เฟอร์รารี่ โรม่า (Ferrari) ถูกตั้งชื่อตามชื่อเมืองหลวงของอิตาลี เพื่อสะท้อนภาพความรุ่งเรืองของอิตาลี โดยเฉพาะในยุค 50-60 ที่กรุงโรม มีความโดดเด่นมากทั้งในด้านศิลปะและวิทยาการ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของยุโรปเลยทีเดียว
โรม่า ได้รับการวางตำแหน่งให้เป็นรถในแบบจีที (Grand Touring) เพื่อการเดินทางไกล เน้นความสะดวกสบายแต่ยังไม่ทิ้งดีเอ็นเอของม้าลำพองในด้านความแรง ซึ่งเฟอร์รารี่เองชื่นชอบการสร้างรถในสไตล์นี้ และมักจะทำออกมาจำหน่ายแบบไม่มากนักด้วยเหตุผลที่ทีมผู้บริหารบอกว่า “เพื่อรักษาระดับความต้องการของผู้ใช้งานให้อยู่ในระดับสูงเอาไว้” ดังนั้นจะเห็นระดับราคาของการขายต่อรถเฟอร์รารี่ที่สูงกว่ารถแบรนด์อื่นๆ ยิ่งถ้าเป็นรุ่นพิเศษบางรุ่นราคาขยับเกินราคาจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย
สำหรับประเทศไทย คาวาลลิโน มอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของเฟอร์รารี่ ได้รับโควตาจำหน่าย โรม่า ของปีที่แล้วมาทั้งสิ้น 13 คัน แต่มียอดสั่งจอง 14 คัน สุดท้ายจึงแก้ปัญหาด้วยการขอเพิ่มพิเศษเป็นที่เรียบร้อย และเพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองขับ ทางคาวาลลิโน จึงจัดกิจกรรมทดลองขับ โรม่า แบบชิมลางสั้นๆ แต่เพียงพอให้ตัดสินใจได้ โดยทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง มีโอกาสร่วมทดลองขับด้วย ผลลัพธ์เป็นอย่างไรติดตามกันได้
ไฮเทค หรู แรง
เริ่มกันกับดีไซน์ โรม่า รับแรงบันดาลใจมาจาก 250 จีที โดยเป็นรถแบบ 2+2 ที่นั่ง ผลงานการออกแบบของเฟอร์รารี่ สไตลิ่ง เซนเตอร์ เส้นสันรอบคันเน้นความเรียบหรู ดูบึกบันดุดัน ด้านหน้าเป็นกระจังหน้าแบบรถจีทีพันธ์แท้ ฉีกแนวการออกแบบของเฟอร์รารี่ยุคนี้ไปพอสมควร เจาะรูเฉพาะส่วนที่จำเป็นเพื่อให้ลมไหลผ่านเข้ามาช่วยระบายความร้อนของหม้อน้ำและอินเตอร์คลูเลอร์
ขณะที่ไฟหน้าเป็นแบบ LED ปรับองศาของลำแสงได้ (Full-LED adaptive headlights) เช่นเดียวกับไฟท้ายที่เป็น LED เช่นกัน โดยออกแบบรูปทรงพิเศษสอดรับด้านท้ายที่แฝงด้วยสปอยเลอร์หลังซึ่งออกแบบให้ซ่อนอยู่ในระนาบเดียวกับกระจกหลังอย่างกลมกลืน โดยจะเปิดขึ้นเมื่อขับด้วยความเร็วสูง
โครงสร้างตัวถังได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เป็นพิเศษ พร้อมกับชิ้นส่วนต่างๆ รวมแล้วมากถึง 70% ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานให้กับโครงสร้างตัวถังของรถรุ่นใหม่ที่จะตามออกมาในอนาคต และแน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคิดค้นโครงสร้างแบบใหม่นี้คือ การลดน้ำหนักรวมของตัวรถ ซึ่งผลลัพธ์คือทำให้โรม่า มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักดีที่สุดในคลาสนี้ (2.37 กก./1แรงม้า)
หัวใจเป็นเครื่องยนต์แบบวางกลางหน้าขับเคลื่อนล้อหลัง ขนาดความจุ 3.9 ลิตร V8 เทอร์โบ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกันกับที่ได้รับรางวัลเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีถึง 4 ปีซ้อน พละกำลังถูกปรับใหม่ให้เหมาะสม 620 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 760 นิวตันเมตร โดยมีการออกแบบระบบทางเดินไอเสียใหม่ทั้งหมด ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติชุดใหม่แบบดูอัลคลัทช์ 8 สปีด ที่มีน้ำหนักเบากว่าเดิม 8 กิโลกรัม
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ เทคโนโลยีล้ำหน้าของระบบควบคุมประสิทธิภาพการทรงตัวใหม่ล่าสุดจากเฟอร์รารี่ ที่มีระบบควบคุมการลื่นไถลด้านข้างเวอร์ชั่น 6.0 (Side Slip Control 6.0) ซึ่งถือเป็นจีทีคันแรกของเฟอร์รารี่ที่ใช้ระบบนี้ ด้วยสวิตช์มาเนตติโน 5 ตำแหน่ง และระบบเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว (Ferrari Dynamic Enhancer) ช่วยควบคุมองศาการเอียงของตัวรถด้วยการปรับแรงดันน้ำมันเบรกที่คาลิเปอร์โดยตรง
ด้านระบบเสริมความปลอดภัย เฟอร์รารี่จัดให้อย่างเต็มพิกัด ADAS (SAE Level1X ซึ่งจะมีระบบการควบคุมความเร็วอัตโนมัติแปรผัน Adaptive Cruise Control พร้อมด้วยระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ, ระบบเตือนจุดอับสายตา,ระบบเตือนคนข้ามถนน และกล้องมองรอบคัน เป็นต้น
นุ่มนวล แรงควบคุมได้
การทดลองขับในคราวนี้ จะเป็นการขับแบบระยะทางไม่ยาวมาก แต่ครบถ้วนแบบการใช้งานจริง บนถนนจริง ซึ่งเพียงพอต่อการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อได้ และรีวิวได้โดยไม่ขัดเขินแต่อย่างใด เริ่มกันที่จุดแรกสุดคือ การเข้านั่งในห้องโดยสาร นี่คือครั้งแรกที่เราพบกับการออกแบบที่เฟอร์รารี่ใช้เทคโนโลยีไฮเทคใส่เข้ามาบนอุปกรณ์มาตรฐานแทบทุกชิ้นโดยยังคงกลิ่นไอของดีไซน์ตามดีเอ็นเอของม้าลำพองเอาไว้
เริ่มกันที่จุดเด่นที่สุดคือ แป้นเกียร์ จากเดิมที่เราจะไม่เห็นแป้นเกียร์ในรุ่นอื่นๆ แต่ โรม่า มากับแป้นที่ดีไซน์ย้อนยุคให้นึกถึงรถสปอร์ตในยุค 90 เช่น รุ่น 348 หรือ 355 โดยเป็นเกียร์ระบบไฟฟ้า ติดตั้งที่คอนโซลกลาง ซึ่งออกแบบให้อยู่ในระดับสูงเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน
หน้าจอตรงกลางรูปร่างคล้ายไอแพด ดูเหมือนจะให้เราหยิบออกมาได้ แต่ความจริงคือติดตั้งแบบถาวร ไม่ได้ให้ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารหยิบออกไป โดยทำหน้าที่แสดงผลและควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ของตัวรถ พวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชันดีไซน์F1 เฉกเช่นรุ่นอื่นๆ แต่เหนือกว่าด้วยแป้นระบบสัมผัส พร้อมการแสดงผลบนหน้าปัดแบบดิจิตอล100%
ขณะที่ปุ่มควบคุมต่างๆ เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมดไม่ว่าการปรับกระจกมองข้างหรือการเปิดปิดไฟหน้า เรียกว่าฉีกความเป็นเฟอร์รารี่แบบดิบไปอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการใส่หน้าจอแสดงสถานะข้อมูลการขับขี่ต่างๆ ให้ผู้โดยสารได้รับทราบถึงความเร็วและรอบเครื่องยนต์ ช่วยให้ผู้โดยสารมีความสนุกไปกับการขับขี่ได้เช่นเดียวกัน
เมื่อเซ็ตอัพทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางเรียบร้อย พร้อมออกเดินทาง เราขับแบบเบาๆ ออกจากจุดจอดรถเพื่อเข้าสู่ถนนหลวง ความรู้สึกแรกหลังกดคันเร่งแบบพุ่งทะยานคือ แรงแบบนุ่มนวล โดยจุดสำคัญมาตั้งแต่ช่วงออกตัวคือ การเจอกับคอสะพานด้วยความเร็วที่กดคิกดาวน์มา ผลลัพธ์คือ ยังคงความนุ่ม รถไม่ออกอาการเด้ง ต่างจากรถสไตล์ซูเปอร์คาร์ที่เจอมาทั้งหมด รวมถึงจังหวะที่ต้องเจอผิวถนนแบบไม่ราบเรียบ เป็นลอนคลื่นตามสไตล์ถนนเมืองไทย เราไม่เจอแรงกระแทกเลย
ขับมาถึงช่วงกลับรถ เจอทั้งหลุมและร่องรอยของพื้นผิวถนนที่เลวร้าย แต่เราไม่ประสบปัญหาใดๆ ช่วงล่างให้ความรู้สึกนุ่มและดูดซับแรงสะเทือนดี โดยยังคงสมรรถนะในการทรงตัว เกาะถนนหนึบแบบมั่นใจได้แบบนี้ ต้องขอบคุณทีมวิศวกรของเฟอร์รารี่ที่คิดค้นระบบช่วงล่างใหม่ ด้วยเทคโนโลยีแม่เหล็ก ใช้ผงแม่เหล็กในการปรับความแข็งหรือหนืดของตัวโช้คอัพ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นผิวถนน
ขับมาจนเข้าพื้นที่ส่วนบุคคลเราได้ลองแบบปกติทั่วไป และได้ลองอัตราเร่งตั้งแต่ออกตัวไปจนถึงความเร็วเกินกว่า 200 กม./ชม. ตัวรถพุ่งทะยานขึ้นแบบเร็วมากและมั่นคง มีแรงดึงหลังติดเบาะให้รับรู้ได้แต่ไม่ถึงกับโหดนัก ยังให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรกับผู้โดยสาร
ความเร็วสูงสุดที่เราลองขับได้ในพื้นที่ปลอดภัยคือ 250 กม./ชม. ถามว่ายังมีกำลังเหลือหรือไม่ คำตอบคือ กดไปถึง 300 กม./ชม. น่าจะทำได้แบบไม่ยากเย็นแต่เป็นเรื่องของจิตใจเรา ที่ขอสารภาพตามตรงว่า แค่เกิน 200 กม./ชม. ก็ไม่รู้ว่าจะหาถนนที่ไหนวิ่งแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขับไปให้ถึงขนาดนั้น แต่ที่เกินมาคือ ลองให้รู้ว่า สิ่งที่ทีมงานเฟอร์รารี่บอกว่า 0-100 กม./ชม. ในเวลา 3.4 วินาที และ0-200 กม./ชม. ในเวลา 9.3 วินาที มีความรู้สึกเป็นเช่นไร จริงเท็จแค่ไหน
พวงมาลัย แม่นยำ มั่นคงน้ำหนักกำลังดี การขับที่ความเร็วระดับ 200 กม. บอกได้เลยว่า มั่นใจ การทรงตัวดี เรายังรับรู้ได้ถึงเสียงลมที่ประทะและสภาพถนนที่อาจจะไม่เรียบนัก หลังจากกลับมาขับด้วยความเร็วปกติทั่วไปราว 120 กม./ชม. รู้สึกเหมือนรถช้ามาก ขับได้ความรู้สึกที่สบาย เมื่อตัวรถวิ่งด้วยความเร็วราว 160 กม./ชม. ความรู้สึกเหมือนเราขับรถทั่วไปที่ด้วยความเร็วเพียง 100 กม. คือมันนิ่งจนไม่รู้สึกว่าเร็ว
เสียงของท่อไอเสียและเครื่องยนต์ ยังไม่ทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ของม้าลำพอง รับรองได้ว่า กระหึ่มทันทีที่คุณกดคันเร่งคิกดาวน์หรือปรับโหมดการขับขี่เป็น Sport (โหมดปกติคือ Comfort ที่เราใช้ขับในคราวนี้) ส่วนโหมดพิเศษที่เพิ่มเข้ามาคือ wet ซึ่งจะเป็นโหมดที่สำคัญอย่างยิ่งจำเป็นต้องใช้งานเมื่อขับขี่ในสถานการณ์ที่มีฝนตกหรือลุยหิมะ ส่วนอีก 2 โหมดที่เหลือได้แก่ Race และ ESC-Off เหมาะกับการใช้งานในสนามแข่งมากกว่าใช้บนถนนจริง
สำหรับอัตราการบริโภคน้ำมัน ยอมรับตามตรงว่า ไม่ได้สังเกตดูแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีรายงานตัวเลข ของอีโคสติกเกอร์อีกด้วย จึงทำให้ไม่สามารถระบุอัตราการสิ้นเปลืองได้ ทั้งนี้ไม่สามารถนำตัวเลขในต่างประเทศมายืนยันได้ เนื่องจาก มาตรฐานคุณภาพของน้ำมันในประเทศไทยแตกต่างจากที่ใช้อ้างอิงในการรายงานผลของต่างประเทศของรถยนต์ประเภทนี้
เหมาะกับใคร
ยอมรับตรงนี้ว่า โรม่า คือม้าลำพองที่มีความแตกต่างจากเฟอร์รารี่รุ่นอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ขับง่าย นุ่มนวล ใช้เป็นรถขับไปทำงานในชีวิตประจำวันได้ทุกวัน รวมถึงเดินทางไกล ได้ชนิดที่คนนั่งข้าง ไม่บ่นแน่นอน แต่ยังคงความแรงเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน เรียกว่าถ้าคุณคือคนที่อยากขับเฟอร์รารี่ และยังอยากได้ความสบายอยู่ โรม่า คือคำตอบ เหนือสิ่งอื่นใด คาวาลลิโน ส่งคำขอพิเศษให้ โรม่า รอรถในระยะเวลาไม่นานราว 6-8 เดือนเท่านั้น หากเป็นรุ่นอื่นต้องรอเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป ส่วนราคา 21,230,000 บาท นั้นคือจุดเริ่มต้น ส่วนคันที่เราขับใส่ออพชันมาแล้วตัวเลขแตะที่ 29 ล้านบาท