“ฝั่งขวาเจ้าพระยา”
“โชกุน”
จีนเป็นชาติแรกในโลก ที่สร้างสรรค์ “เงินกระดาษ” ขึ้นมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและชำระหนี้ตามกฎหมาย เมื่อประมาณปลายศตวรรษที่ 8
อีกหนึ่งพันกว่าปีต่อมา เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล จีนก็เป็นประเทศแรกอีกเหมือนกัน ที่เริ่มพัฒนา “เงินดิจิทัล” ออกมาใช้
ตั้งแต่วันที่ 12-25 เมษายนปีนี้ จีนจะทดลองใช้ “หยวนดิจิทัล” ที่มณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ โดยประชาชนจะได้รับหยวนดิจิทัลผ่านแอปในสมาร์ทโฟน ให้ไปใช้จ่ายในซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ เดือนถัดไป เมืองซิงเต่า ต้าเหลียนและซีอาน จะได้ทดลองใช้หยวนดิจิทัลเช่นเดียวกัน
การทดลองใช้ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว แบงก์ชาติจีนได้ “นำร่อง” ใช้หยวนดิจิทัลที่เมืองเซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปีหน้าที่กรุงปักกิ่ง จีนจะแจกหยวนดิจิทัลให้นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันได้ลองใช้ด้วย
ธนาคารแห่งประชาชนจีน ศึกษา และพัฒนาหยวนดิจิทัลมาหลายปีแล้ว หยวนดิจิทัล จัดเป็นเงินที่เรียกว่า CBDC หรือ Central Bank Dicital Currency คือ เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง แตกต่างจากคริปโตเคอเรนซี อย่างบิทคอยน์ ที่ออกโดยเอกชน คือ เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มีเงินแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ รองรับมูลค่า คือ 1 หยวนดิจิทัลเท่ากับ 1 หยวนปกติ และไม่มีความลับว่า ใครเป็นเจ้าของ เพราะติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินได้หมด
ในขณะที่การชำระค่าสินค้า บริการ ด้วยบัตรเครดิต หรือแอปพลิเคชั่นชำระเงิน อย่าง Alipay คือ การเปลี่ยนเงินแบบเดิม เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ เงินดิจิทัล เป็นการสร้างสกุลเงินขึ้นมาใหม่หมดเลย การโอนเงินระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือระหว่างบุคคล ไม่ต้องผ่านคนกลางคือ ระบบธนาคาร และไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตด้วย เพราะเงินดิจิทัลถูกเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ ไม่ได้อยู่ในบัญชีธนาคาร
จีนพัฒนาหยวนดิจิทัลขึ้นมา มีเป้าหมายหลักคือ ลดอำนาจ อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ครองโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามเพิ่มบทบาทเงินหยวน ในระบบการเงินโลก แต่แข่งกับดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ เพราะความเชื่อมั่นของดอลลาร์สหรัฐมีสูงมาก
เมื่อแข่งขันกันในเวทีที่มีอยู่ไม่ได้ จีนก็ไปสร้างเวทีใหม่ เหมือนกับการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา เพราะไม่สามารถสู้กับผู้มาก่อนในอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้น้ำมันได้ ตอนที่บิทคอยน์เกิดขึ้นใหม่ๆ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่สนใจ ตอนที่เฟซบุ๊ก ประกาศว่า จะพัฒนาเงินดิจิทัล Libra ขึ้นมาใช้บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย เพราะจะมาแข่งกับดอลลาร์ แต่จีนสนใจ และให้ความสำคัญมาก ธนาคารประชาชนจีนถึงกับตั้งหน่วยงานขึ้นมาศึกษาพัฒนาเงินดิจิทัล จนสามารถนำออกทดลองใช้งานได้
อิทธิพลของเงินดอลลาร์ และระบบการเงินโลกที่เชื่อมโยงกัน โดยมีระบบการเงินสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง ถูกรัฐบาลอเมริกันใช้เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ในการแซงชันทางเศรษฐกิจ ประเทศ บริษัท หรือบุคคล ที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ละเมิดกฎหมาย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกใจอเมริกา
แครี่ ลัม หัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ ด้วยข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการปราบปราบผู้ประท้วง เธอต้องเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน เพราะถ้าอยู่ในบัญชีธนาคารจะถูกอายัดหมด ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่ธนาคารสหรัฐฯ ก็ต้องทำตามคำสั่งกระทรวงการคลัง
ประเทศที่สหรัฐฯ หมายหัวไว้เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ รวมทั้งผู้บริหารบริษัทเอกชน อย่างเช่น หัวเว่ย และผู้นำทางการเมืองอย่างสมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลายคนต่างตกเป็นเหยื่อการแซงชันของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผล เพราะอำนาจของเงินดอลลาร์ และเครือข่ายการเงินโลกที่อยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ
หยวนดิจิทัลและการโอนเงินระหว่างบุคคลได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านระบบโอนเงินสากล จะทำให้มาตรการแซงชันทางเศรษฐกิจของอเมริกา ในส่วนที่เกี่ยวกับการโยกย้ายเงิน ไม่มีน้ำยาไปโดยปริยาย
คุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งของเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลางคือ ถูกติดตาม ตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยธนาคารกลางหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจได้ ทั้งยังถูก “ตั้งค่า” การใช้เงินได้ด้วยว่า จะใช้เมื่อไร ใช้เพื่อเป้าหมายอะไร ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ก็ถูกใช้ป้องกันการฟอกเงิน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ได้เริ่มศึกษาการออกเงินดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว คือ โครงการอินทนนท์ โดยร่วมมือกับธนาคารฮ่องกง และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ออกประกาศความร่วมมือเพิ่มเติมกับสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารประชาชนจีน และธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ในโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ และเปลี่ยนชื่อโครงการจากอินทนนท์ เป็น Multiple Central Bank Digital Currency (m-CBDC) Bridge Project หรือ m-CBDC Bridge
As part of their spo…
This website uses cookies.