Motor Sport Sponsored

เคลียร์ปัญหาย้ายวิก ‘หงส์-เรือ’กับเอฟเอมะเขือเผา

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

วันอาทิตย์ ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2565, 06.45 น.

ปีนี้ฟุตบอลถ้วยของอังกฤษ ดูคึกคักขึ้นมาทั้งคาราบาว คัพ และเอฟเอ คัพ

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน “แชมป์แต่ละรายการ” ดูเหมือนว่า จะสำคัญกันไปหมด โดยเฉพาะ “มูลค่า” ของคำว่า “แชมเปี้ยน”

เราจะเห็นทีมเล็กทีมน้อยเตะถ้วยต่างๆในท้องถิ่นบ้าง ในลีกรองบ้างฉลองแชมป์ขายของที่ระลึกในสัดในส่วนของพวกเขา

ยิ่งการมี “โซเชียลครองโลก” ทำให้หลายคนกดดันทั้งคู่แข่งและทีมตัวเองได้แค่ปลายนิ้วสัมผัส ทำให้กลายเป็นแรงผลักส่วนสำคัญในการมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ

คาราบาว คัพ หรือ ลีกคัพ ได้คู่ชิงที่ใหญ่โตนั่นคือ ลิเวอร์พูล กับ เชลซี และสู้กันยิ่งกว่าฎีกา การยิงจุดโทษที่ถูกกล่าวขวัญถึงไปอีกนาน

เช่นเดียวกับ เอฟเอ คัพ ความพิเศษก็คือ นอกจากลอนดอน ดาร์บี้แมทช์ แม้จะเป็น คริสตัล พาเลซ ที่ได้เจอกับ เชลซี ก็การันตีความสนุก

แต่ที่กลายเป็นโฟกัส เป็นที่คาดหมายกันตั้งแต่ยังไม่เตะรอบ 6 กระทั่งจับสลากทำท่าว่าจะต้องมาเจอ แล้วสุดท้ายก็ได้เจอ ยิ่งทำให้ถูกจับตามองคูณไม่รู้กี่ตัวเลข

ลิเวอร์พูล เจอกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตอนนี้กลายเป็นเบอร์ใหญ่คับเกาะอังกฤษ เนื่องจากการต่อการในช่วง 3-4 ปีหลัง ที่สร้างความระทึกใจให้กับคอลูกหนังทั่วโลก

“หงส์แดง” ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็น “คู่แข่ง” และเป็น“ผู้ท้าชิง” บัลลังก์ของ “เรือใบสีฟ้า” อย่างเต็มตัว ในฤดูกาล 2018-19กระทั่งถึงซีซั่นก่อนที่ “หงส์แดง” พังทลายจากการเดี้ยงทั้งแผงเซ็นเตอร์แบ๊ก ทำให้สู้กับ ซิตี้ ไม่ได้

จนปีนี้กลับมาน่าสนใจมากๆ เพราะ “ตามทฤษฎี” แล้วสองทีมนี้มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ที่สูสีกันสุดๆ

“สมมุติฐาน” ที่ได้รับการตรวจสอบ จนสามารถอธิบายข้อเท็จจริงสามารถคาดคะเนทำนายจากเหตุการณ์แล้วนั้นไซร้

แมนฯซิตี้ มีลุ้นคว้า 3 แชมป์นั่นคือ พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

ขณะที่ ลิเวอร์พูล โหดกว่าตรงที่มีสิทธิ์คว้าทั้ง 4 แชมป์ นั่นคือ พรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แถมยังได้ ลีกคัพ มาตุนเอาไว้แล้ว

เมื่อทั้งสองทีมโคจรมาพบกันในเอฟเอ คัพ ยิ่งทำให้ถูกจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ มากกว่าการเจอกันนัดชิงด้วยซ้ำไป

พรีเมียร์ลีก คือ ถ้วยแห่งความยิ่งใหญ่ ตอนนี้ แมนฯซิตี้ นำอยู่ 1 คะแนน, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก คือ ถ้วยแห่งความเกรียงไกร ที่ทั้งคู่อยู่ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และเอฟเอ คัพ คือ ถ้วยแห่งความภูมิใจ ตอนนี้ได้เจอกัน

ประเด็นคือ เอฟเอ คัพ ที่มี “ทำเนียมใหม่” ที่ปฏิบัติกันมาเมื่อปี 2008 ว่า The Road to Wembley ไม่ต้องถึงนัดชิงชนะเลิศ

รอบรองชนะเลิศ ก็สามารถมาเล่นที่สังเวียนศักดิ์สิทธิ์นี้ได้แล้ว

ในอดีตมีการ “แหวกม่านประเพณี” ครั้งแรก ก็คือรอบรองฯ ปี 1991 เมื่อ สเปอร์ส กับ อาร์เซนอล สองทีมดังในลอนดอนเหนือ มาเจอกัน และไม่มีสนามไหนเหมาะเท่ากับเวมบลีย์ เอ็มไพร์พูล หรือ เวมบลีย์เดิม อีกต่อไป

ส่วนอีกคู่ตอนนั้นคือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ กับ เวสต์แฮม เล่นที่วิลล่า พาร์ค ซึ่งเป็นเจ้าประจำในการเตะตัดเชือก

จากนั้นในปี 1993 เป็นครั้งแรกที่เตะรอบรองฯที่โอลด์ เวมบลีย์ทั้งสองคู่ นั่นก็เพราะว่า “นอร์ท ลอนดอน ดาร์บี้” ระหว่าง อาร์เซนอล กับ สเปอร์ส และอีกคู่คือ “The Steel City Derby” ระหว่าง เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ กับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด จึงเหมาะสมมากๆ กับการเตะที่นี่

ในปีรุ่งขึ้น 1994 สองเกมยังจัดที่โอลด์ เวมบลีย์ ระหว่าง เชลซีกับ ลูตัน ทาวน์ และแมนฯยูไนเต็ด กับ โอลด์แฮม จากนั้นก็ย้ายไปเตะสังเวียนอื่น กระทั่งปีสุดท้ายของโอลด์ เวมบลีย์ ก่อนจะทุบและทำใหม่ให้เป็น “นิว เวมบลีย์” ในปัจจุบัน ดังนั้น รอบตัดเชือก ปี 2000เกมจึงมาเล่นที่นี่ทั้งสองคู่ นั่นคือ แอสตัน วิลล่า กับ โบลตัน และเชลซี กับ นิวคาสเซิ่ล

หลังจากทำสนามใหม่เสร็จ กลับมาชิงชนะเลิศในปี 2007 เชลซี เป็นทีมแรกที่ได้ยกถ้วยด้วยการทุบ แมนยูฯ ในช่วงต่อเวลา 1-0 แต่ปีนั้นรอบตัดเชือกเตะที่อื่น ก่อนจะมติตั้งแต่ซีซั่น 2007-08เป็นต้นมาว่า รอบรองชนะเลิศ ทุกคู่จะต้องมาตัดเชือกกันทีนี่

แต่ปีนี้น่าสนใจก็คือ เมื่อ 6 เดือนก่อน มีการส่งสัญญาณไปยังสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ผู้ดูแลถ้วยเอฟเอ คัพ แต่เพียงผู้เดียว ว่าจะมีงานปรับปรุงด้านวิศวกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ รถไฟทุกขบวนจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ ที่จะเดินทางไปยังลอนดอน สถานียูสตันถูกยกเลิกทั้งหมด

เอฟเอ ไม่ได้มีท่าทีสนองตอบอะไร กระทั่งการโคจรมาเจอกันของสองมหาอำนาจแห่งยุค ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือ หรือ นอร์ทอีสต์ เหมือนกัน ต้องมาแข่งขัน

แฟนบอลครึ่งแสนจะต้องเดินทางมาจากที่นั่น เป็นอย่างน้อย

ยังผลให้กลุ่มแฟนคลับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องให้ การเตะเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ให้ย้ายจาก นิว เวมบลีย์ เนื่องจากจะไม่มีรถไฟวิ่งไปลอนดอนในวันนั้น!!!!

สตีฟ ร็อตเทอรัม นายกเทศมนตรีเมืองลิเวอร์พูล ร่วมเขียนหนังสือกับ แอนดี้ เบิร์นแฮม นายกเทศมนตรีเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อให้ เอฟเอ ตัดสินใจใหม่ในการเปลี่ยนสนามแข่งจากลอนดอน มาแถวนอร์ทอีสต์ หรือ มิดแลนด์ ก็ได้

แต่คำถามตอบที่ได้มาก็คือ “แข่งที่เดิม”!!!

บางท่านอาจยังไม่ทราบ ก็คือ รถไฟคือหัวใจในการเดินทางของอังกฤษ ความสะดวกสบาย และสามารถควบคุมค่าใช้จ่าย เพราะอย่าลืมว่า แฟนบอลไม่ได้ใช่คนรวย ฟุตบอลคือเรื่องของชนกลุ่มกลางไปถึงระดับล่าง

ฟุตบอลคือความภูมิใจของชุมชน เป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมันถูกครอบโดยทุนนิยม

เมื่อทุกขบวนหัวเรือจักรจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ หรือที่ตั้งของทั้งสองทีม ไม่สามารถเดินทางไปยังลอนดอน ได้ย่อมหมายถึงความโกลาหลอย่างแน่นอน

อย่าลืมว่า เวลานั้นเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ของธนาคาร ช่วงอีสเตอร์ อีกด้วย

ระยะทาง แมนเชสเตอร์ สู่ เวมบลีย์ 251 กิโลเมตร และลิเวอร์พูล สู่ เวมบลีย์ เฉียด 300 กิโลเมตร

แฟนบอลส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวงอยู่แล้ว

ระยะทางไม่ใช่ใกล้ และต้องไม่ลืมว่า รถทุกประเภทในเมืองผู้ดีถูกกำหนดเอาไว้ที่ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชั่วโมง!!!

สมาคมฟุตบอล ประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า จะให้บริการรถโดยสารฟรี 100 คัน แบ่งเท่าๆ กันระหว่างทั้งสองสโมสร เพื่อจัดหาเส้นทางไปเวมบลีย์ บริการต่างๆ ซึ่งจะดำเนินการจากแอนฟิลด์และเอติฮัด สเตเดี้ยม

คาดว่าจะสามารถขนส่งผู้สนับสนุน 5,000 คน ไปยังสนามกีฬาได้

แมนฯซิตี้ จะจัดจ้างรถโค้ชเอาไว้อีก 50 คัน แต่จะให้แฟนบอลต้องจ่ายเงินเพื่อไปลอนดอน ในขณะที่ ลิเวอร์พูล ยังคงวางแผนสำหรับสิ่งที่พวกเขาจะทำการเพื่อช่วยเหลือการเดินทางของแฟนบอล

อย่างไรก็ตาม การจัดรถโค้ชแบบนี้ มันยังห่างไกลจากผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ดูตัวเลขจากความจุเวมบลีย์ กับจำนวนรถโค้ชที่มีแค่นี้ก็น่าจะเก็ต มอร์

แฟนบอลลิเวอร์พูลและซิตี้ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก

เจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือลิเวอร์พูล ยังพูดถึงเลยว่า เป็นไปได้ยังไง? ทางตะวันตกเฉียงเหนือทั้งหมดถูกตัดขาดจากส่วนที่เหลือของอังกฤษ? ผมไม่รู้ว่ามีวิธีแก้ปัญหาประเภทใดบ้าง แต่ผมหวังว่าจะมีคนพบวิธีแก้ปัญหา หากเราสามารถลงสนามกับกองเชียร์ที่ไม่เดือดร้อนในการเดินทาง นั่นคงจะดีจริงๆ สำหรับทั้งสองทีม

จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันลิเวอร์พูล พูดก่อนเกมอุ่นแข้งกับ สวิตเซอร์แลนด์ ว่า การเห็นทีมมาเล่นที่เวมบลีย์คือความยิ่งใหญ่ของทั้งนักบอลและแฟนบอล แต่มันเป็นวันที่แฟนบอลต้องรับมือหลายๆ ด้าน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่าย

“ส่วนหนึ่งผมยังเชื่อว่า เวมบลีย์ ควรเป็นเจ้าภาพนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น ยิ่งมามีเหตุการณ์นี้ในหัวของผม มันสมเหตุสมผลแล้วที่จะเปลี่ยนเป็นสถานที่กลางที่แตกต่างจากเวมบลีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสองทีมจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ

“And it’s got to be expensive for them to get there.” เฮนโด้ บอกว่า กระเป๋าของแฟนบอลต้องสะเทือน!!!!!

แน่นอนว่า การเดินทางมีหลายแบบ รถยนต์, อูเบอร์, แท็กซี่, รถไฟ, รถบัส และรถบัสประจำของแฟนฟุตบอลที่เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ซึ่งผมเคยโดยสารจากเมอร์ซี่ย์ไซด์ ไปยัง สโต๊ค ออน เทรนท์ ปกติจะขนแฟนบอลไปประมาณ 10 คัน

ยังไงก็ไม่พอแน่นอน

รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช่คำตอบของคนที่นั่น รถยนต์ไม่ใช่หัวใจของคนอังกฤษ แต่เป็นรถสาธารณะ เพราะน้ำมันสาหัส ค่าจอดแพงมาก และถ้าจะต้องพักที่ลอนดอน 1 คืน ค่าที่พักแพงโหดจริงๆ

จากเดิมปกติคืนละ 2,000 บาท นอนได้ 2 คน แต่ถ้าละแวกเวมบลีย์ นัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ราคาพุ่งไปห้องละเป็นหมื่นบาท

…เน้นยำกันอีกครั้งตรงนี้ว่า ฟุตบอลเป็นเรื่องของ “ท้องถิ่นนิยม”

โลกทางไกลที่ไม่ได้ไปชมถึงสนาม บางคนกล้าที่จะบอกว่า “ไม่เกี่ยวกับเรา” ซึ่งนั่นมันไม่ผิดครับ แต่อาจจะเห็นแก่ตัวไปหน่อย

ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคำว่า Football without fan is nothing

นึกภาพกลับไปในนัดชิงคาราบาว คัพ ทำไมแฟนบอลถึงต้องดีใจกันขนาดนั้น ในการยิงจุดโทษฝั่งตัวเอง ก็เพราะจะได้ช่วยให้กำลังใจนักเตะตัวเอง และกดดันคู่แข่งได้อีกอักโข

แม้ภาพที่เราเห็น เอฟเอ อาจจะทำตัวเป็น “กระบือดื้อยา” แต่อีกใจหนึ่งคงแอบคิดอยู่เหมือนกัน เพราะการเปลี่ยนสนามแข่งทำให้พวกเขาต้องเสียเงินรายได้ไปมหาศาล

ส่งรถไปแค่นั้น มันก็คือลดความกดดัน และอย่าลืมว่าถนนในลอนดอน

ยังกะตังเม!!!

บี แหลมสิงห์

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.