Motor Sport Sponsored

รายงานพิเศษ : เยือน “ถิ่นไทยนักปราชญ์” ยลจังหวัดกำเนิดคำว่า “โคก หนอง นา” – บ้านเมือง

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

วันศุกร์ ที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 17.10 น.

เคยได้ยิน “พี่เก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าให้ฟังว่า จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของคำว่า “โคก หนอง นา” และเป็นจังหวัดที่ประชาชนเข้าร่วมทำโคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชนมากที่สุดในประเทศไทย

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”  อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เล่าเพิ่มเติมอีกว่า คำว่าโคก หนอง นา เกิดจากที่วงประชุมระหว่างที่ชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีไปอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อมีเจ้าหน้าที่ไปอธิบายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มีชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจ จนมีผู้ชายวัยกลางคน คนหนึ่งเปรยขึ้นว่า


            
“สิ่งที่พวกท่านบอกมาทั้งหมดนี้บ้านผมเรียกว่า โคก หนอง นา แล้วก็อธิบายลักษณะสิ่งที่เขาทำอะไรคือโคก อะไรคือ หนอง และนา ให้ที่ประชุมเข้าใจและเห็นภาพวิถีชีวิตคนในภาคอีสาน จึงมาคิดประยุกต์ใช้คำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงจิตใจของประชาชน ซึ่งความจริงทั้งคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงหรือคำว่า โคก หนอง นา เป้าหมายคือตัวเดียวกัน คือ ฐานตั้งอยู่บน 4 พ.คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ทุกวันนี้ ผู้ชายคนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่…
           
เรื่องโคก หนอง นา นี้ทั้งพี่และผู้บริหารเจ้าหน้าที่ก็ไปอบรมกันมาที่ศูนย์​กสิกรรม​ธรรมชาติ​มาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ตลอด 5 วัน 4 คืน   เพราะหากคนกรมพัฒนาชุมชนไม่เข้าใจ ทำไม่เป็นแล้ว จะไปนำ จะไปบอกชาวบ้านเขาไม่ได้ ”
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว


คำว่า “โคก หนอง นา” แท้จริงแล้วก็คือการต่อยอดโครงการตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้เป็นมรดกแผ่นดิน และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  พระองค์ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการต่อพสกนิกรชาวไทยว่า
           
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป..”
              
พระราชดำรัสนี้พิสูจน์ได้ว่า พระองค์ทรง สืบสาน รักษาและ ต่อยอด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระราชบิดาของพระองค์จริง โดยทรงทำให้เป็นแบบอย่างที่พระราชวังของพระองค์ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมการพัฒนาชุมชนในฐานะผู้ปฏิบัติการดำเนินการลงสู่ชุมชน หมู่บ้านครอบคลุมมากกว่า 73 จังหวัด หลายหมื่นครัวเรือน
             
“ทีมงานเฉพาะกิจ” เดินทางโดยรถยนต์จากรุงเทพมหานครเพื่อไปดูกิจกรรมโคก หนอง นา ของจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของคำว่า โคก หนอง นา และเป็นจังหวัดที่มีผู้ทำโคก หนอง นา มากที่สุดในประเทศไทยตามคำบอกเล่าของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
           
“จังหวัดอุบลราชธานี” ตั้งอยู่สุดเขตชายแดนตะวันออกภาคเฉียงเหนือของประเทศไทย มีขนาดพื้นที่ใหญ่อันดับ 2 ของภาค และใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ มีแนวชายแดนติดกับทั้งประเทศลาวและกัมพูชา ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 650 กิโลเมตร  หากขับรถไปเองใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง 30 นาที
            
การปกครองแบ่งออกเป็น 25 อำเภอ 216 ตำบล 2,699 หมู่บ้าน  รวมประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 2 ล้านคน
           
การดำเนินการโคก หนอง นา ของจังหวัดอุบลราชธานี ตามข้อมูลของพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งงบปกติและงบเงินกู้มีทั้งหมด 4,751 แปลง มีนักพัฒนาต้นแบบสัญญาจ้างรายปีจำนวน 898 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย
              
เป้าหมายแปลงที่ทีมงานจะลงไปดูตั้งใจเอาไว้ มี 4 แห่ง ใน 4 อำเภอ
             
หนึ่ง  แปลงของศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล อดีตประธาน SAVEUBON ต.ดุมใหญ่อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี สอง แปลงของปาณิสรา  นามโคตร   บ้านสุ่งช้าง ต.คันไร่ อ.สิรินธร  จ.อุบลราชธานี สาม แปลงของ อัมพร วาภพ  เฮือน ฮ่วม แฮง ศูนย์ฝึกอบรมวิสาหกิจโฮมสเตย์ บ.หนองบัวฮี ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร  จ.อุบลราชธานีและสุดท้ายคือแปลง ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี


“อาจารย์แขก” เป็นชื่อเรียกในวงการคนทำโคก หนอง นา  ของ  “ศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล”  อดีตประธาน SAVEUBON เป็นอดีตทหารพรานจากค่ายกาญจนบุรี สนใจหันมาทำเกษตรแบบดั้งเดิมตามวิถีคนอีสานมานานแล้ว เนื่องจากพ่อแม่เป็นชาวนา ภรรยาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยอมลาออกจากงานมาเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาเต็มตัว ทั้งคู่กำลังจะสร้างบ้านและจัดสรรแบ่งที่ดินจำนวน 31 ไร่ เป็น “ศูนย์เรียนรู้” ด้วย
           
อาจารย์แขกเล่าว่า  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราทั้งคู่คิดมาทั้งชีวิต พ่อแม่เป็นชาวนา เราก็เห็นมาแต่เด็กแล้วเรามีความรู้สึกว่าเราไม่ชอบในเมือง เพราะในเมืองมีการแข่งขัน การแข่งกันรวย  เรารู้สึกว่าสังคมทิ้งเรา  เราวิ่งตามสังคมไม่ทัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะพอให้เราอยู่ได้ก็คือในเรื่องของแนวคิดเรื่องของการที่จะต้องมีกิน  มีกินนั้นหมายความว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงคือการที่จะต้องพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด เราจะสร้างพื้นที่ของเราตรงนี้เพียรสร้างมาเกือบ 20 ปี
          
เมื่อสักประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ถือว่าตกผลึกแล้วว่ายังไงก็ต้องหยุดงานอื่น แล้วก็ต้องรีบสร้างฐานตัวเองให้มันเป็นหลุมหลบภัยให้ได้ในอนาคต แล้วพอในห้วงของน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 62 เราก็เห็นแล้วว่าถ้าจะปล่อยให้อยู่อย่างนี้ เดี๋ยวท่วมเดี๋ยวแล้ง ก็หมายความว่ามีความไม่แน่นอนทั้งหมดเลยน้ำแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ก็เลยหาวิธีคิดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 4 พ. คือ พอกิน พอใช้ พอกินและพอร่มเย็น
            
คนทำโคก หนอง นา หรือเศรษฐกิจพอเพียง หากคุณทำเรื่อง 4 พ. ไม่ได้ ต่อให้คุณมีเงินขนาดไหนคุณก็บอกว่าคุณขาดทุนคุณเจ๊ง เพราะคุณไม่ได้มาอยู่เรื่องของการคิดทำให้พออยู่พอกิน คำว่าพออยู่พอกินเนี่ยจะต้องไม่ใช่แค่มีกินตัวเองด้วยนะ มันจะต้องพ่อแม่ต้องมีกินพี่น้องต้องมีกินนะ ถ้าเขาไม่มีกินเราต้องไปแบ่งเขากิน ถ้าเราไม่แบ่งเขากินเขาก็จะมาขโมยเรากิน ปัญหามันก็จะเกิดตามมามากมาย ซึ่งมันก็จะไปซ้ำรอยกับแนวทางเศรษฐกิจตาโต คือระบบทุนนิยม มือใครยาว สาวได้สาวเอา ใครมีโอกาสมากกว่า ใครมีช่องทางก็เอาเปรียบผู้คน เอาเปรียบสังคม เอาเปรียบประเทศชาติแผ่นดินเรื่อยไป  คนจะเดินตามรอยนี้ต้องแม่นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณรู้จริงหรือยัง?? ถ้าคุณไม่รู้จริงคุณไปทำ ก็ไม่เข้าใจเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจริง คุณก็ไม่สามารถเข้าไปเรื่องของ 4 พ. ได้เลย การเดินเส้นทางนี้มันก็หลงทาง

อาจารย์แขกบอกเพิ่มเติมอีกว่า  “การทำโคก หนอง นา มันคือทางรอด มิใช่ทางเลือก  คนทำบางคนมันไม่รอดก็เพราะว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อยพื้นฐาน 4 พอที่บอกไป  ทำแบบคนมี คือ ใช้เงินทำงาน ไม่พึ่งตนเอง การทำแบบคนรวยก็จะไม่ประสบความสำเร็จกับการทำโคกหนองนา การทำโคกหนองนาที่จะสำเร็จก็คือการทำเรื่องของการพึ่งตนเองให้ได้ ทำอย่างไรให้พึ่งตนเองให้ได้ ถ้าพึ่งตนเองไม่ได้ พึ่งตนเองหมายถึงเรื่องอะไรบ้างตั้งแต่เรื่องของการที่จะต้องทำให้ตนเองมีกิน ทำให้ตนเองมีใช้ ทำให้ตนเองมีที่อยู่สมควรตามอัตภาพ มีพื้นที่ในการที่จะใช้ชีวิตให้มีความร่มเย็นแบบธรรมชาติ แต่ถ้าเกิดว่าคุณเริ่มทำโคกหนองนาแล้วคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จเหมือนเศรษฐกิจตาโต แต่ก่อนยาก  เศรษฐกิจตาโต ก็คือ ทำเพื่อขาย ทำเพื่อให้ได้เงิน
           
เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโคก หนอง นา ก็คือ ระบบเครือข่ายนั้นแหละ ประโยชน์สูงสุดก็คือการที่จะทำให้สังคมกลับมาเกื้อกูลซึ่งกันละกัน สังคมมันจะดีขึ้น ดีขึ้นมาจากที่ทุกคนไม่อดยาก ทุกคนมีอยู่มีกิน เมื่อมีอยู่มีกินคนมันจะรู้สึกอิ่ม ก็คือเป็นบุญ เมื่อมันมีบุญมันก็จะสร้างบุญมันก็จะให้กันต่อไป ถ้าสังคมกลับมาแบบนี้สังคมมีความเอื้ออาทรสังคมมีการให้จะกลับมา อันนี้สูงสุดคือถ้าทุกคนทำได้แบบนี้ผมคิดว่าสังคมเราจะเป็นสังคมที่เกื้อกูล สังคมจะกลับมาเกื้อกูล สังคมมีความสุขจะกลับมา รอยยิ้มก็แบบเจอใครก็ยิ้มเพราะว่าทุกคนมีความสุข   สวนของผมจึงตั้งชื่อว่า “สวนปันบุญ”..”
ศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล หรือ อาจารย์แขกกล่าวส่งท้าย พร้อมกับแจกต้นทองกวาวให้ทีมงานมาเพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศอีก 10 ต้น และมะม่วงกวนไว้ชิม

การเดินทางสู่เมืองอุบลราชธานีที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า “โคก หนอง นา” และเป็น “จังหวัดที่มีแปลงโคก หนอง นา” มากที่สุดในประเทศ  ได้พูดคุยกับอาจารย์แขกหรือศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล ซึ่งความรู้ที่พรั่งพรูอธิบายเรื่องศาสตร์ของพระราชาและการพาเดินดูแปลงโคก หนอง นา พร้อมพาชมสวนป่าที่ปลูกป่าไม้นานาชนิดเอาไว้  ทำให้ทีมงานนึกถึงคำขวัญท่อนหนึ่งของจังหวัดอุบลที่ว่า “ถิ่นไทยนักปราชญ์”  เพราะอาจารย์แขกสมเป็นนักปราชญ์ชุมชนจริง ๆ  และนักปราชญ์ส่วนใหญ่ก็จะมีวิธีคิด วิธีทำ และวิถีชีวิตแบบนี้
          
เป้าหมายต่อไป “คนเลี้ยงหอย”   ปาณิสรา  นามโคตร  แห่งบ้านสุ่งช้าง ต.คันไร่ อ.สิรินธร  จ.อุบลราชธานี เมื่อเราไปถึงเธอกำลังรับโทรศัพท์สายลูกค้า ปาณิสรา ค่อนข้างตื่นเต้นเมื่อเจอทีมงานแต่การพูดคุยของเธอยิ้มแย้มแจ่มใสบ่งบอกถึงความสุขแบบ “วิถีคนชนบทไทย” โดยแท้ ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มตลอดเวลา เธอลงสมัครกับกรมการพัฒนาชุมชนไว้ 3 ไร่ ตอนนี้ขุดบ่อเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เธอพาไปดูแปลงผักพริก กล้วย ของเธอในแปลงที่ขุด และชี้ไปที่บ่อน้ำและคลองใส้ไก่ว่า

..พี่ดูดี ๆ  ในบ่อ คลองใส้ไก่มีหอยเต็มไปหมดเลย มีปลานิล ปลาตะเพียนก็เยอะ บ่อนี้เพิ่งขุดเสร็จ หนูอยากได้มานานแล้ว แต่เราไม่มีเงินที่จะขุดบ่อ โชคดีมีคลองใส้ไก่ด้วย ต้องขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยต่อยอดความฝันของหนูได้
            
“เดิมพื้นที่ตรงนี้ก็ทำนา เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวท่วม ราคาก็ไม่แน่นอน เคยปลูกมะลิ ก็ไปไม่รอด มีวันหนึ่งด้านหลังที่ดินแปลงนี้มีห้วยเล็ก ๆ  หนูไปเก็บหอยขาย แล้วราคามันได้ดี ขายแม่ค้าส้มตำ ก็เลยคิดว่าอยากมีบ่อ มีสระน้ำ ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้แต่คิด แต่ไม่มีเงิน ตอนที่กรมพัฒนาชุมชนประกาศให้คนอยากทำโคก หนอง นา ทราบข่าวรีบไปอำเภอเลย รอมานาน
            
ตอนนี้หนูมีรายได้ตกเดือนละประมาณ 25,000 ถึง 30,000 แต่เพิ่งเริ่มทำนะขายผักบ้าง พันธุ์บ้าง  แต่ส่วนใหญ่ขายหอย มีหอยเชอรี่ กิโลกรัมละ 20 บาท หอยจุ๊บกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนหอยนากิโลกรัมล ะ120 บาท  คนแถวนี้มารับซื้อทุกวันทั้งชาวบ้านและแม่ค้าส้มตำ  และหนูขายพันธุ์หอยด้วย   ปลา หอยตามทุ่งนา ลำห้วย แถวนี้หาไม่ได้แล้ว  เพราะคนทำนาใช้แต่สารเคมี หนูเน้นขายออนไลน์ ออเดอร์มีทุกวัน ส่งขายทั่วประเทศ..”

            
ปณิสรา บอกต่ออีกว่า “พี่คิดดู ตอนนี้กรมพัฒนาชุมชน เขาขุดบ่อให้ประชาชนทั่วประเทศเป็นหมื่น ๆ  บ่อ คนทำโคก หนอง นา มากมาย  หนูเป็นคนแรกที่ทำหอยแบบนี้ ขายแม่พันธุ์ด้วย ซึ่งหอยที่พี่เห็นใส่ไว้ในตะกร้านั่นคือ ส่งขาย ธรรมชาติของหอยหากเลี้ยงประมาณ 4 เดือนก็เก็บได้ ส่วนในตระกล้าเขาจำศีลเขาอยู่ได้ 2-3 เดือนเลย    หนูคาดหวังว่าเราเป็นคนแรกที่ขายหอย ยุคนี้ทำโคก หนองนา เยอะ ต่อไปหนูจะส่งพันธุ์หอยทั่วประเทศ…หนูฝากขอบคุณรัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชนด้วย ที่มอบโอกาสดี ๆ แบบนี้ให้กับประชาชน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สหประชาชาติ หรือ UN ยกย่องให้เป็นกษัตริย์นักพัฒนา “ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง” หากพระองค์รับรู้ได้ว่าพสกนิกรของพระองค์พัฒนาตนเอง พึ่งตนเองได้แบบนี้คงปลาบปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันคือทางรอดมิใช่ทางเลือก ของประชาชนที่จะสร้างความมั่นคงให้ชีวิตและครอบครัวได้อย่างแท้จริง

หลังจากที่ทีมงานได้พูดคุยกับทั้งนักปราชญ์ชุมชนอย่างอาจารย์แขกและชาวบ้าน“คนเลี้ยงหอย”   อย่าง ปาณิสรา  นามโคตร  แล้ว  ทีมงานต้องการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่ม NGO คนที่ขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงบ้างว่า เขามีมุมมองต่อโคก หนอง นา อย่างไร
         
“พี่ภาคิน”  เจ้าหน้าที่พัฒนาการจังหวัด  ชี้เป้าไปที่  “อัมพร วาภพ” เฮือน ฮ่วม แฮง ศูนย์ฝึกอบรมวิสาหกิจโฮมสเตย์ บ.หนองบัวฮี ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เราไม่รอช้ารีบไปเยือนอัมพร ทันที

“อัมพร วาภพ” เด็กหนุ่มอดีตนักศึกษาเด็กกิจกรรม ชอบออกค่าย ไปเห็นชุมชน รวมตัวกันทำสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน โอทอป เมื่อเรียนจบงานร่วมกับ สสส. บ้าง ธ.ก.ส.บ้าง ประสบการณ์การออกค่าย ความรู้ผ่านเรื่องราว ๆ ต่าง หลากหลายพื้นที่ในภาคอีสาน เป็นแรงดลใจพลังใจนำประสบการณ์ที่ได้มาตั้งกลุ่มทำงานที่บ้านเกิดตนเอง  เปรียบเสมือน “สำนึกรักบ้านเกิด”
         
อัมพร บอกว่า  เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คนในชุมชนแถวนี้ก็ทำนาอย่างเดียว เร่งทำนา เร่งเกี่ยวข้าว เร่งขาย  ก็เลยย้อนกลับมาเริ่มทำบ้านหลังเล็กๆ เริ่มปลูกต้นไม้ แล้วก็คุยแนวคิดนี้กับทางแม่ ผมพ่อเสียตั้งแต่ผมเป็นเด็ก มีแม่มีพี่ชาย เพราะว่ามันยังเป็นเรื่องใหม่ บางทีถ้าเราเริ่มต้นขุดหนองปรับนานู้นนี่มันยังไม่เห็นผลจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องคุยกับทางคุณแม่ คุณแม่ก็ช่วยสนับสนุนเป็นคนโชคดีชอบปลูกต้นไม้ พี่ชายเป็นช่าง พี่สะใภ้เก่งเรื่องกับข้าวก็เลยเป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้การจัดการต่างๆ มันง่ายขึ้น มันก็มีทีมมีแนวร่วมของเขา ที่เป็นชาวบ้านกลุ่มของเขามาช่วย support
          
แล้วอีกอย่าง คนครัวที่มาทำกับข้าว มาเป็นช่าง ทุกคนก็รวมตัวสามัคคีกัน ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า “เฮือน ฮ่วม แฮง”  จริงๆ เรื่องแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไปช่วยงานของศูนย์พัฒนาคุณธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งตอนนี้เป็นศูนย์อบรมของกรมพัฒนาชุมชน ตอนนั้นก็ไปช่วยเป็นวิทยากรบ้าง ช่วยพาทีมงานออกทีมไปเก็บสกู๊ปงานสื่อบ้าง  ก็เลยเห็นว่าอนาคตแนวทางเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมันจะพึ่งตัวเองได้ ถ้าเราเริ่มต้นทำตั้งแต่ตอนที่เรากำลังมีไฟมีแรง ไม่ใช่ทำตอนเกษียณ  ซึ่งถ้าหากเราต้นทุนน้อยเราก็ทำตั้งแต่เด็ก ต้นไม้เราก็มีทุนหรือปลูกเพาะเองเล็ก ๆ มันจะค่อยๆเติบโต เริ่มต้นอย่างนั้นมา ก็ไปขอตะไคร้จากสวนบางอ้อเอามาปลูก ขอต้นไผ่ ต้นไม้ต่าง ๆมาปลูก คือซื้อบ้าง ขอบ้าง ให้หลวงพ่อที่เคารพนับถือมาช่วยเป็นพี่เลี้ยง มาดู มาแนะนำ
          
ที่นี่มีโฮมสเตย์ เริ่มแรกเอาเครือข่ายมานอน มานั่งคุย ปรึกษาหารือ แบบค่อยเป็นค่อยไป ตอนหลังก็ปรับเป็นสถานที่ฝึกอบรมสำหรับคนที่สนใจด้านนี้ มีที่พักให้ คิดเป็นรายหัว อบรมเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น วันธรรมดาต้องทำงานประจำ เดินสายเป็นวิทยากรบ้าง

“เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ใครที่ทำอยู่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของคนทำนะครับ ด้วยความห่วงใย กว่าที่มันจะได้ออกดอกออกผล อย่างผมนี้ทำมาอยู่ 5-6 ปีก็ยังได้ประมาณหนึ่งยังไม่ถึงจุดที่เราคิดว่าสำเร็จ ก็คือการมีงานทำอยู่ที่บ้านสำหรับลูกหลานที่ไม่อยากไปที่อื่นแล้วนะครับ มันก็คือรายได้พอที่จะเลี้ยงตัวได้ อย่างที่สองก็คือมันไม่ได้ต่อยอดสิ่งที่เราทำอยู่ให้เป็นประโยชน์กับชุมชนมากขึ้นอย่างเช่นสมุนไพรที่เราปลูกมันจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าสุขภาพอะไรต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ เฮือน ฮ่วม แฮง ก็กำลังคิดจะต่อยอด ทำผลิตภัณฑ์ แบรนด์ของตัวเองเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป”
           
ปัจจุบัน อัมพร วาภพ นอกจากเปิด เฮือน ฮ่วม แฮง เป็นศูนย์อบรม เป็นทีมงาน “อาสาพัฒนาบ้านเกิด” กับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว อาชีพอีกประการหนึ่งคือ ผลิตสื่อให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วไป
          
เท่าที่มองเห็นความสำเร็จของอัมพร วาภพ ปัจจัยสำคัญนอกจากเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ จากการเป็นนักศึกษาเด็กกิจกรรม ทำงานเครือข่ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนในครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ สภาพแวดล้อมที่นี้อากาศดี จัดสรรที่ดิน 10 กว่าไร่ไว้อย่างลงตัว เมื่อครอบครัวอบอุ่น สภาพแวดล้อมดี มีอาหารปลอดสารพิษ ครอบครัว “วาภพ” จึงมีคนอายุยืนคือคุณยายของอัมพร ที่มีอายุยืนถึง 106 ปี ซึ่งตอนที่ทีมงานไปดูพื้นที่ได้พบคุณยายด้วย ยายเป็นคนอารมณ์ดี แย้มแย้มแจ่มใส พูดคุยรู้เรื่อง อ่านหนังสือได้ ยายบอก ชอบกินปลาและน้ำพริกผักสด..

เป้าหมายสุดท้ายคือ “ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ  อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี” ก่อตั้งโดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในจังหวัดอุบลราชธานี ที่นี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ บอกว่า ของจริง
        
แต่เสียดายวันนี้ใกล้มืดค่ำเสียแล้ว..เอาไว้โอกาสหน้าหากมีโอกาสจะมาเล่าต่อ ของจริงดั่ง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนว่า จริงหรือไม่??

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.