แรงงานขาด-แข่งราคาดุ ฉุดรายได้ “พฤกษา” ไตรมาสแรกลดฮวบ 35.8% กัดฟันตรึงราคาบ้านถึงสิ้นปี
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 หลังการระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลูกค้าเริ่มมีความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่ลูกค้ามีความต้องการซื้อสูงสุด เพราะโควิดทำให้คนอยากอยู่บ้านมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ส่วนคอนโดมิเนียมกำลังซื้อยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งปีนี้ยังมีปัจจัยต้องติดตามใกล้ชิดทั้งภาวะเงินเฟ้อส่งผลต่อต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2-3% การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ แต่บริษัทยังไม่ปรับราคาบ้านและคาดว่าสามารถตรึงราคาได้ถึงสิ้นปีนี้ จากการบริหารต้นทุนวัสดุก่อสร้างและการขนส่งทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ประหยัดได้ 460 ล้านบาท
นายอุเทนกล่าวว่า ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจยังซบเซาบริษัทยังเดินหน้าตามแผนเดิม เปิด 31 โครงการใหม่ มูลค่า 16,300 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 31,000 ล้านบาท และยอดโอน 33,000 ล้านบาท โดยผลประกอบการไตรมาส1/65 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสลดลงทุกรายการ เป็นผลจากเปิดโครงการใหม่ลดลงและโยกบางส่วนเปิดไตรมาสที่ 2 งานก่อสร้างล่าช้าเพราะขาดแคลนแรงงาน และการแข่งขันด้านราคา ทำให้ทำยอดขายได้ 5,344 ล้านบาท ลดลง 0.3% รายได้ 5,679 ล้านบาท ลดลง 35.8% และ กำไร 639 ล้านบาท ลดลง 43.8%
นายอุเทนกล่าวว่า ในไตรมาส2 จะเปิดอีก 9 โครงการ รวม 2,400 ยูนิต มูลค่า 5,900 ล้านบาท เป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการและบ้านเดี่ยว 1 โครงการ ด้านยอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ 20,200 ล้านบาท ทยอยรับรู้ปีนี้ 18,700 ล้านบาท โดยมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จพร้อมโอน 7 โครงการ มูลค่า 15,200 ล้านบาท ซึ่งโครงการใหม่การออกแบบจะเพิ่มฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุและการประหยัดพลังงาน เช่น จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)
“แม้ไตรมาสแรกยอดขายลด แต่หลังได้แก้ปัญหาแรงงานก่อสร้างแล้ว จะทำให้การสร้างบ้านส่งมอบให้ลูกค้าทันกำหนด และจะเป็นตัวส่งทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่2 ถึงไตรมาส3นี้ ขณะเดียวกันจะสานต่อการทำโปรโมชั่นผ่านออนไลน์หลังไตรมาสแรกสร้างยอดขายได้ถึง 86.7% จำนวน 1,803 ยูนิต มูลค่า 5,344 ล้านบาท ”นายอุเทนกล่าว
นายอุเทนกล่าวว่าสำหรับกลยุทธ์ปีนี้ของพฤกษายังเดินหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับธุรกิจเฮลแคร์ โดยพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูสมีทั้งที่อยู่อาศัยและบริการด้านสุขภาพ โดยเดือนสิงหาคมนี้จะเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพแห่งแรกในชุมชนพฤกษา ขนาด 50 เตียง ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน อีกทั้งโรงพยาบาลวิมุตยังร่วมกับ JAS ASSET พัฒนาโครงการ SENERA Senior Wellness บริเวณถนนคู้บอน เป็นศูนย์เมดิคอล ขนาด 5,713 ตารางเมตร สูง 4 ชั้น ขนาด 78 เตียง เปิดบริการเดือนธันวาคมนี้ และยังลงทุนด้าน เฮลท์เทค พร๊อพเทคทั้งที่ประเทศไทย ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รองรับกระแสเทรนด์ที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
“บริษัทมีโครงการในมือ 140 โครงการ มูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท และมีที่ดินรอพัฒนา(แลนด์แบงก์) มูลค่า 15,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต เช่น บางนา ราชพฤกษ์ และจากการที่รัฐเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตรา 100% ในปีนี้ ทำให้บริษัทมีภาระเสียภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท “
นายอุเทนกล่าวว่า ด้านธุรกิจด้านสุขภาพในส่วนของโรงพยาบาลวิมุต เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางระดับตติยภูมิ จากการให้บริการเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ในไตรมาส 1 มีรายได้ 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาส 4/2564 ส่วนโรงพยาบาลเทพธารินทร์ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 51% ได้ส่วนแบ่งกำไรจากผลประกอบการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แผนธุรกิจในไตรมาส 2 คาดว่ารายได้หลักจะมาจากการดำเนินงานเต็มรูปแบบของบริการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลและบริการศูนย์ฟื้นฟูดูแลสุขภาพครอบครัวและผู้สูงอายุ ซึ่งจะพัฒนาไปพร้อมกับโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของพฤกษาอย่างต่อเนื่องด้วย