เลกซัส ทุ่ม 90000 ล้านบาท สร้าง R&D ลุย xEV เปิดต้นแบบ LF-Z

โคจิ ซาโตะ ประธานและหัวหน้าทีมภาพลักษณ์แบรนด์ เลกซัส อินเตอร์เนชันแนล

เลกซัสนำโดย โคจิ ซาโตะ ประธานและหัวหน้าทีมภาพลักษณ์แบรนด์ เลกซัส อินเตอร์เนชันแนล ประกาศปรับโฉมแบรนด์ครั้งใหญ่เดินหน้ารุกรถยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบกว่า 10 รุ่น ภายใน 4 ปี ทุ่มงบ 90,000 ล้านบาทสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาเต็มรูปแบบ พร้อมเปิดตัวคอนเซ็ปต์คาร์รุ่นใหม่ล่าสุด LF-Z ที่จะเป็นพื้นฐานให้กับรถ BEV ในอนาคต ณ โตโยต้าซิตี้ ประเทศญี่ปุ่น (30 มีนาคม 2021 /19.00 น. ตามเวลาประเทศญี่ปุ่น)

UX300e รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกออกสู่ตลาด

เลกซัสแบรนด์รถยนต์หรูในเครือโตโยต้า ประกาศปรับโฉมแบรนด์ครั้งสำคัญเตรียมตัวรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ หลังจากที่มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่น UX300e รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกออกสู่ตลาด เมื่อปีที่แล้วมาปีนี้ เลกซัส เปิดตัวรถยนต์ต้นแบบ LF-Z ที่จะกลายมาเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นของเลกซัสที่จะออกมาในอนาคต

ทีมงานเอ็มจีอาร์มอเตอริ่ง เข้าร่วมสัมภาษณ์พิเศษทีมผู้บริหารของเลกซัส ผ่านออนไลน์ พร้อมกับสื่อมวลชนจากทั่วโลก

…มาดูกันว่าทิศทางข้างหน้าของเลกซัสจะมุ่งไปอย่างไร

ภาพกราฟฟิกด้านนอกของศูนย์R&D และ Business Center แห่งใหม่

ทุ่ม 90,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ R&D ใหม่





เลกซัสวางแผนเปิดธุรกิจและศูนย์เทคโนโลยีแห่งใหม่ที่ศูนย์เทคนิคโตโยต้า ชิโมยามะ โดยเป็นการรวบรวมทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนา การออกแบบ เทคโนโลยีการผลิต และการวางแผนของแบรนด์เลกซัส เพื่อสร้างสรรค์รถยนต์รุ่นใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกๆ ด้าน

สำหรับการลงทุนในครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาท(สามแสนล้านเยน) ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนจำนวนมหาศาล โดยเป็นการย้ายส่วนสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนารถยนต์ เพื่อหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเนื่องจากที่ชิโมยามะ มีความพร้อมในด้านภูมิประเทศสามารถจำลองทุกพื้นที่ทั่วโลกเอาไว้ได้และขนาดของพื้นที่คุ้มค่าการลงทุน

ด้านในอาคารจะมีส่วนของการจัดแสดงรถยนต์เลกซัสด้วย

ศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้จะประกอบไปด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนา และสนามทดสอบ ซึ่งมีบางช่วงจำลองมาจากสนามแข่งนูเบิร์กริ่งของเยอรมัน เป็นถนนแบบชนบทที่มีทั้งขึ้นและลงเนินเขา โดยบางส่วนเริ่มดำเนินการแล้วและจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการแบบเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม ปี 2567

“แม้ว่าปัจจุบันนี้เลกซัสจะมีห้องทดลอง ทดสอบที่สามารถจำลองสถานการณ์ต่างๆ ได้ครบทุกรูปแบบแล้ว แต่การนำรถมาขับในสถานการณ์จริงจะให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ส่งผลให้เลกซัสสามารถทำรถออกมาได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและมีความทนทานมากที่สุด” คำตอบของทีมผู้บริหารเมื่อถูกถามถึงเหตุผลในการสร้างสนามทดสอบ

นอกจากนั้น เมื่อศูนย์วิจัยแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์จะมีการโยกย้ายพนักงานประมาณ 3,000 คนเข้ามาทำงานในศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้

พื้นที่ภายในอาคารจะเน้นในเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ความรู้สึกที่โปร่งโล่งสบาย

20 รุ่นใน 4 ปี จะเป็น xEV มากกว่า 10 รุ่น

เลกซัส ประกาศมีแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และรุ่นปรับปรุงโฉมจำนวน 20 รุ่น ภายในปี 2568 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 10 รุ่น รวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรถแบบไฟฟ้าล้วน 100% (BEV), ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (BEV)

ซึ่งรถต้นแบบ LF-Z ที่เผยโฉมในคราวนี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนารถยนต์รุ่นอื่นๆในอนาคตของเลกซัสทั้งหมด โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นรถรุ่นใดบ้าง แต่จากรูปทรงและขนาด เป็นที่คาดหมายได้ว่า LF-Z จะเป็นต้นแบบของรถในตระกูล RX เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายอายุของโมเดลและมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน

ในส่วนงานวิจัยจะยกมาครบทั้งหมด ตั้งแต่ การปั้นดินขึ้นรูปรถที่เลกซัส ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

เหนือสิ่งอื่นใด เลกซัสยังได้ประกาศอย่างแน่วแน่ว่า ภายในปี 2568 รถทุกโมเดลของเลกซัสจะมีรุ่นย่อยที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ออกจำหน่ายด้วยอย่างแน่นอน พร้อมตั้งเป้าสัดส่วนของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายรถทั้งหมดของเลกซัส ซึ่งตัวเลขสัดส่วนในปัจจุบันรถแบบ xEV มีสัดส่วนการขายที่ 33% ของยอดขายทั่วโลก นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ประเมินเอาไว้

ดังนั้น การเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบ LF-Z จึงกลายเป็นเหมือนธงที่เลกซัสปักไว้เพื่อประกาศทิศทางในการพัฒนารถว่านับจากนี้ จะมุ่งหน้าไปในแนวทางของรถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ในโลกนี้

โครงสร้างระบบไฟฟ้าของ UX300e

พันธกิจ Zero Emission

สำหรับการจะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศเลกซัสจำเป็นต้องดูความพร้อมและความต้องการของทั้งผู้บริโภค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ฉะนั้นแล้วเลกซัสจึงยังไม่หยุดพัฒนารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

“บางประเทศยังไม่เหมาะสำหรับการทำตลาดรถ BEV แต่เหมาะกับรถแบบไฮบริดมากกว่า ดังนั้นเราจึงยังพัฒนาทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลลัพธ์ในเรื่องของการขับขี่ที่ยอดเยี่ยม อันเป็นหัวใจหลักของรถเลกซัสทุกคัน” หนึ่งในทีมผู้บริหารของเลกซัสอธิบายถึงแผนการพัฒนารถยนต์ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เลกซัส ประเมินว่า รถที่ใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวจะมีสัดส่วนการขายลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเป้าหมายในปี 2593 ที่จะกลายเป็นสังคมปลอดมลพิษหรือ Zero Emission ดังที่โตโยต้าประกาศเอาไว้ในชื่อ Toyota Environmental Challenge 2593

UX300e เพิ่งเปิดตัวในบ้านเรา

ส่วนแผนงานต่างๆ เลกซัสและโตโยต้า มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ ในส่วนของรถยนต์ใหม่ ตั้งเป้าขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.5 ล้านคันต่อปี ให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้านโรงงานจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้มากถึง 35% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับอัตราการปล่อยก๊าซของปี 2555

การทำตลาดในประเทศไทย

แบรนด์ เลกซัส ทำตลาดในเมืองไทยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์ในยุคแรกโดยเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมียอดขายเฉลี่ยประมาณ 500-800 คันต่อปี และมีรถทำตลาดเกือบครบทุกรุ่น รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก UX300e มีจำหน่ายด้วยเช่นเดียวกัน นับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่เลกซัสให้ความสำคัญในการบุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ต้นแบบ LF-Z

ล่าสุดปลายปีที่แล้ว เลกซัส ได้มีการเปิดตัวโครงการ “Lexus KINTO One” บริการเช่ารถยนต์ออนไลน์รูปแบบใหม่สำหรับบุคคลระยะยาวไม่เกิน 3 ปี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเลกซัส กรุ๊ป และโตโยต้า ลีสซิ่ง ที่เปิดช่องทางให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองใช้งานรถยนต์เลกซัสในรูปแบบการเช่า หากถูกใจสามารถที่จะเลือกเช่าต่อหรือซื้อเป็นเจ้าของในท้ายที่สุดได้ โดยเปรียบเทียบกับการเช่าซื้อปกติแล้ว Lexus KINTO One จะถูกกว่าราว 15-20% เนื่องจากราคาการเช่าเริ่มต้นที่ 39,900 บาท สำหรับรุ่น IS300h

ถึงบรรทัดนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เลกซัส จะเดินหน้าไปในแนวทางของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว โดยไม่ทิ้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน ฉะนั้นใครที่มีความกังวลใจว่าหากซื้อรถที่ใช้เครื่องยนต์แล้วอนาคตจะหายไปคงคลายความกังวลใจได้บ้างแล้วกับแผนงานที่เลกซัสได้วางไว้แบบนี้

รถยนต์ต้นแบบ LF-Z