ย้อนกลับไปในฤดูกาลที่ผ่านมา ฟุตบอลไทยต้องเตะมาราธอนข้ามปี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แทรกซึมไปทั่วโลก และกว่าจะรูดม่านปิดฉากไปได้ ก็กินเวลามากกว่า 14 เดือน
ในช่วงเวลานั้นเอง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่มีเรตติ้งความนิยมสูงสุดเป็นเบอร์ 1 ของโลกนั้น รวมถึงบรรดาลีกดังทั่วยุโรป ก็ต้องกัดฟันลงเล่นท่ามกลางการระบาดหนักของไวรัสดังกล่าว ด้วยมาตรการที่ต้องถูกนำออกมาใช้เพื่อให้องคาพยพสามารถเดินหน้ากันต่อไปได้ นักเตะหลายคนติดเชื้อ ใครป่วยก็พาไปรักษา ใครปลอดภัย หรือรักษาหายแล้วก็แข่งขันกันต่อไป
สถานการณ์ในเมืองไทยอาจแตกต่างจากสังคมโลก ด้วยปัจจัยจากภาคสาธารณสุขและภาครัฐในการดูแลการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม เอาเป็นว่าเรื่องนี้ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจหรือใครจะไม่เข้าใจก็สุดแล้วแต่
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 กำหนดให้ คณะกรรมการกีฬาอาชีพ กำหนดชนิดหรือประเภทกีฬาอาชีพ ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการกีฬาอาชีพ ได้กำหนดกีฬาอาชีพ ไว้ 13 ชนิดกีฬา ได้แก่ 1.ฟุตบอล 2.กอล์ฟ 3.เจ็ตสกี 4.วอลเลย์บอล 5.ตะกร้อ 6.โบว์ลิ่ง 7.จักรยานยนต์ 8.จักรยาน 9.รถยนต์ 10.สนุกเกอร์ 11.แบดมินตัน 12.เทนนิส 13.บาสเกตบอล
ประเด็นสำคัญก็คือ ทั้ง 13 ชนิดกีฬา ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันที่ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ ตามมาตรการควบคุมของภาครัฐทั้งกองควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข หรือ ศบค. แต่สิ่งที่ทุกคนในสังคมรู้อยู่แก่ใจก็คือ หากเดินหน้าต่อไม่ได้ก็มีแต่รอวันล้มละลาย เพราะในขณะที่รายจ่ายยังมีมาเรื่อยๆ แต่รายได้หยุดชะงักสนิท บรรดาสปอนเซอร์ก็ไม่อัดฉีดเงินเข้าระบบเพราะยังไม่มีการแข่งขันที่จะไปเคลมเงินสนับสนุนจากพวกเขาได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ถือลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดกีฬาต่างๆ ก็มีสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม หากไม่เป็นไปตามข้อตกลง สถานเบาก็คือไม่จ่าย สถานเลวร้ายก็คืออาจถึงขั้นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เหมือนดั่งที่บรรดาฟุตบอลลีกดังของยุโรปต้องจัดแข่งให้ได้ภายใต้กรอบของเงื่อนไขทางสัญญาเหล่านี้
ในขณะที่บางคนอาจจะโทษรัฐ โทษการจัดการวัคซีน โทษคลัสเตอร์ต่างๆ ซึ่งก็สมควรถูกกล่าวโทษนั่นแหละ แต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ จะต้องทำยังไงล่ะ ลีกอาชีพถึงจะดำเนินการจัดการแข่งขันได้ นั่นคือที่มาที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ บริษัทไทยลีกจำกัดต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อหารือและนำเสนอแนวทางภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ทางภาครัฐเปิดไฟเขียวให้ฟุตบอลไทยลีกกลับมาจัดแข่งขันให้ได้
และในที่สุด ความพยายามนั้นก็เห็นผล ฟุตบอลลีกกลายเป็นกีฬาอาชีพชนิดแรกในเมืองไทย ที่ได้รับการอนุมัติให้จัดการแข่งขันได้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นการแข่งขันแบบปิดห้ามเปิดให้ผู้ชมเข้าสนาม และทีมใดที่อยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ก็ต้องไปจัดหาเช่าสนามในจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุด และต้องมีมาตรการตรวจคัดกรองโรคตามมาตรฐานที่ ศบค. กำหนด
นั่นเองที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ถึงเวลาแล้วสำหรับฟุตบอลไทย ในการต้องกัดฟันเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าว เพราะโควิด-19 ยังคงไม่หายไปไหน แต่ถ้าไม่คิกออฟจะทำให้อาชีพหลากหลาย หายไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักเตะที่อาจจะต้องแขวนสตั๊ดไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวในยุคแบบนี้
เรามาลองดูกันว่าสาเหตุหลักๆที่เป็นกุญแจ ทำให้ ศบค. อนุญาตให้ฟุตบอลอาชีพไทย ทั้งระดับ 1-3 สามารถเดินหน้าต่อ จัดการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 3-5 ก.ย.นี้ เพื่อคืนความสุขให้วงการ แม้ว่าจะต้องเล่นแบบปิดสนาม หรือไม่มีแฟนบอลเข้ามาเชียร์สโมสรที่พวกเขารักและศรัทธา
1. ยอมเหนื่อยเพื่อเดินหน้าต่อ
หลังโปรแกรมออกมาทุกทีมได้เห็นแล้วว่าส่วนใหญ่จะไปเล่นในพื้นที่สีแดง หรือสีส้ม ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยมากๆ แต่สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งก็คือ ทุกสโมสรไม่บ่นถึงเรื่องของความเหนื่อยล้า จากการเดินทางไปทำการแข่งขันเลย
ที่กล่าวมาแบบนี้เป็นเพราะ พวกเขาต้องเดินทางด้วยการนั่งรถบัสเป็นเวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ที่ระบุเรื่องห้ามสายการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดไป หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติมที่ออกมา ยกเว้นเป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox)
จะเห็นว่า การท่าเรือ เอฟซี ต้องไปใช้สนาม เขากระโดง จ.บุรีรัมย์, เมืองทอง ยูไนเต็ด ยังใช้ เขาพลอง สเตเดี้ยม, ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปเล่นที่ สมโภช 700 ปี หรือแม้กระทั่งแชมป์เก่าอย่าง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ก็ยังต้องเดินทางไกลไปใช้สนาม พิชญ สเตเดี้ยม ของ หนองบัว พิช เอฟซี
ส่วนในไทยลีก 2 ที่เดินทางไกลสุดๆ คือ วันที่ 25 ก.ย.นี้ ที่ ลำพูน วอริเออร์ จะต้องออกไปเยือน แกรนด์ อันดามัน ระนอง ยูไนเต็ด ด้วยระทางเกือบ 2,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบทั้งวันในการนั่งรถ ซึ่งทุกทีมก็ต้องยอมเพื่อให้ลีกกลับมาเปิด ภายใต้การปฏิบัติตามกฏ ศบค.
2. เพื่อเงินสปอนเซอร์เข้ามาหล่อเลี้ยง
หลายๆ ทีมเผชิญกับสภาวะที่ต้องลดเงินเดือนนักเตะ เพื่อประคับประคองสโมสรให้อยู่รอดต่อไป ที่สำคัญบรรดาสปอนเซอร์ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “บอลไม่เขี่ยเงินก็ไม่ออก” จะให้เงินสนับสนุนได้ก็ต่อเมื่อเกมการแข่งขันเริ่มคิกออฟเท่านั้น
ซึ่งทุกฝ่ายรับรู้สถานการณ์ว่าการจะเลื่อนคิกออฟในเดือน ก.ย.นี้ ออกไปอีกนั้นคงไม่สามารถทำได้อีกแล้ว นั่นจึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่สโมสรสมาชิกได้เร่งหารือกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ บ.ไทยลีก จำกัด ให้สามารถเปิดการฟาดแข้งได้ตามกำหนด โดยศึกษาจากบทเรียนที่หลายประเทศทำให้เห็นก่อนหน้านี้
ไม่ว่าจะเป็น ลีกใหญ่ๆในยุโรป ที่จำเป็นต้องเล่นในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก แต่ก็เพื่อให้เงินถ่ายทอดลิขสิทธิ์สามารถทำได้ตามเป้าหมาย หรือจะเป็น เจ ลีก ของญี่ปุ่น ที่สามารถเตะได้ฤดูกาลก่อน ทั้งๆที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงกว่าบ้านเรามากๆ
เมื่อทุกอย่างมีการหารือกันอย่างเข้มข้น จนออกมามีรูปแบบที่ชัดเจน จึงเป็นสาเหตุหลักที่ “บิ๊กแชมป์” กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ไทยลีก จำกัด รวบรวมแผนงานทั้งหมด เดินหน้าไปคุยกับ ศบค.ชุดเล็ก และได้รับการเห็นชอบ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็คงต้องตายกันหมดทั้งระบบ จากการไม่ได้เงินของสปอนเซอร์เข้ามาจุนเจือสโมสร
3. จำเป็นต้องหวดแม้ไร้แฟนบอล
เราอาจจะเห็นภาพลีกยุโรป ในขณะนี้สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าสนามแบบเต็มความจุ ส่วนที่ ลา ลีกา สเปน ปลดล็อกให้กองเชียร์ สามารถตบเท้าเข้าชมทีมรักในเกมเปิดฤดูกาลจำนวน 30 เปอร์เซนต์ ของความจุสนามแล้ว
ตลอดจนลีกในทวีปเอเชีย ทั้ง เจ ลีก ญี่ปุ่น กับ เค ลีก เกาหลีใต้ ก็ไฟเขียวให้กับแฟนบอลได้เข้าไปดูเกมในสนาม แม้ว่าจะไม่เต็มความจุก็ตาม
นั่นเป็นเพราะว่าการฉีดวัคซีนของประเทศนั้นๆ กระจายครอบคบุมไปจนเกือบจะครบ 100 เปอร์เซนต์ของประชากรแล้ว แต่ถ้าเทียบกับ ไทย ที่ยังไม่สามารถฉีดได้ครบ และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ก่อสร้าง, โรงงานผลิตสินค้า, บริษัทเครื่องยนต์ ฯลฯ
จึงเป็นสาเหตุหลักที่ ศบค. อยากจะควบคุมไม่ให้เกิด “คลัสเตอร์สนามฟุตบอล” และ บ.ไทยลีก จำกัด ก็ตอบรับเรื่องนี้ ด้วยการวางกฏที่เข้มแข็ง หนักแน่น และทุกๆทีมก็ขานรับปฏิบัติกับเรื่องดังกล่าว เพราะอยากให้ฟุตบอลไทย สามารถเดินหน้าต่อไปได้
4. ศบค. อนุมัติแต่ต้องปฏิบัติตามคู่มือ
ในเรื่องของการแข่งขัน นอกจากไม่มีแฟนบอลแล้ว ทุกทีมยังต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใช้วิธีการตรวจแบบ Antigen Test Kit หรือ ATK ทุกนัดก่อนการแข่งขัน 24 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางนั้นจะมีการออกหนังสือขออนุญาตการเดินทางให้กับทุกทีม ซึ่งจะครอบคลุมการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวด้วย
ที่สำคัญพวกเขายังต้องรับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ส่วนกับการแข่งขัน ศบค.ระบุ จำนวนคนไว้ที่ 250 คน มีรายละเอียดดังนี้ การแข่งขัน – นักกีฬา 37 คน, สตาฟฟ์โค้ช, เจ้าหน้าที่ทีม 16 คน, คณะผู้ตัดสิน 5 คน, เจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน 35 คน
ส่วนการสนับสนุน – เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 25 คน, บุคลากรแพทย์ 20 คน, เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสด 30 คน, สื่อมวลชน 15 คน, ผู้บริหาร, สปอนเซอร์ 10 คน และ บุคลากรส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ในสัดส่วนรวมไม่เกิน 250 คน)
นอกจากนี้มาตรการป้องกัน ทั้งผู้จัดการแข่งขัน นักกีฬารวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และแพลตฟอร์ม “สปิริต” ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะมีการจัดลงทะเบียนทั้งก่อนเข้าและออกบริเวณทางเข้าออกที่จะมีเพียงทางเดียวเท่านั้น ต้องสวมหน้ากากอนามัย ลดการพูดคุย และเดินผ่านจุดวัดอุณหภูมิที่ต้องไม่เกิน 37.5 องศา เพื่อคัดกรองผ่านก่อนเข้าสถานที่รวมถึงจัดสบู่ , เจลแอลกอฮอล์ล้างมือล้างมือให้พร้อม
อาจจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพได้ว่า ในขณะที่ทุกคนกำลังติดอยู่ในเกาะแห่งหนึ่งที่กำลังมีโรคร้ายระบาด ทุกคนได้แต่รอชะตากรรมจากการบริหารของผู้นำเกาะ ไม่มีใครกล้าล่องเรือออกไปในทะเล เพราะรู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเจอสัตว์ร้าย หรือภัยพิบัติ หรือแม้แต่มีคนคิดจะออกไปล่องเรือ ก็จะมีข้อห้ามต่างๆ มากมายให้ต้องอดทนอยู่นิ่งๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นวันสุดท้าย แต่มาถึงวันหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกว่ากำลังจะอดอาหารตาย สถานการณ์นี้อาจจะสร้างวีรบุรุษได้ เมื่อมีคนแรกที่กล้าออกเรือ โดยศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไม่ใช่ออกเรือไปแบบโง่ๆ แต่มีวิธีการรองรับและมีการปรึกษาเตรียมการมาอย่างดีกับผู้เชี่ยวชาญในการออกเรือ
แน่นอนล่ะ ยังไม่มีใครรู้หรอกว่าเรือลำนี้จะปลอดภัยไปจนถึงฝั่งหรือไม่ แต่หากเรือลำนี้ไปถึงฝั่งได้อย่างปลอดภัย คนอื่นๆ ในเกาะแห่งนี้ก็คงกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เป็นการสร้างการรับรู้ว่าเราต้องอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้ให้ได้ ด้วยการเดินหน้าอย่างมีการวางแผนรอบด้าน ไม่ใช่นอนรอลุ้นความเป็นความตายอยู่นิ่งๆ เพียงอย่างเดียว
As part of their spo…
This website uses cookies.