กว่าที่ “ทีมกีฬา” สักทีมหนึ่งจะพัฒนาศักยภาพกระทั่งสามารถสร้างทีมจนประสบความสำเร็จระดับชาติ ไปพร้อมกับขึ้นโพเดียมคว้าถ้วยรางวัลในการแข่งขันระดับโลกย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องอาศัย ทั้งโอกาส ความสามารถ ประสบการณ์ เงินสนับสนุน ฯลฯ โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ผู้นำและทีมต้องมี “Passion” อย่างแรงกล้าในเส้นทางที่เลือกเดิน มีใจรักทุ่มเทเกินร้อยให้กับ “เป้าหมาย” ด้วยความมุ่งมั่นในการผลักดันทีมของตนให้ประสบความสำเร็จ สามารถส่งต่อสืบทอดไปสู่นักแข่งรุ่นใหม่ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้อย่างภาคภูมิใจ
และนี่หมายรวมถึงความยิ่งใหญ่ของ “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” (โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์) หนึ่งในทีมรถแข่งระดับท็อปของประเทศไทย ภายใต้การบริหารและคุมทีมโดย “อาร์โต้” สุทธิพงศ์ สมิตชาติ วันนี้เราจะมาเจาะดูเรื่องราวกลยุทธ์ “5 G” คีย์ซัคเซสของ “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” มีหลักการพัฒนาศักยภาพทีมอย่างไร จึงประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศจนถึงระดับนานาชาติ
@ Good Leader: ทีมจะแกร่งต้องมีผู้นำที่เก่ง มีวิสัยทัศน์เยี่ยม
เมื่อพูดชื่อ “อาร์โต้-สุทธิพงศ์ สมิตชาติ” แน่นอนว่าไม่มีใครในวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยไม่รู้จัก ทั้งในแง่นักแข่งรถมืออาชีพ เจ้าของทีมแข่งรถ และซีอีโอบริษัท ทีอาร์ดี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายชุดแต่งรถยนต์โตโยต้าภายใต้แบรนด์ “ทีอาร์ดี” จากประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ คงไม่ต้องตอกย้ำอีกครั้งว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนที่รักและหลงใหลกีฬาการแข่งรถอย่างที่สุด เพราะปัจจุบันแม้คุณอาร์โต้จะอายุอานามไปถึงวัย 65 ปีแล้ว แต่หัวใจที่รักการแข่งรถยังไม่หยุดนิ่ง ยังสนุกตื่นเต้นเร้าใจทุกครั้งเมื่อจะออกสตาร์ทในทุกการแข่งขัน ก็คิดดูว่า ย้อนไปสมัยที่ต้องเลือกมาเรียนต่างประเทศ คุณอาร์โต้เลือกมาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า เพราะชอบรถ! และที่ญี่ปุ่นนี่เป็นที่ๆ ทำให้คุณอาร์โต้ได้เริ่มต้นอาชีพการแข่งรถ กระทั่งได้รู้จักบุคคลสำคัญในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตญี่ปุ่น นำไปสู่การทำทีม “โตโยต้า ทีมไทยแลนด์” (ชื่อในสมัยนั้น) รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายชุดแต่งรถยนต์ TRD อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
คุณอาร์โต้ได้เผยถึงหัวใจของการทำทีม “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” ว่าประกอบ ด้วย 3 ส่วนสำคัญ นั่นคือ 1.รถแข่งที่พร้อมและสู้ได้ 2. นักแข่ง 3. ทีมงาน ทั้ง 3 ส่วนต้องผสานเป็นเนื้อเดียวไปด้วยกัน ไม่มีส่วนไหนสำคัญที่สุด แต่ทุกส่วนต้องทำงานพร้อมกันหมด รถต้องดี นักแข่งต้องพร้อม และทีมงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ช่างอย่างเดียว ต้องรวมถึงส่วนเซอร์วิสทั้งหมด ทุกฝ่ายต้องประสานไปในทิศทางเดียวกัน ต้องมีใจทำงานเป็นทีม ยึดมั่นในทิศทางและมีเป้าหมายเดียวกัน
นอกจากนี้ วิสัยทัศน์หรือความเก๋าเกมของคุณอาร์โต้ยังสะท้อนให้เห็นได้จากการวางแผนและคัดเลือกรายการแข่งขันที่มีการวางแทคติกอย่างชัดเจน อย่างการวางทีมนักแข่งว่าจะลงแข่งรุ่นอะไร การเลือกรายการแข่งคุณภาพในประเทศต้องเป็นรายการที่ “ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยฯ” (รยสท.) หรือ FIA รับรอง และต้องลงแข่งในรุ่นที่ชิงแชมป์ประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี 2 รายการ ได้แก่ Thailand Super Series และ RAAT Thailand Endurance Championship ส่วนรายการต่างประเทศ ทีมเลือกการแข่งขัน ADAC Total 24h-Race Nürburgring ที่เยอรมนี เพราะเป็นรายการแข่งขันที่ยากและท้าทายระดับตำนานของโลก ซึ่งสนามนี้ทีมได้พัฒนารถยนต์จากสายการผลิตในประเทศไทยไปร่วมแข่งขัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมได้ไปเรียนรู้การแข่งระดับโลกและเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ที่นำมาสู่การพัฒนาทั้งรถและทีมงานอย่างสม่ำเสมอ
@ Good Racers &Teamwork: นักแข่งรถฝีมือต้องดี ทีมเวิร์กต้องเยี่ยม
หัวใจสำคัญของทีม “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” ที่สำคัญอีกข้อ คือ เน้นการสร้างนักแข่งใหม่ ในทุกๆ ปีจะมีพื้นที่สำหรับแชมป์รุ่น “โคโรลล่า อัลติส จีอาร์ สปอร์ต วันเมคเรซ” จากการแข่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง มอเตอร์สปอร์ต ขึ้นมาเป็นนักแข่งในสังกัด โดยปีแรกที่เข้าทีมจะให้ลงแข่งในรุ่น Endurance ซึ่งหนึ่งปีจะได้ลงแข่งแน่นอน 4 สนาม และเมื่อทำผลงานได้ดีก็จะขยับให้ไปชาเลนจ์ในรุ่น ใหญ่ขึ้น คือ Supercar พวก GTM GTC และในระหว่างแข่งนี้เองที่คุณอาร์โต้ก็จะสังเกตนักแข่งไปด้วย ว่ามีสไตล์การขับแบบไหน มีแววหรือไม่ และถ้าเกิดคว้าแชมป์ขึ้นมาก็จะได้อยู่ในทีมและเลือกรถขึ้นมาเพื่อ “เซ็ตอัพรถ” สำหรับสไตล์ของนักแข่งคนนั้นๆ โดยเฉพาะ คุณอาร์โต้จะย้ำเสมอๆ ว่า นักแข่งไทยมีศักยภาพ แต่ต้องการแรงผลักดันและส่งเสริมให้มากขึ้น ยิ่งออกไปแข่งต่างประเทศประสบการณ์ต่าง ๆ ก็จะยิ่งมีมากขึ้น คู่แข่งหลากหลายได้สะสมประสบการณ์เรื่อย ๆ จะทำให้นักแข่งแข็งแรงขึ้น แกร่งขึ้น
@ Good Practice: ต้องฝึกซ้อมสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มทักษะการขับ และทำผลงานได้ยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง
ในสถานการณ์ปกติ ทีมแข่งจะมีตารางฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับทีมทำรถจะมีการเซ็ตรถเพิ่มเติมอยู่ตลอดเพื่อให้เหมาะกับการแข่งขันในแต่ละรูปแบบ นักแข่งจำเป็นต้องได้ลงขับทดสอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและมั่นใจ แต่ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การไปสนามจริงเพื่อทดสอบก็จะน้อยลงตามมาตรการล็อคดาวน์ ในสถานการณ์แบบนี้ คุณอาร์โต้แก้เกมให้นักแข่งปรับตัวในแบบ “นิวนอร์มอล” คือ เลือกไปฝึกซ้อมผ่านเครื่อง “ซีมูเลเตอร์” ที่ Toyota Driving Experience Park โดยตัวเครื่องนี้เป็น Motorsport Simulator สำหรับนักแข่งฝึกซ้อมโดยเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างจากเครื่องซีมูเลเตอร์ทั่วไป เพราะสามารถเซ็ตข้อมูลรถของนักแข่งคนนั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง เครื่องรุ่นไหน จูนยังไง กี่แรงม้า ลมยางเท่าไหร่ สภาพอากาศยังไง ใส่เข้าไปได้หมด คือ เสมือนจริงมาก
@ Gain Experience: ประสบการณ์ที่สั่งสม ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเผชิญ คือรากฐานของความสำเร็จ
หนึ่งในวิสัยทัศน์การทำทีมที่น่ายกย่องของ คุณอาร์โต้-สุทธิพงศ์ คือ การส่งทีมไปแข่งขันในรายการ ของต่างประเทศ เช่น ADAC Total 24h-Race Nürburgring และ Super GT เพราะเห็นว่าประสบการณ์ จากรายการแข่งขันในระดับประเทศยังไม่พอ หากอยากก้าวไปสู่ระดับโลก เราต้องไปดูให้รู้ให้เห็นว่า การแข่งระดับโลกแข่งกันอย่างไร โดยเฉพาะสนามระดับตำนานที่ต้องไปอย่าง “นูร์เบอร์กริง” เป็นสนามที่มีเสน่ห์ในตัวมันเองและเป็นสนามที่โหด มีสนามเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ นักแข่งต้องมีประสบการณ์ รถต้องพร้อม เพราะสนามนูร์เบอร์กริงนอกจากเส้นทางที่สุดโหดแล้วสภาพอากาศก็ไม่สามารถคาดคะเนได้ ต้องใช้ประสบการณ์ของนักแข่งอย่างเดียว และในอนาคตถ้ามีโอกาส อยากร่วมลงแข่งในรายการ Le Mans อยากไปชาเลนจ์ดู
@ Great Supporters: การทำทีมแข่งรถใช้งบสูง ต้องช่วยคิดแทนลูกค้า ทำทีมให้เสริมแบรนด์ดิ้ง ลูกค้า
กีฬามอเตอร์สปอร์ต เป็นกีฬาที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับการทำทีมแข่งรถ คุณอาร์โต้ยอมรับว่าการทำทีมในแต่ละปีๆ ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท เพราะในปีหนึ่งได้เข้าร่วมแข่งขันหลายรายการ แค่ที่ไปแข่งที่นูร์เบอร์กริง ประเทศเยอรมนี ก็ใช้งบหลาย10 ล้านแล้ว ส่วนที่ไปแข่งญี่ปุ่นก็ต้องมี 40-50 ล้านบาท ไม่นับรวมกับที่แข่งขันในประเทศอีก และยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องทำรถ และค่าตอบ แทนนักแข่ง ซึ่งสำหรับทีมนักแข่ง “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” เงินเดือนนักแข่งจะอยู่ประมาณ 50,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับผลงานและประสบการณ์ ซึ่งตัวเลขประมาณนี้คุณอาร์โต้เผยว่าค่อนข้างดีกว่าในบรรดาทีมแข่งอื่นๆ แล้ว
ส่วนเรื่องการสนับสนุน คุณอาร์โต้ ย้ำว่าจำเป็นต้องได้รับทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้บรรจุกีฬามอเตอร์สปอร์ตเข้าเป็นกีฬาอาชีพ นับว่าเป็นกีฬาที่นักแข่งสามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้ตัวเองไม่ต่างจากกีฬายอดนิยมอื่นๆ คนไทย คนรุ่นใหม่ มีศักยภาพที่จะไปถึงระดับโลกได้ เพียงแต่ยังขาดโอกาสและการสนับสนุนอยู่อีกมาก
ทั้งนี้ “โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์” นับว่าเป็นทีมแข่งรถของค่ายรถยนต์ทีมเดียวในประเทศไทย ที่ยังเดินหน้าทำทีมอยู่ ส่วนหนึ่งคุณอาร์โต้เผยว่า เพราะ “ผมคิดแทนผู้สนับสนุน” คือ เวลาไปแข่งนอกจากผลการแข่งขันที่ต้องทำให้ชนะแล้ว ต้องเสริมด้านภาพลักษณ์และแบรนด์ดิ้งให้กับแบรนด์สินค้าที่สนับสนุนทีมด้วย เพราะรถทุกยี่ห้อมีแบรนด์ดิ้งอยู่แล้ว การที่จะให้แบรนด์อิมเมจดีๆ จะต้องมีกีฬาที่เกี่ยว กับโปรดักส์มาเสริมด้วยเช่นกัน ต้องทำทีมให้สามารถส่งผลไปถึงโปรดักส์ได้ อย่างการไปแข่งขันที่นูร์เบอร์กริง บริษัท โตโยต้าฯ ได้พัฒนารถออกมาเป็นรุ่น Nürburgring Edition เป็นโมเดลใหม่ให้ขายได้ สามารถช่วยสร้างยอดการขายได้บ้างไม่มากก็น้อย
This website uses cookies.