ส่องเทรนด์ “ธุรกิจทำเงิน” ปี 2566 “พลังงานหมุนเวียน-รถยนต์ไฟฟ้า-โซลาร์บ้าน” โตแรงเต็มคาราเบล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ราคาพลังงานฟอสซิลทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนอย่างรุนแรงและคาดการณ์ยังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น ผลักดันให้   “ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน”  กลาเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่มาแรงแซงทุกโค้ง ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ข่าวคราวกลุ่มทุนใหญ่น้อยทุ่มลงทุนในพรมแดนธุรกิจแห่งอนาคตใหม่นับเนื่องจากปี 2566 เป็นต้นไปมีความคึกคักอยย่างยิ่ง ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนรับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งธีมการลงทุนที่ยั่งยืน กระจายความเสี่ยง และมีโอกาสเติบโตในระยะยาว ชี้เป้าไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับ  รถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทาน (Electric Vehicle)   ที่ Goldman Sachs วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และ Deloitte ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% และ 29% ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า และจะมีอัตราเร่งตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูง คือ จีนและยุโรป  โดยการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานนั้นจะกระตุ้นการลงทุนนับตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่

 ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลท. มองว่าธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เป็นธีมการลงทุนอย่างยั่งยืนที่น่าสนใจในปี 2566 เนื่องจากการคาดการณ์ของ International Energy Agency พบว่าพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนที่ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2568 และคิดเป็น 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมด โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลงถึง 82% และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมจะลดลง 40 – 50% ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากเทคโนโลยีการแข่งขันและการประหยัดจากขนาดการผลิต ซึ่งในกลุ่มนี้โรงไฟฟ้าในยุโรปมีเสถียรภาพและงบดุลแข็งแรงที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุด

ทั้งนี้ การเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน สอดประสานไปกับการกำหนดนโยบายพลังงานของชาติ ตาม  แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 หรือแผน AEDP 2018 ฉบับล่าสุด ซึ่งผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580 และวางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 29,411 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 12,139 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์, ชีวมวล 5,790 เมกะวัตต์, พลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวมวล (น้ำเสีย/ของเสีย/พืชพลังงาน) 1,565 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 75 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,920เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 308 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 29,411 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน ตามแผนพลังงานแห่งชาติ 2022 (NEP2022) ซึ่งเป็นแผนใหญ่เพื่อขับเคลื่อนภาคพลังงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ค.ศ. 2065 – 2070 วาดเป้าส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน เช่น เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียวด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ตามนโยบาย 30@30 ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่าร้อยละ 30 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน

นอกจากนั้น ยังปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามแนวทาง 4D1E คือ Decarbonization : การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization : การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

 ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนแข่งเดือด

ตลาด “โซลาร์บ้าน” มาแรง 

แผนพลังงานของชาติที่ตั้งเข็มมุ่งสู่ทิศทางพลังงานสีเขียว กระตุ้นให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนอย่างล้นหลาม ดูได้จากข้อเสนอขายไฟฟ้ารอบล่าสุดที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศจัดซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง โดยกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์

หลังปิดจ๊อบยื่นคำขอผลปรากฏว่ามีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า รวม 670 โครงการ แบ่งเป็น 1. ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และ 2. ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 17,400 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าที่กำหนดรับซื้อกว่า 3 เท่าตัว

 สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ รอบแรก มีจำนวน 523 โครงการ ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายรายผ่านเกณฑ์ เช่น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), บมจ.บีพีซีจี (BCPG), บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC), บมจ.เด็มโก้ (DEMCO), บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA), บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE), บมจ.บ้านปู (BANPU), บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC)  

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาประเมินตามเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ โดยคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการ และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 22 มี.ค. 66

นอกจากการแข่งขันชิงเค้กพลังงานหมุนเวียนข้างต้นอย่างล้นหลามแล้ว พรมแดนธุรกิจพลังงานสีเขียวยังดึงดูดกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาลงทุนกันคึกคัก เช่น กลุ่มเอสซีจี, ปตท., ไออาร์พีซี, เอ็กโก้, กัลฟ์ ฯลฯ เป็นต้น

 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส  กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า การพัฒนาโซลูชันพลังงานสะอาดของเอสซีจี ประกอบด้วย พลังงานชีวมวลคุณภาพสูงจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ โดยพัฒนาเป็นพลังงานชีวมวลอัดเม็ดเพื่อใช้แทนถ่านหิน, พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์ รูฟ สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มโรงแรม และห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพลังงานลม และอยู่ระหว่างการศึกษาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) ปัจจุบันเอสซีจีมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดกว่า 195 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี

ทั้งนี้ เอสซีจี มีความพร้อมเสนอโซลูชั่นพลังงานสะอาดครบวงจรให้แก่ลูกค้า ภายใต้บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ซึ่งมีนวัตกรรมเด่นสำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ Smart Grid Smart Platform เครือข่ายอัจฉริยะจัดการซื้อ-ขายพลังงานสะอาดระหว่างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมภายในกริดเดียวกัน และนวัตกรรมแบตเตอรีกักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานความร้อน ใช้กักเก็บความร้อนไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด ป้องกันปัญหาพลังงานขาดแคลน ทั้งยังลงทุนต่ำกว่าแบตเตอรีลิเธียมไออนและมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานสูงกว่า

เอสซีจี ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกเป็น 40-50% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตซีเมนต์ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ในปี 2030 และขยับสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2050

ทางด้าน ปตท. ินายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ิประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนธุรกิจพลังงานสะอาดว่า ปตท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน ระหว่าง บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) ประเทศซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในช่วงการประชุมเอเปค 2022 เมื่อปลายเดือนพ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องในไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.52 แสนล้านบาท เพื่อตอบรับเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก อีกทั้งยังถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065

ขณะที่ ิบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPCิ ในเครือ ปตท. ทุ่มการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2023-2027) รวม 36,456 ล้านบาท เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจปัจจุบันและต่อยอดธุรกิจใหม่ โดยการพัฒนาและแสวงหาโอกาสจากธุรกิจใหม่ตามยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ผ่าน 5 กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง

เช่น ธุรกิจ Health and Life Science, ธุรกิจ Circular Business หรือการนำวัสดุกลับมาใช้หมุนเวียนและพลังงานทางเลือก, ธุรกิจ Future Energy การใช้พลังงานหมุนเวียนในเขตอุตสาหกรรมไออาร์พีซี เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ที่ลงทุนระยะแรกไปแล้ว 12.5 เมกะวัตต์ และจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 8.5 เมกะวัตต์, ธุรกิจEnergy Storage เช่น ผลิตภัณฑ์ Acetylene Black for Li-ion Battery และ UHMWPE ส่วนประกอบแบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วน  บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)’ หรือ เอ็กโก กรุ๊ป  ก็วางเป้าหมายลงทุนพลังงานหมุนเวียน โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็น 30% และลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน รวม 1,424 เมกะวัตต์ ทั้งจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 22% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 6,377 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป ลงทุนผ่านการถือหุ้น 17.46% ใน เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (APEX) ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินธุรกิจด้วยการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงดำเนินการก่อสร้างหรือเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วขายโครงการที่พัฒนาเหล่านั้นให้แก่นักลงทุนอื่น ส่วนในไทย เอ็กโก กรุ๊ป มีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และระบบแบตเตอรีกักเก็บพลังงาน และศึกษาพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก และอยู่ระหว่างนำร่องโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้นในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าคลองหลวงจ.ปทุมธานี กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเห็นโครงการเป็นรูปธรรมในปี 2566 และคาดว่าจะสามารถขยายกำลังผลิตได้ถึง 30 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 เป็นการตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

สำหรับ GULF ผู้นำในธุรกิจไฟฟ้าของประเทศไทย นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปี 2566 ราว 30,000-40,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้รอผลการประมูลอีกหลายโครงการในช่วงเดือนมี.ค. ปีหน้า และยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มโครงการที่สหรัฐฯและยุโรป

ไม่เพียงแต่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่อยู่ในเทรนด์ขาขึ้น ตลาดโซลาร์บ้านก็มีแนวโน้มสดใสเช่นเดียวกัน โดยทุกวันนี้ต้นทุนโซลาร์บ้านลดลงมากกว่า 90% และอีก 5 ปี พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์จะเป็นพลังงานทางเลือกอันดับ 1 ที่ทั่วโลกใช้สูงสุด ซึ่งแนวโน้มในการเติบโตของโซลาร์ปี 2566 นั้น มีปัจจัยผลักดัน 3 ส่วน คือ แบตเตอรีซึ่งยังมีต้นทุนสูง การสนับสนุนเงินทุนสินเชื่อจากภาครัฐและเอกชน และการสนับสนุนด้านนโยบายจากรัฐ โดยเฉพาะ “ภาษี” ที่ต้องลุ้นกันปีต่อปี รวมทั้งนโยบายการขายไฟที่ผลิตจากโซลาร์ควรมีราคาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันครัวเรือนจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาทกว่า แต่ประชาชนขายไฟฟ้าจากโซลาร์ได้แค่ 2.2 บาท

ขณะที่โซลาร์ภาคประชาชนในกลุ่มอสังหาฯ ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ จากภาพรวมประเทศไทยมีเกือบ 20 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าบ้าน 8 แสนหลัง มูลค่าตลาดราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ารัฐบาลมีนโยบายแบบรถอีวีช่วยลดภาษีจะช่วยขับเคลื่อนการใช้โซลาร์บ้านได้มากขึ้น

 รถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง

หันมาส่องอนาคตยานยนต์ไฟฟ้ากันบ้าง นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า แนวโน้มของตลาดรถ EV ในปี 2566 จะเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมียอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV อยู่ที่ 25,000-35,000 คัน ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับยอดจดทะเบียนใหม่ในช่วง 11 เดือนปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) อยู่ที่ 18,135 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 234.53% ด้วยปัจจัยสนับสุนจากมาตรการอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐและมาตรการทางภาษีที่มีผลถึงปี 2566 รวมทั้งการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุมมากขึ้นในหลายพื้นที่ และราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ของเดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 2,878 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 257%

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นหลังจากที่มีค่ายรถยนต์ระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตและตั้งสำนักงานขายในประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีการผลิตอีวีในไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป อีกทั้งมีรายงานวิเคราะห์ว่าราคารถอีวีใน 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2569 จะเทียบเท่าหรือต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบของแร่ลิเธียมในการผลิตแบตเตอรี ค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อการปรับขึ้นราคาขายรถยนต์ในปีหน้า รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นปัจจัยกังวลและความเสี่ยงลำดับต้นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือน พ.ย.2565 อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 26 โครงการ จาก 17 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 80,208 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินลงทุนหมุนเวียน) รวมจำนวนรถที่จะมีการผลิต 839,775 คัน โดยมีแบรนด์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว 11 บริษัท ครอบคลุมทั้ง Hybrid Electric Vehicle (HEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) , Battery Electric Vehicle (BEV) และ Battery Electric Bus

 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2566 ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะอยู่ที่ 9.3 แสนคัน โดยรถยนต์ไฟฟ้าจะขยายตัวสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 12% จากที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 9.7% ในปี 2565 เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความประหยัด รวมถึงมาตรการของรัฐในการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทำให้หลายค่ายรถยนต์ทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ออกมาจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงอันเป็นผลมาจากมาตรการของรัฐ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึงได้ 

สำหรับรัฐบาลเองก็มีความชัดเจนว่า ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี



 ความร้อนแรงของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กำลังเติบโตในอัตราเร่งตามเทรนด์ของโลกแห่งอนาคตที่มุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ