สุพัฒนพงษ์ เร่งลงทุนปี 65 เล็งอัดแพ็คเกจกระตุ้นอีวีบูมเศรษฐกิจ – กรุงเทพธุรกิจ

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้นนำมาสู่การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 โดยหลังจากนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ และการลงทุน ซึ่งการลงทุนในรถ EV จะเป็นอีกคลื่นการลงทุนสำคัญของประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “Boost up Thailand 2022” จัดโดยเครือมติชน ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอกาสขยายตัวระดับ 5-6% หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2564 เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้กว่า 4% แต่เมื่อพบกับการระบาดทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักรัฐบาลต้องแก้ปัญหาหลายอย่าง เป็นการทำงานแข่งกับเวลา ก่อนที่จะควบคุมการระบาดได้ และเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.2564

สำหรับโอกาสของเศรษฐกิจไทยรัฐบาลพยายามสร้างระบบนิเวศน์ให้เอื้อกับการลงทุน และสร้างรายได้ใหม่ทางเศรษฐกิจในรูปแบบการพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งบางอย่างต้องใช้เวลาแต่เชื่อมั่นว่าจะเริ่มเห็นผลที่ดีมากขึ้นต่อเนื่อง เช่น การลงทุนที่เกิดจากนโยบายการกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น สนามบิน ท่าเรือ

“เริ่มเห็นผลได้ชัดเจนว่าการลงทุน 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีวงเงินถึง 5.2 แสนล้านบาท มากกว่าปี 2563 ทั้งปีที่มี 2.1 แสนล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท มากกว่าก่อนปีที่จะมีโควิด”

ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนในไทยจะชัดเจนขึ้นตามทิศทางการโยกย้ายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงและลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามทางการค้า โดยรัฐบาลเตรียมความพร้อมสร้างระบบนิเวศน์ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสของประเทศคือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาชุดมาตรการจูงใจใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ มีการลงทุนที่เตรียมเปิดตัวใน จ.นครสวรรค์ เป็นการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ที่เลือกไทยเป็นฐานการผลิตไบโอพลาสติกจากความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานและวัตถุดิบ โดยการตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกขนาดใหญ่ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งถือเป็นโรงงานไบโอพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในขณะที่การดึงบริษัทชั้นนำมาลงทุนในไทยมีสิ่งที่รัฐบาลผลักดันอีกเรื่องคือ การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2065 สอดคล้องจุดยืนประเทศต่างๆ 75% ทั่วโลก และเป็นเงื่อนไขที่ต่างชาติจะพิจารณามาลงทุนไทย เพราะหากปล่อยคาร์บอนสูงจะส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยถูกขึ้นภาษีหรือถูกกีดกันทางการค้าได้ 

นอกจากนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ใหม่ทดแทนการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการวีซ่า 4 ประเภทสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้ที่จะเข้ามาทำงาน และอยู่อาศัยในไทยในระยะยาว ครอบคลุมกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่มีความสามารถเฉพาะด้าน (Talent) โดยมีเป้าหมายที่ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาพำนักในไทย 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี จะเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย และสร้างรายได้จากชาวต่างชาติกลุ่มนี้ปีละ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประสบการณ์รับมือโควิด โดยเฉพาะช่วงที่ระบาดหนักหน่วงในเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลก้มหน้าทำงานแข่งกับเวลาจนสถานการณ์ดีขึ้น และเปิดประเทศได้ และพร้อมนำประสบการณ์ไปรับมือการระบาดครั้งต่อไป รวมทั้งที่ทำควบคู่กันคือ การสร้างโอกาส และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ บางเรื่องจะเป็นการเปลี่ยนแปลงช้าๆ แต่เชื่อมั่นว่าจะเกิดผลดีกับเศรษฐกิจระยะยาว”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “พลิกธุรกิจ สู้เศรษฐกิจหลังโควิด” ว่าในปีที่ผ่านมา ปตท.มุ่งปรับวิสัยทัศน์องค์กรสู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้สอดรับการดำเนินงานในอนาคต โดยมีแผนลงทุน 865,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2564-2568

รวมทั้งความร่วมมือของนานาประเทศมุ่งสู่ทิศทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เน็ต ซีโร) โดยกำหนดไว้ที่ 10-40 ปีข้างหน้า รวมถึงไทยประกาศเป้าหมายทำให้ได้ในปี 2065 ส่งผลให้บริษัทพลังงานชั้นนำทั่วโลกต่างมีแผนการปรับพอร์ตการลงทุนมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น 40% และอาจปรับเพิ่มขึ้นหลังการประชุม COP26 ในปีนี้

ทำให้บริษัท บีพี ยักษ์ใหญ่พลังงานของโลก สัญชาติอังกฤษ การปรับคาดการณ์ความต้องของน้ำมันโลก โดยระบุว่า จุดพีคของความต้องการใช้น้ำมันจะอยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถึงภายในปี 2025 แล้วลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นถึงจุดพีคในปี 2035 ในขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานฟอสซิลสะอาดที่สุด มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่เน็ต ซีโร

ด้วยเหตุนี้ ปตท.ในฐานะบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จึงปรับวิสัยทัศน์การลงทุนสู่พลังงานแห่งอนาคต และมุ่งสู่การเติบโตทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไกลกว่าพลังงาน โดยลงทุนด้านพลังงานแห่งอนาคตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ดังนี้ 

1.การลงทุนในโรงงานพลังงานลมนอกชายฝั่งกับ Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ในไต้หวัน 

2.การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับ Sheng Yang Energy ในไต้หวัน 

3.การซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทพลังงานหมุนเวียน Avaada Energy ในอินเดีย 

“การลงทุนในต่างประเทศเพื่อศึกษาองค์ความรู้ และต่อยอดความเชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้าโดยตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 12 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030 ซึ่งในปี 2020 ผลิตได้ 0.4 กิกะวัตต์”

ทั้งยังมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าซื้อกิจการ Allnex ต่อยอดธุรกิจ Coating Resins ด้านโลจิสติกส์ และด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ต้องพัฒนาตามเทรนด์โลกและเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก

พิสูจน์อักษร โดย….สุรีย์  ศิลาวงษ์