วชิระ : เว็บศาล รธน.ที่ถูกแฮก ไม่ใช่แค่ช่องโหว่ของเว็บ เมื่อคนพยายามชี้ปัญหาของระบบต้องถูกดำเนินคดี

“It goes, it goes, it goes, it goes, it goes, it goes, it goes, it goes

Guillotine yeah, guillotine yeah

Tinted windows, bulletproof

The slip knot fixing rope to noose

To the grave stone grinder of cold steel

The passion that blinds me so I feel yeah

Can’t let go, no it flows through our veins

Blows through our tunnels and rattles our chains

And they all fall down, yeah”

เนื้อเพลงแร็ปนี้มาพร้อมภาพชายผิวดำกำลังแร็ปด้วยเสียงเกรี้ยวกราดอยู่ในรถยนต์ชวนอึดอัดที่ปรากฏขึ้นบนหน้าเว็บของศาลรัฐธรรมนูญในวันรุ่งขึ้นหลัง 10 พ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยวิดีโอดังกล่าวเป็นเอ็มวีเพลงชื่อ “กิโยติน” ของเดธกริปส์ ส่วนชื่อเว็บของศาลยังกลายเป็น “ศาลจิงโจ้” หรือ Kangaroo Court ซึ่งนัยยะของมันคือ “ศาลเตี้ย”

หน้าเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญในช่วงสายของวันที่ 11 พ.ย.2564

ช่วงสายของวันที่ 11 พ.ย.2564 สื่อมวลชนรายงานแทบจะทันทีที่เว็บของศาลโดนแฮกพร้อมกับพยายามหาความหมายของสิ่งที่แฮกเกอร์รายนี้พยายามจะสื่อ

นิตยกสาร Way แม็กกาซีนเคยค้นความหมายของศาลจิงโจ้นี้ว่าพจนานุกรมอ๊อกฟอร์ดอ้างว่าคำนี้ปรากฏครั้งแรกโดยฟิลิปส์ แพ๊กซ์ตันในปี 1853 และเป็นคำที่ถูกใช้มากในช่วงการปกครองของรัฐบาลนาซีในเยอรมันและในโซเวียตภายใต้การปกครองของสตาลิน ซึ่งคำนี้ถูกใช้ในความหมายของศาลที่ไม่สนใจหลักกฎหมายหรือจรรยาบรรณวิชาชีพใดๆ และยังตั้งธงตัดสินไว้ล่วงหน้าซึ่งศาลลักษณะนี้มักปรากฏในรัฐที่ปกครองด้วยอำนาจนิยม

หลังเว็บถูกแฮก 1 วัน 12 พ.ย.2564 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้จากบ้านพักในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นชายอายุ 33 ปี ข่าวระบุว่าจบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้แฮกเว็บพร้อมยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่งตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาเข้าถึงระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ชอบตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญยังเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีก 10 ล้านบาทเพิ่มจากการทำให้ศาลเสียชื่อเสียงและได้รับความเสียหาย

วชิระ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปีเป็นคนอุบลฯ เคยเรียนทันตแพทย์มาก่อนแต่เรียนต่อไม่ไหวก็เลยเปลี่ยนไปเอาปริญญาด้านวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วทบ.) แทน แต่ที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเนื่องจากเขาเริ่มหัดเขียนโปรแกรมขึ้นมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมแล้ว แล้วก็ยังเคยเขียนเว็บไซต์บางส่วนของเว็บโรงเรียน อีกทั้งเขาเคยเป็นเด็กค่ายโอลิมปิกวิชาการด้านคอมพิเตอร์และเข้าร่วมสอบคัดเลือกระหว่างเด็กจากค่ายโอลิมปิดวิชาการทั้งประเทศจนได้เหรียญเงินมาด้วยแม้สุดท้ายเขาจะไม่ได้ไปแข่งระดับประเทศรอบสุดท้ายเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งระดับนานาชาติก็ตาม

วชิระ

เขาบอกว่าตัวเขาเองได้ตามข่าวการเมืองจากทีวีอยู่บ้างมาตั้งแต่ตอนเกิดกลุ่มเสื้อเหลืองขึ้นมา แต่เขาเองก็ไม่ได้มีคามเห็นตรงกับฝ่ายไหน จนกระทั่งตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันมากเป็นเรื่องของความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า แต่แค่เห็นว่าครั้งนี้คนที่ตกเป็นเหยื่อเป็นคนธรรมดาทั่วไปที่แค่ออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่เป็นเรื่องของนักการเมือง แม้ว่าปกติตัวเขาเองก็ไม่ได้เคยโพสต์เรื่องการเมืองหรือจะไปร่วมชุมนุมอะไรกับคนอื่นเขาก็ตาม

“ผมชอบสอดรู้สอดเห็นเนาะ พอเห็นในเว็บก็เลยลองเข้าไปดู ทีแรกก็ไม่ได้วางแผนอะไร เพราะเราก็ไม่ได้รู้ว่าจะเข้าไปได้ถึงขนาดไหนหรือจะสามารถไปแฮกแก้ไขอะไรได้ขนาดไหน แต่ว่าพอเราเข้าไปวันนั้นมันเหมือนตอนนั้นอารมณ์มันพาไป”

วชิระบอกว่าเหตุผลที่เขาเจาะเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเขารู้สึกไม่พอใจอยู่ 2 เรื่องคือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อกรณีการชุมนุมปราศรัยของกลุ่มคณะราษฎรถือว่าเป็น

ตัวอย่างข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศไทยส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 20 ล้านคนที่ทางคอมแพร์ริเทคเผยแพร่เมื่อ 20 ก.ย.2564 ว่ามีการรั่วไหลจากหน่วยงานของไทยที่ไม่ได้วางระบบความปลอดภัยไว้ ภาพจาก Comparitech

แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ ก่อนหน้าที่เขาจะเจาะเว็บของศาลไม่กี่อาทิตย์เป็นช่วงเดียวกับที่มีการรายงานข้อมูลของประชาชนรั่วออกไปจากหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทนไม่ได้เช่นกัน เขาเลยคิดว่าถ้าเกิดเว็บของหน่วยงานรัฐถูกแฮกแล้วจะทำให้คนสนใจเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้นได้หรือเปล่า

“เรารู้สึกไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาลอยู่แล้ว แต่มันเหมือนกับว่าเป็นปมนึงของเราที่เห็นเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อข้อมูลของประชาชน เราก็เลยจับมารวมกันว่าถ้าเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นคนอาจจะสนใจ” วชิระอธิบายเหตุผลของการเลือกที่จะแฮกเว็บศาลแทนการแสดงออกด้วยวิธีอื่น

วชิระตั้งคำถามต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาวินิจฉัยข้อเรียกร้องของประชาชนว่าเป็นเรื่องเกินหน้าที่ของศาลหรือเปล่า ถึงแม้ว่าตัวศาลรัฐธรรมนูญเองอาจจะต้องยังมีอยู่เพื่อแก้ปัญหาการเมืองบางอย่าง แต่ประชาชนจะพึ่งพาองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้ทางออกแล้วศาลก็เลือกที่จะยัดปัญหาไว้ใต้พรมแทน

“แทนที่แต่ละฝ่ายจะได้เจรจาเพื่อที่จะหาจุดที่ยอมรับกันได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทะเลาะ ก็คิดว่าแบบนี้มันส่งผลกับสังคมทางด้านประชาธิปไตยของเรา” เขาสะท้อนความเห็นต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาตัดสินว่าข้อเรียกร้องของประชาชนมันผิดกฎหมายหรือเขามาตัดสิทธินักการเมืองทั้งที่ควรจะต้องให้ประชาชนได้หาทางออกที่เป็นประชาธิปไตยส่วนศาลก็มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิมากกว่าโดยเขาเปรียบเทียบกับบทบาทของศาลสูงในสหรัฐฯ ที่ขยายสิทธิการทำแท้งหรือป้องกันการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนผิวสีและสร้างบรรทัดฐานให้กับศาลแต่ละมลรัฐ

“ผมว่าที่คนไทยยอมให้มีองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูยเพราะเราก็ไม่ไว้ใจนักการเมือง แต่ปัญหาก็คือว่าแล้วเราไว้ใจคนที่ถูกแต่งตั้งมาเหรอ แล้วพอคนที่ถูกแต่งตั้งมาเขาตัดสินมาอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าคนที่เสียผลประโยชน์จากการตัดสินเขาก็ไม่ยอมรับอยู่แล้ว มันไม่ชัยชนะที่จะเอาไว้อ้างอิงได้จริงๆ” วชิระมองถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาแล้วเข้ามามีบทบาทเป็นคู่ขัดแย้งเอง

เขาอธิบายถึงการเลือกใช้เพลงกิโยตินของวงเดธกริปส์และการเปลี่ยนชื่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็น Kangaroo Court หกหรือศาลจิงโจ้ว่า ตอนทำก็คิดที่จะสื่อสารเรื่องเว็บไซต์ของรัฐถูกแฮกมากกว่า แต่ที่เลือกเพลงนี้มาก็เพราะกิโยตินสื่อถึงการลงโทษแล้วถ้าไปดูปฏิวัติฝรั่งเศสเขาก็ไม่ได้ไต่สวนอะไรมากมายแล้วก็จับคนมาตัดหัวแล้วคนที่โดนตัดหัวก็โดนกันทั้งฝ่ายอำนาจเก่าและฝ่ายอำนาจใหม่ที่เป็นคนสร้างเครื่องกิโยตินขึ้นมาก็ยังโดนตัดหัวด้วยเสียเอง

แต่เหมือนว่าสิ่งที่วชิระจะสื่อสารก็ไม่ได้ถูกสื่อสารออกไปแล้วสุดท้ายตัวเขาเองก็ถูกจับกุมดำเนินคดีเสียเอง

“เราก็ยอมรับแหละว่าเราทำผิดอยู่ แล้วเราก็ยอมรับเข้ากระบวนการทางกฎหมาย เหมือนแฮกเกอร์ทุกคนเขามาเส้นแบ่งทางจริยธรรมของเขาว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งเส้นนั้นอาจจะตรงกับกฎหมายหรือไม่ตรงบ้าง ผมก็มีเส้นของผมแต่ว่าครั้งนี้ผมก็ก้าวข้ามไปเยอะ ผมก็เลยพยายามไม่ต่อสู้ผมก็รู้สึกผิดอยู่”

เมื่อถามว่าถ้าให้เปรียบเทียบตัวเองเป็นแฮกเกอร์หมวกขาวหรือหมวกดำ วชิระเปรียบเทียบตัวเองว่าคงจะเป็นสีเทามากกว่าเพราะครั้งนี้เขาได้ล้ำเส้นไปแล้ว แต่เขาเองก็ไม่ได้อยากให้มีใครต้องเดือดร้อนกับสิ่งที่เขาทำและเมื่อได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีของศาลรัฐธรรมนูญที่มาเป็นพยานในคดีก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตัวเขาเองเขาก็รู้สึกไม่ดีไปด้วย

“แต่อย่างเคสศาลรัฐธรรมนูญนี้ ตอนที่ให้ปากคำกับตำรวจ ผมก็ได้แจ้งช่องโหว่ให้กับทาง สกมช. ทาง สกมช.เองก็บอกว่าถ้ามีอะไรก็แจ้งไปกับเขาได้ ผมก็แจ้งไปเยอะเลย(หัวเราะ) อย่างศาลรัฐธรรมนูญเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าช่องโหว่ที่ผมเข้าไปเป็นทางไหน ผมก็แจ้งเขาไปเขาก็ไปแก้ตรงนั้น” วชิระกล่าวถึงความพยายามชี้จุดบกพร่องของเว็บไซต์ที่ทำให้เกิดช่องโหว่จนถูกเจาะระบบได้ ซึ่งเขาก็มองว่าปัญหานี้สืบเนื่องมาจากมีช่องโหว่อยู่ในตัวแพลตฟอร์มสำหรับสร้างเว็บไซต์ของทางบริษัทที่รับเหมางานศาลรัฐธรรมนูญไปทำด้วย

“แต่บังเอิญว่ามันไม่ใช่โอเพ่นซอร์สที่คนทั่วไปจะเข้าไปตรวจสอบได้คนก็เลยแจ้งแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งที่ประมาณปี 2018 ก็เคยมีคนที่แฮกเข้าไปได้แล้ว” เขายังบอกอีกว่าช่องโหว่นี้สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ถูกแก้ไขแต่ทาง สกมช.เองก็รู้ว่ามีช่องโหว่นี้อยู่

ภาพกระทู้ขายข้อมูลส่วนตัวจากเว็บ mytcas จำนวน 23,000 รายชื่อบนเว็บไซต์ Raidforum(ปัจจุบันเว็บไซต์ดังกล่าวถูกทางการสหรัฐฯ ร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายประเทศร่วมกันยึดเพื่อปิดและจับกุมผู้เกี่ยวข้องดำเนินคดีแล้ว)

วชิระกล่าวต่อว่าสำหรับตัวเขาเองก็ไม่ได้อยากให้เรื่องช่องโหว่ของเว็บไซต์หน่วยงานรัฐเป็นข่าวดังมากนักเพราะเขารู้สึกว่าถ้ามันเป็นข่าวดังก็จะมีคนไม่ประสงค์ดีพยายามเจาะระบบเข้าไป แต่ในทางกลับกันพอไม่เป็นข่าวหน่วยงานรัฐก็ไม่อยากแก้ไขเหมือนกับว่าถ้าเขายอมรับว่ามีช่องโหว่ก็เป็นความผิดของเขา

แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนกันว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐก็มักใช้การดำเนินคดีกับคนที่มาชี้ข้อผิดพลาดของหน่วยงานรัฐเสียเองแล้ว วชิระก็บอกว่าในฐานะที่เขาเป็นคนแจ้งเรื่องเขาก็ไม่ได้กล้าที่จะบอกนักว่าปัญหาที่เขาเจอมีอะไรบ้างเหมือนกันแต่เมื่อไม่สามารถบอกปัญหาได้หมด ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็มองว่าปัญหาที่เขาเจอไม่ได้สำคัญอะไรทั้งที่จริงๆ แล้วปัญหามันใหญ่มาก

“คือการแฮกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเขาจับไม่ได้หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดขึ้น ถึงแม้บางครั้งจะรู้แล้วว่าเกิดขึ้นก็พยายามไม่ให้เป็นข่าวหรือต่อให้เป็นข่าวแล้ว เขาก็พยายามดาวน์เพลย์ความรุนแรงว่าไม่ใช่อะไรร้ายแรง ซึ่งตรงนั้นผมก็ไม่ค่อยพอใจกับทางกระทรวงหรือแม้แต่กับ สกมช.ด้วย”

วชิระบอกว่าเคยได้คุยกับคนรู้จักที่ทำงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่เล่าให้เขาฟังว่าหลายปีก่อนคนรู้จักของวชิระเคยแจ้งปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทางตำรวจแต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือการถูกตำรวจดำเนินคดีเสียเอง

“มันไม่มีใครอยากเสียหน้าก็เลยหาคนที่จะโทษได้ก็โทษแฮกเกอร์หรือมิจฉาชีพที่ขโมยข้อมูล ทั้งที่มันป้องกันได้แล้วมันสมควรที่จะได้รับความสนใจมากกว่านี้ได้รับการตรวจสอบแล้วก็คนที่ดูแลระบบไม่ดีก็ควรจะต้องมารับผิดชอบด้วย อย่างโรงพยาลบาลถูกแฮกไปโรงพยาลบาลไม่ได้เสียหายคนเดียว แต่ข้อมูลของคนทั่วไปที่ไปโรงพยาบาลอาจจะหลุดไปกับมิจฉาชีพ” วชิระยกตัวอย่างกรณีแก๊งค์คอลเซนเตอร์ที่กำลังระบาดตอนนี้ที่มีข้อมูลเชิงลึกของเป้าหมายทั้งเลขประจำตัวประชาชนหรือสถานที่ทำงาน

เมื่อถามว่าเขามีความเห็นอย่างไรที่เวลามีคนพบช่องโหว่หรือเหตุการณ์ข้อมูลหลุดในไทยมักจะเป็นข่าวที่มาจากต่างประเทศก่อนถึงจะถูกพูดถึงในไทย

วชิระยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐฯ ที่กระทรวงกลาโหมมีช่องทางให้คนแจ้งช่องโหว่เข้าไปได้แล้วก็จะให้ครดิตกับคนแจ้งว่าเป็นคนค้นพบช่องโหว่ หรือทางกระทรวงยุติธรรมก็เพิ่งประกาศว่าจะไม่ฟ้องคนที่แจ้งช่องโหว่แบบนี้ ซึ่งตัวเขาเองก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ในไทยเหมือนกันแล้วตัวเขาเองก็ได้สะท้อนเรื่องนี้กับทาง กสมช.ไปแล้วเหมือนกัน ทาง สกมช.ก็ให้คำตอบว่ามีแผนที่จะทำอยู่แต่ก็ไม่รู้ว่าจะออกมาใช้เมื่อไหร่แม้ว่า สกมช.จะบอกว่าถ้าเจอก็แจ้งไปได้แล้วก็จะพยายามปกป้องตัวตนของคนแจ้ง

อย่างไรก็ตามเขามองว่าช่องทางที่ สกมช.เปิดให้นี้ก็ไม่ได้เป็นช่องทางที่เปิดรับแจ้งอย่างชัดเจนหรือว่าจะมีฐานทางกฎหมายมารองรับหรือเปล่า เพราะเขาก็ไม่แน่ใจว่าพอแจ้งแล้วตัวเองจะโดนดำเนินคดีด้วยหรือไม่

ก่อนจบสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวถามวชิระว่าตัวเขาเองมีมุมมองอย่างไรต่อข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จนเป็นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาบอกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

“ผมว่าสถาบันฯ เขาปฏิรูปตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่ร.1ถึง ร.7 ร.9 หรือแม้กระทั่งร.10 เองก็มีการเปลี่ยนแปลง คืออะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็อยู่ไม่ได้ ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของแต่ละสถาบันฯ เองที่จะหาจุดยืนในสังคม แล้วเสียงตรงนี้เป็นเสียงที่สำคัญที่จะหาว่าในโลกสมัยใหม่แบบนี้เราควรจะให้บทบาทของสถาบันฯ เป็นอย่างไร ซึ่งอันนี้ผมว่าคนๆ เดียวหรืออย่างผมเองก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเป็นจุดที่เหมาะที่สุด สิ่งที่ควรจะเป็นและควรจะทำได้คือการถามประชาชนเยอะๆ ไม่ใช่ห้ามพูดเลย”

เมื่อถามวชิระว่าเขามองถึงความพยายามชี้ข้อผิดพลาดของรัฐกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่พยายามสะท้อนข้อเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ต้องปฏิรูปตัวเองเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

“แต่ผมมองว่าสิ่งที่พวกเขาทำยังอยู่ในกรอบกฎหมายอยู่นะ อย่างของผมนี่อาจจะล้ำไปบ้างหรือล้ำไปมากเลยแหละ แต่ว่าอย่างพวกน้องๆ ที่เขามาพูดยังอยู่ในกรอบที่ควรจะทำได้แม้แต่ตามกฎหมายในปัจจุบัน แต่อยู่ดีๆ มาบอกว่าทำไม่ได้เลยมันแปลกๆ”

หมายเหตุ – การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ศาลสูงสหรัฐฯ จะกลับคำตัดสินประเด็นเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้จากกรณีของ Roe V. Wade (1973) ด้วยคดี Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization (2022) ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองสิทธิการทำแท้ง ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละมลรัฐหลังจากนี้สามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งได้