อีเวนต์ใหญ่จ่อคิวรับเปิดประเทศ สัญญาณบวกฟื้นบรรยากาศใช้จ่าย-ลงทุน – ประชาชาติธุรกิจ

Photo by Alex OGLE / AFP
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

ภายหลังการคลายล็อกดาวน์ในรอบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุด เปิดให้กิจการ/กิจกรรม สามารถกลับมาดำเนินการให้ได้อีกครั้ง ตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มมีทิศทางตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากมีผู้ติดเชื้อระดับ 2 หมื่นรายต่อวัน และผู้เสียชีวิตระดับ 200 รายต่อวัน ลดลงเหลือผู้ติดเชื้อราว 1 หมื่นรายต่อวัน และผู้เสียชีวิตระดับ 100 รายต่อวัน

แม้จะยังคงเป็นตัวเลขอัตราที่สูงอยู่แต่การตัดสินใจที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างสาธารณสุข และเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่รัฐบาลมองเห็นจึงกำหนดแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดตามแผนดังกล่าวในช่วงวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันและใช้ชีวิตกับโรคโคโรนาไวรัส 2019 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าโรคดังกล่าวจะอยู่ไปเป็นเสมือนหนึ่งโรคพื้นฐานในชีวิตเราอีกหลายปี

สัญญาณดังกล่าวและการตัดสินใจเปิดประเทศทำให้เหล่าบรรดางานที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก (งานอีเวนต์) ต่างเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในการสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจรวมถึงการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งงานมหกรรมและงานจัดแสดง ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นได้เป็นอย่างดี แต่จะต้องจัดขึ้นภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันเข้มงวดรูปแบบใหม่ (new normal)

หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมการจัดงาน (อีเวนต์) อย่าง เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า อุตสาหกรรมการจัดงานอีเวนต์ภายหลังการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 4/2564 ที่จะถึงนี้

แม้จะยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นการกลับมาได้หรือไม่ แต่จะเป็นการฟื้นตัวของอีเวนต์กลางแจ้ง (เอาต์ดอร์) ซึ่งสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยว ขณะที่งานมหกรรมและงานจัดแสดงจะทยอยฟื้นตัวตามลำดับ

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง เห็นได้จากตัวเลขคนไทยวันนี้ฉีดวัคซีนไปมากกว่า 40 ล้านโดส ควรถึงเวลาเปิดประเทศ โดยการจัดงานอีเวนต์จะขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ ซึ่งส่วนตัวอยากให้มีการปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิม ไม่ใช่ยังต้องปฏิบัติตนเหมือนตอนยังไม่มีวัคซีน ซึ่งต้องออกจากนิวนอร์มอล เพื่อที่จะไปสู่แบ็กทูนอร์มอล”

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอีเวนต์ในช่วงโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2564 ไม่สามารถจัดงานใด ๆ ได้เลย โดยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่สามารถจัดงานได้ในระดับราว 20% ทำให้ปีนี้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมนี้มีการปิดกิจการ และการปรับลดพนักงาน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ

สำหรับงานอีเวนต์ใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยอินเด็กซ์เป็นผู้ดำเนินงานนั้นมีดังนี้

1.สปอร์ต & ไลฟ์สไตล์ อีเวนต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ จัดลานกิจกรรมทั้งบนบกและในน้ำ เปิดลานสเกตรูปแบบใหม่พร้อมกราฟฟิตี้ กิจกรรมพายเรือคายัก หรือซับบอร์ด เจาะกลุ่มสายลุยที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง ท่ามกลางธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองโบราณ

นอกจากนี้ยังมีอีเวนต์แข่งวิ่ง 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร ในระยะเวลาจำกัดแค่ 1 ชั่วโมง และครั้งแรกของการแข่งขันความเร็ว กับอุปกรณ์ที่มีล้อไม่ว่าจะเป็น roller skate, skate board หรือ scooter, one wheel ก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ อีเวนต์จะทำให้เมืองโบราณ มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ จากเดิมที่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด

2.เฟสติวัลงาน Forest of Illumination ครั้งแรกกับงานแสดงแสงสีบนผืนป่ายามค่ำคืน ณ คีรีมายา จังหวัดนครราชสีมา จัดระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564-16 มกราคม 2565 สำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบผจญภัยกับเส้นทางการเดินป่าครั้งใหม่ 7 จุดหมาย เปิดขายบัตรเข้างาน ราคา 300 บาท

3.เฟสติวัลงาน Thailand International Lantern & Food Festival เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ ช่วงเทศกาลลอยกระทง จัดระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม 2564 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ครั้งแรกของเทศกาลประดับโคมและอาหารนานาชาติ เพื่อเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้กับเมืองโบราณ

4.เมืองโบราณ ไลท์ เฟส 2565 “3 อาณาจักรแห่งความรุ่งโรจน์” นำเสนอในรูปแบบเดอะมิวสิคัล ผ่านแสง สี เสียง และมัลติมีเดีย ถ่ายทอดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-1 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

อย่างไรก็ตาม งานต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ถูกวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงการเปิดประเทศและการคลายล็อกดาวน์โดยงานอีเวนต์ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

เนื่องจากงานอีเวนต์เป็นการสร้างสีสันให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และมีแผนการจัดงานมากไม่น้อยกว่า 10 งานในปี 2565

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

ขณะที่จากการสำรวจของดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ ถึงงานอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ได้เคาะวันและกำหนดการจัดงานเป็นที่เรียบร้อยก็มีมากมายพอสมควรแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบวกและทิศทางการใช้เงินลงทุนไม่ว่าจะเป็นการจัดงานก็ดี หรือจะเป็นการสร้างบรรยากาศสอดรับสัญญาณการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

เริ่มต้นที่งานอีเวนต์ของสถานที่จัดงานอย่าง อิมแพ็ค เมืองทองธานี จับมือกับภาครัฐและพันธมิตรธุรกิจไทยและต่างประเทศ จัดงานแสดงสินค้าเจรจาธุรกิจเพื่ออุตสาหกรรมแสงสว่างและระบบอัจฉริยะ LED Expo Thailand + SMARTECH ASEAN

งานเดียวที่รวมเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ ภายใต้ธีม “เชื่อมต่อนวัตกรรมไฟฟ้าและแสงสว่างเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

วันที่ 9-17 ตุลาคม 2564 จะมีการจัดงาน “ONE STOP SHOPING EXPO” งานที่รวมความครบวงจรไว้ในที่เดียวอย่าง สินค้าบ้านและเฟอร์นิเจอร์, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, มหกรรมงานวิวาห์, งานท่องเที่ยว และสินค้าแฟชั่นและความงามไว้ในที่เดียว ซึ่งจะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฮอลล์ 9-11

วันที่ 21-24 ตุลาคม จะมีการจัดงาน “The Foodism Show-All About Diet & Healthy Eating” งานรวมตัวสุดยิ่งใหญ่ที่รวบรวมอาหารและวัตถุดิบสำหรับคนรักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งจัดโดยอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เมเนจเม้นท์ และได้รับการสนับสนุนโดยสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และสมาคมอาหารเสริมและอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฮอลล์ 8

วันที่ 20-22 ตุลาคม 2564 จะมีการจัดงานในรูปแบบ virtual สำหรับ Medlab Asia Health & Asia Health 2021 งานแสดงเครื่องมือแพทย์และประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อรวบรวมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจ และการประชุมวิชาการที่มีคะแนนศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ภายในงานเดียว

ด้านศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จะมีการจัดงาน Pumps & Valves Asia 2021 นำเสนอแพลตฟอร์มหลักสำหรับผู้ผลิตและผู้รวมโซลูชั่นของปั๊มและวาล์วที่ต้องการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้สูงสุดและใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเติบโต เพื่อแสดงปั๊ม วาล์ว สำหรับผู้เข้าชมงานคุณภาพและผู้ซื้อจากทั่วประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 14-16 ตุลาคม 2564 ที่ EH 101-104 เป็นต้น

นอกจากนี้ งานจัดแสดงสินค้าและงานมหกรรมที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ก็เริ่มเห็นสัญญาณบวก อาทิ การออกบูธงานแสดงรถยนต์, งานมหกรรมขนมไหว้พระจันทร์, งานรวมอาหารขึ้นชื่อประจำถิ่น และอื่น ๆ

นับเป็นทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนจัดอีเวนต์และทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามาราว ๆ เกือบ 2 ปีแล้ว

ซึ่งผลลัพธ์ความสำเร็จของการจัดงานในลักษณะนี้ในยุคนิวนอร์มอล (อีกครั้ง) คือ ผู้ประกอบการได้ค้าขาย ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ หรือเกิดการจับคู่ธุรกิจ เกิดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจบนความปลอดภัยปลอดโรคได้ ทุกฝ่ายก็น่าจะเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สว่างชัดมากขึ้นแล้ว