สถานการณ์โควิด-19 สร้างวิกฤติให้คนทั่วโลก ซึ่งในวิกฤติ ครั้งนี้ กลายเป็นโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่ง ถ้าปรับตัวทันและมองเห็นช่องทาง ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ได้ในทุกมิติ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การเกษตร และแรงงาน ฯลฯ
วิกฤตโควิด ที่มาของการเปลี่ยนแปลง VUCA
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มาร่วมบรรยายในการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2564 จัดโดย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “Management in next normal Transformative Prospection”
โดยการประชุม “กรณ์” กล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19ในครั้งนี้ ว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกคนต้องเตรียมแผนไว้ว่ามันอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า ทำให้ในช่วงหลัง เราจะได้ยินคำศัพท์ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ VUCA V-Volatility ความผันผวนรวดเร็ว , U-Uncertainty ความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไร , C-Complexity ความสลับซับซ้อน และ , A-Ambiguity ความคลุมเครือ โดยส่วนตัวผมคิดว่าโควิดเป็นตัวเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ ที่สุดว่า ตอนนี้ทั้งโลกอยู่ในภาวะ VUCA อย่างแท้จริง แม้ว่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยมากนักในขณะนี้
เตือนภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าโควิดหลายเท่า
‘กรณ์’ มองข้ามช็อตแหล่งรายได้ใหม่ประเทศไทย
ร่วมวงถก ‘บิล เกตส์’ พลิกโควิดเป็นโอกาส
ทั้งนี้ใน ช่วงหนึ่งของการบรรยาย “กรณ์” ได้หยิบยกถึงประเด็นการได้มีโอกาสร่วมวงเสวนากับ “เจ้าพ่อไมโครซอฟท์” ของโลกอย่าง “บิล เกตส์” ในการประชุมวิชาการด้านเทคโนโลยีที่จัดโดย ธนาคาร “เจพีมอร์แกน” โดยระบุว่า “บิล เกตส์” เป็นหนึ่งในบุคคลที่เตือนภัยต่อโลกไว้ก่อนที่จะเกิดแพร่เชื้อโควิด 1 ปีโดยเขาขอให้ทั่วโลกเตรียมตัวเพราะจะมีการแพร่เชื้อไวรัสเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงตามที่เขาพูด นั่นแสดงให้เห็นว่า “บิล เกตส์”จับกระแสและพยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติได้ค่อนข้างแม่นยำ
และ วันนี้ “บิล เกตส์”ยังได้ออกมาเตือนเรื่องภาวะโลกร้อน โดยเขาพูดเรื่องผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน โดยระบุว่า ไม่ว่าการแพร่เชื้อโควิดเที่ยวนี้จะรุนแรงแค่ไหน จะมีผลต่อชีวิตประชากรชาวโลกไปแล้วกี่คนก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว ผลจากภาวะโลกร้อน จะมีผลต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่านี้หลายเท่า วันนี้เรามุ่งไปที่ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันอาจจะมีวิกฤตการณ์ที่รอเราอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อเรา มากกว่าวิกฤตการณ์เฉพาะหน้านี้อีกหลายเท่า
ยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียน รับมือโควิด ติดลบ
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวด้วยว่า “บิล เกตส์” ยังให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประเด็น ที่เราก็สัมผัสได้คือ 1. ความร่วมมือระหว่างประเทศติดลบ ขาดความร่วมมืออย่างสิ้นเชิงในทุกระดับ ทั้งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและการรับมือ ดูได้จากมีการแก่งแย่งวัคซีนกัน โดยส่วนตัวค่อนข้างแปลกใจว่า ทำไมไม่มีบทบาทของอาเซียนเลย ทั้งที่หากเรารวมตัวกันอำนาจการต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตจะมากที่สุดในโลก แต่กลับกลายเป็นต่างคนต่างคิด แบบตัวใครตัวมัน ทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์การตั้งรับ หรือแม้แต่การสั่งซื้อวัคซีนเอง โดยเราต้องกลับมาทบทวนว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในสถานกรณ์การแพร่เชื้อหรือปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจาก ภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตามก็มีมุมดีในแง่การรับมือของภาคเอกชน ส่งผลให้เรามีแนวโน้มโอกาสที่จะออกจากปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไป เมื่อวันก่อนว่า อีก 120 วัน จะเปิดประเทศ นั้นก็เพราะมันมีความเป็นไปได้เพราะตัวแปรสำคัญ คือ เรามีวัคซีนที่สามารถผลิตได้เร็ว ๆ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในเวลา 1 ปี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมหัศจรรย์มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่จะใช้เวลา 3-4 ปี หรือมากกว่านั้น
ทั้งนี้ ทำให้มั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่ของ ภาคเอกชนทำให้เชื่อว่า หากเกิดการแพร่เชื้อชนิดใหม่ขึ้นอีก โลกก็น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะค้นหาวัคซีน เพื่อมาต่อกรกับไวรัสได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน 6 เดือน แต่ในโลกของ VUCA ใครจะเป็นคนที่มีความมั่นใจว่าประเภทปัญหาในระดับวิกฤติที่เราะจะต้องรับมือในอนาคต มันต้องไม่ใช่การรับมือแบบเดิมอย่างแน่นอน
ถึงเวลาต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในรอบ 30 ปี
นายกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึง สถานการณ์โควิด กับ โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ว่า โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เปลี่ยนมาตั้งแต่ยุค 3.0 หรือราว 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนจากรายได้จากภาคเกษตรเป็นภาคอุตสาหกรรม คือ 30 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่สัดส่วนจีดีพีจากภาคอุตสาหกรรมสูงกว่าภาคการเกษตรเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะช่วงประมาณสิบปีแรกของยุคดังกล่าว รายได้ต่อหัวประชากรสูงขึ้นถึง 3 เท่า สูงสุดในประวัติศาสตร์การเก็บสถิติของทุกประเทศในโลก
ทั้งนี้ สาเหตุเพราะความสามารถในการแข่งขัน และนโยบายยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเอื้อต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเราด้วย เป็นช่วงจังหวะที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และก็มีอัตราแลกเปลี่ยนผูกอยู่กับดอลลาร์เพื่อที่จะช่วยลดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินลงทุนในประเทศ ประเทศไทยจึงรับอานิสงส์ในยุทธศาสตร์นี้ของญี่ปุ่นไปเต็ม ๆ เป็นตัวดึงในการลงทุนในประเทศในสัดส่วนที่สูงมากในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นการลงทุนจากต่างประเทศในรูปของ FDI (Foreign direct investment) ซึ่งเป็นการลงทุนในอีกประเทศหนึ่ง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทำให้เรามีส่วนแบ่งการลงทุนที่เข้ามาในอาเซียนสูงเกือบ 50 % ในจำนวนนี้เกือบครึ่งมาที่ประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่งในปัจจุบันลดลงไปเหลือประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“สมัยนั้นแรงงานเราก็เยอะ ค่าแรงต่ำ แต่สมัยนี้เราเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้ สัดส่วนคนไทย ที่อยูในวัยทำงานลดลงอย่างรวดเร็ว วันนี้ประเทศอาเซียน อย่าง อินโดนีเซีย ยังมีสัดส่วนประชากรที่ยังอยู่ในวัยทำงานเทียบกับประชากรที่อยู่ในวัยเกษียณ ระดับ 8-9 : 1 ในขณะที่ของประเทศไทยลดลงมา เหลือ 4:1 โดยที่จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีก 15 ปี ข้างหน้า ทำให้สัดส่วนระหว่างคนที่อยู่ในวัยทำงานกับคนที่อยู่ในวัยเกษียณ จะลดลงไปเหลือ 2:1 ในอีก 20 ปี ข้างหน้า ในช่วงเวลาที่เรายังขาดความพร้อม ตรงนี้เป็นประเด็นที่ท้าทายเราอย่างมาก
โดยโครงสร้างสังคมจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่เป็นบวกกับเศรษฐกิจ หากเรายังทำทุกอย่างแบบเดิมและคิดว่าเรายังจะแข่งขันได้ อันนี้คือ การไม่ยอมรับความจริงว่าเราเลยเวลามาพอสมควรแล้ว เราจะต้องขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดปัญหาคือ เศรษฐกิจจะไม่โต คนไทยจะขาดโอกาส ไม่เหมือนกับสมัยเมื่อ 30 ปีก่อน ที่คนไทยยุคนั้นมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว แต่คนไทยรุ่นใหม่ โอกาสมันต่างกันอย่างมาก ทำให้เกิดการอึดอัดขึ้นระหว่างรุ่น
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ครั้งนี้ ต้องปรับอย่างไร
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ คำถามคือเราจะต้องปรับในประเด็นไหน ความจริงถ้าเราย้อนกลับไปดูวิกฤตต้มยำกุ้ง 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันคือตัวเปลี่ยนในหลาย ๆ เรื่องในภูมิภาคเอเชียของเราเอง หลายประเทศได้รับผลกระทบในระดับเดียวกัน ทั้ง ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แต่ละประเทศ มีการปรับเปลี่ยนที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยปรับน้อยมาก สิ่งที่มีความสำคัญต่อระบบโครงสร้างที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งคือ การลอยตัวค่าเงินบาท นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพราะเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้การส่งออกของเราไปแข่งกับคนอื่นได้ง่ายขึ้นในด้านของราคา ทำให้การส่งออกโตอย่างรวดเร็ว สัดส่วนการส่งออกเทียบกับจีดีพีต้มยำกุ้งประมาณ 35% หลังต้มยำกุ้ง มาถึงทุกวันนี้มี 70%
เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยนวัตกรรม
โดยเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจที่เน้นการส่งออกเติบโต แต่การเติบโตเพียงเพราะเรามีขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาที่ดีขึ้น ไม่ได้เติบโตด้วยนวัตกรรม หรือประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น และไม่ได้ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ตัวชี้วัดที่เห็นชัด ๆ คือ ถ้าเราดูรายชื่อบริษัทชั้นนำที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จนถึงวันนี้ ชื่อบริษัทยังไม่เปลี่ยนเลย ชื่อใหม่ ๆ ก็เป็นรัฐวิสาหกิจบ้าง แต่ไม่ได้เกิดจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกายี่สิบปีที่แล้ว ชื่อบริษัทที่ติดอันดับหนึ่งในห้า วันนี้คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จัก
แต่วันนี้ TOP 5 มีแต่ Tech Company หมด ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ก กูเกิล ไมโครซอฟท์ อะเมซอน ยี่สิบปีก่อน บริษัทพวกนี้ยังไม่ได้ก่อตั้งเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจ วิธีการทำมาหากินของประเทศเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะที่ประเทศไทยของเรายังแบบเดิม และผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่ ก็คือผู้ที่มีสัมปทานกับรัฐ ผู้ที่ค้าขายกับรัฐ หรือมีใบอนุญาตที่ออกจากรัฐคอยปกป้องคุ้มครอง
นายกรณ์ กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับ คือการเพิ่มการแข่งขัน ซึ่งของไทยมีน้อย ทำให้บริษัทที่มีใบอนุญาตโตวันโตคืน ส่วนแบ่งตลาดก็มากขึ้น แต่บริษัทเล็กจะไม่มีโอกาสที่จะโตมาแข่งขันในฐานะแรงดันหลักทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งมันขาดนวัตกรรม สุดท้ายแล้วทำให้ขาดการลงทุนซึ่งเป็นหัวใจหลัก จากที่เปรียบเทียบให้เห็นแล้วว่า การลงทุนจากต่างประเทศในรูปของ FDI ของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ต่างชาติถอนลงทุนตลาดหลักทรัพย์ไทย 1.1 ล้านล้านบาท
โดยนักลงทุนจากต่างประเทศถอนการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์บ้านเราไปแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท นั่นคือสาเหตุที่ดัชนีตลาดหุ้นของเราก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม เราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ดัชนียังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิมก่อนต้มยำกุ้งด้วยซ้ำไป ตรงนี้เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าต่างประเทศที่เขาเป็นนักลงทุนมืออาชีพ ช่วงนี้เขามองว่าแนวโน้มโอกาสในการทำกำไร ในการลงทุนในประเทศอื่นสูงกว่าการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งไม่ผิด เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐอเมริกาที่ผานมาเพิ่มขึ้นเท่าตัว ของเอเชียโดยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นประมาณ 40% แต่ของไทยยังอยู่ที่เดิม
แม้แต่เราดูการลงทุนจากบริษัทเอกชนของไทยเอง จะเห็นว่าอัตราการขยายตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลดลงไปเกือบศูนย์ เหลือเพียง 2-3% เท่านั้น เพราะเขาไปลงทุนในประเทศอื่น ทั้งหมดเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนกลับมาลงทุน แต่เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเขามีความรู้สึกว่าเขาอยากจะมาลงทุนที่นี่
แผนสกัดดาวรุ่ง คริปโต ของกลต.ส่งผลเสียมากกว่าดี
“จุดเริ่มต้นในการที่จะดึงดูดความสนใจหรือกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีความคึกคักมากยิ่งขึ้นข้อสำคัญ ต้องเริ่มที่ปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีทัศนคติในทางบวกมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการแข่งขัน ซึ่งไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใดก็ตามต้องเอาจริง ที่สำคัญเราต้องสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ (New-S-curve) ซึ่งก็ต้องกลับมาที่เรื่องทัศนคติอีก อย่าง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลต.ออกประกาศสกัดดาวรุ่ง เรื่องของการนำเหรียญ คริปโต พวกโทเคิล ประเภทต่างๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน มาจดทะเบียน ซึ่งมันเป็นประกาศที่สร้างความตกใจให้กับทุกคนที่อยู่ในวงการคริปโต เพราะไม่ได้ส่งผลทางบวกกับใคร”
“ถ้าเป้าหมายเพียงเพื่อต้องการปกป้องนักลงทุน ซึ่งเราก็รู้ ๆ กันอยู่ว่านักลงทุนถ้าเขาต้องการที่จะลงทุนในโลกคริปโตเขาสามารถที่จะลงทุนข้ามชายแดนได้โดยสะดวกอยู่แล้ว แต่ผลมันคือทำให้แนวโน้มโอกาสที่จะพัฒนาในส่วนของผู้เชี่ยวชาญที่จะพัฒนาทักษะหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล๊อคเชนในประเทศนั้นมันหมดไป ซึ่งเมื่อถูกปิดโอกาสแบบนี้ คนเก่ง ๆ ก็จะย้ายไปทำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์แทน” อดีต รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกต
เปลี่ยนประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบราชการไทยก่อน
สำหรับ ทัศนคติของระบบราชการของไทยเราเป็นเรื่องของการกำกับ การควบคุม มากกว่าเรื่องของการส่งเสริม และเรื่องของการพัฒนา แนวโน้มโอกาสที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาได้มันมีน้อยลง มีหลายเรื่องที่เราต้องคิดที่จะทำ เช่น เราตอบโจทย์ประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมผู้สูงอายุอย่างไร แรงงานไทยลดลง ที่ผ่านมาเราก็ตอบโจทย์ปัญหาด้วยการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน ก่อนโควิดก็มีประมาณ 5 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานทักษะต่ำ ไม่ได้มาเพิ่มเทคโนโลยีโนฮาวให้กับเรา และอาจเป็นตัวฉุดในการพัฒนาด้วยซ้ำ เพราะผู้ประกอบการไทย ไม่มีแรงบันดาลใจเพียงพอในการยกระดับกระบวนการผลิตของตนด้วยเทคโนโลยี เพราะสามารถที่จะทดแทนด้วยแรงงานที่ค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราจึงไม่เกิดการพัฒนา เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเปิดให้แรงงานที่เป็นแรงงานมีทักษะ โดยเฉพาะเทคโนโลยี สามารถที่จะเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศได้
“ผมอยากจะส่งเสียงไปยังนักธุรกิจต่างประเทศว่า ขอให้มา Work from Thailand เถอะ ตอนนี้พวกคุณก็คุ้นกับ Work from home แล้ว มาอยู่เมืองไทย เราต้อนรับเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ วีซ่า ค่าใช้จ่าย ความน่าอยู่ที่ประเทศเราได้เปรียบอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามันมียุทธศาสตร์แบบนี้จริงจัง ในเรื่องของ Creative economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เราฝันอยากทำให้ได้เหมือนเกาหลีใต้ในหลาย ๆ เรื่อง มันก็จะมีความเป็นไปได้”
ทำอย่างไรภาคเกษตรมีรายได้ 15,000 บาทต่อไร่ ต่อปี
ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคกล้า ยังได้ฝากถึง เรื่องของการเกษตร ที่เป็นคำถามว่า นิว นอร์มอล มันจะเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวยังจะมีพฤติกรรมท่องเที่ยวเหมือนเดิมไหม นักธุรกิจเองจะเดินทางไปประชุมสัมมนา ประชุม Conference ต่าง ๆ เหมือนเดิมไหม อุตสาหกรรม Mize ในอนาคตจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร ผู้บริโภคเองจะมีพฤติกรรมการซื้อของเปลี่ยนไปอย่างไร ส่วนตัวมั่นใจว่า ความเปลี่ยนแปลงบางเรื่องมันเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย หรือถ้าจะกลับไปเหมือนเดิมก็คงยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนทางด้านการเกษตร มันสะท้อนในเรื่องของการบริโภค คนรุ่นใหม่มีความละเอียดมากขึ้น ว่าเขาจะบริโภคอะไร แต่เกษตรของไทยยังอยู่ในยุค 1.0 อยู่คือแทบจะไม่เปลี่ยนเลย ตอนนี้พื้นที่การเกษตรของเราอยู่ที่ประมาณ 170 กว่าล้านไร่ สัดส่วนรายได้ของเกษตรกรรรมต่อจีดีพี ของเราก็ลดลงมาเรื่อย ๆ ตอนนี้เหลือเพียงแค่ประมาณ 8% นั่นหมายความว่า รายได้ของภาคการเกษตร หารตามไร่พื้นที่ทางเกษตร เหลือเพียงแต่ 7,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี ซึ่งต่ำมาก ๆ ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ที่เราต้องตีให้แตก เพราะยังมีเกษตรกรอีกหลายสิบล้านคน
ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่จะมีมูลค่าสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอีก 10- 20 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ กำลังซื้อในภูมิภาคเอเชียที่มีรสนิยมตรงกัน และมีความสะดวกทางโลจิสติกส์ สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารของไทย ยังจะโตขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคตของเรา
ทั้งนี้ จะทำอย่างไรให้รายได้ต่อไร่เพิ่มขึ้น แน่นอนที่สุดตอนนี้เรามีสูตร มีคนที่จะสามารถสร้างรายได้เป็นหลักแสนต่อไร่ต่อปีได้ หรือถ้ามีสวนทุเรียนวันนี้คุณสามารถทำรายได้หลักล้านบาทต่อไร่ต่อปี เพราะฉะนั้นความเป็นไปได้มันมี แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องปลูกทุเรียน 170 กว่าล้านไร่แล้วจะได้รายได้เท่านั้น ซึ่งมันเป็นไปได้ และไม่ใช่แนวทางที่ควรจะทำ แต่เราจะทำอย่างไร ให้รายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 15,000 บาท ต่อไร่ต่อปี ก็เท่ากับเกษตรกรได้รายได้เพิ่มขึ้นสองเท่าตัวแล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องมาดูคือ เรื่องของเทคโนโลยี การเข้าถึงแหล่งน้ำด้วยการวางแผนเรื่อง โซนนิ่ง และรวมไปถึงการแปรรูปสินค้าเกษตร เราทำอย่างไรกำหนดเป้าหมายให้ชัดและเดินไปสู่จุดนั้น ประเด็นสุดท้ายคือ เรามีความจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องของโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นเลย ทำอย่างไรให้เรามีส่วนเอี่ยวในเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าเรามีเทคโนโลยีนี้ วันนี้ทำไมรัฐบาลยังเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในอัตราที่ ทำให้ประชาชนยังเข้าไม่ถึง ทำไมบริษัทของรัฐ ยังไม่เอื้อต่อการมีแหล่งชาร์จไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ในจำนวนที่มากขึ้น ทำไมรัฐยังไม่มีความชัดเจน และการจำกัดและในที่สุดจำกัดรถในระบบสันดาปที่เราใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน เพราะฉะนั้นมันจำเป็นต้องมาจากนโยบาย
เปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย ดึงเงินเข้าประเทศ
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อในบ่อนเถื่อน ถึงเวลาหรือยังว่าที่ประเทศไทยจะเปิดให้มีใบอนุญาตการทำกาสิโน รวมถึงแหล่งบันเทิง ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ซึ่งเรานึกภาพ ในแง่ของการพัฒนาในแนวทางที่มีผลต่อประเทศอย่างมากคือ สิงคโปร์ ที่ตัดสินใจทางเรื่องนี่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าทุกประเทศ นักลงทุนขนาดใหญ่ในระดับโลกหลายแห่งพร้อมที่จะลงทุนเป็นหลักหลายแสนล้านเพื่อนพัฒนา Integrated Resort ระดับมาตรฐานโลกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ต หรือที่กรุงเทพก็ตาม สามารถสร้างงานอาชีพ สร้างงานได้ หลักหลายหมื่นบาทต่อเดือน มีผลต่อจีดีพีอย่างน้อยปีละ 1-2 % ที่สามารถตอบโจทย์ในหลายเรื่อง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเราจะส่งเสริมให้มีการพนัน แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าคนไทยเล่นการพนันอยู่แล้ว นั่นคือสาเหตุที่ทำให้มีบ่อนเถื่อนทั่วประเทศ
และการมีบ่อนเถื่อนมันเป็นการส่งเสริมอำนาจใต้ดิน อำนาจของผู้มีอิทธิพล นำไปสู่เหลายเรื่อง ทั้งการค้ายาเสพติด ซื้อเสียงเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถ้าเราเอากิจกรรมเหล่านี้อยู่บนดิน เหมือนเรายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว นกตัวแรกคือ รัฐสามารถเก็บภาษีได้ มันจะเป็นผลบวกมากกว่าในทางสังคม และเป็นที่รู้กันดีว่ามีคาสิโนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก และ 99.9% ของจำนวนผู้ที่ไปเล่น เป็นคนไทย
โดยเราก็จะได้นกตัวที่สองคือการดึงรายได้กลับเข้ามาในประเทศ ส่วนนกตัวที่สาม คือ รายได้เพิ่มเติมที่จะมาจากนักท่องเที่ยวที่จะเข้าในประเทศไทยมากขึ้น ถ้าเรามีคาสิโนที่ถูกกฎหมาย ส่วนมาตรการป้องกันคนไทย ที่ไม่ควรจะเข้าไปเล่นเพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่เราบริหารจัดการได้อยู่แล้ว และทั้งหมด เราต้องบริหารด้วยหลักปฏิบัตินิยม ใช้ตรรกะ ใช้ข้อมูลอยู่บนโลกความเป็นจริงและยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไปมาก หากเรายังมีระบบบริหาร ระบบการเมือง และระบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม มันไม่ตอบโจทย์แล้ว
ความสามารถบริหารจัดการของไทยช่วงโควิดล้มเหลว
“นี่คือบริบทในการพูดถึง นิวนอร์มอล หากในอนาคตเราจะเจอปัญหาที่เคยประสบมาแล้ว เราต้องมีโครงสร้างและองคาพยพที่มีความฉลาดและยืดหยุ่นเพียงพอในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ถามว่าแล้วโครงสร้างสังคมและการบริหารจัดการของเรา ณ วันนี้มันมีความยืดหยุ่น คล่องตัว ว่องไว และมีความสามารถเพียงพอที่จะวิเคราะห์ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนแล้วหรือไม่ ผมคิดว่าพวกเราทุกคน มีคำตอบเดียวกันคือ ยังห่างไกล เพราะระบบบริหารจัดการระดับประเทศของเรา โดยเฉพาะระบบราชการ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนาน ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าขาดวัฒนธรรมการบริหารข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ต้องเตรียมการรองรับโลกที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หากยังเป็นอยู่แบบนี้ โอกาสที่จะปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตก็ยังน้อยเหมือนเดิม” นายกรณ์ กล่าว
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า”SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
Alicia Williamson, p…
Discover how Microso…
This website uses cookies.