‘เกมส์ ‘เพื่อ’ พัฒนา’ – ฐานเศรษฐกิจ

04 ส.ค. 2564 เวลา 22:12 น.

แบรนด์  สตอรีส์ กฤษณ์  ศิรประภาศิริ [email protected]

สำหรับญี่ปุ่น OLYMPIC GAMES ไม่ใช่แค่เกมส์การแข่งขัน “กีฬา” ธรรมดา หากยังเป็น “เวที” ที่จะแสดง “ศักยภาพ” ของประเทศ ยิ่งเป็น “เจ้าภาพ” จัดการแข่งขัน ยิ่งเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้ “แสดง” ต่อชาวโลก ถึง ความพร้อมเพรียง ความมีสติปัญญา ของ “ประเทศ” ที่ได้รับเลือกจากนานาสมาชิกประเทศที่ VOTE ให้ “คุณ” ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ สูงส่ง

การทุ่มเททรัพยากรทั้ง เงินและบุคคล เพื่อเป็นเจ้าภาพ สำหรับญี่ปุ่น ถือเป็นโอกาสลงทุนให้ได้ “ผลพลอยได้” ทั้ง “นวัตกรรม” และ “เงินทอง” ในอนาคตที่จะตามมา

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการใช้ “กีฬา” สร้าง BRAND ในอดีต หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการพ่ายแพ้ ย่อยยับจากสงครามที่ตนเองเป็นฝ่ายรุกราน ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศและเริ่มอุตสาหกรรมจากศูนย์ สินค้า MADE IN JAPAN ไม่ได้เป็นที่ต้องการ

คศ. 1964 ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพกีฬา OLYMPIC GAMES ไม่กี่ปีหลังจากความบอบช้ำพังทลายจากสงครามโลก หลายประเทศตั้งหน้าตั้งตาดูว่าญี่ปุ่นจะจัดการได้ “แย่” ขนาดไหน

แต่ “ความมุ่งมั่น” ที่จะฟื้นฟูประเทศจากซากปรักหักพัง ทำให้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศ พร้อมเพรียงที่จะกอบกู้ เป็นที่มาของ “คำขวัญ” รุ่นเถ้าแก่ ผู้ก่อตั้ง TOYOTA MAZDA NATIONAL SONY ฯลฯ

“MILLIONS BUT ONE HEART”

คนเป็นล้านแต่หล่อหลอมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อ “ประเทศ”

การเป็นเจ้าภาพ OLYMPIC GAMES คศ. 1964 ของญี่ปุ่น เป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวอาทิตย์อุทัยต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า ชาวซามูไรอันธพาลพร้อมเข้าสู่ ประชาคมโลก สังคมโลก ด้วยการเป็น “เด็กดี” มีสติปัญญา ทำนอง “อิกคิวซัง” ประมาณนั้น

‘เกมส์ ‘เพื่อ’ พัฒนา’      

CONCEPT ของ TOKYO OLYMPIC GAMES ปี คศ. 1964 มุ่งเน้น FASTER HIGHER STRONGER และไม่ได้แสดงแค่ในสนามแข่งขัน แต่ยังแสดงทั่วไปในตึกรามบ้านช่อง ใน TOKYO และทั่วประเทศ

ผลพลอยได้ด้าน “นวัตกรรม” จากความคิดที่จะสร้างเสร็จให้ทัน เกิดความคิดสร้าง “ห้องน้ำ” เป็นกล่องสำเร็จรูป เพื่อประกอบติดตั้งได้รวดเร็วในหมู่บ้านนักกีฬา และต่อมาผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมใช้กล่องห้องน้ำสำเร็จรูปนี้ แพร่หลายในโรงแรม ในอพาร์ทเม้นท์ ฯลฯ และส่งผลให้ BRAND สุขภัณฑ์ TOTO เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 

ความต้องการให้การสื่อสารแพร่หลาย กว้างขวาง สะดวกรวดเร็ว เป็นที่มาของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์-สื่อสาร ซึ่งต่อมาเป็น INTERNET ที่ใช้กันแพร่หลายแม้ปัจจุบันนี้

ในแวดวงนักออกแบบ สถาปนิกญี่ปุ่น KENZO TANGE ทำให้โลกทึ่ง ด้วยผลงานออกแบบ อาคารแข่งขันอินดอร์ NATIONAL GYMNASIUM สำหรับ TOKYO OLYMPIC GAMES 1964 และ KENZO TANGE ก้าวขึ้นเป็น สถาปนิก-นักออกแบบ ระดับ MASTER ของโลกในเวลาต่อมา

ความเก่งกาจของนักกีฬาญี่ปุ่นในสนามแข่งขัน ทำให้โลกการค้าหันมามองสินค้า MADE IN JAPAN มากขึ้น จากความเชื่อที่ว่าสินค้าของ “พี่ยุ่น” ไม่ทนทานและชอบก็อปปี้ สู้ของอเมริกา ยุโรปไม่ได้ เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเห็นพลัง ความแข็งแรง ของนักกีฬาญี่ปุ่น

ปีนี้ คศ. 2021 ถือว่าญี่ปุ่นมาไกลจากคศ. 1964 มากแล้ว CONCEPT TOKYO OLYMPIC GAMES 2020 อยู่ที่ “BE BETTER, TOGETHER  FOR THE PLANET AND THE PEOPLE”  ยึด GLOBAL SUSTAINABILITY ความยั่งยืนของโลก

หมดสมัย “ข้ามาคนเดียว” แบบอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ DONALD TRUMP คิดแต่ “AMERICA GREAT AGAIN”

“นวัตกรรม” ที่เป็นผลพลอยได้จากการเป็นเจ้าภาพ OLYMPIC GAMES ครั้งนี้ (คศ.2020-ถูกเลื่อนมาจัด 2021 เพราะพิษโควิด)

มีตั้งแต่ GREEN CULTURE นั่นคือเน้นการ RECYCLE ตั้งแต่ คบเพลิง ทำจากอลูมิเนียมจากบ้าน ซึ่งสร้างชั่วคราวเป็นที่พักครั้งแผ่นดินไหว ชุดแต่งกาย-วัสดุจากขวด COCA COLA พลาสติก ฯลฯ

เหรียญรางวัล ทอง เงิน ทองแดง ทำจากโลหะมีค่า แกะออกมาจากมือถือที่ประชาชนบริจาคเข้ามา

ROBOT ใช้หุ่นยนต์ต้อนรับที่สนามบิน พาไป CHECK-IN ที่โรงแรม หรือหมู่บ้านนักกีฬา รถยนต์ที่ไม่มีคนขับ ฯลฯ

ญี่ปุ่นมาไกลถึงตั้งเป้า SUSTAINABLE DEVELOPMENT อีก 17 ข้อ

NO POVERTY

NO HUNGER

GOOD HEALTH ฯลฯ

THAILAND ขอพัก ยังหาสนามแข่งขันไม่เจอ ยังหาชุดที่ “ฟิตตัว” ไม่ “รุ่มร่าม” ยังไม่ได้

แถมยังต้องวิ่งแข่งหา “วัคซีน” มาราธอน ตั้งแต่ คลองสามวา บางซื่อ บุรีรัมย์ ยังไม่จบ

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,702 วันที่ 5 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564