2 พ.ย. 2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง (ศปข.ตร.) รับผิดชอบการป้องกันและปราบปรามในความความผิดการแข่งรถในทางฯ และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 1,200,000 ราย และยึดรถที่ใช้ในการกระทำความผิดจำนวนกว่า 320,000 คัน นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว ให้ทราบถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านอาจจะต้องถูกดำเนินคดี โดยมีฐานความผิดหลักที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้แก่
ส่วนของผู้ขับขี่
– ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(8) ประกอบมาตรา 160
– แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 3 เดือน เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134 ประกอบมาตรา 160 ทวิ
ส่วนของผู้ปกครอง
– ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26(3) ประกอบมาตรา 78
– สนับสนุน ปล่อยปละละเลย ให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อแข่งรถในทาง เจ้าหน้าที่สามารถตักเตือน ทำทัณฑ์บน หรือให้วางเงินประกัน และหากเด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำอีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท และให้ริบเงินประกัน ตาม คำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง ข้อ 2
ส่วนของเจ้าของรถ
– ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26(3) ประกอบมาตรา 78
– เป็นเจ้าของรถหรือคนขับรถยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือมีใบอนุญาตขับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ เข้าขับรถของตนหรือรถที่ตนเป็นคนขับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 60
ส่วนของร้านรับแต่งรถ
– โฆษณา จำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยรู้อยู่ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 55
– ดำเนินกิจการตามประเภทที่มีข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมตามมาตรา 32 ในลักษณะที่เป็นการค้า จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 71
– ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการแข่งรถในทาง โดยการผลิต ครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม คำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง ข้อ 3
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากฐานความผิดดังกล่าวแล้ว ยังอาจถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามพฤติการณ์ที่ได้กระทำความผิด และในส่วนของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด ศาลอาจมีคำสั่งให้ริบรถของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดินอีกด้วย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือไปยังเจ้าของรถ หรือผู้ปกครอง ขอให้ดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ให้ไปกระทำความผิด ซึ่งนอกจากจะเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่แล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย และหากพี่น้องประชาชนพบว่ามีการรวมกลุ่มกันเพื่อแข่งรถในทาง หรือบุคคลใดเป็นผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทาง กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง