งจำนวนมาก แต่ในช่วงเวลานั้นทางผู้จัดการแข่งขันเองก็เลือกสนามแข่งที่มีทั้งทางตรงยาว ทางเลี้ยวและความชัน ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้ RSW2 แต่มันก็พ่ายแพ้ให้กับเครื่องยนต์แบบ 4 ลูกสูบอยู่ดี ซึ่งทาง Aprilia เองก็แก้จุดเสียเปรียบด้วยการเพิ่มขนาดจาก 410 ซีซี ไปเป็น 430 ซีซี, 460 ซีซี และไปสุดที่ 498 ซีซี ซึ่งมันชนเพดานที่กฎระเบียบได้วางไว้ แต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งในสนามได้ จนท้ายที่สุดก็เลิกใช้งานและถอนทีมไปในที่สุด
Aprilia RS Cube (2002)
หลังจากถอนทีมออกไปในยุคสองจังหวะ Aprilia กลับมาพยายามอีกครั้งในยุคหลังปี 2000 กับเครื่องยนต์สี่จังหวะ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ทาง Aprilia เองยังคงเป็นตัวของตัวเองด้วยการเลือกใช้งานเครื่องยนต์ที่แตกต่างจากทีมแข่งอื่นๆ ด้วยขุมกำลังแบบสามลูกสูบ 990 ซีซี ที่พัฒนาโดย Cosworth ทีมผู้พัฒนารถแข่งระดับสูง ที่อยู่ทั้งในวงการรถแข่งมอเตอร์ไซค์และ F1 จึงทำให้เจ้า RS Cube นั้นมีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ทันสมัยและเป็นรถแข่งคันแรกของโลกที่มีการติดตั้งระบบคันเร่งไฟฟ้า ride-by-wire throttle ระบบ traction control รวมไปถึงระบบวาลว์แบบ pneumatic valves ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานในรถแข่งปัจจุบันที่พึ่งมี
Honda RC211V (2002)
รถแข่งที่สานต่อความสำเร็จจากยุคสองจังหวะสู่ยุคสี่จังหวะ และความลับที่เวลาผ่านไปร่วม 20 ปี ที่ไม่มีการเปิดเผย กับขุมกำลัง 5 ลูบ ของเจ้า RC211V ที่คนนอกโรงงานเองไม่มีใครทราบได้ว่ามันทำงานอย่างไร และความลับนี้ยังคงถูกปอดตายและไม่มีกุญแจใดที่สามารถไขข้อสงสัยของพวกเราได้เลย โดยเจ้า Honda RC211V นั้นใช้นิยาม “mass centralization” ในการออกแบบ โดยเน้นที่ผู้ขับเป็นจุดศูนย์กลาง เราจะเห็นได้ว่าตัวรถนั้นจะยังคงรักษาแนวทางของรถ Low CG ที่เป็นเอกลักษณ์มาจาก NSR500 และมันก็ถูกถ่ายทอด DNA ไปสู่รถมอเตอร์ไซค์ในระดับ Production อย่างเจ้า Honda CBR1000RR จนมาถึง CBR1000RR-R ในปัจจุบัน
Proton KR5
รถแข่งลูกครึ่งอเมริกัน-มาเลเซี่ยน ของ Kenny Roberts ที่ใช้ในการแข่งขันประจำฤดูกาล 2003 ด้วยสองนักแข่ง Nobuatsu Aoki และ Jeremy McWilliams เป็นผลงานการพัฒนาเครื่องยนต์แบบ V5 สี่จังหวะของทีมเอง ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากมาเลเซีย Proton ซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องแต่สุดท้ายก็ไม่ไหวกับการพัฒนาที่ยากลำบากเกินไป จนต้องเปลี่ยนไปใช้งานเครื่องยนต์ V4 จาก KTM และในปี 2006 ก็ได้รับเครื่องยนต์ V ของจริงจาก Honda มาชำแหละ แต่ก็สามารถใช้งานได้เพียงปีเดียว เพราะในปี 2007 MotoGP เปลี่ยนกฎใหม่ให้ใช้เครื่องยนต์ในพิกัด 800 ซีซี แทน ทำให้ Proton ต้องถอนทีมออกจากการแข่งขัน และไม่หวนกลับมาอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
Blata V6 (2005)
รถแข่งจากทีมสัญชาติเช็ก โดยมีผู้ผลิต Blata ผู้ผลิตรถ Mini-Moto ของประเทศมาให้การสนับสนุน ที่ชุดความแตกต่างด้วยการใช้งานเครื่องยนต์แบบ V6 แต่โชคไม่ดีเท่าไหร่เพราะการพัฒนาเครื่องยนต์ค่อนข้างล่าช้าและความยากลำบากในการพัฒนาทำให้ทีม WCM ตัดสินใจละเครื่องยนต์ V6 กลางการพัฒนาและหันไปใช้งานเครื่องยนต์ของ Yamaha ลงทำการแข่งขันแทน และผลจากการพัฒนาเครื่องยนต์ V6 นั่นเอง ทำให้ทีมขาดทุนแบบมหาศาลและต้องถอนทีมออกจากการแข่งขันไปหลังจบฤดูกาล 2005
Ducati Desmosedici GP17 (2017)
ตัวแข่ง GP17 ที่นับว่าเป็นการผลิกหน้าประวัติศาสตร์ของรถแข่งของ Ducati ไปตลอดกาล ถึงแม้ว่าพวกเค้าจะเคยได้แชมป์โลกมาแล้วกับ Ducati Desmosedici GP07 ด้วยฝีมือของ Casey Stoner แต่มันก็เป็นเรื่องราวในอดีตที่ยังคงหอมหวาน โดยเจ้า Ducati Desmosedici GP17 นับว่าเป็นตัวแข่งที่พัฒนาจนถึงขั้นสุด ด้วยการต่อยอดชุดอุปกรณ์อากาศพลศาสตร์ “Winglet” ที่ช่วยป้องกันการยกตัวของล้อหน้าในขณะออกจากโค้ง ซึ่งเป็นปัญหาของรถ Ducati มาอย่างช้านาน ซึ่งเจ้า GP17 นั้นเผยให้เห็นการพัฒนาที่ไปอย่างตรงจุดมากที่สุด และเมื่อบวกกับการขับขี่ของ Andrea Dovizioso ก็ทำให้ Ducati ขยับไปได้ไกลถึงขั้นรองแชมป์โลกและใกล้เคียงที่จะคว้าแชมป์มากที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.motogp.com www.bikesrepublic.com
เรื่องฮิตล่าสุด!
This website uses cookies.