ส่งออก ก.ค.แรงต่อเนื่อง 20.27% จุรินทร์ ห่วงคลัสเตอร์โรงงานฉุดยอดไตรมาส 3 ประชาชาติ – ประชาชาติธุรกิจ

export-ส่งออก-pcc

ส่งออก ก.ค. แรงต่อเนื่อง 20.27% ดันยอดสะสม 7 เดือนทะลุ 16% พาณิชย์ยืนเป้าทั้งปีขยายตัว 4% “จุรินทร์”  ห่วงคลัสเตอร์โรงงานภาคการผลิตติดโควิด หวั่นฉุดส่งออกไตรมาส 3

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2564 มูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังขยายตัว 20.27% และถ้าหักสินค้าน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยจะยังขยายตัว 25.83% การนำเข้า ก.ค. 2564 มีมูลค่า 22,487 ล้านเหรียญ ขยายตัวต่อเนื่อง และการนำเข้า มีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45.94% ได้ดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านเหรียญสหรัฐ แนวโน้มที่ดีของภาคการผลิตดีขึ้น

สำหรับยอดส่งออกสะสม 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) 2564 มีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.20% การนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28.73% ดุลการค้า 7 เดือนแรก เกินดุล 2,622.62 ล้านเหรียญสหรัฐ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“ภาพรวมมีการขยายตัวทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม โดยตลาดสำคัญของไทยขยายตัวเกือบทั้งหมดปัจจัยเกื้อหนุนให้การส่งออกเดือนกรฎาคมเติบโตมาจากแผนการทำงาน กรอ.พาณิชย์เอกชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และตัวเลข Global manufacturing การจัดซื้อของโลกเดือนนี้มีตัวเลขที่เกินกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ก.ค. อยู่ที่ 54 และเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้เราแข่งขันได้ดีในตลาดโลก และสุดท้ายราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องเช่น เม็ดพลาสติกเคมีภัณฑ์ ส่งออกได้ราคาดีไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขส่งออกสะสม 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) จะขยายตัว 16% แต่กระทรวงพาณิชย์จะยังคงคาดการณ์ตัวเลขส่งออกทั้งปีว่าจะขยายตัว 4%

“เป้าหมายยังคง 4% เราจะพยายามทำให้เกิน 4% มาถึงวันนี้ 16.2% หากถามว่าทำไมไม่ปรับ ผมว่าเราไม่ต้องปรับหรอกเรามีเป้าที่สูงสุดที่ดีที่สุดอยู่แล้ว เป็นแค่ตัวเลขคาดการณ์อยู่แล้วไม่ต้องกังวลเรื่องนี้”

สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือนกรกฎาคมยังบวกต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 8 มูลค่า 3,843.44ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.3% โดยสินค้าส่งออกยังบวก เช่น ผักผลไม้สดแช่แข็ง 80.2% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ยางพารา ก.ค. ขยายตัว 121.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 62% ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวต่อเนื่อง 17.3% ขยายตัว 23 เดือนต่อเนื่อง ไขมันจากพืชและสัตว์ขยายตัว 51.7% และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 8.4%

สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 18% สินค้าที่ขยายตัวดี รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ก.ค. 39.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ผลิตภัณฑ์ยางพาราขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก ปิโตรเลียม อัญมณีและแลเครื่องประดับไม่รวมทองคำ คอมพิวเตอร์ และเหล็ก

ส่วนตลาดส่งออก ขยายตัวดีเกือบทุกตลาด ทั้งตลาดสหรัฐ 22.2% จีน 41% ญี่ปุ่น 23.3% อาเซียน ยุโรป อินเดียบวกมาก เช่นเดียวกับรัสเซีย และ CIS ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพมากในอนาคต แต่จะมียกเว้นเพียงตลาดออสเตรเลีย อัญมณี เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ที่ส่งออกลดลง แต่ยังมีสินค้ายานยนต์ยังไปได้ดี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อการส่งออกในช่วงไตรมาส 3-4 จากการระบาดของโควิดที่แพร่เข้าสู่โรงงานและภาคการผลิตก็อาจจะมีผลต่อตัวเลขส่งออกโดยเฉพาะปลาย กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน เพราะเป็นช่วงที่เราเริ่มล็อกดาวน์ โรงงานต้องปิด ทำให้ไม่สามารถผลิตและส่งอออกได้ต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์โควิดประเทศเพื่อนบ้าน ไทย ลาว และเวียดนาม ก็มีปัญหาเรื่องการส่งสินค้าขลุกขลักบางช่วงเวลาทำให้ต้องไป หรือการล็อกดาวน์มาเลเซีย ส่งผลกระทบการส่งออกยาง เพราะมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 และ 4 เข้าว่าเวลาไปเจอปิดทั้งแผง เค้าอาจจะปิดบางเซคชั่น ในไลน์ผลิตที่ยังดำเนินการได้ก็ดำเนินการ หรือบางจุดแรงงานกลับมา กระทบบ้างแต่ไม่รุนแรง เรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีมาตรการเรื่องนี้ในหลายมาตรการ เช่น บับเบิ้ลแอนด์ซีลและแฟคทอรี่ไอโซเลชั่น ก็ปิดบางส่วนบางโซน ก็ปรับตามความเหมาะสม มีการแนะนำทำ บับเบิ้ลฯ มาโคสชิ่งไม่ให้กระทบ จำนวนแรงงานที่ป่วยที่หายกลับมาทำงานก็จำนวนมากเค้าใช้เวลารักษาที่ 14-28 วัน

ส่วนปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ ภาพรวมในเชิงปริมาณกลับสู่ภาวะสมดุลแล้ว ตู้นำเข้ายังสูงกว่าส่งออก ประมาณ 1.2 แสนอีทียูทั้งปี อาจจะมีติดขัดบ้าง บางช่วงเข้ามาออกน้อย แต่ยืนยันว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีตู้ยังพอ ปัญหาใหญ่คือ ค่าเฟรทที่แพงมาก แต่ก็ไม่ได้แพงเฉพาะเรา เพราะมาถึงวันนี้ค่าระวางเรือแพงกว่าตู้ ก็เลยทำให้ราคาข้าวของเราในตลาดโลกรู้สึกแพง

แต่วันนี้เริ่มดีขึ้นจากสองปัจจัย คือ ปัจจัยหนึ่ง คือ แม้ค่าระวางเรือไม่ถูกลง แต่เรารวมกลุ่มกัน เช่น เอสเอ็มอี รวมตัวเช่าพื้นที่สเปชเรือ และขอให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประสานกับกรมการค้าต่างประเทศ รวบรวมความต้องการใช้พื้นที่เรือ เช่าเหมาลำเรือเข้ามา และปัจจัยบวกอ่อนค่าทำให้เราแข่งได้ช่วงครื่องปีหลังการส่งออกข้าวน่าจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้จัดเตรียมแผนเปิดตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง กำหนดไว้ชัดเจนหมดแล้ว แผน 6 เดือนหลังไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรมทั้งงานแฟร์ในและต่างประเทศ และทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ การสร้างความเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขายไม่ต่ำกว่า 45 ครั้ง การเข้าร่วมงาน Miror Miror นอกจากนี้ยังมีการจัดแฟร์ในไทยจัดเป็นเวอร์ชวล ดิจิทัล คอนเทน ไทยเฟค ก.ย.นี้ และการจัดงานแฟร์ในต่างประเทศ top Thai brand mini ไทยแลนด์วีคก็ยังจัด โดยเน้น จีน อาเซียน เอเชียใต้ และก็ปรับให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันแต่ละประเทศ

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงการแก้ปัญหาคลัสเตอร์โรงงานติดโควิดว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีมาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องทั้ง Bubble and seal และ Factory Isolation ทำให้ปิดเฉพาะบางส่วนไม่ต้องปิดทั้งหมด อีกทั้งยังมีแรงงานกลุ่มที่รักษาตัว 14-28 วัน แล้วสามารถกลับมาทำงานได้ ก็จะมีส่วนช่วยภาคการผลิตได้

สำหรับภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัว 25.8% ขยายตัวทุกตลาด ประกอบด้วย สหรัฐ 22.3% จีน 41.0% ญี่ปุ่น 23.3% สหภาพยุโรป (27) 20.9% อาเซียน (5) 26.9% CLMV 16.1%

2) ตลาดรอง ขยายตัว 27.6% ขยายตัวเกือบทุกกลุ่มตลาด ได้แก่ เอเชียใต้ 73.8% ตะวันออกกลาง 12.4% ทวีปแอฟริกา 17.9% ลาตินอเมริกา 93.5% และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS 53.0% ขณะที่ทวีปออสเตรเลียหดตัว 6.8% และ 3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 76.7%

ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 22.3% (ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 21.2%

ตลาดจีน ขยายตัว 41.0% (ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ยางพารา และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 27.2%

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 23.3% (ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองแดง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว14.0%

ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 26.9% (ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 8.6%

ตลาด CLMV ขยายตัว 16.1% (ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 17.9%

ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัว 20.9% (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 25.8%

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 73.8 %(ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 54.2%

ตลาดอินเดีย ขยายตัว 75.3% (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 57.4%

ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัว 6.8% (กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป) อากาศยาน และเครื่องซักผ้า เป็นต้น

ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 22.6%

ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว 12.4% (ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ข้าว และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 15.9%

ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัว 17.9% (ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 22.6%

ตลาดลาตินอเมริกา (47) ขยายตัว 93.5 %(ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาป เครื่องจักรกล และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 46.5%

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 53.0% (ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยางพารา เครื่องปรับอากาศ และผลไม้กระป๋องและแรรูป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 20.0%