เบื้องหลังชื่อ ‘5 แบรนด์หรู’ ขวัญใจนักสะสมที่คุณอาจยังไม่รู้ – THE STANDARD – thestandard.co

De Beers ธุรกิจเพชรมูลค่าแสนล้าน แต่เจ้าของชื่อแบรนด์ได้ค่าตอบแทน 2 แสนบาท

De Beers คือผู้ยิ่งใหญ่ในวงการอัญมณีและเคยครองตลาดเพชรกว่า 90% ของโลก ถึงแม้ปัจจุบันสัดส่วนจะลดลงไปมาก แต่ De Beers ก็ยังทำรายได้ต่อปีราว 1.8 แสนล้านบาท แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าของนามสกุล De Beers ที่ต่อมากลายเป็นชื่อแบรนด์เพชรสุดหรูได้รับค่าตอบแทนไปเป็นเงินราว 2.9 แสนบาทเท่านั้น

​​ชื่อ De Beers มาจากสองคนชาวดัตช์ Diederik Arnoldus De Beer และ Johannes Nicolaas De Beer ที่อพยพไปอยู่ในแอฟริกาใต้ พวกเขาเป็นเจ้าของฟาร์มชื่อ Vooruitzicht ต่อมามีการค้นพบเพชรในฟาร์มแห่งนี้ ทำให้รัฐบาลอังกฤษบังคับให้พวกเขาขายฟาร์มให้กับพ่อค้าชื่อ Alfred Johnson Ebden ในราคา 6,600 ปอนด์ หรือราว 2.9 แสนบาทเท่านั้น ต่อมา Cecil Rhodes ผู้ก่อตั้งบริษัท British South Africa และทำธุรกิจให้เช่าเครื่องสูบน้ำในช่วงตื่นเพชรของแอฟริกาใต้ก็กว้านซื้อกรรมสิทธิ์ในเหมืองเพชรต่างๆ จนกลายเป็นผู้ผลิตเพชรเพียงรายเดียวของประเทศ และยังใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการเหมืองเพชรของคู่แข่งจนสามารถกำหนดจำนวนการผลิตเพชรและกำหนดราคากลางของเพชรได้ ต่อมา De Beers ก็ตกเป็นของตระกูลออพเพนไฮเมอร์ เป็นเวลากว่า 80 ปี ก่อนจะขายหุ้น 40% ให้กับบริษัท Anglo American plc ในปี 2011

Mercedes-Benz จากชื่อลูกสาวอันเป็นที่รักสู่แบรนด์รถยนต์มูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท

ยี่ห้อรถยนต์สุดหรูสัญชาติเยอรมัน Mercedes-Benz เกิดจากการควบรวมกิจการของผู้ผลิตรถยนต์รุ่นบุกเบิกคือ Daimler Motoren Gesellschaft โดย โกทท์ลีบ ไดมเลร์ และ Benz & Cie ของ คาร์ล เบนซ์​ โดยชื่อ Mercedes ได้มาจากชื่อลูกสาวของ เอมิล เยลลิเน็ก นักลงทุนผู้มีส่วนสนับสนุนให้รถยนต์ของ Daimler เป็นที่รู้จักและยังเป็นนามแฝงของเอมิลที่ใช้ในการแข่งรถอีกด้วย ในปี 1900 เขามีส่วนช่วยสร้างรถยนต์ 35 แรงม้า แล้วตั้งชื่อว่า Mercedes 35hp และในปี 1902 ก็ได้จดทะเบียนการค้าชื่อ Mercedes เมื่อควบรวมกิจการจึงนำชื่อและนามสกุลของบุคคลสำคัญของทั้งสองบริษัทมาเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกคือประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท

Piaget แบรนด์นาฬิกาสุดหรูที่มีจุดเริ่มต้นจากโรงนา

ด้วยความหลงใหลในกลไกของนาฬิกาทำให้ จอร์ช-เอดูอาร์ด เพียเจต์ ในวัย 19 ปี ปรับปรุงโรงนาของครอบครัวที่เมือง La Côte-aux-Fées ให้กลายเป็นสตูดิโอผลิตนาฬิกาเมื่อปี 1874 ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงอันโด่งดังในวงการนาฬิกาและเครื่องประดับของ Piaget จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรา และเป็นขวัญใจของเซเลบริตี้บนพรมแดงทั่วโลก 

Piaget กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงที่ ทิมโมธี เพียเจต์ ลูกขายของ จอร์ช-เอดูอาร์ด เข้ามาบริหารและจดทะเบียนชื่อแบรนด์ Piaget ในปี 1943 จนกระทั่งช่วงปลาย 1950 Piaget ได้เปิดตัวกลไกนาฬิกาแบบบางพิเศษจนกลายเป็นเทรดมาร์กของแบรนด์ และเป็นจุดเริ่มต้นของคอลเล็กชันนาฬิกา Altiplano ที่มีชื่อเสียง จากนั้นแบรนด์หรูก็ได้รับการสานต่อมายังเจเนอเรชันที่ 3 คือ เจอราล์ด และ วาเลนทีน เพียเจต์ โดยสร้างไอคอนิกคอลเล็กชันอื่นๆ อีกมากมาย อาทิเช่น Limelight Gala และ Possession ที่กลายเป็นขวัญใจของนักแสดงดังอย่าง เจสสิกา แชสเทน, กงฮโยจิน ฯลฯ และสไตล์ไอคอนอย่าง โอลิเวีย พาเลอร์โม, นิโคล วาน ฯลฯ ส่วนฝั่งผู้ชายรุ่นในตำนานอย่าง Altiplano และ Polo ก็คือรุ่นยอดนิยมขวัญใจนักแสดงดังอย่าง ไมเคิล บี. จอร์แดน 

Chivas ที่ไม่ใช่ของตระกูล Chivas ตั้งแต่ปี 1893

Chivas หนึ่งในแบรนด์วิสกี้สุดหรูที่มียอดขายอันดับต้นๆ ของโลก มีจุดกำเนิดมาจากสองพี่น้อง เจมส์และจอห์น ชีวาส พวกเขาเกิดในครอบครัวที่มีพี่น้องถึง 14 คนในฟาร์มอันห่างไกล ก่อนจะตัดสินใจเข้ามาเสี่ยงโชคในเมือง Aberdeen เจมส์เข้าหุ้นในกิจการร้านค้าขนาดใหญ่ขายอาหารชั้นดีและสินค้าหรูหรา ส่วนจอห์นเริ่มต้นด้วยการทำงานในบริษัทจำหน่ายรองเท้าต่อมาทั้งคู่ร่วมกันทำกิจการร้านค้า และใช้ใต้ถุนร้านเป็นที่บ่มวิสกี้ชั้นดีจนได้รับพระราชทานใบสำคัญแสดงสิทธิในการจัดหาสินค้าแก่สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย กลายเป็นที่มาของชื่อ Chivas Brothers จากนั้นธุรกิจก็ตกทอดมาที่ อเล็กซานเดอร์ ชีวาส ซึ่งเป็นลูกชายของเจมส์ พอเขาเสียชีวิตลงในปี 1893 อเล็กซานเดอร์ สมิธ มือขวาของชีวาสผู้เป็นลูกและ ชาร์ลส์ สจ๊วต โฮเวิร์ด มาสเตอร์เบลนเดอร์ของชีวาสก็เข้าซื้อกิจการแต่มีข้อแม้ว่าจะต้องใช้ชื่อ Chivas Brothers ตลอดไป จนกระทั่งปี 1949 บริษัท ซีแกรม เข้าซื้อกิจการของ Chivas ส่วนปัจจุบันแบรนด์วิสกี้สุดหรูอยู่ในการดูแลของบริษัท Pernord Ricard โดยวิสกี้ที่แพงที่สุดของ Chivas คือ Royal Salute, Tribute to Honor 50 ปี มีราคาประมาณ 8.2 ล้านบาท 

Chanel จากเด็กกำพร้าสู่ตำนานแฟชั่น

โคโค่ ชาแนล แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้เป็นตำนานเกิดในครอบครัวมีปัญหา หลังจากที่แม่เสียชีวิต พ่อของเธอก็ส่งลูกสาวเข้าไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 12 ปี จากนั้นก็เริ่มกิจการขายหมวกให้กับชนชั้นสูงในฝรั่งเศสในชื่อ Chanel Modes และพัฒนาต่อมาเป็นเสื้อผ้า น้ำหอม และจิวเวลรี เสี้ยวหนึ่งของความทรงจำในช่วงที่เป็นเด็กกำพร้าของโคโค่ถูกถ่ายทอดลงมาบนกระเป๋าไอคอนิกของแบรนด์รุ่น 2.55 ที่ด้านในของกระเป๋าเป็นสีแดงเบอร์กันดีที่ได้มาจากสีของชุดยูนิฟอร์มเมื่อครั้งที่เธออยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้านั่นเอง

อ้างอิง:

  • https://www.piaget.com/ww-en/history
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Chivas_Regal#:~:text=It%20was%20founded%20in%201786,in%20Europe%20and%20Asia%20Pacific.
  • https://www.chivas.com/en-EN/the-story/chivas-takes-new-york#new-york
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Emil_Jellinek
  • https://www.vogue.co.th/watches-jewellery/article/historyofchanel