เคลมประกัน Covid ป่วน ล่มแล้ว 3 คาดมีอีก – ผู้จัดการออนไลน์



กรมธรรม์โควิด เจอ-จ่าย-จบ ออกฤทธิ์ บริษัทประกันภัยถูกสั่งปิด 2 ขอปิดตัวเองอีก 1 หวั่นไม่จบแค่นี้ ต้นตอเกิดจากทั้งบริษัทประกันแข่งเดือด คำสั่ง คปภ.ห้ามยกเลิก การคุมโควิดของรัฐ เชื้อกลายพันธุ์ ซื้อกรมธรรม์ได้ไม่จำกัด บางส่วนจงใจติดเคลมเงิน-แต่ยากพิสูจน์ วอนเรื่องใหญ่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหา คนเดือดร้อนที่สุดคือผู้ถือกรมธรรม์

แม้ภัยจาก Covid จะลดระดับความรุนแรงลง ที่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์จากเดลตาไปสู่โอมิครอน แม้การติดเชื้อจะง่ายขึ้นแต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตเริ่มน้อยลง อันเป็นผลมาจากภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้าง รวมถึงการให้บริการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการให้หลายธุรกิจที่เคยเป็นจุดเสี่ยงเปิดให้บริการได้ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มขยับ ผู้คนเริ่มมีรายได้ เริ่มมีงานทำ เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนได้มากกว่าเดิม

แต่อีกด้านหนึ่งผลของ Covid ทำให้ธุรกิจด้านประกันภัยกลายเป็นดาวรุ่งสวนกระแสกับการแพร่ระบาด ผู้คนแห่กันซื้อกรมธรรม์คุ้มครองตัวเอง บริษัทประกันใดที่ไม่ออกกรมธรรม์ Covid ถือว่าทิ้งโอกาสทอง รวมไปถึงการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างบริษัทประกัน

กรมธรรม์ที่ออกมาส่วนใหญ่มี 2 ประเภทคือแบบมีค่ารักษาพยาบาล และแบบเจอจ่ายจบ ทุกค่ายต่างแข่งกันชิงเบี้ยประกัน จ่ายน้อยเคลมมากกลายเป็นจุดขาย ยิ่งมีผู้ติดเชื้อมาก คนตายมาก กรมธรรม์ยิ่งขายดี อีกทั้งไม่มีข้อจำกัดเรื่องของการซื้อกรมธรรม์ คนที่กลัวจึงกว้านซื้อกันหลายกรมธรรม์ หรือซื้อจากหลายบริษัท

กรมธรรม์ที่ขายดีที่สุดหนีไม่พ้นแบบเจอจ่ายจบ เพราะเงื่อนไขน้อยเพียงแค่แสดงหลักฐานการติดเชื้อก็สามารถยื่นเคลมประกันได้ ซึ่งค่าเบี้ยที่ขายกันในเวลานั้นมีตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อยและหลักพัน



สั่งปิด 2-เลิกกิจการ 1

แต่ใครจะคิดว่า Covid-19 จะลากยาวเข้าสู่ปีที่ 3 การระบาดระลอกใหญ่สุดในไทยเริ่มจากหลังเทศกาลสงกรานต์ 2564 มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดเคลมประกันพุ่งตามไปด้วย แถมเชื้อ Covid ได้พัฒนาสายพันธุ์ติดต่อง่ายกว่าเดิม ทำให้บริษัทประกันหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องและการจ่ายเคลมให้ผู้เอาประกัน

ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งปิดกิจการของบริษัทประกัน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด เมื่อ 15 ตุลาคม 2564 และปิดบริษัท เดอวัน ประกันภัย จำกัด เมื่อ 13 ธันวาคม 2564 ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ฐานะการเงินไม่มั่นคง หนี้สินมีมากกว่าทรัพย์สิน

26 มกราคม 2565 บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) TGH แจ้งว่า เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สืบเนื่องจากปัญหาของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา มีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวม

ก่อนหน้านี้ ทาง TGH ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท ไทยประกันภัย และอาคเนย์ประกันภัย ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ ไทยประกันภัย ซึ่งนำไปชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกัน COVID-19 ของลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ของทั้งไทยประกันภัย และอาคเนย์ประกันภัย เป็นเงินจำนวน 9,900 ล้านบาท ช่วยให้อาคเนย์ประกันภัยยังสามารถคงสถานะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและสามารถประกอบกิจการต่อเนื่องมาได้ในช่วงที่ผ่านมา 

โดย ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท และยังสามารถดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 170

จากปัญหาการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน ยังคงเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนของอาคเนย์ประกันภัยให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาอันใกล้นี้

ดังนั้น ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้พิจารณามีมติดำเนินการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย

เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ ในขณะที่อาคเนย์ประกันภัยยังคงมีสถานะทางการเงินที่เพียงพอและยังดำรงเงินกองทุนได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ คปภ. พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้นๆ



เงินกองทุนฯ อาจไม่พอรับมือ

เป็นอันว่าพิษ Covid ส่งผลให้บริษัทประกันภัย 2 แห่งถูก คปภ.สั่งปิดกิจการ และอีก 1 แห่งขอปิดตัวเองลง ผลกระทบที่ตามมานั่นคือผู้ถือกรมธรรม์ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าเงื่อนไขเคลมประกัน ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนไปติดต่อกับกองทุนประกันวินาศภัยแทนบริษัทเดิม

แหล่งข่าวในวงการประกันกล่าวว่า กรณีของบริษัทประกันภัยถูกสั่งปิด กรมธรรม์ทุกประเภทจะโอนไปที่ คปภ. ไม่ใช่เฉพาะกรมธรรม์ Covid เท่านั้น ประกันรถยนต์ต่างๆ ก็ต้องย้ายตามไปด้วย โดยมีกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ดูแลแทน หากมีเจ้าหนี้ทั้งจากการเคลม หรือเจ้าหนี้อื่นมาขอให้ชำระ ทางกองทุนฯ ต้องทำหน้าที่ชำระแทน

เบื้องต้นเห็นว่าเงินกองทุนฯ มีอยู่ราว 5 พันล้านบาท แค่เฉพาะหนี้ของทั้ง 2 บริษัทที่ปิดไปก็สูงราว 7 พันล้านบาทแล้ว ตรงนี้กองทุนฯ อาจต้องกู้ยืมมาจากแหล่งอื่นเข้ามาแก้ปัญหา

ส่วนการปิดกิจการของอาคเนย์ประกันภัย ทางบริษัทยืนยันว่า ณ เวลานี้มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้ลูกค้า ไม่ได้ใช้เงินกองทุนประกันวินาศภัย แค่ขอให้ตัวกองทุนฯ ทำหน้าที่คืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกัน



ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ชนวนล่ม

คนในวงการรู้กันดีว่า ไม่ใช่มีแค่ 3 บริษัทนี้ ก่อนหน้าสินมั่นคงประกันภัยเคยขอยกเลิกกรมธรรม์เจอจ่ายจบ แต่ถูก คปภ.สั่งเบรก พร้อมด้วยออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 และยังคงมีผลใช้บังคับ

เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัย ซึ่งหมายความว่า กรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่ยังไม่หมดอายุจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปจนกว่าจะหมดอายุความคุ้มครอง โดยที่บริษัทประกันภัยจะไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามอำเภอใจ

แต่บริษัทประกันภัยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว สมาคมประกันวินาศภัยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และเป็นเหตุให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย และบริษัท ไทยประกันภัย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้องนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรื่องกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 สั่งห้ามบริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 44/2565 เมื่อ 10 มกราคม 2565



หลายสาเหตุทำบริษัทประกันล้ม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้มาจากหลายสาเหตุ เริ่มที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 เมื่อปี 2563 ซึ่งในระยะแรกระบบสาธารณสุขของไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี ขณะที่ คปภ.สนับสนุนการออกกรมธรรม์เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากโรคระบาดดังกล่าว

ติดแล้วโอกาสตายสูง ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลชัดเจน วัคซีนป้องกันอยู่ระหว่างศึกษา กว่าจะมีวัคซีนเร็วสุดคือเกือบปี แถมแต่ละประเทศยังแย่งกันซื้อ ต้องรอคิวส่งมอบ เมื่อคนไม่อยากตายหรือถ้าโชคร้ายติดเชื้อก็ยังมีเงินจากประกันมาชดเชยให้ทางครอบครัว ดังนั้นประกัน Covid จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งแบบเจอจ่ายจบ และแบบค่ารักษาพยาบาล

เมื่อมีลูกค้าพร้อมซื้อเป็นจำนวนมาก บริษัทประกันภัยจึงแข่งขันกันออกกรมธรรม์เพื่อชิงเม็ดเงินจากเบี้ยประกัน แข่งกันตั้งแต่เบี้ยหลักสิบและให้ยอดเคลมสูงกว่าเจ้าที่เดิม กรมธรรม์ Covid ไม่มีข้อจำกัดในการถือครองกรมธรรม์ หลายคนจึงโหมซื้อด้วยเกรงว่าหากเป็นอะไรไปทางครอบครัวจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ไม่มีใครคิดว่าจากสายพันธุ์อู่ฮั่นจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก พร้อมๆ กับในประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2564 ขณะที่โควิดได้พัฒนาเป็นสายพันธุ์เดลตา และระบาดครั้งใหญ่ในไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ 2564 มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนทำให้บริษัทประกันใหญ่ๆ หลายแห่งงดการขายกรมธรรม์ประเภทเจอจ่ายจบ แต่บริษัทประกันรายเล็กยังขายกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบอยู่

เมื่อผู้ติดเชื้อมาก ยอดเคลมก็สูงตามไปด้วย จนหลายแห่งเริ่มออกมาขอยกเลิกกรมธรรม์ เนื่องจากเงื่อนไขการแพร่ระบาดเปลี่ยนไป คปภ.สั่งยกเลิกเงื่อนไขการบอกเลิก จนเกิดวิกฤตกับอุตสาหกรรมประกันภัย

จะว่าไปทุกฝ่ายมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น คปภ. บริษัทประกันภัย การจัดการภาครัฐ นอกจากนี้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการถือครองกรมธรรม์ เปิดโอกาสให้มีผู้ซื้อกรมธรรม์บางส่วนกว้านซื้อเป็นจำนวนมาก เมื่อโควิดรักษาได้ไม่ได้ เสียชีวิตทุกราย บางคนจึงทำตัวให้ติด เพื่อหวังเงินประกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วการตรวจสอบว่าติดแบบจงใจเป็นเรื่องยากต่อการพิสูจน์

สถานการณ์น่าเป็นห่วง

เขายังกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของธุรกิจประกันภัยค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากเปิดใจให้กว้างแล้วดูที่ภาพรวมเป็นหลัก การบอกเลิกสัญญาเป็นเงื่อนไขที่บริษัทประกันสามารถทำได้หากภัยดังกล่าวเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อ คปภ.ออกคำสั่งยกเลิกเงื่อนไขนี้ไป บริษัทประกันจึงไปต่อไม่ไหว เพราะกรมธรรม์โควิดมียอดเคลมสูงจนบริษัทขาดสภาพคล่อง จนกระทบไปถึงกรมธรรม์ประเภทอื่น อย่างกรณีอาคเนย์ที่มีกรมธรรม์โควิด 1.8 ล้านราย อีก 8.6 ล้านรายเป็นประเภทอื่น หากไปต่อไม่ไหวคู่ค้าอย่างอู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ตัวแทนจะมีปัญหาอื่นตามมา

นอกจากนี้ หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการถูก คปภ.สั่งปิด หรือบริษัทขอปิดกิจการเอง นั่นก็เท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คปภ.ที่ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์โควิด เพราะการถูกปิดหรือเลิกกิจการ กรมธรรม์เดิมที่มีอยู่ย่อมถูกยกเลิกและต้องจ่ายค่าเบี้ยคืนผู้ถือกรมธรรม์ตามระยะเวลาที่เหลือ

ปัญหาคือจะมีประกันอีกกี่บริษัทที่ไปต่อไม่ไหว จากการที่ไม่สามารถยกเลิกกรมธรรม์ที่เป็นภาระเคลมจำนวนมากได้ การถูกสั่งปิดจะกลายเป็นภาระให้กองทุนประกันวินาศภัยที่ต้องหาเงินมาเพื่อแบกรับภาระเคลม ซึ่งเพียงแค่ 2 บริษัทที่ถูกปิดไปยอดเคลมอาจสูงกว่าเงินกองทุนที่มีอยู่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก รัฐบาล กระทรวงการคลังต้องเข้ามาหาทางออก ไม่เช่นนั้นผู้ที่เดือดร้อนที่สุดหนีไม่พ้นผู้ที่ถือกรมธรรม์

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebooķ :

https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram : https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok : https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/