‘อุปกรณ์อัจฉริยะ’ ที่เกินความพอเพียง แต่กลับล้วง ‘ข้อมูลส่วนตัว’ เรา

29 มีนาคม 2564
| โดย ธนชาติ นุ่มนนท์ | คอลัมน์ Think Beyond

ปัจจุบันอุปกรณ์ต่างๆ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหลายอย่างเริ่มเป็นระบบอัจฉริยะ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากขึ้น แล้วเหล่านี้เกินความจำเป็นหรือไม่? และผู้ใช้จะสูญเสียข้อมูลความเป็นส่วนตัวหรือไม่?

ยุคที่เครื่องไมโครเวฟออกมาใหม่ๆ เราจะเห็นว่าแต่ละรุ่นพยายามเสนอระบบการทำงานแบบอัตโนมัติมากมาย มีทั้งการตั้งเวลาอุ่นอาหารล่วงหน้าได้ มีระบบให้เลือกสารพัดว่า จะอุ่นอาหารอะไร ทำอะไรได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งช่วงแรกผู้บริโภคพยายามเลือกซื้อเครื่องที่มีฟังก์ชันต่างๆ มากมายใช้ แต่สุดท้ายผู้บริโภคก็พบว่า สิ่งที่ใช้งานหลักมีเพียงแค่อุ่น หรือปรุงอาหารแบบง่ายๆ ส่วนระบบอัตโนมัติที่มีมาให้เราแทบไม่เคยใช้งาน ฟังก์ชันที่มีมาให้มากมายเกินความพอเพียงที่เราต้องการในชีวิตประจำวัน

ผมเริ่มรู้สึกแบบเดียวกันกับยุคปัจจุบัน ที่มีอุปกรณ์ส่วนตัว และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านหลายอย่างที่เป็นระบบอัจฉริยะ เป็นระบบ Internet of Thing และมีระบบเอไอฝังอยู่ สามารถเชื่อมต่อและดูข้อมูลต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนได้ ทุกวันนี้ผมใช้อุปกรณ์เหล่านี้จำนวนมาก เช่น สมาร์ททีวี นาฬิกาอัจฉริยะ รถยนต์ เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่มีตั้งแต่เซ็นเซอร์ติดประตู หน้าต่าง วัดอุณหภูมิ จับการเคลื่อนไหว กล้อง CCTV หรือแม้แต่กาต้มน้ำและหม้อหุงข้าวก็ยังเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ รวมแล้วรอบๆ ตัวมีอุปกรณ์เหล่านี้มากกว่า 50 ชิ้น

ผมเริ่มถามตัวเองว่า มันเกินความจำเป็นหรือไม่ ช่วงแรกที่ซื้อมาก็อาจพยายามใช้งานบ้างลองใช้ฟังก์ชันต่างๆ พยายามเชื่อมโยงอุปกรณ์กับมือถือ เพื่อดูข้อมูลต่างๆ แต่พอเวลาผ่านไปเราเริ่มกลับมาใช้งานปกติในรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่ต้องการความเป็นอัจฉริยะ ทุกวันนี้บางอุปกรณ์ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและมือถือมาระยะหนึ่งแล้ว

หลอดไฟอัจฉริยะที่ควบคุมการเปิดปิดได้ เลือกสีต่างๆ ได้ ที่เคยใช้มือถือสั่งงานปิดเปิดปรับแสงสีต่างๆ ปัจจุบันก็เดินไปเปิดปิดสวิทช์แบบปกติ ไม่ต้องใช้งานผ่านมือถือ เครื่องชั่งน้ำหนักก็ใช้วัดน้ำหนักตามปกติไม่ได้เชื่อมโยงกับมือถือ หม้อหุงข้าวหรือกาต้มน้ำก็ใช้งานลักษณะตามปกติที่ใช้กัน ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเวลาล่วงหน้าเพื่อหุงข้าว จะดีขึ้นตรงที่มีข้อความส่งมาเตือนทางมือถือเมื่อหุงข้าวเสร็จ ฟังก์ชันหลายอย่างที่อุปกรณ์เหล่านี้มีแม้ดูดี แต่บางครั้งก็เกินความจำเป็นของการใช้งานปกติ

สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น คือ อุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งข้อมูลไปยังเครื่องแม่ข่ายของเจ้าของผลิตภัณฑ์ และเก็บข้อมูลต่างๆ ด้านการใช้งานอุปกรณ์ได้มากมาย เช่น ส่งข้อมูลภายในบ้านว่า เราเปิดปิดอุปกรณ์ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของเราตั้งแต่การออกกำลังกาย น้ำหนัก ความดัน การนอน ยิ่งถ้าบ้านใดมีอุปกรณ์ประเภทลำโพงอัจฉริยะที่สนทนาด้วยเสียงกับเราได้อย่าง Amazon Alexa และ Google Assistant ก็จะสามารถจดจำเสียง และพฤติกรรมต่างๆ ของเราได้ว่าเคยถามอะไ

บ้านอัจฉริยะที่มีระบบเซ็นเซอร์ตามประตู หน้าต่าง กล้อง CCTV หลอดไฟอัจฉริยะในมุมหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้เราทราบว่า ประตู หน้าต่าง เปิดปิดอย่างไร หรือภายในบ้านเคลื่อนไหวอย่างไร แต่ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บขึ้นระบบคลาวด์ ความเป็นส่วนตัวสูญเสียไป แม้แต่การเลือกดูทีวีที่เราใช้ระบบทีวีอัจฉริยะเลือกชมช่องทีวีสตรีมมิ่งต่างๆ ข้อมูลการดูภาพยนตร์ก็ถูกเก็บไปหมดเช่นกัน

Internet of behavior คือ สิ่งหนึ่งที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในโลกกำลังแข่งกัน เพื่อใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเก็บพฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้า เพื่อให้ทราบว่าเราชอบอะไร เราต้องการซื้อสินค้าอะไร โดยใช้เอไอมาวิเคราะห์ความต้องการของเราจากข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เก็บมาจากการใช้บริการออนไลน์ของเรา อาจมาจากการซื้อของออนไลน์ การชมภาพยนตร์ผ่านระบบทีวีสตรีมมิ่ง การฟังเพลงออนไลน์ การเล่นโซเชียลมีเดีย

แต่เราจะพบว่า การใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ จะมีการส่งข้อมูลไปให้เจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างอัตโนมัติ จากการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเรา และเป็นข้อมูลปริมาณมหาศาลกว่าข้อมูลการใช้บริการออนไลน์เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้จึงมีข้อมูลมากกว่าและสามารถถูกนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของเราได้ดีกว่าการซื้อสินค้าหรือการใช้บริการออนไลน์

อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ แม้จะทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าสร้างความสะดวกสบายให้ชีวิตเรามากขึ้น แต่ความเป็นจริงเราอาจใช้ฟังก์ชัน ที่มีมาเพียงเล็กน้อย และอุปกรณ์อัจฉริยะหลายอย่างมีฟังก์ชันเกินความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่กลายเป็นว่าเราต้องสูญเสียข้อมูลความเป็นส่วนตัวออกไปให้ผู้ให้บริการ จึงคิดว่าทางที่ดีที่สุดเราควรเลือกใช้อุปกรณ์เหล่านี้เท่าที่จำเป็นจริงๆ และเลือกเฉพาะอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อความปลอดภัยเรื่องทรัพย์สินหรือสุขภาพของเราเท่านั้น