“แหม จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นมาจาก ‘มีมตลกๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต’ นั่นแหละ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ามันจะเริ่มจริงจังไปแล้ว”
นี่คือคำตอบที่ อีลอน มัสก์ ชายผู้สถาปนาตนขึ้นเป็น Dogefather เหรียญหมาน้อยจอมแสบซิ่ง ‘Dogecoin (โดชคอยน์)’ ได้ให้ไว้กับ ไมเคิล เช นักแสดงตลกชาวอเมริกัน ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังอยู่ในรายการ Saturday Night Live ที่ออนแอร์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา
จริงอยู่ที่ในเวลาต่อมา การออกมากลับลำประกาศไม่รับชำระซื้อรถไฟฟ้า Tesla ด้วยบิตคอยน์ของมัสก์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา เนื่องด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อย Carbon Footprint (จากการใช้ทรัพยากรขุดบิตคอยน์) จะทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งตลาดปั่นป่วนอยู่พอสมควร (แน่นอนว่าโดชคอยน์ก็ได้รับผลกระทบด้วย)
ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Tesla เพิ่งจะเข้าลงทุนในบิตคอยน์ด้วยเงินมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบอกเอาไว้ในช่วงเวลานั้นว่าจะรับซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ด้วยบิตคอยน์แท้ๆ
Energy usage trend over past few months is insane https://t.co/E6o9s87trw pic.twitter.com/bmv9wotwKe
— Elon Musk (@elonmusk) May 13, 2021
ถึงอย่างนั้นก็ดี ประเด็นที่เราจะพูดถึงหาใช่ความผันผวนของตลาดคริปโตฯ แต่อย่างใด เพราะถ้าจะให้ว่ากันตามตรง มูลค่าเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ก็ผกผันขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสข่าว ความน่าเชื่อถือของเหรียญชนิดนั้นๆ และการเข้าลงทุนของบริษัทเอกชนเป็นปกติอยู่แล้ว
เพราะเรื่องที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หากเราลองย้อนกลับไปดูคำตอบของ อีลอน มัสก์ ให้ดีๆ ที่ว่า ‘มีมตลกๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต’ กลายเป็นเรื่องราวที่ ‘จริงจัง’ ก็จะพบว่าปรากฏการณ์ Dogdecoin ทะยานสู่ดวงจันทร์นี้ มีแง่มุมที่น่าเจาะลึกและลองชอนไชดูที่มาที่ไปของเจ้าหมาตัวนี้อยู่พอสมควร
จากเรื่องขำขันที่ ‘เคยดูเหมือนว่า’ ไร้สาระ เป็น ‘หมา’ นอกสายตา กลับโดดเด่นทะลุอวกาศจนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดที่ 0.54 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 17 บาท (ข้อมูลล่าสุด ณ วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) และปรับขึ้นจากต้นปีที่ผ่านมา (YTD) มากถึง +11,390% (เปรียบเทียบราคา ณ วันที่ 1 มกราคม 2021 ที่ 0.0047 และราคา 0.54)
ขณะที่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา มันยังได้ทำ All Time High สูงสุดแตะที่ระดับ 0.74 ดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าเทียบแบบ YTD แล้ว ราคาของมันได้ปรับขึ้นสูงกว่า +15,600% เลยทีเดียว
ภาพ: Coinmarketcap
จากมีมหมาน้อยชิบะอินุ เหรียญ Dogecoin ในวันนี้ก้าวมาเป็นอีกหนึ่งในเหรียญดิจิทัลที่ได้รับกระแสความสนใจของผู้คนทั้งโลกได้อย่างไร อะไรทำให้มันมีมูลค่า Market Cap รวมสูงกว่า 53,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.67 ล้านล้านบาท รั้งอยู่ในอันดับที่ 6 ของทั้งตลาดคริปโตฯ
ย้อนกลับไปในปี 2013 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในช่วงที่กระแสบิตคอยน์และเหรียญดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซีสกุลต่างๆ ณ ช่วงเวลานั้นเริ่มเป็นที่นิยมใหม่ๆ ได้รับการพูดถึงจากสื่อกระแสหลักมากขึ้น
สองหนุ่ม แจ็คสัน พาลม์เมอร์ วิศวกรของบริษัท Adobe และ บิลลี มาร์คัส นักพัฒนาซอฟต์แวร์จาก IBM ต่างก็เห็นถึงกระแสความ ‘Hype’ ความสนใจที่ผู้คนมีต่อคริปโตฯ และบิตคอยน์เช่นกัน พวกเขาจึงนึกสนุก อยาก ‘เสียดสี’ บิตคอยน์ด้วยการสร้างเหรียญตลกๆ ออกมาเกาะกระแสล้อเลียนไปด้วย นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของเจ้า Dogecoin ในวันที่ 6 ธันวาคม 2013
(ในเวลาต่อมา พาลม์เมอร์และมาร์คัส ได้ถอนตัวจากโปรเจกต์ Dogecoin ด้วยเหตุผลที่หน่ายวงการคริปโตฯ เนื่องจากการเก็งกำไรและการหาผลประโยชน์ที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงเฝ้าดูเจ้าเหรียญหมาน้อยชิบะนี้อยู่ห่างๆ และเรียกตัวเองว่า ‘ชิบะโตชิ นากาโมโตะ’ เพื่อล้อเลียนชายผู้ที่ถูกสันนิษฐานกันว่าเป็นผู้สร้างบิตคอยน์ ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’)
เพราะฉะนั้นเจ้า Dogecoin ที่ว่าก็มีศักดิ์เป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเหมือนๆ กับบิตคอยน์ อยู่บนบล็อกเชนเหมือนกัน เพียงแต่จุดกำเนิดของมันคือความสนุกและความตลกล้วนๆ (ชื่อ Doge ที่ให้อ่านว่า โดช ก็จงใจสะกดคำว่า Dog ให้อ่านแบบผิดๆ ตามจุดกำเนิดมีม ‘หมาชิบะอินุอิ’ ซึ่งกำลังจะถูกกล่าวถึงในพารากราฟถัดไป)
ที่เลือกใช้ ‘ชิบะอินุอิ’ มาเป็นสัญลักษณ์หน้าเหรียญ Doge ก็เพราะว่า ย้อนกลับไปในช่วงปี 2010 อัตสึโกะ ซาโตะ (Atsuko Sato) คุณครูอนุบาลชาวญี่ปุ่นได้อัปโหลดรูปเจ้าหมาคาโบซุของเธอ (Kabosu: ตั้งชื่อตามผลไม้ตระกูลซิตรัสในญี่ปุ่น เพราะโครงหน้าของมันคล้ายกับผลไม้ชนิดนี้) หลายภาพลงบนบล็อกส่วนตัว
แต่มีอยู่ภาพหนึ่งที่ดันไปสะดุดตาชาวเน็ตในตอนนั้น คือภาพเจ้าคาโบซุนั่งบนโซฟา เอาขาหน้าไขว้ทับกัน ขนฟูพอง เอียงใบหน้าเล็กน้อยพร้อมรอยยิ้มชวนขำ คล้ายกำลังจะแสดงอารมณ์อะไรบางอย่างออกมา ซึ่งได้สร้างกระแสความเอ็นดูปนขบขันบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ก่อนที่มีม Doge นี้จะโด่งดังไปทั่วโลก เพราะถูกนำไปดัดแปลงในอิริยาบถต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือการใส่ ‘คำพูดหรือความคิดแบบมโน’ ให้กับมันด้วยฟอนต์ Comic Sans หลากสี
ภาพ: knowyourmeme
ทั้งหมดเลยเป็นที่มาของเหรียญดิจิทัลแบบมีมๆ ที่ตั้งใจเสียดสีบิตคอยน์ ด้วยมีมหมาที่ฮิตบนโลกออนไลน์นั่นเอง
กลับมาที่ฟังก์ชันและฟีเจอร์ของ Dogecoin กันต่อ เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายทะเยอทะยาน ไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ แต่จุดยืนของมันคือการเป็นเหรียญดิจิทัลชวนขำ เป็นมิตร เข้าถึงได้ง่าย นั่นจึงทำให้เส้นทางของ Dogecoin ต่างจากบิตคอยน์แบบสุดขั้ว
“ชุมชนคริปโตฯ อาจกลายเป็นเรื่องของคนชนชั้นสูง ไม่เปิดกว้าง ซึ่งเราอยากจะให้ชุมชนนี้มีความสนุกมากขึ้น เบิกบานใจ เพลิดเพลิน และเปิดกว้าง และมันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราทำได้ผล นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ชุมชน Dogecoin ยังคงมีตัวตนจนถึงทุกวันนี้อย่างมั่นคง” มาร์คัสให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้กับ CNBC ถึงเจตนารมณ์การสร้างเหรียญหมาของเขาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้มาร์คัสยังได้ออกมาเปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยว่า เขาเพิ่งเทขายเหรียญหมาที่ตัวเองมีทั้งหมดในปี 2015 แล้วนำไปซื้อรถยนต์ฮอนด้า Civic มือสอง จึงทำให้เหรียญจำนวนมากกระจายตัวไปอยู่ในมือคนที่หลากหลาย ไม่ได้กระจุกตัวหรือถูกรวมอำนาจที่ผู้ก่อตั้ง และใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นจุดที่นักลงทุนและใครหลายคนมองว่า ‘เป็นเรื่องที่ดี’
ในเชิงหลักการนั้น Doge ใช้โปรโตคอลแบบ Proof-of-Work (PoW) เหมือนๆ กับบิตคอยน์ในการขุดเหรียญ แต่แตกต่างกันตรงที่เทคโนโลยีของ Dodge นั้นจะใช้แบบ ‘Scrypt’ สำหรับฟังก์ชันการแฮช ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคมากๆ
แต่ถ้าให้ยกจุดต่างที่อาจจะไม่ได้ซับซ้อนหรือยากเกินทำความเข้าใจมาเปรียบเทียบกันให้เห็นมากขึ้นก็คือ บิตคอยน์จะมีจำนวนเหรียญจำกัดทั้งตลาดที่สามารถขุดได้อยู่ที่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น และ ณ วันนี้ มันถูกขุดออกมาแล้วที่ 18.7 ล้านเหรียญ
ส่วน Dodge ‘ไม่ได้มีจำนวนจำกัด’ ในเชิงการขุดแต่อย่างใด ปัจจุบันมีจำนวนเหรียญออกมาแล้วทั้งสิ้นที่ราว 129,582 ล้านเหรียญ เรียกได้ว่าใครใคร่ขุดก็ขุดได้เลย และทำให้เหรียญหมามีปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน หรือแต่ละปี
ซึ่งด้วยจำนวนเหรียญที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด จึงทำให้เจ้าเหรียญหมานี้มีมูลค่าต่อหนึ่งหน่วยที่ต่างจากเหรียญอย่างบิตคอยน์อย่างเห็นได้ชัด โดยที่จุดนี้อาจจะรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งความน่าเชื่อถือ การเข้าลงทุนของบริษัทต่างๆ ไปจนถึงยูสเคสการใช้งานจริง
มาติ กรีนสแปน (Mati Greenspan) ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอ ผู้ก่อตั้ง Quantum Economics และนักลงทุนคริปโตฯ เปรียบเทียบเหรียญหมา Dogecoin ในมุมมองของเขากับ CNBC โดยชี้ว่า ด้วยจำนวนที่มีอย่างไม่จำกัดจึงทำให้มันอาจจะผจญกับภาวะเงินเฟ้อที่บ้าคลั่งได้ และเมื่อมันเดินไปถึงจุดวิกฤตเมื่อไร เขาก็ไม่คิดว่าทิศทางการเติบโตจะยั่งยืนอีกต่อไป
สวนทางกับบิตคอยน์ที่มีอยู่แค่ 21 ล้านเหรียญ นั่นจึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่อยากได้ก็ต้องแย่งเหรียญที่มีอยู่อย่างจำกัดกันเอา ความน่าจะเป็นของการผจญกับปัญหาเงินเฟ้ออาจจะประสบพบเจอได้น้อยกว่าเพราะเหรียญมีจำกัด
ในเชิงการใช้งานทำธุรกรรม ถ้าเทียบกับบิตคอยน์แล้วต้องยอมรับว่า Doge ยังห่างชั้นแบบเทียบไม่ติด เพราะบิตคอยน์มียูสเคสการทำธุรกรรมในโลกที่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับมากกว่า ภาคธุรกิจหลายส่วนทั่วโลกก็เริ่มเปิดรับการทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการในโลกจริงๆ ผ่านมันกันได้แล้ว เพราะมีความเป็นสากลมากกว่า (เทียบๆ แล้วบิตคอยน์ก็มีภาษีเหมือนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ)
เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทเอกชนจำนวนมากที่เข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาษีความน่าเชื่อถือให้กับบิตคอยน์ไปในตัว (ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป หรือ ‘BROOK’ ก็เพิ่งประกาศว่าพวกเขาได้เข้าลงทุนในบิตคอยน์เป็นมูลค่า 200 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 นี้ โดยยังมีแพลนเข้าลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อเปลี่ยนสัดส่วนทรัพย์สินบริษัทให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ 50%)
สำหรับการใช้งาน Doge หลักๆ แล้วจะเน้นไปที่การให้ทิปบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์ม Reddit หรือแม้แต่ Twitter เวลาที่ผู้ใช้งานโลกออนไลน์รู้สึกประทับใจในความเห็น คอนเทนต์ หรือข้อความต่างๆ ก็จะส่งเหรียญหมานี้ตอบแทนอีกฝ่าย (หลังๆ มานี้ก็เริ่มเปิดรับการชำระในโลกจริงๆ แล้ว แค่ยังไม่แพร่หลายในวงกว้างหากเทียบกับบิตคอยน์แบบปอนด์ต่อปอนด์)
แต่ที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ Doge ได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอยู่หลายต่อหลายครั้ง ทั้งการร่วมกันระดมทุนผ่านเหรียญหมาน้อยนี้บน Reddit เพื่อนำเงินไปสนับสนุนนักแข่งรถ จอช ไวส์ (Josh Wise) ในปี 2014 ด้วยเหรียญหมากว่า 65 ล้านเหรียญ มูลค่ากว่า 55,000 ดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น แลกกับการติดรูปหมาชิบะอินุอิบนรถแข่งหมายเลข 98 เพื่อร่วมแข่งในรายการ Talladega Superspeedway ซึ่งผลสรุปคือการที่ไวส์สามารถจบการแข่งขันได้ในอันดับที่ 20
Here it is! Thanks to all that made it happen. See you in ‘Dega! #NASCAR pic.twitter.com/gk0YlRrnBJ
— Phil Parsons Racing (@PPR98) April 27, 2014
ในปีเดียวกันยังมีโครงการระดมทุนเหรียญหมา Doge รวมกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินทั้งหมดที่ได้ไปช่วยเหลือสร้างบ่อน้ำสะอาดสองแห่งให้กับชาวเคนยาเพื่อแก้วิกฤตด้านน้ำในตอนนั้นอีกต่างหาก
กล่าวโดยสรุปก็คือ หากบิตคอยน์คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเคสการใช้งานจริงในโลกกระแสหลักแบบแมสจัดๆ (Mass) ฟาก Doge ก็คงจะไม่ต่างอะไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังคงเน้นกลุ่มที่นิช (Niche) แบบสุดๆ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าถึงได้ง่าย ดูเป็นมิตร และเป็นเหรียญจรรโลงใจ สร้างสรรค์โลก และหล่อหลอมชุมชนเข้าด้วยกัน
ดังคำกล่าวของ อีลอน มัสก์ ที่เปรียบมันเป็นเหรียญคริปโตฯ ของประชาชนโดยแท้จริง
เหตุผลหลักๆ ที่เรากล้าพูดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เหรียญหมาได้รับความนิยมแบบถล่มทลาย ทั้งๆ ที่มันดูจะไม่มียูสเคสการใช้งานจริงแพร่หลายด้วยซ้ำ นั่นก็คือการออกมาซูฮกเชียร์อย่างออกนอกหน้าของ Dogefather หรือ อีลอน มัสก์ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2019 ที่เขาออกมาทวีตข้อความว่า “โดชคอยน์อาจจะเป็นเหรียญคริปโตฯ สุดโปรดของผม มันวิเศษสุดๆ”
Dogecoin might be my fav cryptocurrency. It’s pretty cool.
— Elon Musk (@elonmusk) April 2, 2019
หลังจากนั้นเป็นต้นมา มัสก์ก็ยังสบช่องรับบทป๋าดันเหรียญหมาน้อยนี้ผ่านช่องทางทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาอยู่เรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส ทุกรูปแบบที่พอจะทำได้ ทั้งการเล่นกับกระแสมีมหมาชิบะ การโพสต์ข้อความที่ดูเชียร์ออกนอกหน้า
It’s inevitable pic.twitter.com/eBKnQm6QyF
— Elon Musk (@elonmusk) July 18, 2020
ในมุมหนึ่งมัสก์ถือเป็นคนดังผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีสถานะไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ในเซกเตอร์หรือวงการนี้ (ยอดผู้ติดตามบน Twitter สูงกว่า 54.3 ล้านราย) ดังนั้นเมื่อเขาออกมาพูดอะไร มาทวีตข้อความใดๆ นั่นจึงทำให้เสียงของเขามีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และดึงดูดกว่าเสียงของคนอื่นๆ เสมอ กับการเชียร์เจ้าเหรียญหมานี้ก็เช่นกัน พลอยทำให้ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ในเชิงมูลค่าของ Doge เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ตีคู่ไปกับกระแสนิยมของคนจำนวนมากที่เริ่มเปิดรับมันมากขึ้น
ur welcome pic.twitter.com/e2KF57KLxb
— Elon Musk (@elonmusk) February 4, 2021
กระทั่งการปรากฏตัวของมัสก์ในรายการ SNL ที่แม้ว่าเขาจะใช้พื้นที่ในช่องทางนี้โปรโมทเหรียญหมาแบบกระจุยกระจาย แต่หลังจากที่รายการจบลง ราคาของ Doge ก็ตกลงกว่า 28% โดยคาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่มัสก์พูดในรายการแบบติดตลกว่า เหรียญ Doge เป็น ‘Hustle’ ซึ่งในบริบทนี้ดูจะมีความหมายส่อเค้าไปในเชิงลบถึงการกล่าวว่ามันเป็นการหลอกหลวง
ก่อนที่ในเวลาต่อมา มัสก์และบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเขา SpaceX ก็ได้ออกมาประกาศว่า พวกเขาพร้อมรับชำระด้วยเหรียญ Dogecoin ในการปฏิบัติภารกิจออกเดินทางไปยังดวงจันทร์ภายใต้โปรเจกต์ ‘DOGE-1 Mission to the Moon’ โดยมีกำหนดการคิกออฟในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 (รายละเอียดเต็มๆ ยังไม่เปิดเผยออกมา)
และก็เป็นเขาอีกเช่นกันที่ได้ทวีตข้อความแบบโยนหินถามทางในวันต่อมากับผู้ใช้งานทวิตเตอร์ว่าอยากให้ Tesla รับชำระการซื้อรถไฟฟ้าด้วยเหรียญหมาหรือไม่ ผลลัพธ์ที่ได้คือการที่คนส่วนใหญ่ 78.2% ตอบว่า ‘ต้องการ’ และก็ทำให้ราคาของ Doge ปรับขึ้นทันที 17% จากการเปิดเผยของ CoinMarketCap
Do you want Tesla to accept Doge?
— Elon Musk (@elonmusk) May 11, 2021
แล้วนอกเหนือจาก อีลอน มัสก์ มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่ทำให้กระแสความนิยมหมาโดชเพิ่มขึ้นแรงขนาดนี้?
อาวี เฟลแมน (Avi Felman) หัวหน้าประจำแผนกเทรดดิ้งประจำบริษัทลงทุนด้านคริปโตฯ BlockTower Capital เคยวิเคราะห์ผ่าน CNBC ไว้ว่า กรณีของ Doge นั้นชวนให้เขาคิดถึงกรณีเม่าลุกฮือโต้กลับเมื่อช่วงต้นปีตั้งแต่กระแสของ GameStop อย่างอดไม่ได้ (นิยามว่าเป็นโดชคือ ‘Part of the GameStop Boom’)
ในความหมายก็คือ ดูเหมือนนักลงทุนรายย่อยจะจับมือรวมตัวกันมากขึ้น ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องราวที่เหมือนสิ่งชวนขำ เพ้อฝันให้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่จริงจัง ทั้งยังได้แรงส่งจากการที่แฟนเบสส่วนใหญ่ของเหรียญหมามีความเป็น ‘ชุมชน’ เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่บน Twitter และ Reddit จึงทำให้พวกเขามีความสามัคคีกันมากเป็นพิเศษ
มีขึ้นก็ย่อมมีลง นี่คือสัจธรรมของโลกคริปโตฯ ที่นักลงทุนต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่ามันมีความผันผวนรุนแรงตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปราะบางมากๆ กับปัจจัยภายนอก (นักลงทุนป้ายแดงหลายคนคงจะทราบดี ว่าการที่มัสก์ออกมาทวีตข้อความไม่รับชำระซื้อรถ Tesla ด้วยเงินดิจิทัลทำให้พวกเขาปาดเหงื่อเครียดแค่ไหน)
ยกตัวอย่างง่ายๆ สดๆ ร้อนๆ คือการที่เมื่อคืนพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา Doge ยังมีราคาอยู่ที่ 0.4055 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 12.71 บาทเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 22.50 น. ตามเวลาประเทศไทย) เพราะได้รับผลพวงจากการทวีตหยุดรับชำระ Tesla ด้วยบิตคอยน์
แต่ทันทีที่ อีลอน มัสก์ ออกมาทวีตข้อความใหม่ว่าอีกครั้งตรงกับช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทยว่า กำลังอยู่ในระหว่างการทำงานร่วมกับนักพัฒนาเหรียญหมา Doge เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการทำธุรกรรมให้ดีขึ้น มีศักยภาพที่ดีกว่าเดิม หรือเรียกง่ายๆ ว่า ออกมาปั่นให้ Doge ราคาปรับตัวขึ้นสวนกับราคาบิตคอยน์ที่ดิ่งลง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือการที่ราคาของเหรียญหมา Doge ปรับขึ้นจริงๆ แถมปรับขึ้นแรงด้วย โดยเพิ่มขึ้นถึง +24.8% จากวันก่อนหน้า ขึ้นมาเป็น 0.5452 ดอลลาร์สหรัฐ หรือขึ้นมาเป็น 17.10 บาท เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม ตามเวลาไทย
Working with Doge devs to improve system transaction efficiency. Potentially promising.
— Elon Musk (@elonmusk) May 13, 2021
หากตัดเรื่องการปั่นราคาเหรียญหมาในตลาดออกไป ความเห็นของมัสก์และข้อความที่ทวีตออกไปยังเป็นการตอบโจทย์ข้อกังขาในตัว Doge ณ ปัจจุบันอยู่พอสมควร เนื่องจากมันยังไม่ได้มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอีเทอเรียม (Ethereum) ที่โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาได้ต่อยอดการสร้างประโยชน์จากมันอยู่หลากหลาย อย่างการให้ยืมเงินระหว่างผู้ใช้เป็นต้น
อาชีช เบอร์ลา (Asheesh Birla) ผู้จัดการทั่วไปของ Ripple เคยให้สัมภาษณ์กับ CNBC ไว้ว่า เขามีข้อกังขาในมุมมองที่ Doge ไม่ได้มีทีมพัฒนาจริงๆ จังๆ มานานหลายปีแล้ว นั่นจึงทำให้มันไม่ได้มีฟังก์ชันการใช้งานออกมาที่หลากหลาย มากมายสักเท่าไร
ดังนั้นการที่มัสก์บอกว่าจะทำงานร่วมกับนักพัฒนาเพื่อเพิ่มยูสเคสการต่อยอดใช้ประโยชน์ของเหรียญหมาจึงทำให้นักลงทุนหลายรายรู้สึกมั่นใจ และเริ่มมองเห็นเค้าลางศักยภาพ Doge ในอนาคตแบบจางๆ จากเดิมที่ส่วนนี้อาจจะเคย ‘ว่างเปล่า’
ถึงอย่างนั้นก็ดี นักวิเคราะห์และผู้คร่ำหวอดหลายรายก็ยังมองว่า เหรียญ Doge อาจจะไม่ใช่ ‘ทางเลือกการลงทุนระยะยาว’ ที่ดีสักเท่าไร ทั้งในเชิงพื้นฐานของมัน ความยั่งยืน และความสามารถในการใช้งาน ณ วันนี้
แกร์ริก ฮิลแมน (Garrick Hileman) หัวหน้านักวิจัยจาก blockchain.com เคยประเมินอนาคตของ Doge เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนกับ The Wall Street Journal ไว้ว่า เหรียญหมาอาจมีแนวโน้มที่มันจะสูญมูลค่าถึง 90% ได้ง่ายๆ เลยด้วยซ้ำ
ขณะที่เดวิด โรเดก (David Rodeck) และเบนจามิน เคอร์รี (Benjamin Curry) แสดงทรรศนะผ่าน Forbes Advisor ว่า การลงทุนในเหรียญหมาใบหน้าเปื้อนยิ้มดูเป็นมิตรในระยะยาวอาจจะไม่ใช่ไอเดียที่ดี โดยเฉพาะเมื่อมองจากการที่จำนวนของมันถูกขุดออกมาเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการจำกัด ต่างจากบิตคอยน์ตรงที่มูลค่าเพิ่มขึ้นเพราะระบบและกลไกของมันที่มีจำนวนเหรียญอยู่อย่างจำกัด และอุดได้ทุกๆ ช่องโหว่
‘มันมีมูลค่า ก็เพราะว่าเราเชื่อแบบนั้น มันถึงได้มีมูลค่าจริงๆ’
นั่นก็คือภาพเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหรียญหมาน้อย Doge ในวันนี้ที่คนเชื่อว่ามันมีมูลค่า
เพราะเราเชื่อว่ามันมีมูลค่า มีราคา มันถึงได้มีมูลค่า และเพราะเราเชื่อว่ามีคนที่พร้อมจะควักกระเป๋าตังซื้อมัน ราคาของมันจึงพุ่งไปตามความพึงพอใจของผู้ซื้อ ผู้ขาย และกลไกตลาด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจจะมีมูลค่าจริงๆ หรือไม่มีเลยก็ได้
ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท StockRadars ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปรากฏการณ์ Doge นั่นมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ GameStop ทั้งในแง่ความดึงดูด แบรนดิ้งที่ดี และการที่คนให้ความสนใจกันเยอะ
“ดังนั้นเรามอง Doge ในมุมของนักลงทุนวันนี้จึงไม่ได้มองที่เรื่องพื้นฐานของมันอีกแล้ว แต่ออกจะมองคล้ายๆ เป็นเรื่องเชิง Emotional ด้วยซ้ำ ราคาของมันจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่ที่ว่า ‘คนเชื่อในตัวมันมากหรือน้อยแค่ไหน’ บางทีตลาดอาจจะไม่ได้ต้องการเหตุผลสักเท่าไร
“แต่ส่วนตัวผม ไม่อยากให้นักลงทุนมอง Doge เป็นการลงทุนระยะยาว สมมติว่าอยากซื้อหวย เสี่ยงโชค Doge อาจจะสนุกกว่า”
ไม่เพียงเท่านั้น ธีระชาติยังมองไม่ต่างจากผู้เขียนในมุมมองที่ว่า เคสของ Doge ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของเหรียญใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ได้มีพื้นฐานที่แน่นสักเท่าไร แต่มีความหวือหวา น่าสนใจ เสียดสี และเล่นกับกระแสความสนใจของคน หรือนักลงทุน ณ เวลานั้นได้ดี กลายเป็นสิ่งที่อยู่ๆ คนก็ให้ค่าขึ้นมา
เช่น กรณีตัวอย่างของ ‘ลุงตู่คอยน์ (TooCoin)’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ โดยอ้างว่าจะนำเงินทุนที่ได้ไปสนับสนุนด้านการกุศล และเหรียญ TONY ที่มาจาก Tony Woodsome หรือ ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังมีเหรียญมีมอีกมาก เช่น ElonSperm, TrumpCoin, PutinCoin, Shiba Inu ที่อาจเกิดขึ้นมาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ (หรือบางรายอาจจะเข้าข่ายการ Scam)
อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าประเด็นนี้อาจจะไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับวงการคริปโตฯ สักเท่าไร เนื่องจากที่ผ่านมา ก่อนที่เหรียญดิจิทัลจะได้รับการยอมรับจากกระแสหลัก เหรียญประหลาดๆ ก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้รับการจับจ้องมากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่คนให้ความสนใจมากขึ้น
“ยิ่งดีเสียอีก นักลงทุนมือใหม่ที่เข้ามาในตลาดนี้เขาก็อาจจะต้องระวังตัวมากขึ้นเป็นพิเศษ เหมือนมีวัคซีนป้องกัน ต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนเริ่มลงทุน ไม่อย่างนั้นความคาดหวังมันอาจจะผิดๆ เช่น ขายบ้าน ขายรถมาลงทุนหมดหน้าตัก”
แต่สิ่งที่น่าจับตาก็คือ กรณีการปั่นราคาเหรียญต่างๆ โดย อีลอน มัสก์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ควรตำหนิมากๆ เนื่องจากในวันนี้ตลาดคริปโตฯ ยังไม่มี Regulator เหมือนๆ กับตลาดหุ้น ดังนั้นมัสก์จึงสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเผชิญกับบทลงโทษใดๆ ก็ตาม มิหนำซ้ำยังมีนักลงทุนหลายรายที่ต้องเดือดร้อนจากการกระทำของเขา
“การที่เขาให้เหตุผลว่า บิตคอยน์เปลืองไฟ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ คนระดับเขามีเหรอที่จะไม่รู้ตั้งแต่วันแรก (Day One) ในเรื่องพวกนี้
“สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ การจัดการกับคนแบบมัสก์ มันจะมีรูปแบบหรือวิธีการอย่างไรในอนาคต ไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก เพราะตลาดคริปโตฯ ไม่ได้มีหน่วยงานกำกับ ควบคุมหรือเอาผิดแบบที่มัสก์โดนจาก ก.ล.ต. มันไร้ขอบเขตมากๆ หรือจริงๆ โลกเราตอนนี้ไม่ได้ต้องการ Regulator แบบเดิมๆ อีกแล้ว แต่จะต้องมาใช้วิธีการแบบ Self Regulated ที่ทุกคนจะต้องระวังตัวด้วยตัวเองแทน” ธีระชาติกล่าว
ไม่มีใครรู้เลยว่า ปีหน้า สัปดาห์หน้า อีกสองวันข้างหน้า พรุ่งนี้ หรือแม้แต่อีกเสี้ยววินาทีข้างหน้า มัสก์จะออกมาพูดอะไรอีกหรือเปล่า ราคาเหรียญหมาน้อย Doge จะวิ่งขึ้นหรือวิ่งลงอีกแค่ไหน ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดหรือเปล่า
ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำให้ดีก็คือการลงทุนด้วยความระมัดระวัง ศึกษาหาความรู้อย่างเข้าใจมากเท่าที่จะทำได้ ตื่นตัวและรอบคอบมากที่สุด เพราะไม่มีอะไรที่แน่นอนบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะคริปโตฯ
ใครจะไปรู้ว่า จู่ๆ วันหนึ่งมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตจะมีราคามากถึงขนาดนี้
และก็เช่นกัน ในอนาคตข้างหน้า มันอาจจะไม่มีมูลค่าสักเซนต์เลยก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่ามันจะสูญค่าไปเมื่อไร
สติ การติดตามข้อมูลข่าวสาร และความเข้าใจในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง:
As part of their spo…
This website uses cookies.