รายงานหน้า 2 : ‘สุดารัตน์’ปั้น’กลุ่มสร้างไทย”สร้างพลังคนตัวเล็ก

รายงานหน้า 2 : ‘สุดารัตน์’ปั้น‘กลุ่มสร้างไทย’‘สร้างพลังคนตัวเล็ก’

รายงานหน้า 2 : ‘สุดารัตน์’ปั้น‘กลุ่มสร้างไทย’‘สร้างพลังคนตัวเล็ก’

หมายเหตุคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างไทย พร้อมคณะ อาทิ นายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข นายพงศกร อรรณนพพร นายประวัฒน์ อุตตะโมต เข้าพบปะนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหาร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มสร้างไทย ที่อาคารมติชน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ประธานสถาบันสร้างไทย

รายงานหน้า 2 :  ‘สุดารัตน์’ปั้น‘กลุ่มสร้างไทย’‘สร้างพลังคนตัวเล็ก’

ขอขอบคุณคณะผู้บริหารเครือมติชนที่ให้กลุ่มสร้างไทยมาหารือแลกเปลี่ยนการทำงานในอนาคต ในวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองน่าห่วงและกังวล ส่วนตัวตั้งใจว่าจะทำองค์กรทางเมืองนี้เป็นงานสุดท้ายในชีวิต ตั้งใจว่าจะใช้ความรู้ ประสบการณ์กว่า 29 ปี มาเป็นฐานเป็นเสาเข็มสร้างพรรคการเมืองที่ดี เป็นฐานรากให้คนเก่ง คนรุ่นใหม่ ได้ต่อยอด เพราะตั้งแต่รัฐประหาร สิทธิและโอกาสของประชาชนหายไป รัฐราชการใหญ่ขึ้นแต่ประชาชนตัวเล็กลง หลักคิดของกลุ่มสร้างไทย คือ ต้องเร่งที่จะปลดปล่อยประชาชนจากสิ่งที่กดทับและเพิ่มพลังให้ประชาชนมีกำลัง นี่จึงเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ ประกอบกับโลกยุคใหม่ ไม่สามารถสร้างประชากรไทยให้เป็นพลเมืองของไทยเพียงอย่างเดียว ต้องให้โอกาสประชาชนไทยได้เป็นพลเมืองของโลกด้วย เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้และนำความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศ และจะเห็นได้ว่าต่างประเทศผู้นำมีอายุน้อยลง แต่สำหรับประเทศยังเกิดไม่ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญยังคงเป็นแบบนี้หรือไม่มีคนมาเป็นเสาเข็มให้คนรุ่นใหม่ เพราะต้องมาตอกเสาเข็มขุดดินขุดทราย เรื่องพวกนี้เองพวกเรายินดีทำ พวกเรามีพื้นฐานมีประสบการณ์และคนรุ่นใหม่มีความรู้และเทคโนโลยีสามารถที่จะต่อยอดกันได้ เป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ

เมื่อตอนที่เศรษฐกิจไม่ได้แย่อย่างตอนนี้สนใจแต่เพียงคนรากหญ้า แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจที่มันไม่ดีตั้งแต่ก่อนโควิด-19 พอมาเจอโควิด-19 ก็ยิ่งหนัก คนที่รวยกลายเป็นคนเคยรวย คนที่จนกลายเป็นคนยิ่งจน หลังโควิดความหมายของคนตัวเล็กไม่ใช่แค่ชาวไร่ชาวนา พนักงานบริษัทหรือคนใช้แรงงาน แต่มันหมายถึงพ่อค้าแม่ขาย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมไปถึงเด็กจบใหม่ที่จะใช้ความรู้ในโลกยุคใหม่ทำงาน โดยรัฐมีหน้าที่เคลื่อนคนกลุ่มนี้ให้ออกไปทำงานได้เร็วที่สุดหลังโควิดประเทศถึงจะไปได้ วันนี้ความเหลื่อมล้ำสูง 7 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (จีดีพี) ของบริษัทใหญ่โตขึ้น ขณะที่จีดีพีของเกษตรกรติดลบ เพราะฉะนั้นหลังโควิดจะต้องทำให้คนที่อยากจะทำมาหากินตั้งแต่เกษตรกรจนไปถึงกลุ่มเอสเอ็มอี หรือ หลักคิดของเราคือ หลังโควิดประเทศและประชาชนต้องไปได้เร็วไปได้แรง

นอกเหนือการเปลี่ยนรัฐจากการเป็นผู้ควบคุมให้กลายมาเป็นผู้สนับสนุน สังคมประเทศไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและขณะเดียวกันคนที่อยู่ในวัยทำงานแบกคนรุ่นก่อน 2 คน เป็นอย่างต่ำ ยังมีรุ่นลูกอีก ตอนนี้คนรุ่นนี้เองเรียกได้ว่า “แบกหลังแอ่น” เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังจนอยู่ กลุ่มของเราจึงมองว่าสามารถที่จะร่วมเงินที่สะเปะสะปะ ไม่ว่าจะเป็นกองทุน เงินแจกต่างๆ จึงคิดว่าควรจะมีบำนาญของประชาชนที่อายุ 60 ปี ให้เงิน 3,000 บาท แต่ไม่ใช่ให้เงินเพียงอย่างเดียวจะทำอย่างไรให้คนสูงอายุมีอายุยืนแบบแข็งแรงและไม่จน ต่อมาเมื่อได้รับเงินส่วนนี้เขาสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมได้ เช่น การดูแลเด็ก ทำไมต้องให้คนหนุ่มสาวเลี้ยงเด็กทั้งที่เป็นวัยที่มีกำลังทำงาน ถ้าเราเอาผู้สูงอายุที่แข็งแรงที่ได้เงินเข้ามาและถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ เพราะฉะนั้นเงิน 3,000 บาท ที่ให้กับผู้อายุก็จะหมุนในหมู่บ้าน หมุนในสังคม ซึ่งก็ไม่ต้องหาเงินใหม่ หลักการคือให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ เรื่องต่อมาเป็น “สิทธิพิเศษของคนตัวเล็ก” ต้องเกิดเพื่อให้คนรุ่นใหม่และคนตัวเล็กสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ มีต้นทุน เช่น รายได้ไม่ถึง 2 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี 3 ล้านเสียภาษีเป็นขั้นบันได อย่างน้อยให้สิทธิกับคนตัวเล็กเหล่านี้ จึงเป็นสิทธิพิเศษ

⦁ ความคืบหน้าของการยื่นตั้งพรรคเป็นอย่างไร

ชื่อพรรคที่ยื่นขอจดจัดตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ พรรคไทยสร้างไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นจัดตั้งพรรคจำนวน 500 คน คาดว่าจะได้รับการรับรองการตั้งพรรคจาก กกต.ในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะมีแนวทางการขับเคลื่อนของพรรคต่อไป ขอยืนยันว่ากลุ่มสร้างไทยจะเดินหน้าสร้างการเมืองรูปแบบใหม่ ไม่ขัดแย้งกลับใคร และไม่ใช่เป็นกลุ่มการเมืองที่จะไปต่อท่ออำนาจให้กับฝ่ายเผด็จการแน่นอน

⦁ กลุ่มสร้างไทยจะส่งบุคคลลงรับเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับบุคคลที่มีความสนใจลงรับเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่หลายคน เมื่อมีความชัดเจนแล้ว จะได้ดำเนินการการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป

โภคิน พลกุล

แกนนำกลุ่มสร้างไทย

รายงานหน้า 2 :  ‘สุดารัตน์’ปั้น‘กลุ่มสร้างไทย’‘สร้างพลังคนตัวเล็ก’

การที่ตัดสินใจมารวมตัวและมาทำงานทางการเมืองในครั้งนี้ เพราะไม่คิดว่าบ้านเมืองจะเดินมาถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด การที่คนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง เป็นสัญญาณว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต ทำให้ได้มาคิดมาหารือและตกผลึกว่า มาร่วมกันส่งมอบประเทศไทยที่ดีที่สุดให้ลูกหลานของเรา คนรุ่นใหม่ในความหมายไม่ได้แปลว่าคนอายุน้อยแต่หมายความว่าคนที่มีความคิดที่มองไปข้างหน้าไม่ใช่มองเรื่องใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ แต่คือคนที่เข้าใจว่าสังคมนี้ต้องไปข้างหน้าอย่างไรและจะแก้ไขให้สังคมนี้เดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงเอาอำนาจรัฐและแข่งกันเขียนนโยบายว่าใครแจกมากกว่ากัน สิ่งที่กลุ่มสร้างไทยจะต้องเร่งขับเคลื่อนและแก้ไข คือ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของระบบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชนตัวเล็กๆ โดยจะออกกฎหมายมา 1 ฉบับ เพื่อเปิดทางให้ประชาชนประกอบธุรกิจได้ใน 3 ปี ระหว่างนั้นก็จะออกกฎหมายและระเบียบมารองรับการประกอบธุรกิจของประชาชน ถ้าภายใน 3 ปี ยังออกกฎหมายมารองรับไม่เสร็จก็ขยายเวลาต่อให้อีก 2 ปี นอกจากนี้ควรให้มีสภาเอสเอ็มอี โดยให้สมาชิกที่อยู่ในสภาเอสเอ็มอีควบคุมและดูแลกันเอง เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิมีเสียง มีพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเอง

อีกทั้งควรทำให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐด้วยเงื่อนไขที่ง่ายขึ้น แนวทางที่กลุ่มสร้างไทยเสนอ คือ การออกกฎหมาย ตั้ง 3 กองทุน กองทุนละ 1 แสนล้านบาท เป็นทุนประเดิม และให้สมาชิกของกองทุนดังกล่าวได้มาบริหารกองทุนกันเอง รูปแบบจะเหมือนกับกลุ่มสหกรณ์ที่ให้สมาชิกของกลุ่มสหกรณ์แต่ละกลุ่มมาบริหารกันเองซึ่งจะไม่เจ๊งแน่นอน เพราะสมาชิกจะมีระบบตรวจสอบกันเอง

อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญที่จะเดินหน้าเรื่องต่างๆ ที่กลุ่มสร้างไทยจะขับเคลื่อนได้ คือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถ้ายังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ และเรื่องที่ไม่สบายใจ คือ เมื่อที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการในวาระ 1 ที่ได้รับทั้งร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน ที่มีเนื้อหาเหมือนกัน คือ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีสมาชิกรัฐสภาในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ทำฉบับใหม่เท่ากับทำไม่ได้ใช่หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาเกือบทุกฉบับไม่เคยมีการบัญญัติว่าห้ามแก้ไขมาตราใด

สมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ ก็จะกลับมาสู่การแก้ไขแบบรายมาตราตามที่แกนนำพรรค พปชร.บางคนระบุไว้ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะเข้าทางรัฐบาลและ ส.ว.ที่คุมเสียงข้างมากไว้ หากจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ให้ฝ่ายตัวเองมีความได้เปรียบ เช่น แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ก็จะสามารถทำได้ ฝ่ายรัฐบาลก็จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา โดยใช้เวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญจนอยู่ครบวาระ แล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้อยู่เป็นนายกฯต่อ หากเป็นเช่นนี้ผมคิดว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้แน่นอน

เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีความหวังว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วมีการเลือกตั้งปี 2564 หรือปี 2565 ประชาชนรอได้ แต่ขอให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะปัญหาที่ปล่อยทิ้งไว้ให้คั่งค้างถึงจุดนี้ไม่มีใครแก้ได้นอกจากประชาชน ต้องแก้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเห็นชอบเองและเลือกตั้งตามฉบับของประชาชน ว่าเลือกใครมา ก็เอาตามนั้น แก้ไม่ได้เขาก็ด่าคนนั้นไป แก้ได้ก็ชมคนนั้นไปแล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นี่คือกุญแจดอกเดียวที่จะไขปัญหาทั้งหมด แต่ถ้าไม่ไขดอกนี้ก่อนอย่างอื่นก็ไปไม่ได้ สิ่งที่ชอบอีกอย่างในแนวทางของกลุ่มสร้างไทย คือ ไม่อยากไปทะเลาะกับใคร อยากเชิญชวนทุกคนมาช่วยกันแก้ปัญหามาไขกุญแจดอกนี้

วัฒนา เมืองสุข

แกนนำกลุ่มสร้างไทย

รายงานหน้า 2 :  ‘สุดารัตน์’ปั้น‘กลุ่มสร้างไทย’‘สร้างพลังคนตัวเล็ก’

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 น่าเป็นห่วงอย่างมาก ที่จริงแย่มาตั้งแต่หลังการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหลักฐานคือ ตัวเลขการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีได้ต่ำกว่าประมาณการมาตลอด ตัวเลขทางเศรษฐกิจบอกความจริงเสมอ และจีดีพี ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสินค้า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อันดับ 1 คือ ส่วนประกอบรถยนต์ อันดับ 2 คือ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน เอฟดีไอได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนาม เพราะมีข้อได้เปรียบในการลงทุนมากกว่าประเทศไทยหลายอย่าง ทำให้จีดีพีประเทศไทยหายไปประมาณ 16 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เกิน 16 เปอร์เซ็นต์ เรื่องที่ 2 ที่น่าเป็นห่วง คือ การจัดเก็บภาษีที่ต่ำ เป็นสัญญาณความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ เรื่องที่ 3 ที่น่าเป็นห่วง คือ รายจ่ายของประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบรัฐราชการ ที่โตขึ้นทุกวัน เรื่องที่ 4 ที่น่าห่วงคือ ประเทศไทยต้องสร้างฐานรายได้ของตนเอง เพราะในปัจจุบันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แย่ลง ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายของต่างประเทศ จึงต้องทำประเทศไทยให้เป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าขึ้นมาใหม่ เรื่องที่ 5 ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้ครัวเรือน คิดง่ายๆ คือ ได้เงินมา 100 บาท ต้องไปใช้หนี้ 90 บาท ส่งผลให้กำลังซื้อถดถอย วันนี้การฟื้นเศรษฐกิจต้องฟื้นจากการบริโภคภายใน และเรื่องที่ 6 เรื่องสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงมากคือ หนี้คงค้างต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้น ปัญหาที่เกิดคือจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงบประมาณได้ และจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางการคลัง

ปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลมีความน่าเป็นห่วง หัวใจสำคัญของการทำเศรษฐกิจให้ดี รัฐบาลต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนในประเทศเต็มใจเสียภาษี แต่นโยบายของรัฐบาลไม่ได้คิดหาเงินเข้า ล้วนแต่เป็นนโยบายที่นำเอาภาษีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน ลด แลก แจก แถม ต่างๆ ไม่ได้คิดให้ประชาชนร่วมกันจ่ายภาษี ซึ่งส่วนนี้ ได้วางแผนนโยบายไว้แล้ว แต่ยังไม่เปิดเผย ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรเร่งทำ คือ การลดระบบราชการ สร้างฐานรายได้ใหม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ การดิสรัปต์ธุรกิจ หรือ ความปั่นป่วนทางธุรกิจ ทำให้คนตกงาน หลายคนกลัว แต่ไม่ได้รู้สึกกลัว เพราะตราบใดที่ความต้องการของมนุษย์ไม่หมดลง ก็จะทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นเสมอ เราควรที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ ให้มีโอกาสในการหาอาชีพใหม่ ตรงนี้คือหน้าที่ของรัฐ เรื่องสุดท้ายหัวใจสำคัญ คือ ควรปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งหมด “อย่าเอากะลาไปครอบประชาชน” ควรให้โอกาส อย่าลดโอกาสด้วยกฎหมายต่างๆ ที่ไปจำกัดขีดความสามารถประชาชน ควรปลดกฎหมายเหล่านั้นออกให้หมด เพื่อให้มีโอกาสทำมาหากิน เป็นสิ่งที่ควรรีบทำทันที