‘เกาหลีใต้’ทุ่มสุดตัวหนุนขีดแข่งขันอุตฯชิพ ขณะประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศว่า เนื่องจากมีการแข่งขันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ของประเทศ
รัฐบาลเกาหลีใต้ ตัดสินใจลงสู้ศึกเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกกับสหรัฐและจีน ด้วยการประกาศแผนยกเว้นภาษีเพิ่ม และปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำรวมมูลค่า 1 ล้านล้านวอน (883 ล้านดอลลาร์)แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำโลกพยายามส่งเสริมการผลิตชิพในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก และอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนชิพขั้นวิกฤติ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิพคือ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำไปสู่การแข่งกันจัดหาเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างอุตสาหกรรมรถยนต์และผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการกักตุนเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทจีน ประกอบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และสมาร์ทโฟน 5จี
ขณะนี้หลายประเทศเร่งทำงานเพื่อสนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทานชิพในท้องถิ่นของตัวเอง ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิพอย่างรุนแรงกำลังส่งผลกระทบกับการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆในวงกว้าง และในเดือนมี.ค.ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ประกาศแผนลงทุน 50,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์
สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งเกาหลีใต้(เคเอสไอเอ) ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัทผลิตชิพ 153 แห่งที่รวมถึงผู้ผลิตชิพความจำอันดับหนึ่งและอันดับสองของประเทศคือ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ ที่มีแผนลงทุนร่วมกันมูลค่า 510 ล้านล้านวอนหรือมากกว่าในปีนี้และปี 2573
“เนื่องจากมีการแข่งขันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ของประเทศ ”ประธานาธิบดีมุน แจ-อินของเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่เมืองพยองแท็ก เมืองทางใต้ของกรุงโซล เปิดเผยว่า การลงทุนในเกาหลีใต้ตอนนี้ครอบคลุมถึงแผนของซัมซุงที่จะตั้งโรงงานผลิตชิพแห่งที่3 ในเมืองพยองแท็ค ซึ่งเริ่มโครงการก่อสร้างตั้งแต่ปีที่แล้วและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
ขณะที่กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ (เอ็มโอทีไออี)ระบุว่า เอสเค ไฮนิกซ์ กำลังคิดที่จะผลิตชิพ 8 นิ้วเพิ่มแต่ตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย โดยรัฐบาลจะยกเว้นภาษีเพิ่มเป็น 6% จากปัจจุบัน 3% หรือต่ำกว่าการใช้จ่ายด้านทุนในช่วงระหว่างครึ่งหลังของปี 2564 -2567 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงกลยุทธิ์ที่สำคัญอย่างเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเสนอเงินกู้ระยะยาวประมาณ 1 ล้านล้านวอนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิพ 8 นิ้วและลงทุนด้านวัตถุดิบตลอดจนการบรรจุหีบห่อในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ เป็นแหล่งผลิตชิพหน่วยความจำ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของการส่งออกชิพโดยรวมของประเทศ
ที่ผ่านมา “ฮง นัม กี” รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังศึกษาวิธีต่างๆ ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีและออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตชิพในเกาหลีใต้มีขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพิ่มขึ้น
(เอ็มโอทีไออี) และเคเอสไอเอ คาดการณ์ว่า การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้จะขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักในปี 2564 เนื่องจากแนวโน้มไร้สัมผัสที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการส่งออกชิพในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 1.075-1.11 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จาก 9.92 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น
สถิติการส่งออกชิพของเกาหลีใต้สูงสุดอยู่ที่ 1.267 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561 ขณะที่ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2563 การส่งออกชิพเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักเมื่อเทียบรายปี พร้อมทั้งคาดการณ์ว่ายอดส่งออกชิพความจำในปี 2564 ของประเทศอยู่ที่ 7.03-7.29 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนยอดส่งออกชิพประมวลผลอยู่ระหว่าง 3.18-3.3 หมื่นล้านดอลลาร์
ด้านสถาบันวิจัยชั้นนำ 3 แห่งรวมถึงการ์ทเนอร์และเวิร์ล เซมิคอนดักเตอร์ เทรด สตาติสติกส์( World Semiconductor Trade Statistics)หรือดับเบิลยูเอสทีเอส คาดการณ์ว่า ตลาดชิพทั่วโลกจะขยายตัวประมาณ 8-10% ในปี 2564
ขณะที่คาดว่าการลงทุนในโรงงานผลิตชิพของเกาหลีใต้ในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20.4% จากปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการชิพของรัฐบาลเกาหลีใต้ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลสหรัฐและจีนต่างก็ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศในลักษณะคล้ายกัน เพื่อลดการพึ่งพาชิพจากภายนอก
โดยเฉพาะรัฐบาลปักกิ่ง ประกาศนโยบายลดภาษีให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มุ่งป้องกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิพประมวลผลของผู้ผลิตสัญชาติอเมริกัน
มาตรการสนับสนุนที่ออกโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนระบุว่า ผู้ผลิตชิพในประเทศสามารถนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบต่างๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี ไปจนถึงปี2573 แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าของมาตรการสนับสนุนนี้
ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งลงทุนอย่างหนักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิพประมวลผล แต่ธุรกิจสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังคงต้องพึ่งพาชิพจากสหรัฐ ยุโรป และไต้หวัน เพื่อผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย โดยในแต่ละปี จีนนำเข้าชิพประมวลผลและเซมิคอนดักเตอร์อื่นๆ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์