โชว์ลิสต์นักกีฬาโอลิมปิก แข่งจนรวยเป็นเศรษฐี! – ผู้จัดการออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักกีฬาที่แจ้งเกิดในเวทีโอลิมปิกหลายคนกลายเป็นมหาเศรษฐี โดยเฉพาะ รายที่สามารถคว้าเหรียญทอง เงิน หรือแม้แต่ ทองแแดงมาได้ในแต่ละชนิดกีฬาที่ลงแข่ง หลังจากได้ขึ้นแท่นรับเหรียญ ทำให้ใครๆ ก็มองเห็น และต้องการจับจองให้มาเป็นตัวแทนสินค้าของพวกเขา

ชอน ไวท์ (60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)



นักสโนว์บอร์ดชาวอเมริกันวัย 34 ที่เคยคว้า 3 เหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านตั้งแต่อายุ 20 โดยมีรายได้เข้ามามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ อย่างเบอร์ตัน สโนว์บอร์ด, พาร์คซิตี เมาเทน รีสอร์ต, อาดิโอ, เรดบูล, โอ๊คลีย์, ฮิวเลต-แพคการ์ด, โกโปร, บีทส์, ทีโมบายล์เมาเทนดิว ฯลฯ นอกจากนี้ เขายังไปลงทุนเองในอสังหาริมทรัพย์ด้วย



ด้วยหน้่าตาที่พอไปวัดไปวาได้ ชอน ไวท์ ยังได้ร่วมแสดงในหนังฮอลลีวู้ดด้วย อย่างเรื่อง Friends With Benefits และยังปรากฏตัวในวิดีโอเกม Shaun White Skateboarding และได้เป็นนายแบบถ่านแฟชัน

ไมเคิล เฟลป์ส (80 ล้าน)



นักกีฬาว่ายน้ำโอลิมปิกอเมริกัน เจ้าของสถิติเหรีญทองมากที่สุด ถึง 23 เหรียญ เฉพาะการลงแข่งขันว่ายน้ำในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ก็สร้างรายได้ 1.9 ล้านดอลลาร์แล้ว นอกจากนี้ เขายังมีสัญญาสร้างแบรนด์ในชื่อตัวเองอีก 9.8 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือก็เป็นบรรดาผู้เข้ามาสนับสนุน และเลือกให้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า ทั้งคอลเกต, เคลล็อก, ลุยส์ วิตตอง, โอเมกา, สปีโด, อันเดอร์อาร์เมอร์ และวีซา ฯลฯ

อูเซียน โบลท์ (90 ล้าน)



มนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุด เจ้าของสถิติโลกทั้ง 100 และ 200 เมตร เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 8 เหรียญ เจ้าของฉายา ‘โบลท์ผู้เจิดจ้า’ สร้างรายได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ ราว 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี เฉพาะแบรนด์ พูมา เจ้าเดียวก็จ่ายถึง 10 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นยังมี เกเตอเรด, วีซา, เวอร์จินมีเดีย, อูโบลต์ นักวิ่งในตำนานของจาไมกา ยังมีแฟรนไชส์ร้านอาหาร ‘แทร็ค แอนด์ เรคอร์ด’ ที่มีสาขาทั้งในจาไมกาและในอังกฤษ

จอร์จินา บลูมเบิร์ก (100 ล้าน)



ลูกสาวของมหาเศรษฐีและอดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก ซึ่งเป็นนักกีฬาขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวาง โดยเธอเริ่มฝึกฝนมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จนกลายเป็นนักขี่ม้าอาชีพ และได้เข้าเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐในโอลิมปิก ปี 2016 ด้วยความที่เป็นลูกมหาเศรษฐีอยู่แล้ว จอร์จินา จึงมักนำเงินที่เธอได้จากการแข่งขันขี่ม้าไปอุทิศให้การกุศล



จอร์จินา ก่อตั้งกองทุน ไรเดอร์ส โคลเสต เพื่อที่จะให้คนบริจาคชุดเสื้อผ้าของนักกีฬาขี่ม้า ซึ่งปกติมีราคาแพงมาก สำหรับนักกีฬาที่ขาดแคลน นอกจากนี้ เธอยังเป็นกรรมการขององค์กรการกุศลต่างๆ อย่างเช่น องค์กรช่วยเหลือสัตว์แห่งอเมริกา และยังมีส่วนร่วมเป็นนักเขียนนิยายหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการขี่ม้าด้วย

เคทลิน เจนเนอร์ (100 ล้าน)



เคทลิน เจนเนอร์ เคยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกทศกรีฑาชาย ปี 1976 (ในนาม บรูซ เจนเนอร์) ปัจจุบันเธออายุ 71 หลังผ่าตัดกลายเป็นสตรีข้ามเพศ เธอกลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ เป็นดาราเรียลิตี และยังโดดเข้าไปเล่นการเมือง



จากการเป็นนักกีฬาโอลิมปิกเหรียญทอง นำมาซึ่งการร่วมงานกับแบรนด์ดัง อย่าง ไอบีเอ็ม และโคคา-โคลา รวมทั้ง เรียลิตีโชว์ Keeping Up With the Kardashians, I’m a Celebrity … Get Me Out of Here รวมทั้งโชว์ของตัวเอง I Am Cait นอกจากนี้ เคทลิน ยังมีรายได้จากหนังสืออัติชีวประวัติ The Secrets of My Life, การได้รับเชิญไปพูดในงานต่างๆ และการร่วมงานกับแมก คอสเมติกส์

เซเรนา วิลเลียมส์ (225 ล้าน)



อดีตมือวางอันดับหนึ่งนักเทนนิสหญิงอเมริกัน ที่นอกจากโดดเด่นในการแข่งขันเทนนิสอาชีพแล้ว เซเรนา วิลเลียมส์ ยังเคยกวาดเหรียญทองโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 เหรียญ



ตอนที่เป็นนักเทนนิสอาชีพ เธอคว้ารายได้จากการแข่งขันดับเบิลยูทีเอทัวร์ ราว 94 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยแล้วปีละ 8 ล้านดอลลาร์ และยังสร้างรายได้จากสปอนเซอร์ อย่างเช่น ไนกี, วิลสัน, แอสตันมาร์ติน, เปปซี, ไอบีเอ็ม, อินเทล ฯลฯ อีกปีละ 20 ล้านดอลลาร์

เธอยังเป็นเจ้าของ เซเรนา เวนเจอร์ส บริษัทเงินทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีสาขาทั่วโลก และยังมีแบรนด์เสื้อผ้า อะเนเรสกับเอส บาย เซเรนา นอกจากนี้ เธอยังไปพากย์เสียงใน The Simpsons (2001) และ Avatar: The Last Airbender (2007)

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (450 ล้าน)



นักเทนนิสระดับตำนานชาวสวิส เจ้าของ 20 แชมป์แกรนด์สแลม ที่ปีนี้อดไปชิงเหรียญทองในโตเกียวโอลิมปิค เพราะอาการบาดเจ็บหัวเข่า แต่นักกีฬาวัย 39 ปี ยังไม่แขวนแร็คเก็ต และยังมีแบรนด์ดังๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง โรเล็กซ์, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บาริลลา, โมเอต์ เอต์ ชองดง และยูนิโคล ถ้าไม่นับรวมรายได้จากอาชีพนักเทนนิส แค่บรรดาสปอนเซอร์ก็สร้างรายได้ปีละ 100 ล้านดอลลาร์

ฟลอยด์ เมย์เวเตอร์ จูเนียร์ (1,200 ล้าน)



นักมวยอเมริกัน เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก ปี 1996 คือมหาเศรษฐีพันล้าน โดยเขาบอกว่า รายได้มหาศาลของเขามาจากการชกมวย 2 ไฟต์ คือ ไฟต์ที่เจอกับ คอเนอร์ แมคเกรเกอร์ (350 ล้าน) และแมนนี ปาเกียว (300 ล้าน)



ด้วยสถิติ ชก 50 ครั้ง ไม่เคยแพ้เลยสักครั้งเดียว ทำให้กวาดรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ มีเงินจำนวนมากมาซื้อนาฬิกา รถหรู เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว รวมทั้งแมนันในเบเวอรีฮิลและลาสเวกัส

แอนนา คาสเพอร์แซค (1,400 ล้าน)



นักขี่ม้าชาวเดนมาร์ก ที่เข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกปี 2012 และ 2016 นอกจากจะเป็นคนรักม้าแล้ว เธอยังเป็นเจ้าของคอกม้าส่วนตัวในฮัดเดอเลฟ เดนมาร์ก



แอนนา คาสเพอร์แซค เล่นกีฬาขี่ม้าด้วยใจรัก แต่หลักๆ แล้วรายได้ของเธอมาจาก เอคโค โรงงานผลิตรองเท้าชื่อดังสัญชาติเดนมาร์ก ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว โดยในปี 2019 เธออยู่ในลิสต์มหาเศรษฐีแถวหน้าของโลกที่อายุต่ำกว่า 30 ปี



ไอออน ติริแอค (1,700 ล้าน)



นักกีฬาโอลิมปิกที่รวยที่สุดในโลก คืออดีตนักเทนนิสชาวโรมาเนีย ไอออน ติริแอค เจ้าของฉายา บราซอฟ บุลโดเซอร์ ซึ่งเคยเข้าแข่งขันไอซ์ฮอคกีในโอลิมปิคปี 1964 ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักเทนนิสมืออาชีพ และภายหลังกลายมาเป็นโค้ชของนักเทนนิสดังมากมาย ทั้ง กิลเยอร์โม วิลาส, โกรัน อิวานิเซวิช และมารัต ซาฟิน



กีฬาเทนนิสทำให้ไอออนกลายเป็นเศรษฐี แต่เป็นการทำธุรกิจที่ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐี หลังจากคอมมิวนิสต์เริ่มล่มสลายในโรมาเนีย ราวปี 1990 ไอออน ก่อตั้ง บองกา ติริแอค สถาบันการเงินเอกชนแห่งแรกของประเทศ ลงทุนในธุรกิจประกันภัย ให้สินเชื้อรถยนต์ และยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับสายการบินในประเทศ