“สุทธิพงศ์ สมิตชาติ” : ผู้บุกเบิกวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยสู่ความสำเร็จระดับโลก – Sanook

เมื่อกล่าวถึงวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยแล้ว ชื่อของหนึ่งในทีมที่อยู่คู่วงการมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้น “Toyota Gazoo Racing Team Thailand” (โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์)

และเมื่อพูดถึงทีมนี้ ชื่อของบุคคลหนึ่งก็จะถูกพูดถึงเสมอ … อรรถ – สุทธิพงศ์ สมิตชาติ หรือที่คนในวงการความเร็วคุ้นในชื่อ อาร์โต้ TRD นั่นเอง

นักแข่งรถอาชีพ, เจ้าของทีมแข่งรถ จนถึง ซีอีโอ คือโลกหลายใบของชายผู้นี้ที่บริหารจัดการได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ ที่ก้าวสู่การเป็นทีมแข่งรถระดับโลกอย่างเต็มตัว จนคว้าชัยชนะในการแข่งขันระดับนานาชาติได้สำเร็จ

เส้นทางกว่าจะมาถึงจุดนี้เป็นเช่นไร? และอะไรคือเคล็ดลับ รหัสความสำเร็จ? ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

จากความชอบสู่อาชีพ

รถยนต์ ถือเป็นหนึ่งในความชื่นชอบที่ผู้ชายมากมายทั่วโลกหลงใหล และ สุทธิพงศ์ สมิตชาติ ก็คือหนึ่งในนั้น และเรื่องนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเข็มทิศชีวิตของเขาเลยทีเดียว

1“ตัวผมชอบรถมาตั้งแต่เด็ก ของเล่นนี่มีแต่รถทั้งนั้นเลย เราชอบรถญี่ปุ่น เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่น พอไปถึงแล้ว ปกติต้องหาเช่าบ้านก่อนใช่ไหม แต่ผมนี่ ตอนแรกยังหาบ้านไม่ได้ อยู่กับเพื่อน กับรุ่นพี่ มีเงินก็ไปดูรถ ปรากฏว่ามันถูกมาก วันรุ่งขึ้นซื้อเลย (หัวเราะ) เป็นรถในฝันผมด้วย Toyota Corolla Levin TE27 เห็นว่าถูกเลยซื้อก่อน กลัวไม่ได้ซื้อ แล้วค่อยมาหาบ้านเช่า”

จากที่เป็นนักซิ่งข้างถนนที่บ้านเกิด การได้มาเรียนต่อที่แดนอาทิตย์อุทัย ที่นอกจากจะมีผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าแล้ว ยังมีสนามแข่งอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้อาร์โต้ตัดสินใจนำรถลงสนามแข่งขัน และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ TRD (Toyota Racing Development) สำนักแต่งรถภายใต้ชายคาของโตโยต้า ก็เกิดขึ้นจากตรงนี้

2“สมัยเรียน เราไปแข่งในรายการเล็ก ๆ ในเมืองโยโกฮามาทุกเดือน ได้รางวัลมาแทบจะตลอด การรับรางวัลที่นู่นจะเป็น Voucher (บัตรกำนัล) ให้เป็นยาง ล้อแม็ก ท่อไอเสีย อะไรแบบนี้ เราก็เอา Voucher เหล่านี้ไปรับของที่ร้าน RS Harada Racing ที่เป็นร้านแต่งรถ แล้วมาทีไม่ได้มาแค่รับของอย่างเดียว ก็ซื้อของไปแต่งเพิ่มด้วย”

“ผมไปที่ร้านนี้บ่อยจนสนิทกัน แล้วทางร้านก็ชวนผมให้ไปลงแข่งรายการที่ใหญ่ขึ้น ผมก็บอกว่า ‘ถ้าสนใจไอขับให้ได้นะ’ หลังจากนั้นผมก็เป็นนักแข่งให้กับทีมของเขา เรียนจบแล้วก็มาอยู่ในทีมต่อ ทีนี้ร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ TRD รถที่ใช้แข่งก็เป็นโตโยต้า ซึ่งบางทีผมก็ต้องไปเอาอะไหล่มาให้ที่ร้าน เวลาเข้าไปใน TRD ก็เห็นนู่นเห็นนี่ รู้จักคนนู้นคนนี้ เนื่องจากยุคนั้นคนต่างชาติน้อย เข้าไปเป็นเหมือนคนต่างชาติ ก็ค่อนข้างมีการต้อนรับเป็นอย่างดี จนสนิทกับคนของที่นั่น”

แม้จะเรียนจบทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่การแข่งรถกลายเป็นจิตวิญญาณของอาร์โต้ไปเป็นที่เรียบร้อย จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญมาเกิดขึ้นในปี 1986 … พีระ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สนามแข่งรถมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเสร็จและเปิดใช้งานที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

3

“พอสนามพีระสร้างเสร็จ ผู้ใหญ่ใน TRD ก็ถามว่า ‘ยูไม่สนใจไปแข่งเมืองไทยเหรอ’ ผมเลยตอบ ‘สนใจพี่’ เขาเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวติดต่อกับโตโยต้าที่เมืองไทยให้ ถ้าโตโยต้าเมืองไทยสนใจทำทีมมอเตอร์สปอร์ต ก็จะดีลให้”

และการเดินทางสู่บทบาทใหม่ในฐานะเจ้าของทีมแข่งรถ โตโยต้า ทีมไทยแลนด์ หรือปัจจุบันในชื่อ โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ ก็ได้เริ่มต้น…

ผลงานที่ดี มาจากทีมที่พร้อม

บทบาทที่เปลี่ยนไป ซึ่งความจริงคงต้องเรียกว่า บทบาทที่เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากการเป็นเจ้าของทีมแล้ว ด้วยความที่วงการมอเตอร์สปอร์ตของไทย เพิ่งตั้งไข่จากการมีสนามแข่งรถมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศ อาร์โต้จึงต้องสวมบทบาทในฐานะนักแข่งอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้แม้แต่เจ้าตัวเองยังยอมรับว่า

“ชีวิตก็วุ่นวายขึ้นเยอะ (หัวเราะ)”

4“หน้าที่ของนักแข่ง คือซ้อมแล้วก็แข่ง ส่วนเรื่องทำรถจริง ๆ เป็นหน้าที่ช่าง แต่สมัยอยู่ญี่ปุ่น วัน ๆ ผมก็อยู่แต่ในอู่ ก็เลยช่วยเขาทำด้วย เลยได้ความรู้จากตรงนั้นมาค่อนข้างเยอะ พอต้องมาทำทีมแข่งเอง เราก็เอาประสบการณ์สมัยอยู่ญี่ปุ่นมาใช้ ต้องทำอะไร ต้องเตรียมอะไร เราก็อยากทำให้ทุกอย่างมันทัน ให้รถเราได้ลง ให้ทีมชนะ ก็ทำทุกอย่างครับ”

การมี “Good Leader” หรือผู้นำที่ดี อาจจะมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่การจะประสบความสำเร็จในกีฬาความเร็วได้นั้น ที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาประเภททีม” ซึ่งทุกภาคส่วนต้องประสานงานด้วยกัน ดังที่อาร์โต้เผยถึงหัวใจของการทำทีมว่า

“การจะทำทีมแข่งจนประสบความสำเร็จได้ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน 1. รถแข่งที่พร้อมและสู้ได้ 2. นักแข่ง 3. ทีมงาน ทั้ง 3 ส่วนต้องผสานเป็นเนื้อเดียวไปด้วยกัน ไม่มีส่วนไหนสำคัญที่สุด แต่ทุกส่วนต้องทำงานพร้อมกันหมด รถต้องดี นักแข่งต้องพร้อม และทีมงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ช่างอย่างเดียว ต้องรวมถึงส่วนเซอร์วิสทั้งหมด ทุกฝ่ายต้องประสานไปในทิศทางเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ชัดเจนจากผู้นำคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย ซึ่งแนวทางการทำทีม โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ นั้นชัดเจนตั้งแต่การเลือกรายการที่ลงทำการแข่งขัน เพราะจะเป็นการดีที่สุดถ้าลงแข่งในรายการที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนจากการเลือกลงแข่งขันในรายการที่ ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (รยสท.) หรือ สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ให้การรับรอง

5

โดยการแข่งขันในประเทศจะลงแข่งในรุ่นที่ชิงแชมป์ประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี 2 รายการ ได้แก่ Thailand Super Series และ RAAT Thailand Endurance Championship ส่วนต่างประเทศซึ่งมีหลายรายการที่ FIA รับรอง ทีมเลือกการแข่งขัน 24h-Race Nürburgring ที่ประเทศเยอรมนี

สู่ความสำเร็จระดับโลก

หากพูดถึงการแข่งขันประเภทเอ็นดูรานซ์ ที่แข่งความอดทนทั้งรถ, นักขับ และทีมช่าง ชื่อของ 24 Hours of Le Mans หรือ เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง คงเป็นชื่อแรกที่คนนึกถึง

6อย่างไรก็ตาม การแข่งขันรถยนต์ในระดับนานาชาตินั้น มีหลากหลายรายการ หลากหลายคลาสการแข่งขัน ซึ่งกฎเกณฑ์ของรถที่สามารถลงสนามได้ก็แตกต่างกัน ตั้งแต่รถที่ถูกสร้างมาเพื่อการแข่งขันเท่านั้น หรือจะเป็นรถที่มีพื้นฐานจากรถที่มีขายตามท้องตลาด

และเนื่องจากการที่ โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ ถือเป็นทีมแข่งโรงงาน ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด … 24h-Race Nürburgring ที่เป็นการแข่งขันประเภทเอ็นดูรานซ์เช่นกัน ยังเปิดให้รถที่มีขายตามท้องตลาดสามารถลงแข่งในสนามได้ จึงเป็นรายการที่ตอบโจทย์ทั้งหมด

“นูร์เบอร์กริง เป็นสนามที่ผมชอบมานานแล้ว มันมีตำนานและความยากที่ท้าทายนักขับมาก แล้วการแข่งขัน นูร์เบอร์กริง 24 ชั่วโมง เป็นรายการที่เน้นรถที่มีผลิตออกจำหน่ายทั่วไปเป็นหลัก เราก็เลยตัดสินใจลงแข่งรายการนี้”

“ตอนแรกเราคิดว่าจะเอา Toyota 86 ไปแข่ง แต่พอไปคุยกับทางโตโยต้าแล้ว เขาก็บอกว่า ‘ทำไมไม่เอารถที่ผลิตในเมืองไทยไปแข่งล่ะ รถที่ผลิตในเมืองไทยแข่งได้ไหม’ เราก็บอก ‘ได้ แต่ต้องทำเยอะนะ’ เขาก็สนับสนุนเลย เพราะมันเชื่อมโยงกับตลาดในประเทศไทยและมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยได้ ก็เลยเดินหน้าเต็มตัว”

7ด้วยเหตุนี้ อาร์โต้ และ โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ จึงได้เดินหน้าพัฒนารถที่มีในสายพานการผลิตในประเทศไทยสู่สนามแข่ง เริ่มตั้งแต่ Toyota Corolla Altis E170 ระหว่างปี 2014-2018 ต่อด้วย Toyota C-HR ในปี 2019 และ Toyota Corolla Altis E210 ในปี 2020-2021

ซึ่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ ก็สามารถนำธงไตรรงค์ไปโบกสะบัดในเวทีโลก ด้วยการคว้าอันดับ 3 ในคลาส SP3 (Super Production 3) ปี 2016 และ 2019 ก่อนจะคว้าแชมป์ในคลาส SP3 ถึง 2 สมัยซ้อน ในปี 2020 และ 2021 สู่การเป็นทีมแข่งระดับโลกสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว

สร้างบุคลากรคุณภาพ

หนึ่งในสิ่งสำคัญของทุกการแข่งขันกีฬา คือทรัพยากรบุคคล ซึ่งนี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของทีม โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ กับการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักแข่ง ผู้ลงสนามเพื่อคว้าชัยชนะในสนามแข่งขัน

8“เรามีโครงการ Toyota Gazoo Racing Motorsport จัดขึ้นทุกปี มีทั้งการแข่งขันในรุ่น Vios One Make Race และ Corolla Altis One Make Race ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่ แชมป์รายการนี้ในแต่ละปี เราจะรับเข้ามาอยู่ในทีม มีเก้าอี้นักขับให้แน่ ๆ 1 คน”

“ปีแรกที่มาอยู่กับทีม ผมจะให้ขับในรายการเอ็นดูรานซ์ (RAAT Thailand Endurance Championship) ก่อน ปีนึงได้แข่งแน่ ๆ 4 สนาม หากทำผลงานได้ดี ก็จะได้รับโอกาสขยับให้ไปสัมผัสความท้าทายในรุ่นใหญ่ขึ้น กับการแข่งขัน Thailand Super Series รุ่น Supercar คลาส GTM GTC อะไรแบบนี้”

“ระหว่างนี้ ผมและทีมก็จะดูนักแข่งไปด้วยว่า สไตล์การขับเป็นแบบไหน มีโอกาสเติบโตขนาดไหน หากคว้าแชมป์ได้ คราวนี้ก็ได้อยู่กับทีม และเราก็จะเลือกรถให้เขาขับ เซ็ตอัพให้เข้ากับสไตล์ของคนคนนั้น”

ไม่เพียงแต่นักแข่งเท่านั้น แต่ทีมงานเบื้องหลังก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาประเภททีม เมื่อนักแข่งกับทีมงานทำงานได้อย่างสอดประสานกัน ผลลัพธ์ก็จะออกมาดีตามไปด้วย ตามแนวคิด “Good Racers & Teamwork”

9และการจะสร้างบุคลากรที่ดีได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า “Good Practice” หรือการฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ จึงต้องมีการฝึกซ้อมทั้งส่วนของนักแข่งและทีมงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมกับทุกการแข่งขัน

แต่ในยุคที่ COVID-19 ปั่นป่วนวงการกีฬาไปทั่วโลกตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การฝึกซ้อมโดยเฉพาะสำหรับนักแข่ง กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที จากมาตรการล็อกดาวน์ ที่ทำให้สนามกีฬา รวมถึงสนามแข่งรถต้องปิดทำการชั่วคราว

ซึ่งเรื่องนี้ เทคโนโลยีช่วยได้…

“ที่ Toyota Driving Experience Park เรามีเครื่อง Simulator ให้นักแข่งฝึกซ้อมโดยเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างจากเครื่องซิมทั่วไป เพราะนอกจากการเลือกสนามแล้ว ยังสามารถเซ็ตข้อมูลรถของนักแข่งคนนั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นช่วงล่าง เครื่องตัวไหน จูนยังไง กี่แรงม้า ลมยางเท่าไหร่ สภาพอากาศยังไง ใส่เข้าไปได้หมด คือเสมือนจริงมาก”

วิวัฒนาการสมัยใหม่ทำให้การเตรียมความพร้อมของนักแข่งและทีมงานทำได้ง่ายขึ้น แต่ที่สุดแล้ว การได้ลงสนามแข่งจริงคือวิธีการ “Gain Experience” สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด

10ด้วยเหตุนี้อาร์โต้จึงผลักดันการส่งทีม โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ ออกไปแข่งขันในต่างประเทศ ทั้งในรายการ Super GT และ 24h-Race Nürburgring โดยเจ้าตัวเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า

“หากอยากก้าวไปสู่ระดับโลก การแข่งในระดับประเทศอย่างเดียวไม่พอ เราต้องไปดูให้รู้ให้เห็นว่า การแข่งระดับโลกแข่งกันอย่างไร โดยเฉพาะที่นูร์เบอร์กริง ที่นี่เป็นสนามที่โหด 1 รอบยาว 25 กิโลเมตร 170 โค้ง แถมสภาพอากาศก็ไม่สามารถคาดคะเนได้ ทำให้ประสบการณ์ของนักแข่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

และผลลัพธ์ของการสั่งสมประสบการณ์ก็ผลิดอกออกผล ด้วยความสำเร็จในเวทีระดับโลกอย่าง 24h-Race Nürburgring ที่ประสบความสำเร็จถึงสู่จุดสูงสุดบนโพเดียมได้ ด้วยการมีสมาชิกทีมงานเบื้องหลังสัญชาติไทย 100% ซึ่งอาร์โต้เริ่มมองถึงเป้าหมายต่อไปแล้ว

“อนาคต ถ้า เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง เปิดคลาสรถไฟฟ้า เราก็อยากไปท้าทายที่นั่นดูนะ”

สะท้อนภาพลักษณ์ผ่านความสำเร็จ

อีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มอเตอร์สปอร์ต เป็นกีฬาที่ใช้งบประมาณสูง ซึ่งอาร์โต้ยอมรับว่า การทำทีมแข่งรถก็หนีความจริงตรงนี้ไม่พ้น

“การทำทีมในแต่ละปีนี่ ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนะ เพราะเราส่งทีมลงแข่งหลายรายการ อย่างไปแข่งที่นูร์เบอร์กริง ก็ใช้งบไปหลายสิบล้านแล้ว แข่ง Super GT ก็ต้องมี 40-50 ล้านบาท ไม่นับรวมกับที่แข่งในประเทศ งบทำรถ ค่าตอบแทนนักแข่งอีก”

11ด้วยเหตุนี้ “Great Supporters” หรือการสนับสนุนที่ดี จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำทีมแข่งรถให้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ คือทีมแข่งรถของค่ายรถยนต์ หรือ “ทีมโรงงาน” ทีมเดียวในประเทศไทย ที่เดินหน้าทำทีมมากว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน โดยอาร์โต้เผยถึงเบื้องหลังการสนับสนุนสู่ความสำเร็จนี้ว่า

“การทำทีมแข่ง เราต้องคิดแทนผู้สนับสนุนด้วย ไปแข่งแต่ละครั้ง นอกจากเราตั้งเป้าหมายที่ชัยชนะแล้ว การลงสนามแข่งของเราต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้าที่สนับสนุนทีมด้วย และทุกความสำเร็จมันส่งเสริมอิมเมจได้จริง ๆ อย่างเวลาที่เราไปแข่งที่นูร์เบอร์กริง มันก็เป็นโอกาสให้โตโยต้าได้นำภาพตรงนี้ สู่การผลิตรถเวอร์ชั่นพิเศษ Nürburgring Edition เป็นโมเดลใหม่ให้ขายได้ และก็ช่วยในเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพราะการที่รถลงไปวิ่งได้ต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมงนี่ มันก็เป็นเครื่องพิสูจน์นะว่า รถทนจริง”

12การสนับสนุนที่ดี และความสำเร็จที่เห็นผลจริงในสนามแข่ง ทำให้ทีม โตโยต้า กาซู เรซซิ่ง ทีมไทยแลนด์ ก้าวสู่การเป็นกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัว และคนที่ได้เป็นนักแข่งของทีมนี้ก็มีรายได้ในระดับที่เลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้สบาย กับเงินเดือนประมาณ 50,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับผลงานและประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่กีฬาแข่งรถยนต์ ถูกบรรจุให้เป็นกีฬาอาชีพโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. อาร์โต้จึงมองว่า หากมีการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นวงการมอเตอร์สปอร์ตของไทย ก็จะสามารถเติบโตยิ่งกว่านี้ได้อย่างแน่นอน

13“สิ่งที่ผมอยากเห็นในอนาคต ก็อยากให้ภาครัฐและเอกชนเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนมากขึ้น ปัจจุบัน กกท. บรรจุให้มอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพแล้ว ก็ถือเป็นอีกกีฬาที่นักกีฬาสามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้ตัวเองได้ ซึ่งผลงานของทีมเราคือหนึ่งในเครื่องพิสูจน์”

“อันที่จริง คนรุ่นใหม่ ทั้งในกีฬาแข่งรถและด้านอื่น ๆ มีศักยภาพมากนะ หากได้รับโอกาสและการสนับสนุน พวกเขาสามารถก้าวไปสู่ระดับโลกได้เลยล่ะ” อาร์โต้ กล่าวทิ้งท้าย