อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง
โอลิมปิก 2020 ซึ่งเลื่อนมาจัดในปีนี้กำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. กระแสมหกรรมกีฬาระดับโลกปีนี้ต่างจากโอลิมปิกครั้งอื่น เพราะผลกระทบโควิด-19 ซึ่งญี่ปุ่นเจ้าภาพเพิ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 4 เพราะการระบาดกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้โอลิมปิกครั้งนี้จะไม่มีผู้ชมในสนามที่โตเกียวและโดยรอบ
โปรแกรมโอลิมปิก 2020 ที่เลื่อนมาจัดระหว่าง 23 ก.ค.- 8 ส.ค. 2021 ถือเป็นอีเวนต์สำคัญสำหรับนักกีฬาทั่วโลกและประเทศเจ้าภาพที่อยากสื่อถึงความสำเร็จและยิ่งใหญ่ เช่น พื้นที่โซนฟุกุชิมะ ที่จะจัดแข่งซอฟต์บอลและเบสบอลเคยได้รับผลกระทบจากสึนามิเมื่อปี 2011 พวกเขาหวังจะใช้โอลิมปิกเป็นสัญลักษณ์แสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงการฟื้นฟูร่วม 10 ปี แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับตัวปรับแผนกะทันหัน น่าเสียดายที่การแข่งขันในญี่ปุ่น ดินแดนเอเชียอันเต็มไปด้วยสีสัน มีเอกลักษณ์โดดเด่น ต้องจัดโอลิมปิกในสภาพสนามแบบเงียบเหงาไม่ต่างจากแข่งในสนามปิด ไม่มีเสียงเชียร์จากผู้ชมอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งกีฬา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดไม่เพียงแต่ส่งผลต่อบรรยากาศเท่านั้น แต่ยังกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย
ก่อนหน้าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รอยเตอร์ส รายงานว่า สปอนเซอร์ในประเทศต่างยกเลิกแคมเปญหรือไม่ก็ปรับลดสเกลกิจกรรมที่เกี่ยวกับโอลิมปิก 2020
ท่าทีเดิมของผู้จัดดูจะยึดกับแนวทางงดผู้เข้าชมจากต่างแดน และกำหนดผู้เข้าชมในประเทศเหลือ 50% หรือจำกัดจำนวน เช่น ให้มีผู้เข้าชมมากสุดแค่ 1 หมื่นราย ที่สุดก็ต้องใช้มาตรการแรงด้วยการห้ามมีผู้ชมเลย ทำให้กิจกรรมหดหายไปกว่าเดิม ความเสียหายจากมาตรการนี้ยังกระทบรายได้จากการจำหน่ายตั๋วที่เคยตั้งเป้าไว้จะทำรายได้ราว 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อมีมาตรการเข้ม รายได้ส่วนนี้ย่อมลดลง และต้องคืนเงินจองล่วงหน้า ที่น่าเสียดายคือ สนามแห่งชาติที่ปรับปรุงใหม่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศนั้นก็จะแข่งแบบไม่มีผู้เข้าชมด้วย
เมื่อไม่มีผู้ชมในสนาม การเดินทางและเม็ดเงินที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยย่อมหายไป การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกก็แทบจะหายไป เหลือเพียงช่องทางออนไลน์เท่านั้น
ส่วนร้านอาหารและบาร์ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และต้องปิดในเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เม็ดเงินจากการบริโภคย่อมหายไปด้วย ความจริงแล้ว ร้านหลายแห่งก็ปิดตั้งแต่ช่วงเย็นก่อนหน้าจะมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยซ้ำ
ประเด็นสำคัญอีกประการคือ โอลิมปิกคืออีเวนต์ที่นำนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าประเทศ เมื่อย้อนสถิติปี 2019 พบว่า ญี่ปุ่นต้อนรับชาวต่างชาติราว 31.9 ล้านราย จำนวนนี้ใช้เงินร่วม 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มาปี 2020 ตัวเลขน้อยกว่าเดิมถึง 87% ชาวต่างชาติเดินทางมาญี่ปุ่นเหลือแค่ 4.1 ล้านราย เป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 22 ปี
สำหรับนักกีฬาบางประเภทอาจเริ่มคุ้นชินกับบรรยากาศไม่มีผู้ชมในสนามระหว่างลงแข่ง หรือช่วงหลังก็เริ่มปรับให้มีผู้ชมแบบจำกัดจำนวน เมื่อมีประกาศแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่า พวกเขาต้องแข่งโดยไม่มีครอบครัวมานั่งชมในสนาม เชื่อว่า นักกีฬาอาชีพย่อมปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ อีกด้านก็ต้องยอมรับว่า บางรายยังชอบให้มีเสียงเชียร์ของแฟน ๆ เพราะมีส่วนกระตุ้น ทำให้เกิดแรงฮึดและสนุก
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การนำมาสู่โลกอีกแบบ คือประชาชนต้องชมผ่านหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ ในสถานที่ตัวเอง มีรายงานว่า การถ่ายทอดครั้งนี้จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยครอบคลุมหลายช่องทาง ตอบสนองความต้องการของผู้ชมมากขึ้น
สำหรับแฟนกีฬาชาวไทยที่คอยลุ้นเชียร์นักกีฬากันอยู่ สามารถร่วมสนุก พร้อมติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวจากสื่อข่าวสด-มติชน หลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ สามารถร่วมสนุกในกิจกรรมตัดคูปองลุ้นโชคจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ ตอบคำถาม “นักกีฬาไทย จะได้เหรียญทองหรือไม่ ?” ตัดคูปองได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.-8 ส.ค.นี้ ส่งมาลุ้นรับรางวัลมูลค่ารวมกว่าล้านบาท รางวัลที่ 1 เป็นรถยนต์ NEW SUZUKI SWIFT GLX มูลค่า 629,000 บาท และรางวัลอื่นอีกมากมาย ติดตามรายละเอียดได้จากข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ ในทุกแพลตฟอร์ม