จากกรณีอุบัติเหตุคดีเยาวชนวัย 16 ปี ขับรถหรูฝ่าไฟจราจรชนบัณฑิตหนุ่มเสียชีวิต บริเวณสี่แยกไฟแดง ถนนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เมื่อคืนวันที่ 30 กันยายน 2565 ได้สร้างกระแสดราม่าและมีการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อต่างๆมากมาย ขณะเดียวกัน ความโศกเศร้าของครอบครัวผู้สูญเสียยังไม่จางหาย ยังทวงถามความยุติธรรมให้กับลูกชายนั้น
วันนี้ (6 ตุลาคม 2565) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การที่เด็กอายุ 15 ปี เกือบ 16 ปี เป็นถึงนักกีฬาทีมชาติ หมายความว่า เป็นเด็กที่มีศักยภาพ มีฝีมือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน กลับตกเป็นทาสของทุนนิยม การที่พ่อแม่มีลูกเก่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าหลงใหลได้ปลื้มกับความสำเร็จของลูก และตอบสนองด้วยรถราคาแพง ในขณะที่ลูกยังไม่พร้อมทั้งวุฒิภาวะและทางกฎหมาย
“แม้ลูกตัวเองจะเก่งด้านอื่น แต่เรื่องบนถนนไม่มีใครเก่งเกินกว่าอุบัติเหตุ ต้องรู้ว่าถนนประเทศไทยไม่ใช่สถานที่ของคนที่คิดว่าตัวเองเก่ง เพราะคนที่คิดว่าเก่งตายไปกันหมดแล้วและยิ่งเคสนี้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์แล้วมาขับรถ ไม่มีใบขับขี่ ไปชนคนอื่นตาย ยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย ผู้ที่เสียชีวิตจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยม เป็นเสาหลักของครอบครัว เมื่อเสียชีวิตลงเปรียบเสมือนครอบครัวพังทลาย หากมองอีกมุมคือ การเรียนจบ มีงานทำ ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าจะรอดจากอุบัติเหตุทางถนน เพราะว่าการเรียนหนังสือเก่ง ได้รับการยอมรับในแวดวงการศึกษา ไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตรอด ดังนั้น การมีชีวิตรอด จะต้องระวัดระวังหลายด้าน เช่น พฤติกรรมการขับขี่ของตัวเอง และคนอื่น โดยเคสนี้ในมุมมองเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษอย่างจริงจัง ทำเป็นตัวอย่างว่ามีการลงโทษที่ทำให้คนในสังคมเกิดความเกรงกลัวต่อการทำผิดได้ ปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกเป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำๆ ในสังคมไทย” นายพรหมมินทร์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า การใช้ความเร็ว เป็นพฤติกรรมการขับขี่ที่คนไทยกำลังติดกับดักความ
สะดวกสบาย ความเร็ว ความแรงของเครื่องยนต์ รถบิ๊กไบท์ รถแต่ง รถซิ่ง เกินกว่าร้อยละ 90 คือ กลุ่มคนที่เสพติดการใช้ความเร็ว เช่น กรณีนี้รถยนต์ขับด้วยความเร็วสูงฝ่าไฟแดงมาชนรถจักรยานยนต์ทำให้เสียชีวิตแม้จะสวมหมวกนิรภัย (หมวกกันน๊อก) แล้วก็ตาม ยังไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้ เพราะความรุนแรงจากการใช้ความเร็วที่สูง
“ถนนเมืองไทยเต็มไปด้วยคนที่ทำผิดกฎหมาย คนที่มีพฤติกรรมขับขี่เร็ว จึงต้องตระหนักเสมอว่า ทุกคนมีโอกาสได้รับความเดือดร้อน ได้รับความสูญเสียจากความผิดพลาดของผู้อื่น การขับรถเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) โอกาสรอดครึ่งต่อครึ่ง หากขับเร็วเกิน 120 กม./ชม.โอกาสรอดเหลือแค่ร้อยละ 20 ความรุนแรงแปรผันตามความเร็วที่ใช้ ยิ่งขับเร็ว ยิ่งรุนแรง ยิ่งเสี่ยงตาย หากชอบความเร็วควรไปใช้ในสนามแข่งที่ได้มาตรฐานไม่ใช่มาใช้บนถนนทั่วไป ดังนั้น การใช้ความเร็วเหมาะสมจะช่วยลดความสูญเสียลงได้ ลดเร็วเท่ากับลดความเสี่ยง เมื่ออยู่บนถนนทุกคนต้องตระหนักเรื่องจิตสำนึกความปลอดภัยอยู่ตลอดทุกช่วงของชีวิต” นายพรหมมินทร์ กล่าว
นายพรหมมินทร์ กล่าวถึงบทลงโทษตามกฎหมายปัจจุบัน ว่า เห็นว่าการรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิด ทำได้ยากและบางกรณีอาจไม่ครบถ้วน เมื่อตัดสินก็มักมีตัวแปลเพิ่มเติม เช่น หลักฐานพยานไม่ครบ เอาผิดได้ยาก การที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ เป็นเยาวชน ไม่ได้มีเจตนา เป็นเหตุสุดวิสัย ความผิดครั้งแรก หรือไม่ต้องคดีอาญาฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้ความผิดและบทลงโทษเบาลง ฉะนั้น กฎหมายยังไม่ส่งผลให้คนทั่วไปตระหนัก เกรงกลัวการทำผิดหรือระมัดระวังมากขึ้น ท้ายนี้อยากเตือนไปยังลูกหลานที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่แล้วขับรถบนถนน ผู้ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมใจไว้ ว่าต้องพบเจอกับความเสี่ยง ความสูญเสีย ควรรีบหามาตรการป้องกันก่อนสายเกินไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่