เกาะกระแสจองซื้อหุ้น “TIDLOR” โบรกฯประเมินหุ้นกลุ่มเช่าซื้อปีนี้กำไรโต 22% ชี้ส่วนใหญ่มาจากพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เอเซีย พลัส” คาดปีนี้ธุรกิจแข่งรุนแรง “กสิกรฯ” เชื่อรายใหญ่ยังรักษากำไรได้ดี ฟาก “เมย์แบงก์ฯ” เทียบเพอร์ฟอร์แมนซ์ 3 บริษัท “TIDLOR-MTC-SAWAD” เป็นเจ้าตลาดคนละเซ็กเมนต์
นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ปี 2564 นี้คาดการณ์หุ้นกลุ่มเช่าซื้อจะมีกำไรเติบโตรวม 22% หรือ 2.3 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มสินเชื่อที่น่าจะเติบโตได้ 12% หรือเพิ่มขึ้น 3.3 แสนล้านบาท โดยเติบโตจากธุรกิจจำนำทะเบียนรถเป็นหลัก
ซึ่งปัจจุบัน 2 บริษัทที่ บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์อยู่ คือ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ (SAWAD) ส่วน บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) อยู่ระหว่างเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดจำหน่ายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยเปิดให้จองซื้อได้จนถึงเวลา 16.00 น.ของวันที่ 26 เม.ย.นี้
สำหรับ MTC กับ SAWAD ประเมินว่า 2 บริษัทจะมีกำไรโต 18.8% หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท สินเชื่อรวมเติบโตได้ 17% จากเศรษฐกิจฟื้นตัว
“แม้มีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่คาดว่าจะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบเหมือนปีที่แล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้น หนุนให้ความต้องการใช้สินเชื่อกลับมาโตได้อีกครั้ง”
ทั้งนี้ MTC มีแผนขยายสาขา 600 สาขาต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายยอดสินเชื่อเติบโต 15-20% ต่อปี ซึ่งคาดว่ากำไรสุทธิของ MTC ปีนี้จะอยู่ที่ 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ส่วนทาง SAWAD คาดการณ์กำไรปีนี้จะอยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% โดยล่าสุดมีการเข้าไปร่วมทุนธนาคารออมสินเพื่อจะปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียน ดอกเบี้ยต่ำกว่า 18% ต่อปี
“ตอนนี้ SAWAD ได้ทำโปรโมชั่นดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์เหลือราว 15% ต่อปีในช่วง 3 เดือนแรก โดย MTC ก็ได้ลงมาแข่งด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 15% เช่นกัน ดังนั้น จากนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาแข่งขันกันด้วย ทำให้ภาพแข่งขันในปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่ปริมาณสินเชื่อที่จะโตในปีนี้จะหักล้างผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินของรายใหญ่ที่ต่ำกว่ารายย่อยทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ทำกำไรได้ดีกว่า”
นายเอนกพงศ์กล่าวด้วยว่า ให้ราคาเป้าหมาย MTC อยู่ที่ 80 บาท และ SAWAD อยู่ที่ 95 บาท ขณะที่ TIDLOR อยู่ระหว่างประเมิน เบื้องต้นแผนธุรกิจของ TIDLOR พบว่าจะมีการขยายสาขา 500 สาขา ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะดูน้อยกว่า MTC แต่คิดเป็น 50% ของจำนวนสาขาของ TIDLOR ในปัจจุบัน ประกอบกับการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคตจะควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีและมีโอกาสทำกำไรโตได้มาก และกู้แบงก์ได้ง่ายกว่าจากการเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์
“ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรวมของ MTC มีประมาณ 71,000 ล้านบาท ขณะที่ TIDLOR มีประมาณ 51,000 ล้านบาท ส่วน SAWAD อยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของ MTC อยู่ที่ 1.1% SAWAD อยู่ที่ 3.7% และ TIDLOR อยู่ที่ 1.7% จำนวนสาขา MTC มีจำนวน 4,984 สาขา SAWAD มีจำนวน 4,750 สาขา และ TIDLOR มีจำนวน 1,076 สาขา”
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทยกล่าวว่า ปีนี้ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจจำนำทะเบียนรถจะรุนแรง แต่คงไม่ดุเดือดจนทำให้กำไรหดหายลง เพราะเชื่อว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่เถ้าแก่หรือเจ้าของลงมาดูเอง ซึ่งความสนใจคือธุรกิจต้องมีกำไร ดังนั้น MTC และ SAWAD แข่งราคาก็จริง แต่แข่งในระดับที่กำไรไม่ลดลง
“การแข่งขันจะรุนแรงกว่าปีก่อน ๆ แต่ไม่ถึงกับแย่ ขนาดเป็นตลาดไอซีทีที่หั่นราคากันจนไม่มีผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) แต่จะเห็นการเติบโตของกำไรช้าลง แม้สินเชื่อโตแต่ดอกเบี้ยรับลดลง จึงมองเป็นการแข่งขันที่รุนแรงระดับปานกลางไม่ถึงกับรุนแรงมาก กำไรไม่ได้ โตปีละ 40-50% เหมือนเมื่อก่อน”
โดย MTC กับ SAWAD จะใช้กลยุทธ์ทำธุรกิจต่างกัน คือ MTC ใช้กลยุทธ์ดั้งเดิมคือ ขยายสาขาต่อเนื่อง และเน้นขยายตัวพอร์ตสินเชื่อ เน้นโปรดักต์ใหม่ อย่างปีนี้มาทำเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ เพราะพอร์ตเดิมผลตอบแทน (ยีลด์) ลดลงจากตัดราคาลงมาแข่งกับ SAWAD
ขณะที่ SAWAD เน้นการเติบโตสินเชื่อ แต่เน้นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยด้วย คือรายได้ค่าธรรมเนียมการขายประกันวินาศภัยหลัก ๆ คือ ขายประกันรถ รวมถึงการร่วมทุนกับธนาคารออมสิน จะช่วยเพิ่มสินเชื่อในมือและช่วยให้มีต้นทุนประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
“ประเมินว่า SAWAD จะมีกำไรจากการร่วมทุนกับออมสินปีนี้ 250 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มเป็นราว 500 ล้านบาท และปี 2566 อยู่ที่ราว 600 ล้านบาท”
นายเจษฎา เตชะหัสดิน นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกันปัจจุบัน MTC มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท SAWAD อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ TIDLOR อยู่ที่ 8-9 หมื่นล้านบาท (ณ ราคา IPO)
โดยลักษณะธุรกิจของ 3 บริษัทมีความแตกต่างกัน คือ TIDLOR เป็นผู้นำตลาดจำนำทะเบียนรถยนต์ใหญ่ที่สุด โดยมีพอร์ตจำนำทะเบียนรถบรรทุกที่อีก 2 บริษัทไม่ได้ทำ ขณะที่ MTC มีพอร์ตจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ใหญ่สุด ส่วน SAWAD มีพอร์ตจำนำโฉนดที่ดินใหญ่สุด
“ทั้ง 3 บริษัทมีจุดแข็งที่แตกต่างกันชัดเจน แต่ TIDLOR จะมีรายได้ที่แข็งแกร่งจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยด้วย มีเบี้ยประกันภัยรับติด 10 อันดับแรกในอุตสาหกรรม และยังมีจุดแข็งจากการเป็นบริษัทลูกของแบงก์ (ธนาคารกรุงศรี) จึงได้เปรียบในแง่ความแข็งแกร่งได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งอยู่ที่ A- สูงกว่า MTC และ SAWAD ที่อยู่ที่ BBB+ ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินเวลาออกหุ้นกู้ถูกกว่า
ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของ TIDLOR ก็ค่อนข้างแข็งแกร่ง ปัจจุบันมีการตั้งสำรองต่อเอ็นพีแอลสูงกว่า 300% แต่ถ้าดูจากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ทาง MTC จะต่ำที่สุด รองลงมา TIDLOR และ SAWAD จะสูงสุด” นายเจษฎากล่าว