อานิสงส์ส่งออกพุ่งหนุนเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่งโตแล้ว 10% ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ บริษัทประกันแข่งชิงเบี้ยเดือด “คุ้มภัยโตเกียวมารีน” ครองเบอร์ 1 “วิริยะฯ” เบียดแซง “มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์” ขึ้นที่ 4 ขณะที่ยอดเคลมยังไม่สูง ทำให้ไม่ต้องปรับขึ้นเบี้ย ผู้บริหาร “คุ้มภัยฯ” ห่วงโควิดลามกระทบภาคการผลิต กดดันเบี้ยประกันครึ่งปีหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยตัวเลขเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (marine insurance) ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) สูงสุด 5 อันดับแรก โดยรวมพอร์ตเบี้ยประกันภัยขนส่งสินค้า (cargo insurance) และเบี้ยประกันภัยตัวเรือ (hull insurance) พบว่า 1.บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย มีเบี้ยรับรวม 602.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.บมจ.กรุงเทพประกันภัย มีเบี้ยรับรวม 342.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.90%
3.บมจ.ทิพยประกันภัย มีเบี้ยรับรวม 223.07 ล้านบาท ลดลง 0.40% 4.บมจ.วิริยะประกันภัย มีเบี้ยรับรวม 215.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.80% 5.บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ มีเบี้ยรับรวม 208.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% (ดูกราฟิก)
นายเสรี กวินรัชตโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) เปิดเผย ว่า ภาพรวมตลาดธุรกิจประกันภัยทางทะเลและขนส่งช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีเบี้ยประกันรับรวม 2,200 ล้านบาท เติบโตกว่า 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่เบี้ยของบริษัทเติบโตได้ 8% ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดภาคการส่งออกที่โตดีต่อเนื่อง
“เบี้ยของบริษัทโตได้ตามการส่งออก แต่ยังโตไม่เท่าตลาด เนื่องจากเซ็กเมนต์ลูกค้าคนละฐานกัน อย่างไรก็ดี ดูตัวเลขเดือน มิ.ย. 2564 ที่จะออกมา จะมีเติบโตกว่า 12% โดยพอร์ตทั้งหมดของบริษัทมาจากเบี้ยประกันภัยขนส่งสินค้า โดยสัดส่วน 30-40% เป็นเบี้ยการส่งออกรถยนต์, อะไหล่ ส่วนที่เหลือ 60-70% เป็นส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร” นายเสรีกล่าว
สำหรับยอดเคลมประกันหลัก ๆ เกิดจากสินค้าเสียหายจากการขนส่ง แต่ปัจจุบันยังไม่หวือหวา หลังจากหมดปัญหาเรือขนาดใหญ่ขวางคลองสุเอซ โดยภาพรวมตลาดอัตราจ่ายเคลมประกันเฉลี่ยอยู่ประมาณ 30% เท่านั้นในช่วงนี้ ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่มีแผนปรับขึ้นเบี้ย
ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ ถ้าประเมินตามสภาพปกติคาดว่าส่งออกน่าจะยังโตอยู่ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้มีหลายโรงงานหยุดการผลิตไป ทำให้จะมีผลกระทบต่อเบี้ยประกันบางส่วน แต่ก็เชื่อว่าหากสถานการณ์โควิดดีขึ้นจะสามารถกลับมาดูดีขึ้นได้
“ปีนี้คาดว่าธุรกิจประกันภัยทางทะเลและขนส่งของบริษัทจะเติบโต 5% จากปีก่อนที่มีเบี้ยรับรวมกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม ทั้งนี้ เบี้ยประกันต่อกรมธรรม์ไม่ใช่ก้อนใหญ่ เฉลี่ยแค่ 400-600 บาทต่อฉบับ ต่อทุนประกันต่อหนึ่งตู้สินค้า ไม่ได้แปรผันตามมูลค่าการส่งออก” นายเสรีกล่าว
นายวิญญู อังศุนิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวว่า พอร์ตเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่งของบริษัทโตมาจากการประกันภัยขนส่งสินค้าเป็นหลัก ทั้งส่งออก, นำเข้า, เจ้าของสินค้าขนส่งเองภายในประเทศ (inland transit insurance), ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่ง
โดยเบี้ยของวิริยะประกันภัยสามารถขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 4 แซงหน้าบริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ ได้สำเร็จ โดยเฉพาะเบี้ย cargo insurance ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ซึ่งพอร์ตที่โตเด่นสุด คือ การประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งและการประกันภัยสินค้าขนส่งเองภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นส่งออกนำเข้า ซึ่งได้อานิสงส์ธุรกิจโลจิสติกส์โตแรง
“ยอดเคลมประกันจะขึ้นอยู่กับการจัดการ บางบริษัทก็มีขาดทุน บางบริษัทก็มีกำไร แต่วิริยะประกันภัยตอนนี้ยังพอมีมาร์จิ้นอยู่ได้”
สำหรับช่วงครึ่งปีหลังต้องยอมรับว่า ตอนนี้สถานการณ์คาดการณ์ลำบาก แต่ถ้าธุรกิจโลจิสติกส์โตได้ พอร์ตเบี้ยของวิริยะฯก็จะโตตามแน่นอน เพราะตอนนี้ทุกอย่างนิ่งหมด มีแต่ธุรกิจขนส่งสินค้าจากต้นทางไปปลายทาง เพราะฉะนั้น คาดว่าเบี้ยตัวนี้คงไม่ชะลอ แต่พอร์ตอื่น ๆ อาจจะโตแค่เล็กน้อย
“คิดว่าพอร์ตเบี้ยมารีนสิ้นปีนี้ น่าจะเติบโตมากกว่า 10% โดยพอร์ตเบี้ยจากส่งออกนำเข้าส่วนใหญ่บริษัทประกันญี่ปุ่นได้ไปหมด เพราะอุตสาหกรรมเมืองไทย บริษัทญี่ปุ่นลงทุนเยอะที่สุด ขณะที่วิริยะฯจะได้พอร์ตส่งออกนำเข้าจากลูกค้ารายย่อย ๆ แต่จะได้พอร์ตเบี้ยจากกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ค่อนข้างมาก”
This website uses cookies.