วิกฤตสภาพคล่องลาม คนไทยแห่นำรถแลกกู้เงินสด – ประชาชาติธุรกิจ

วิกฤตสภาพคล่อง “เอสเอ็มอี-รายย่อย” สายป่านสั้น ดันตลาดสินเชื่อ “รถแลกเงิน-จำนำทะเบียน” คึกคัก ขาใหญ่เผยลูกค้าแห่นำรถมาขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “กรุงศรี ออโต้” ผู้นำตลาดยอด 6 เดือนปล่อย “คาร์ ฟอร์ แคช” 1.5 หมื่นล้านบาท “ทีทีบี” คาดตลาดรวมปีนี้โตไม่น้อยกว่า 10% เผยลูกค้าไม่สนใจดอกเบี้ย ขอให้ได้วงเงิน ฟาก “เกียรตินาคินภัทร” เผยปีนี้หลายแบงก์ลงสนามดุเดือดชิงเค้กตลาด 2 แสนล้านบาท ชี้เทรนด์สินเชื่อทะเบียนรถยังไปได้ดี เสี่ยงต่ำ-ลูกค้าได้ต้นทุนการเงินเหมาะสม 7-9% “เงินติดล้อ” ตลาดอีสานโตพรวด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนรายย่อย จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้มีรายได้ลดลง สายป่านของครัวเรือนสั้นลงเรื่อย ๆ

ทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยมีการดิ้นหาสภาพคล่องในช่องทางต่าง ๆ นอกจากการใช้บริการสินเชื่อบุคคลแล้ว อีกหนึ่งสินเชื่อที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็คือ “รถแลกเงิน”

“รถแลกเงิน” ต่อลมหายใจ

นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนต้องการสภาพคล่อง

ซึ่งผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อรถแลกเงิน” ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการวงเงิน และสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยลงเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะมีรถเป็นหลักประกัน

ทำให้ตลาดรถแลกเงินยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยประมาณการขยายตัวทั้งระบบปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5-10%

โดยช่วง 6-7 เดือนแรกพบสัญญาณความต้องการสินเชื่อรถแลกเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าต้องการสภาพคล่อง โดยแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ ลูกค้าเดิมผ่อนชำระครบ 2 ปีมาขอปรับปรุงสัญญาใหม่

ลูกค้าใหม่ที่รถปลอดภาระหนี้ และลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อค่ายรถ (captive) อย่างไรก็ดี สัดส่วนปล่อยสินเชื่อรถแลกเงินส่วนใหญ่ 60-70% เป็นกลุ่มลูกค้าเก่า และที่เหลือ 30-40% เป็นลูกค้าใหม่

“ทุกธนาคารหันมาเล่นโปรดักต์นี้ เพราะตลาดรถใหม่ก็ดรอปลง แต่ตลาดรถแลกเงินยังมีความต้องการ ลูกค้าก็ได้ดอกเบี้ยสมเหตุสมผล โดยทีทีบีมีดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ 3.18% ต่อปี

อย่างไรก็ดี โปรดักต์นี้ดอกเบี้ยจะแข่งไม่มาก ต่างกัน 50 สตางค์ไม่มีผล เพราะลูกค้าจะเน้นเรื่องการได้รับอนุมัติและวงเงินไว และบริการที่รวดเร็ว”

กรุงศรี ออโต้ยอดพุ่ง 25%

ด้านนางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อคนมีรถ (คาร์ ฟอร์ แคช) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงเติบโตได้ดี โดยช่วง 6 เดือนแรกธนาคารมียอดสินเชื่อใหม่มูลค่า 15,075 ล้านบาท หรือเติบโต 11% จากปีก่อน

และรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถต่อไปได้ จากเป้าทั้งปีอยู่ที่ 30,506 ล้านบาท หรือเติบโต 25%

โดยมีปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ การขยายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทั้งรถยนต์ บิ๊กไบก์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงการมีโปรดักต์ที่ตอบความต้องการตรงจุด

เช่น เงื่อนไขรถผ่อนอยู่ก็กู้ได้, คาร์ ฟอร์ แคช โพรเทค ประกันเคลมอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น รวมถึงให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย โดยเฉพาะ GO Application by Krungsri Auto ซึ่งเป็นช่องทางหลักสมัครสินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช

“ตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถยังเติบโตต่อเนื่อง หลังทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ โดยผู้บริโภคต้องการแหล่งเงินทุน คาร์ ฟอร์ แคช เป็นทางเลือกหลากหลายทั้งแบบโอนเล่มและไม่โอนเล่มทะเบียน

ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทใกล้เคียงกัน และเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เราเห็นลูกค้าส่วนมากก่อหนี้หรือใช้วงเงินตามความจำเป็นและความสามารถการชำระเงินหนี้”

ตลาดใหญ่ 2 แสนล้าน

ขณะที่นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการตลาดและบริหารความสัมพันธ์สินเชื่อยานยนต์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารชะลอปล่อยสินเชื่อรถกู้เงินด่วน (คาร์ควิกแคช) แบบโอนเล่มทะเบียน เนื่องจากลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนใหญ่ขอเข้ามาตรการพักชำระหนี้

แต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายธนาคารกลับมาปล่อยสินเชื่อนี้อีกครั้ง เช่นเดียวกับ KKP ซึ่งเห็นสัญญาณการขอวงเงินสินเชื่อรถกู้เงินด่วนทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยราว 600 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้มองไปข้างหน้าผลิตภัณฑ์ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เพราะเป็นตลาดที่มีมูลสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เข้ามาเล่นตลาดนี้มากขึ้น โดยเฉพาะน็อนแบงก์มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง

“ปีก่อนทุกธนาคารเบรกปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไป เพราะเราไม่เห็นโฟลว์ลูกค้า เพราะทุกคนพักชำระหนี้หมด แต่ปีนี้หลายคนกลับมาทำโปรดักต์นี้ใหม่ เพราะเป็นตลาดใหญ่

โดยช่วง 7 เดือนแรกสัญญาณขอวงเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับสินเชื่ออเนกประสงค์ประเภทนี้ดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่ออื่น โดยดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 7-9% และเราเน้นปล่อยลูกค้าเก่า ที่รู้จักประวัติการชำระหนี้ประมาณ 90% ส่วนลูกค้าใหม่ปล่อยบ้างแต่น้อยมากประมาณ 10%”

“ติดล้อ” ชี้อีสานโตตามย้ายถิ่น

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจจำนำทะเบียนมีอัตราการเติบโต สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ

โดยลูกค้าจะมี 2 แบบ คือ กลุ่มที่ยังไม่มั่นใจในธุรกิจว่าจะกลับมาฟื้นตัว และพอมีเงินทุนของตัวเองก็จะเข้ามาปิดบัญชีสินเชื่อ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลง

ส่วนลูกค้าที่มีความต้องการสินเชื่อยังคงมีอัตราการเติบโต และมีความต้องการต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอีสาน บริษัทเห็นสัญญาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

และมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้แรงงานหรือภาคธุรกิจย้ายถิ่นฐานกลับบ้านในภาคอีสานจำนวนมากกว่าล้านคน ทำให้ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเห็นการเติบโตชะลอตัว เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการระบาด (ล็อกดาวน์) ทำให้ความต้องการสินเชื่อปรับลดลง

“เราเห็นสัญญาณภาคอีสานเติบโตเร็วและสูงกว่าที่อื่น เพราะในช่วงล็อกดาวน์และมีโควิด-19 ทุกคนย้ายกลับบ้านที่อีสานจำนวนมาก ทำให้ปริมาณความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และส่วนใหญ่ยังคงใช้รถกระบะและรถจักรยานยนต์ในการมาขอวงเงิน”

แบงก์ติดสปีดปล่อยกู้รถแลกเงิน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดสินเชื่อรถแลกเงินน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง เนื่องจากตอนนี้เป็นจังหวะที่คนต้องการสภาพคล่อง

เพราะครัวเรือนขาดรายได้จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าพวกสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะมีรถเป็นหลักประกัน ทั้งนี้ สินเชื่อ “รถแลกเงิน” ต้องมีการโอนเล่มทะเบียน จะต่างจากสินเชื่อ “จำนำทะเบียนรถ” ที่ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน

“สินเชื่อประเภทนี้ จะช่วยผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องได้ค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องไปจ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ ซึ่งผู้ให้บริการสินเชื่อก็มีการแข่งขันกันพอสมควร” นายนริศกล่าว

โดยช่วงที่ผ่านมา น็อนแบงก์จะเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อประเภทนี้ โดยข้อมูลที่รายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ปี 2563 สินเชื่อคงค้างของน็อนแบงก์ (รวมบริษัทลูกแบงก์) เติบโตขึ้นมาต่อเนื่อง

จากเดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านบาท จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2564 ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรถแลกเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดในสิ้นเดือน ก.ค. 2564 มีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท

“กลุ่มน็อนแบงก์จะโตขึ้นมาตลอดทุกเดือน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สวนทางกับกลุ่มแบงก์ที่ตั้งแต่ปีที่แล้วลดลงมาตลอด จนกระทั่งเดือน มิ.ย. 2564 เพิ่งกลับมาฟื้น โดยโตขึ้น 15% จากเดือนก่อนหน้า

ซึ่งคิดว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์ของกลุ่มแบงก์ เพื่อปล่อยกู้ในตลาดนี้มากขึ้น แต่ถ้าดูสัดส่วนภาพรวม ก็ยังมีมาร์เก็ตแชร์แค่ 20% ส่วนน็อนแบงก์มี 80%” นายนริศกล่าว