Motor Sport Sponsored

ล้อมคอก “สกูตเตอร์ไฟฟ้า” เกลื่อนเมือง ทำไมปล่อยจน “เละ” อุบัติเหตุ “ล้น”? – ผู้จัดการออนไลน์

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่รู้ว่า “สกูตเตอร์ไฟฟ้า” บังคับใช้กฎหมายเดียวกับ “มอเตอร์ไซค์” ต้องจดทะเบียนและเสียภาษี ติดตั้งป้ายแสดงการเสียภาษี (ป้ายวงกลม) และมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ จึงจะนำมาวิ่งบนทางสาธารณะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ปัญหามีอยู่ว่า แม้ตามท้องถนนทั่วไปมีผู้ขับขี่สกูตเตอร์ (Scooter) ไฟฟ้า ให้เห็นกันมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา  “ไม่เคยมีใครถูกจับดำเนินคดีในฐานความผิดจราจร” ดังนั้น กรณี สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต จับปรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าบนถนนหลวง ระบุความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ปี 2522 หากนำรถสกูตเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ในทางสาธารณะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ในมาตรา 6 ซึ่งห้ามมิให้นำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ในทางสาธารณะ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 64 จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา

 หรือสรุปง่ายๆ คือ “ตำรวจ” ปล่อยจนเละ ปล่อยให้มีการใช้ ปล่อยให้มีการซื้อขายกันอย่างเอิกเกริก กระทั่งเกิดอุบัติเหตุถึงจะเริ่มบังคับใช้กฎหมาย 

ทั้งนี้ จุดเริ่มเรื่องคือ มีประชาชนในพื้นที่ ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ร้องเรียนแจ้งเบาะแสผ่านกลุ่มไลน์ตำรวจ สภ.ป่าตอง กรณีมีบุคคลขับรถสกูตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนน ทำให้ พ.ต.อ.สุจินต์ นิลบดี  ผกก.สภ.ป่าตอง สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้มีการออกประชาสัมพันธ์ห้ามนำรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ในทาง เพื่อมิให้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนนนำมาซึ่งความสูญเสียได้ในอนาคต

 การบังคับใช้กฎหมายของ สภ.ป่าตอง ตามมาด้วยความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาไล่จับผู้ขับขี่ชาวต่างชาติ ควรพุ่งเป้าไปยังผู้ประกอบการปล่อยเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้ามากกว่าหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ทางตำรวจได้ร่วมหารือกับผู้ประกอบการที่ให้บริการเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า สรุปเบื้องต้นว่า จะงดบริการให้เช่ารถสกูตเตอร์ไฟฟ้าในพื้นที่ป่าตองเป็นการชั่วคราว 

ทั้งนี้ นิยามกฎหมายจราจร ระบุว่า “สกูตเตอร์ไฟฟ้า” จัดอยู่ใน “หมวดรถจักรยานยนต์” ตามนิยาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ระบุว่า รถจักรยานยนต์ คือ รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้า และมีล้อไม่เกิน 2 ล้อ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย
หากตีความตามกฎหมายสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีการจดทะเบียนและเสียภาษีเหมือนกับรถจักรยานยนต์ แต่ในความเป็นจริงสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ เพราะสกูตเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบขึ้นตามเงื่อนไขทางฎหมาย ตามประกาศกรมการขนส่ง ว่าด้วยเรื่องการกำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2560 ระบุว่า รถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จะต้องมีกำลังไฟไม่ต่ำกว่า 250 วัตต์ และความเร็วสูงสุดได้ไม่ต่ำกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ  รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 คณะทำงานแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อธิบายเกี่ยวกับข้อกฎหมายการขับขี่สกูตเตอร์ในประเทศไทยความว่า รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า และมีสองล้อ จึงเข้าข่ายเป็นรถจักรยานยนต์ การนำมาขี่บนถนนสาธารณะ เจ้าของต้องไปขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ได้ป้ายทะเบียนและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี หรือป้ายวงกลม และ เสีย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ให้ถูกต้อง จึงจะนำมาวิ่งบบนท้องถนนได้ โดยผู้ขับขี่ก็จะต้องสวมหมวกนิรภัย และปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เช่นเดียวกับการขี่รถจักรยานยนต์ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่พบว่ามีการนำรถสกูตเตอร์ไฟฟ้ามาขอจดทะเบียนกับขนส่งฯ

ดังนั้น หากนำสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ที่จดทะเบียนได้ มาขับขี่บนถนนหลวงจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ปี 2522 หากนำรถสกูตเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ในทางสาธารณะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ในมาตรา 6 ซึ่งห้ามมิให้นำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ในทางสาธารณะ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 64 จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท นอกจากนี้ อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า โทษปรับ 5,000 บาท อีกด้วย

 หมายความว่าสกู๊เตอร์ไฟฟ้าสามารถขับขี่ได้ในพื้นที่บริเวณบ้านพักส่วนบุคคล หรือในซอยส่วนบุคคล วิ่งได้ในเส้นทางเฉพาะเท่านั้น ห้ามนำไปวิ่งบนถนนสาธารณะ มีความผิดตามกฎหมายจราจร 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นห้ามขับขี่สกูตเตอร์บนถนนสาธารณะ มีนัยยะสำคัญมากกว่าเรื่องกระทำผิดกฎหมายจราจร คือข้อกังวลเรื่องอุบัติเหตุความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งในต่างประเทศไทยมีกฎหมายกำกับชัดเจน อาทิ ประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งสกูตเตอร์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ภายหลังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและมีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้รัฐบาลสิงค์โปร์ออกประกาศห้ามให้สกูตเตอร์ไฟฟ้าวิ่งบนทางเท้า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป และเมื่อพบเห็นผู้ใดฝ่าฝืน จะปรับเงิน 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมทั้งจำคุกนาน 3 เดือน

 ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนทางเท้าหรือถนนได้ แล้วแต่กฎหมายของแต่ละรัฐ โดยจะต้องเป็นสกูตเตอร์ไฟฟ้ากำลังไฟฟ้าต่ำกว่า 750 วัตต์ หรือทำความเร็วได้ไม่ถึง 20 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น, ประเทศฝรั่งเศส สกูตเตอร์ไฟฟ้าในหมวดหมู่ของ Personal Light Electic Vehicle (PLEV)หากทำความเร็วไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะวิ่งบนเลนจักรยานได้ โดยกฎหมายหำหนดห้ามวิ่งบนฟุตบาท, ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอนุโลมให้ขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนถนนได้ แต่ต้องใช้ความเร็วอยู่ที่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น, หรือ ประเทศเยอรมนี อนุญาตให้ขับขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้าบนทางเท้า แต่ต้องใช้ความเร็ว 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น 

สำหรับประเทศไทยขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้าเริ่มได้รับความนิยมในการสัญจรมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับการขับขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้าในไทย เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่ข้องต้องพิจารณาสร้างความสร้างความชัดเจน โดยเฉพาะตัวกฎหมายซึ่งมีความคลุมเครือย้อนแย้ง

 ต้องไม่ลืมว่าอุบัติเหตุยานพาหนะสองล้อรั้งอับดับ 1 อุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองไทย อ้างอิงรายงาน Global Status Report on Road Safety 2018 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าประเทศไทยครองแชมป์ การตายจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลก นั่นหมายรวมถึงสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเองนิยมใช้สัญจรในระยะสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ 

 พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์  อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ และผู้รับผิดชอบโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคันต่อปี ปัจจุบัน ประเทศมีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้อง 21 ล้านคัน แต่มีคนที่มีใบขับขี่ รถจักรยานยนต์เพียง 10 ล้านคน หมายความว่าบนท้องถนนทุกวันนี้ มีทั้งรถมเตอร์ไซค์เถื่อน และคนขับเถื่อนมากกว่า 11 ล้านคน ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่ใช้รถใช้ถนน คนเดินถนน ยิ่งไปกว่านั้น มอเตอร์ไซค์รุ่นครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นพิมพ์นิยมสำหรับวัยรุ่น มีการใช้มากที่สุดและก่อให้เกิดอันตรายสูงสุด ทั้งจากสเปกรถและการนำรถมาปรับแต่งเพื่อแข่ง แว้น ซิ่ง บนท้องถนนได้ง่าย ด้วยคุณสมบัติเสี่ยงตาย คือ ล้อกว้างแต่ยางแคบ

ที่น่าจับตาอีกประเด็น แม้กรมการขนส่งทางบกได้ร่างกฎกระทรวงคมนาคม เมื่อ 18 ส.ค. 2563 เรื่องการขอ การออก และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ กำหนดให้ผู้ประสงค์จะขับรถจักรยานยนต์ ที่มีกำลังสูงหรือ บิ๊กไบค์ ตั้งแต่ 400 ซีซี ขึ้นไป ต้องผ่านการอบรมและทดสอบการขับรถตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวงฯ ควบคุมบิ๊กไบค์จะครอบคลุมรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 % ของประเทศเท่านั้น แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมรถกำลังแรง 250 – 399 ซีซี ซึ่งเป็นรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตเด็กอายุ 15 – 20 ปีเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยขณะนี้เรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนกำลังเป็นประเด็นหลายภาคตระหนักให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากเกิดโศกนาฎกรรมกรณี “หมอกระต่าย” หรือ “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล” ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ พุ่งชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถ.พญาไท กรุงเทพฯ โดยผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นตำรวจ  “ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก” สังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.)

อุบัติเหตุในครั้งสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม โดยภาครัฐเร่งเครื่องล้อมคอกปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนครั้งใหญ่ คณะกรรมการนโยบายการป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนนมีมติให้สร้างมาตรฐานการดูแลทางม้าลายทั่วประเทศให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาว ติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณไฟทางม้าลาย กล้องตรวจจับ การบังคับใช้กฎหมายขั้นสูงสุด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเกิดการรวมตัวของ  กลุ่ม “Rabbit Crossing – ทางกระต่าย”  เพื่อผลักดันการแก้กฎหมายให้ทางม้าลายปลอดภัยต่อประชาชน เรียกร้องกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงผลักดันให้มีการลงโทษอย่างจริงจัง

ย้อนกลับมาที่เรื่อง “สกูตเตอร์ไฟฟ้า” คงต้องติดตามกันว่า จะมีความชัดเจนเรื่องข้อกำหนดการขับขี่ในพื้นที่เพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร หรือจะยังให้ขับขี่เฉพาะในพื้นที่บริเวณบ้านพักส่วนบุคคล หรือในซอยส่วนบุคคล และในเส้นทางเฉพาะตามเดิมเท่านั้น

 คงต้องติดตามกันว่า ภาครัฐโดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม จะถอดบทเรียนอุบัติเหตุสกูตเตอร์ไฟฟ้าเกิดขึ้นต่างประเทศ แล้วกำหนดทิศทางการขับขี่สกูตเตอร์ไฟฟ้าในเมืองไทยอย่างไร และระหว่างนี้การบังคับใช้กฎหมายควบคุมสกูตเตอร์ไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินไปเช่นไร 

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.