รายงานพิเศษ
เป้าหมายมีไว้พุ่งชน ตัวเลขจีดีพีโต 4% ในปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-ทีมเศรษฐกิจ หมายมั่นปั้นมือ ทั้งขาในประเทศ-เพิ่มกำลังซื้อ และขาต่างประเทศ เดินสายดึงดูดเอกชน “บิ๊กเนม” 40 กว่าบริษัท และอยู่ในคิวพบปะอีก 30-40 บริษัท
“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร” หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก-ทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ “ปักธง” 4 อุตสาหกรรม S-curve ได้แก่
1.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ และ
4.อุตสาหกรรมดิจิทัลคลาวด์
5 ปีหลุดกับดักรายได้ปานกลาง
“สุพัฒนพงษ์” ต้องการปลดล็อกกติกา-ระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อสร้างความสะดวก-ความเชื่อมั่น โดยนายกรัฐมนตรีให้นำแนวคิดกลับมาในเวลา 1 เดือน เพื่อจัดทำรายละเอียด จากนั้นจะทำให้เสร็จเร็วกลางปีอย่างช้าสิ้นปี’64
“ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ถ้าต้องการให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จีดีพีต้องโต 4% ขึ้นไป ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี ปี’70 เราจะพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นประเทศรายได้สูงในปี’80”
“สิ่งที่สำคัญ คือ การแก้ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการของรัฐส่งตรงไปถึงประชาชน สิ่งแรกคือเราต้องสร้างโอกาส”
“ควบคุมการระบาดของโควิด-19 รักษาฐานของประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารและเกษตร รักษาจุดแข็งเรื่องท่องเที่ยว จากนี้จะมีอุตสาหกรรมใหม่ อนาคตเกษตรกรรมและเทคโนโลยีจะวิ่งเข้าหากัน”
“เวลานี้เราอยู่ในช่วงทางแยก เมื่อเราทำ 4 อุตสาหกรรม S-curve และทั้งโลกเสร็จจะต่อยอดกันอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ ภาพจบยังต่อยอดได้อีกมากมาย ไม่มีใครพยากรณ์ได้”
“เพราะ 4 อุตสาหกรรม S-curve เป็นเรื่องใหม่ จะเปลี่ยนโลกขนาดไหน วันนี้ยังไม่เห็น end game ต้องไปดึงมาก่อน ต้องมีสิ่งเหล่านี้และขยายผล”
“ม.ล.ชโยทิต” อีก 1 คีย์แมน เล่าเบื้องหน้า-เบื้องหลังการเดินสายพบนักลงทุนขาใหญ่-เอกอัครราชทูตประเทศเป้าหมาย เพื่อชักจูงนักลงทุน ทิ้งเงินรายได้ 30 ล้านบาทต่อปี เพื่อมา “ช่วยชาติ”
“ท่านรอง (สุพัฒนพงษ์) ถามว่า อยากมาช่วยชาติไหม ผมก็เลยลาออกจากงาน ออกมาช่วยชาติให้ท่านรอง” และเขาเอ่ย “ประโยคแรก” ขึ้นทันที ว่า “เราพูดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กันมานานแล้ว แต่ขาดการลงมือทำ”
“สิ่งที่เราทำก่อนอื่นเลย คือ เอาแผนเก่ามานั่งดู ทำความเข้าใจ 12 อุตสาหกรรม S-curve ผมเป็นคนข้างนอก ทำงานภาคเอกชน ผมไม่เคยเห็นภาพรวมตรงนี้”
ในช่วงเริ่มต้นทำงาน ได้เอาแผนมาศึกษาและมาดูว่า ใน 12 อุตสาหกรรม S-curve มีอะไรที่เป็น priority บ้าง และมีการจ้างที่ปรึกษาชั้นนำของโลกอย่าง บริษัท แมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) เข้ามาช่วย
“เรื่องอะไรที่ประเทศไทยมีองค์ความรู้อยู่แล้วบ้าง พบว่าใน 12 อุตสาหกรรม มี 4 เซ็กเตอร์ที่ต้องพึ่งพาต่างชาติ วันนี้ที่พึ่งพาต่างชาติและแข่งขันกันมากที่สุด คือ รถยนต์อีวี (electric vehicle : EV) และอิเล็กทรอนิกส์”
“วันนี้เราเป็นฐานของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว 2.5 ล้านคัน แต่จะทำอย่างไรให้อีก 5-10 ปีข้างหน้า เราเป็นฐานผลิตอีวีต่อไป ไม่ใช่ เราเป็นฐานผลิตสุดท้ายของเครื่องยนต์น้ำมัน แล้วเขาจากไปประเทศอื่น”
ที่หยิบ 2 เรื่องนี้ขึ้นมาลำดับแรก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มี “ยอดส่งออกสูง” เป็นสัดส่วนสำคัญของจีดีพี 30% เป็นอุตสาหกรรมใหญ่มาก ต้องเข้าไปดูแลและพัฒนาต่อ
“เวลานี้เวียดนามเกิด เราจะจัดการกับเวียดนามอย่างไร เวียดนามจุดไฟไล่เราว่า แรงงานถูกกว่า ไม่เป็นไร เพราะเป็นวัฏจักรของการย้ายโรงงานที่ผลิตของโลก วันนี้เราต้อง move up the curve ทำอย่างไรให้จาก simply มาเป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ใน value chain ของอีวี”
จากนี้ทีมปฏิบัติการเชิงรุกจะไล่เรียง value chain ของ curve โดยคุยกับนักลงทุนที่อยู่ในไทย และคนที่ต้องการหนีจากจีนมาเพราะโควิด-19 ซัพพลายเชนของโลกดิสรัปต์กันหมด มี geopolitic-ภูมิศาสตร์การเมือง ระหว่างอเมริกากับจีนผสมโรง
โดยมี 3 อุตสาหกรรมแรกที่ต้องพัฒนา-ต่อยอด ได้แก่ 1.รถยนต์ เราเป็นเจ้าตลาด ซึ่งซัพพลายเชนกระทบไม่เต็มใบ หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น และในอนาคตจะพัฒนาเป็น “ยานยนต์ไร้คนขับ”
“ปตท.มีบุญมากที่ว่า ประเทศอื่น ๆ ทรัพย์สินที่กางออกมาแล้ว เป็นน้ำมัน แต่ของเรา 80% เป็นแก๊ส ดังนั้น 20% เท่านั้นที่ต้องปรับอย่างจริงจัง”
2.อิเล็กทรอนิกส์ จะทำอย่างไรให้เป็น “สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์” และ 3.เมดิคอล ทำอย่างไรให้เป็นศูนย์รวมของการผลิตยา-เครื่องมือแพทย์และผลิตบุคลากรเพื่อการรักษาสมัยใหม่
“4 อุตสาหกรรมต้องให้มาเกี่ยวไว้กับประเทศไทยให้ได้ วันนี้ทุกประเทศกำลังเกี่ยวอยู่ เวียดนาม อินโดนีเซีย แข่งกับเราทุกนาที ไม่เกี่ยวไว้ ไม่ได้”
“เราจะปรับเปลี่ยนมุมมอง ขัดเมืองไทยใหม่ ผูกโบใหม่ และเอาไปเกี่ยวกับต่างประเทศ”
ขณะที่เรื่องดิจิทัล 4.0 ต้องเริ่มจากคลาวด์เซ็นเตอร์-ดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะเป็นตัวส่งตัวสำคัญที่จะเปลี่ยน landscape ของ digitalization ของเมืองไทยให้เป็น “ถังข้อมูลอัจฉริยะ”
“ถังข้อมูลเราเวลานี้เหมือนถังขยะทั่วประเทศ กระจัดกระจาย จะทำอย่างไรให้เป็นถังอัจฉริยะนำข้อมูลไปใช้ได้ จะทำให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0”
หลังจากเข้าใจถ่องแท้แล้ว จึงเริ่มเดินสายพบสถานทูตทุกประเทศ ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมต่างประเทศ
“ม.ล.ชโยทิต” สวมวิญญาณอดีต “แบงเกอร์” ซื้อ-ขายหุ้น ขมวดปม-ผูกโบประเทศไทย แบกความหวังผู้ประกอบการทั้งไทย-เทศ ออกไปโรดโชว์
ทว่าเส้นทางเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนักลงทุนระดับโลกทุกเจ้ามี pain point และตั้งคำถามกับประเทศไทย “คำโต” ว่า ไม่มีแรงงานทักษะสูง-ติดเรื่องขั้นตอน-กฎระเบียบ
“เขาบอกว่า อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ไทยพูดถึงทั้งหมด ที่ไทยอยากจะทำ เมืองไทยไม่มีองค์ความรู้ โรงเรียนไม่ได้สอน มีแต่ปริญญาด้านบริหารเสียส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้ลงลึกถึงเทคนิคอุตสาหกรรมเหล่านี้”
อุปสรรคใหญ่ คือ เรื่องทักษะแรงงานขั้นสูง สามารถคุมงานได้ต้องมีคำตอบ ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องของ imigration เป็นเรื่องของคนมาทำงานมีเงื่อนไขมาก
“สิงคโปร์ เขาเปิดประตูเรื่อง immigration กับคนที่มีความรู้ความสามารถเพราะประเทศผลิตคนไม่ทัน”
ไม่ได้หมายถึงต้องเหมือนสิงคโปร์ แต่ถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้ สามารถนำคนมาถ่ายทอดความรู้ ให้กับเราได้ เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องแก้ควบคู่กันไป
จากการเดินสายพบปะสถานทูตหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศยุโรปที่รวยแล้ว อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่ค่อนข้างมั่งมี รวมถึงอเมริกา
เขาพบ “ผลพลอยได้” ว่า ทุกคนรักเมืองไทย และอยากจะเห็นเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของรีไทร์เมนต์ เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งด้านสาธารณสุข เรื่องการดูแลโควิด คนไทยน่ารัก ติดใจทุกครั้งที่มาเที่ยว แต่จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
“ปรากฏว่า มีรีไทร์ กับที่กินบำเหน็จ บำนาญรัฐบาลอยู่ 200 ล้านกว่าคน ก็เลยนั่งลองดูว่า ถ้าเกิดสนใจมาประเทศไทย 1 ล้านคน พวกนี้มีเงินเดือน ซึ่งเป็นบำเหน็จบำนาญที่ได้รับจากรัฐบาลอยู่ประมาณ 2-3 แสนบาท”
“ถ้าเอาเงินมาจากเขา 1 ใน 3 เข้าประเทศ หรือ 1 ล้านคน คนละ 1 แสนบาทต่อเดือน หรือคนละ 1.2 ล้านบาทต่อปี เท่ากับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี รายได้ 2 ล้านล้าน ใช้จ่ายในประเทศ เก็บภาษี VAT ได้เพิ่ม 2 แสนล้านบาทต่อปี”
“เงินต้น 1.2 ล้านล้านบาทที่นำมาใช้จ่ายในประเทศ ใช้จ่ายต่อต้องคูณ 2.5 เท่า เท่ากับมีเงินสะพัด 2.5 ล้านล้านบาท คูณภาษี VAT อีก 7% รัฐบาลก็จะจัดเก็บรายได้ 2 แสนล้านบาท”
“ผลจะทำให้เราฟื้นจากเศรษฐกิจทันที ไม่ต้องรอรากหญ้าฟื้น ไม่ต้องรอเอกชนใหญ่ ๆ มา แต่ขอให้เราเป็น host ที่ดี เป็นผู้รับแขกที่ดี เขาพร้อมที่จะมาอยู่ เพียงแต่ต้องดูแลเขาจริง ๆ ต้องมี one stop service”
ส่วนจะมีสิทธิซื้อที่ดิน-บ้าน และทำงานได้หรือไม่ ทดลองเปิดดูก่อน 3-5 ปี ตั้งเป้าเกิดให้ได้ในปีนี้ เหมือนผลไม้ที่สุกงอมมากในช่วงทดลองจะเป็นการหารือกันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)
ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มี one stop service ไม่เคยมีการไปคุยกันจริงจัง แต่ครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันระดับรัฐบาล
“เราจะดูให้ครบเลย ตั้งแต่ก้าวย่างแรกที่เขาคิดว่าจะมาเมืองไทย เขาจะได้รับความช่วยเหลือทันที จะดูแลให้อยู่อย่างมีความสุข จะดูแลเรื่องประกันสุขภาพอย่างไร จะดูแลการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร เป็นการประกาศกับต่างชาติ อันดับแรก คือ การเรียกเครดิตคืนกลับมา เพราะเรื่องนี้พูดมานานมากแล้ว แต่ไม่เคยทำได้”
“คนสวิสคนหนึ่งบอกกับผมว่า คุณรู้ไหม ฉันวันนี้รักประเทศไทยมากนะ ทนมา 7 ปี วันนี้เพิ่งได้เป็น resident แต่เป็น resident แล้วต้องถือว่า ฉันเป็นคนไทยแล้ว”
“ฉันอยู่เมืองไทยได้ แต่บ้านที่นอนไม่ใช่ของฉัน ทั้ง ๆ ที่ฉันจ่ายตังค์ มันเจ็บปวดนะ ฟังแล้วก็รู้สึกว่า นี่หรือประเทศที่เขาอยากจะฝากผีฝากไข้ เรากลัวอะไร อังกฤษ สิงคโปร์ ไปซื้อบ้านได้แล้ว วันนี้ประเทศที่ยากกว่าเรา คือ อินโดนีเซีย ตอนนี้เปิดหมดแล้ว”
“เราต้องมองว่า เราเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม การค้า การศึกษาและองค์ความรู้ ถ้าเราไม่เปิด เราเป็นไม่ได้” ม.ล.ชโยทิตทิ้งท้าย
As part of their spo…
This website uses cookies.