แมวดี มาดุ ORA Good Cat ช่วงล่างหนึบแข็ง แรงถึงใจ – ผู้จัดการออนไลน์

สร้างกระแสนับตั้งแต่เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ “ORA Good Cat” รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ หนึ่งในสี่ขุนพลทัพหน้าของการบุกทำตลาดเมืองไทย โดยเป็นโมเดลที่สอง ต่อจาก Haval H6 ที่เปิดจำหน่ายเป็นรุ่นแรกและได้รับการตอบรับเหนือความคาดหมาย



สำหรับ ORA Good Cat เผยโฉมตั้งแต่เมื่องานมอเตอร์โชว์ด้วยรุ่นพวงมาลัยซ้าย ส่วนข้อมูลทางเทคนิคของรถสเปคไทย พวงมาลัยขวามีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ตุลาคม ขณะที่การเปิดราคาจะมีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม และตามสไตล์ของ GWMประเทศไทย จัดให้มีการทดลองขับแบบ วันเดียวเที่ยวเต็มคราบ เพื่อให้รับรู้ถึงสมรรถนะและข้อมูลต่าง ๆ แน่นอนว่า ทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ไม่พลาดการขับแบบจัดเต็มรอบนี้



แบตใหญ่ ใส่ออปชันเต็ม

การออกแบบโครงสร้างตัวถังมากับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า L.E.M.O.N. ที่สามารถปรับใช้กับรถได้หลากหลายรูปแบบทั้งเครื่องยนต์,ไฮบริด และรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ดังนั้น ORA Good Cat จึงมีความสมดุลลงตัวเมื่อต้องติดตั้งแบตเตอรี่ใต้ท้องรถ

คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือการเลือกใช้เหล็กชนิดน้ำหนักเบา ส่วนแก้มหน้าซ้าย-ขวาของรถใช้วัสดุคอมโพสิตที่มีความแข็งและเหนียวดูดซับแรงกระแทกได้ ช่วยให้น้ำหนักรวมเบาลง ประตูออกแบบไร้รูกุญแจ ควบคุมการล็อกด้วยกุญแจรีโมท ซึ่งสามารถสั่งปลดล็อกฝาท้ายได้ (มิใช่คำสั่งเปิดฝาท้ายแบบไฟฟ้า)



ด้านการดีไซน์ดูเป็นสไตล์ยุโรปค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ออกแบบเป็นอดีตทีมงานผู้ดูแลรับผิดชอบในการดีไซน์รถยนต์ปอร์เช่ รุ่น 911 ดังนั้นจะไม่น่าแปลกใจหากหน้าตาของ ORA Good Cat จะได้แรงบันดาลใจมาจากรถสปอร์ตระดับตำนานของเมืองเบียร์



หัวใจเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหน้า ขนาดกำลัง 143 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ในเวลา 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 152 กม./ชม. ปรับโหมดการขับขี่ได้ 5 รูปแบบ และปรับหน่วงการชาร์จไฟจากการถอนคันเร่งได้ 3 ระดับ

แบตเตอรี่ในรุ่น 500 Ultraจะเป็นแบบลิเธียม Ternary ขนาด 63.3 kW เคลมระยะทางวิ่งได้ไกลสุดคือ 500 กม. ส่วนในรุ่น 400 Pro และ400 Tech เป็นแบบลิเธียมไอออนฟอสเฟส ขนาด 47.7 kW ระยะทางวิ่งไกลสุด 400 กม. ความแตกต่างของแบตเตอรี่ทั้งสองชนิดคือแบบแรกนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าและเก็บประจุไฟได้มากกว่า



สำหรับระยะเวลาในการชาร์จ รุ่น 500 Ultra หากชาร์จด้วยไฟบ้าน(AC) จะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง (อัตราการอัดประจุสูงสุดที่ 6.6 kW) ส่วนการชาร์จด้วยชุดชาร์จไวตามสถานีชาร์จ (DC) จาก 30-80% จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที และจาก 0-80% จะใช้เวลา 60 นาที ขึ้นกับอัตราการอัตประจุของแต่ละแห่ง โดยรองรับได้อัตราการอัดประจุสูงสุด 60 kW

ระยะเวลาการชาร์จของรุ่น 400 ทั้งสองรุ่นย่อย ชาร์จด้วยไฟบ้าน(AC) จะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ส่วนการชาร์จด้วยชุดชาร์จไวตามสถานีชาร์จ (DC) จาก 30-80% จะใช้เวลาประมาณ 32 นาที และจาก 0-80% จะใช้เวลา 45 นาที ขึ้นกับอัตราการอัตประจุ

ภายในสีเขียวสลับครีม จะมีเฉพาะรุ่น 500 Ultra สีภายนอกสีเขียวเท่านั้น

ระบบช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังแบบทอร์ชันบีม ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบเสริมความปลอดภัยให้มาอย่างครบถ้วนเทียบเท่ารุ่นพี่อย่าง Haval H6 มีระบบเด่นๆ เช่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ, ระบบเตือนการออกนอกเลน และระบบควบคุมรถให้วิ่งอยู่กลางเลน เป็นต้น



ด้านการออกแบบภายในห้องโดยสาร มีกลิ่นไอของความเป็นรถยุโรปด้วยคุณภาพของวัสดุที่เลือกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสังเคราะห์ที่เป็นแบบหนังกลับ ปุ่มกดต่าง ๆ สัมผัสแล้วให้ความรู้สึกที่มีราคาแพง รวมถึงการประกอบที่ค่อนข้างเนียนและละเอียดละออ มีเพียงพลาสติกบางรายการที่แตกต่างจากชิ้นส่วนอื่นภายในรถ แต่โดยรวมแล้วคุณภาพดีกว่ารถแบรนด์ญี่ปุ่นหลายรุ่น



ขณะที่ระบบปฏิบัติการบนหน้าจอรองรับการเชื่อมต่อทั้ง Android Auto และ Apple Car Play ส่วนฟังก์ชันการสั่งงานถือว่าใช้งานได้สะดวกและง่าย มีเพียงบางเมนูเท่านั้นที่ต้องค้นหาลึกสักหน่อย ส่วนเมนูการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย ตอบโต้ได้ไวพอสมควร และค่อนข้างแม่นยำราว 80%

ภายในสีเบจสลับน้ำตาล มีเฉพาะรุ่น 500 Ultra สีภานอกสีน้ำตาลเท่านั้น

ภายในสีดำของรุ่น 500 Ultra และ 400 Pro



เร่งเด่น ช่วงล่างหนึบแข็ง

การทดลองขับแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ การขับจริงเส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ และ การทดลองขับในพื้นที่ปิดที่มีการจำลองจุดต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงสมรรถนะของรถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เหนือสิ่งอื่นใด ในวันที่เราขับมีฝนตกลงมาอย่างหนักก่อนเริ่มต้นและสลับตก ๆ หยุด ๆ ตลอดทั้งวัน ดังนั้นจึงได้เห็นผลลัพธ์ของการขับขี่แบบไร้ข้อสงสัย

เริ่มกันที่การขับแบบในเมืองตั้งแต่ออกตัวด้วยขนาดตัวรถไซส์คอมแพค ใกล้เคียงมาสด้า3รุ่นแฮทช์แบ็ค ทำให้การขับขี่คล่องตัว อัตราเร่งคือจุดเด่นที่สุด ตอบสนองรวดเร็วทันใจ คันเร่งเบาเท้า ขึ้นกับโหมดการขับขี่ด้วยว่าปรับเป็นแบบใด น้ำหนักเบรกกำลังดี ไม่มีอาการหัวทิ่ม



เราเปิดทุกระบบช่วยขับขี่ พวงมาลัยมีการดึงเล็กน้อยไม่แรงมาก เมื่อจะเปลี่ยนเลนแบบไม่เปิดไฟเลี้ยว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี พวงมาลัยน้ำหนักเบามือและจะหนืดขึ้นหากวิ่งด้วยความเร็วสูง รัศมีวงเลี้ยว ตัวเลขระบุ 5.9 เมตรไม่ถึงกับแคบ

เมื่อออกนอกเมือง มีโอกาสทำความเร็วและกระแทกคันเร่งเพื่อแซง บอกแบบไม่อายว่า เราชอบมาก ตัวรถพุ่งในทุกย่านความเร็ว แม้จะไม่มีอาการหลังติดเบาะ แต่อุ่นใจได้หากต้องแซงเวลาขับคัน จัดว่าเป็นรถขับสนุกคันหนึ่ง ความเร็วที่ใช้ส่วนใหญ่จะอยู่ราว 100-120 กม./ชม. ตลอดการเดินทาง



ระบบช่วงล่างหนึบนิ่งดี เป็นผลจากการเซ็ตมาค่อนแข็ง ทำให้การทรงตัวเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงไร้อาการลอยลม โดยความเร็วสูงสุดเราลองขับแตะถึง 160 กม./ชม. ตามการแสดงผลบนหน้าจอ อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องแลกมาจากการทรงตัวนิ่งคือ การดูดซับแรงสั่นสะเทือนทำได้ดีระดับหนึ่ง หากขับผ่านทางขรุขระหรือรอยต่อถนนจะรู้สึกได้อย่างชัดเจน

ภาพรวมของตัวรถค่อนข้างเงียบโดยเฉพาะเสียงลมประทะมีน้อยมากแม้จะวิ่งด้วยความเร็วสูง แต่จะมีเสียงของยางบดถนนได้ยินชัดเจนกว่า ส่วนเสียงเครื่องยนต์หรือท่อไอเสียจะไม่มีเพราะนี่คือรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีทั้งสองสิ่งนั้น



บางช่วงของการขับเจอน้ำขังผิวถนน ขับลุยไปได้แบบไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะเข้าแบตเตอรี่หรือไฟฟ้าจะช็อตเนื่องจาก ORA Good Cat ผ่านการทดสอบการป้องกันน้ำเข้าและการตัดกระแสไฟฟ้าทันทีกรณีเกิดการรั่วหรือลัดวงจรในเวลาเพียง 0.5 มิลลิวินาที ขณะที่การลุยน้ำทีมงานระบุว่าลุยได้ปลอดภัยที่ความสูงราว 30 ซม. หรือประมาณดุมล้อ

การนั่งทางด้านหลัง โดยปกติเราจะไม่ค่อยชอบเท่าใดนัก แต่เมื่อได้ลองเบาะหลังของ ORA Good Cat ค่อนข้างชอบการดีไซน์และผิวสัมผัส รวมถึงพื้นที่โล่งให้ความรู้สึกโปร่ง อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การนั่งตำแหน่งผู้โดยสารด้านหลังสบายไม่เท่าเบาะคู่หน้า ด้วยขนาดตัวเบาะสั้นและแรงสะเทือนรับรู้ได้ชัดกว่า



การใช้งานระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้งานง่าย เพราะมีปุ่มแสดงชัดไม่ซับซ้อน ยกเว้น ปุ่มปรับโหมดการขับขี่ ที่อยู่ในตำแหน่งหายากสักนิดเมื่อต้องการปรับขณะขับขี่เพราะพวงมาลัยจะบังพอดี รวมถึงการเข้าใช้งานเมนูบนหน้าจอแบบลึก ๆ บางอย่างต้องทำความคุ้นเคยพอสมควรและระบบสั่งการด้วยเสียง หลายครั้งทำงานเองจากเสียงเราคุยกับเพื่อนโดยที่เราไม่ได้เรียกใช้

ตลอดเส้นทางขับไปและนั่งกลับรวมระยะทางการขับขี่ราว 200 กม. ตัวเลขการแสดงผลระยะทางวิ่งได้จากจุดเริ่มต้นที่ 497 กม. เหลือกลับมาหลังสิ้นสุดการเดินทาง 283 กม. กับการขับแบบเต็มสมรรถนะ ถือว่าทำได้ดี ไปต่างจังหวัดได้โดยไม่ต้องกังวลมากนัก ขอแค่เพียงระยะไม่เกิน 400 กม. ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเรียกยานแม่



หลังจากกลับมาถึงที่หมาย เป็นคิวของการทดลองขับในสถานะการจำลอง จุดแรกเป็นการขับแบบยิมคาน่า แข่งกันระหว่างผู้ร่วมทริป เพื่อให้ลองสมรรถนะการเลี้ยวและการควบคุม ผลลัพธ์คือความประทับใจ อัตราเร่งช่วงออกตัวและพวงมาลัยเบามือควบคุมได้แม่นยำ เร้าใจและทรงตัวหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างสนุกสนาน



จุดที่สองเป็นการขับในสนามแข่งโกคาร์ทที่ผิวถนนเรียบเนียนดี แต่ด้วยสภาพของฝนที่ตกลงมาทำให้ผิวแทร็คนั้นมีน้ำ แน่นอนว่าลื่นง่าย ผลลัพธ์อันน่าเหลือเชื่อจากการขับแบบเต็มสมรรถนะของรถ ORA Good Cat มีบางจังหวะที่เหมือนจะเสียการทรงตัว แต่ด้วยระบบเสริมความปลอดภัยและสมดุลของรถทำให้แก้ไขอาการได้โดยไม่หวาดเสียวเท่าใดนัก



เรียกว่า ขับจบสิ้นสุดทริปแล้ว เรายังอยากขอต่อรอบการขับขี่ เพราะความสนุกสนานยังติดค้างคาใจเราอยู่ สุดท้ายภาพรวมความรู้สึกหลังขับ ORA Good Cat เหมือนเรากำลังก้าวข้ามมาสู่โลกยุคต่อไปของการใช้งานรถยนต์ แบบที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ ไซ-ไฟ ซึ่งรถจะไร้เสียง และวิ่งด้วยความเร็ว โดยมีระบบต่าง ๆ ช่วยป้องกันอุบัติเหตุ ให้ความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น



เหมาะกับใคร

ด้วยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ORA Good Cat ยังจำเป็นต้องอาศัยบ้านเพื่อการชาร์จไฟฟ้า ใครที่มองหารถของครอบครัว ไม่ใช่คันแรกหรือคันเดียวแนะนำว่า น่าคบหา จับจองได้เลย(จองฟรี จนถึงประกาศราคา) แล้วไปรอลุ้นค่าตัวว่ารับได้หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่คอนโดหรือจอดรถนอกบ้าน ควรรอเวลาให้สถานีชาร์จไฟฟ้าแพร่หลายมากกว่านี้เสียก่อน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องความสะดวกในการชาร์จได้