Toyota ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลก ถูกมองว่าจะตกชั้นและกลายเป็นค่ายรถยนต์ที่ล้าหลัง เนื่องจากปรับตัวช้าเกินไปสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota กลับไม่เคยแสดงความหวั่นไหวต่อความท้าทายดังกล่าว และล่าสุดเขาได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลว่าทำไม Toyota ถึงไม่ทุ่มเม็ดเงินพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สู้กับคู่แข่ง
Toyota Motor ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ก่อนหน้านี้ได้เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนลงทุนเป็นเงิน 7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในช่วง 9 ปีข้างหน้า โดยจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานจากแบตเตอรี่ทั้งหมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายมองว่าจำนวนเงินดังกล่าวยังน้อยกว่าบริษัทคู่แข่งบางราย และยังไม่มากเท่าไร เมื่อพิจารณาจากขนาดการดำเนินงานทั่วโลกของ Toyota
อากิโอะ โทโยดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Toyota Motor เปิดเผยในงานประชุมตัวแทนจำหน่ายประจำปีของบริษัทในลาสเวกัสเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เขาไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมดจะถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็วตามที่ผู้กำกับนโยบายและบริษัทคู่แข่งคิด ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาดโครงสร้างพื้นฐาน สนนราคา และการตัดสินใจเลือกซื้อรถที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ล้วนเป็นตัวอย่างของอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
ซีอีโอ Toyota ยังเชื่อว่า การปฏิบัติตามกฎห้ามยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ภายในปี 2035 ที่แคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กประกาศว่าเตรียมบังคับใช้ ‘จะเป็นเรื่องยาก’ เหมือนกับรถยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์ (Fully Autonomous Cars) ที่ยังเป็นไปไม่ได้ตอนนี้ โดยประเมินว่ารถ EV ก็น่าจะใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะกลายเป็นกระแสหลัก
นอกจากนี้ โทโยดะยังมองว่าวัตถุดิบอย่างลิเธียมและนิกเกิลเกรดที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่จะ “ขาดแคลนอย่างมาก” ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาด้านการผลิตและซัพพลายเชน
“สำหรับผม การแข่งเพื่อชัยชนะหมายถึงการทำสิ่งต่างๆ ให้แตกต่างออกไป และการทำในสิ่งที่คนอื่นอาจสงสัย แต่เราเชื่อว่าจะทำให้เราอยู่ในวงจรผู้ชนะได้นานที่สุด”
โทโยดะกล่าวเสริมอีกว่า เป้าหมายของบริษัท ‘ยังคงเหมือนเดิม’ คือสร้างความพอใจให้กับลูกค้าในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการสร้างเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อน (Powertrain) ที่กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยระบบขับเคลื่อนดังกล่าวจะรวมถึงรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดอย่างรุ่น Prius, รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่น Mirai และรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 15 รุ่น ภายในปี 2025
ข้อมูลล่าสุดจากทางสมาคมตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แห่งญี่ปุ่น (Japan Automobile Dealers Association) ที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (3 ตุลาคม) พบว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 24.1% ในเดือนกันยายนจากปีก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตรารายปีครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยได้แรงหนุนจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของยอดขายโดยรวมยังคงอยู่ที่ประมาณ 70% ของยอดขายในปี 2019 ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด
ส่วนของยอดขายรถยนต์ใหม่ประจำเดือนกันยายนโดยไม่นับรวมรถยนต์ขนาดเล็ก เพิ่มขึ้น 17.8% มาอยู่ที่ 242,042 คัน นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 35.6% เป็น 153,121 คัน นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน
ข้อมูลของทางสมาคมฯ ยังพบว่า ยอดขายจากแบรนด์รถยนต์ 9 แบรนด์หลักของญี่ปุ่นต่างเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยยอดขายของ Toyota เพิ่มขึ้น 26.3% อยู่ที่ 113,328 คัน ขณะที่ยอดขายของ Mazda Motor เพิ่มขึ้น 60.5% อยู่ที่ 13,202 คัน
ด้าน Daihatsu Motor และ Suzuki Motor Corp. ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 54.0% และ 41.7% ตามลำดับ
เจ้าหน้าที่ของทางสมาคมฯ เปิดเผยว่า ผลกระทบด้านลบจากการขาดแคลนชิปและปัญหาคอขวดของอุปทานยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะดูว่าปัจจัยเหล่านี้จะหยุดส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ใหม่เมื่อใด
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP
As part of their spo…
This website uses cookies.