ที่มาของภาพ, Getty Images

ในที่สุดกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระประมุของค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร

ด้วยพระชนมพรรษาที่สูงวัยถึง 73 พรรษา นี่อาจจะเป็นข้อดีที่ทรงเป็นรัชทายาทผู้ถูกเตรียมความพร้อมสำหรับราชบัลลังก์มาอย่างยาวนาน เปี่ยมด้วยประสบการณ์หลังได้พานพบยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีที่มากถึง 15 คน และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 14 คน เช่นเดียวกับพระราชมารดา

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หลายคนยังคงข้องใจสงสัยว่า รัชสมัยของพระราชาพระองค์ใหม่ จะคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร

สิ่งแรกที่อาจเป็นปัญหาก็คือการก้าวข้ามความเป็นปัจเจกบุคคลของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม ซึ่งขึ้นชื่อมาตลอดว่า ทรงมี “ความเป็นตัวของตัวเอง” กล้าแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ อย่างเปิดเผย แต่บทบาทใหม่ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งต้องมีจุดยืนที่เป็นกลางมากขึ้น หลายคนยังคลางแคลงใจว่า พระองค์จะสามารถปรับเปลี่ยนพระอุปนิสัยในแง่นี้ได้หรือไม่

ศาสตราจารย์เวอร์นอน บ็อกดานอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญอังกฤษมองว่า “กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามทรงรู้พระองค์แต่แรกแล้วว่าจะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีหลังขึ้นครองราชย์ สาธารณชนย่อมไม่ชอบใจหากพระราชาทำตัวเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองเสียเอง”

เมื่อปี 2018 กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามขณะที่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่บีบีซีว่า “ผมไม่ได้โง่ขนาดนั้นนะ ผมรู้ดีว่า การเป็นกษัตริย์นั้นมีบทบาทที่แตกต่างออกไป ความคิดของบางคนที่ว่า ยังไงเสียผมก็คงจะทำตัวเหมือนเดิมนั้น เหลวไหลสิ้นดี”

ศ. บ็อกดานอร์ยังมองว่า รัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามจะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น เหมือนกับพระบรมฉายาลักษณ์บนเหรียญเงินปอนด์รุ่นใหม่ที่จะต้องหันพระพักตร์ไปในทางตรงข้ามกับของรัชกาลก่อน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงจักรยานร่วมกับสมาชิกกองทุนเพื่อเอเชียแห่งอังกฤษ เมื่อเดือนมิ.ย. 2021

เขาคาดการณ์ว่า สหราชอาณาจักรในรัชสมัยปัจจุบันจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติศาสนาสูงขึ้นกว่าในยุคของควีนมาก ทำให้กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องทรงเข้าหาประชากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยและผู้ด้อยโอกาส โดยพยายามเป็นสื่อกลางสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชุมชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม รสนิยมส่วนพระองค์อาจส่งผลให้มีการสนับสนุนศิลปะ ดนตรี และผลงานทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์มากขึ้น แทนที่จะเน้นการจัดงานแข่งม้าซึ่งเป็นเกมกีฬาที่รัชกาลก่อนทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง

ทว่าผู้รับใช้ใกล้ชิดของกษัตริย์พระองค์ใหม่และผู้เชี่ยวชาญบางรายกลับมองว่า จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ ทั้งพระอุปนิสัยที่กล้าพูดกล้าแสดงออกก็จะยังคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรณรงค์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและเกษตรอินทรีย์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

การลดขนาดของราชวงศ์อังกฤษลงตามพระราชดำริของกษัตริย์พระองค์ใหม่ อาจทำให้เหลือเพียงพระบรมวงศ์เท่าที่เห็นในภาพ

“ทรงพระปรีชาสามารถและรอบรู้ในเรื่องพวกนี้ดีมาก ยากที่จะทรงเลิกข้องเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เพียงในชั่วข้ามคืน” เซอร์ลอยด์ ดอร์ฟแมน ซึ่งทำงานกับกองทุนโดยเสด็จพระราชกุศล Prince’s Trust กล่าว

ส่วนนักประวัติศาสตร์อย่างเซอร์แอนโทนี เซลดอน มองว่า ทรงมีความมุ่งมั่นและทรงปักพระทัยในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมากเกินจะถอนพระองค์ เนื่องจากพระราชกรณียกิจด้านนี้ทำให้ทรงได้รับการยกย่องและยอมรับในฐานะผู้เชี่ยวชาญระดับโลกคนหนึ่ง เห็นได้จากการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ถึงกับเข้ามาสนทนาเป็นการส่วนตัวกับพระองค์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยยกย่องว่า ทรงขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในประเด็นนี้ได้ดีและถูกต้องแล้ว

ส่วนประเด็นที่เคยมีพระราชดำริว่า จะเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ให้มีขนาดเล็กลง โดยตัดลดจำนวนพระราชวงศ์ที่ทรงงานอย่างเป็นทางการซึ่งรัฐบาลต้องถวายความดูแล ให้เหลือเพียงผู้มีความสำคัญต่อการสืบสันตติวงศ์เท่านั้น วิกตอเรีย เมอร์ฟี นักวิจารณ์ข่าวราชสำนักบอกว่า “อย่าไปคาดหวังว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้น เพราะพระองค์จะต้องทรงระมัดระวังกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก”

ที่มาของภาพ, PA Media

คำบรรยายภาพ,

พระบรมฉายาลักษณ์ทางการที่เผยแพร่ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 18 พรรษา

หากวิเคราะห์กันที่พระอุปนิสัยส่วนพระองค์แล้ว โฉมหน้าของรัชกาลใหม่อาจไม่ใช่เงาสะท้อนจากภาพลักษณ์ของ “เจ้าชายแห่งเวลส์” ในสายตาสาธารณชนเสียทีเดียว กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามทรงมีบุคลิกภาพที่แสดงออกต่อบุคคลใกล้ชิดวงในและสังคมที่เป็นทางการภายนอกแตกต่างกัน

แม้จะทรงดูเย็นชา ออกจะขี้อายในบางครั้ง และดูเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว แต่สมเด็จพระราชินีคามิลลาเคยตรัสถึงบุคลิกอีกด้านหนึ่งของพระสวามีว่า “ทรงใจร้อนมาก อยากจะทำทุกอย่างให้เสร็จตั้งแต่เมื่อวาน คนภายนอกมองว่า ท่านเคร่งขรึมจริงจังตลอดเวลา แต่พวกเขาไม่เคยเห็นตอนที่ท่านคุกเข่าลงเล่นกับเด็ก ดัดเสียงเป็นตัวละครในหนังสือแฮร์รีพอตเตอร์แล้วพากย์ให้เด็ก ๆ ฟัง”

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เจ้าชายลูอิสแห่งเคมบริดจ์กับพระอัยกา ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติรอบแพลทินัมปี 2021

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทรงพระสรวลร่วมกับสมเด็จพระราชินีคามิลลา เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีมานี้ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามทรงมีบุคลิกที่ดูผ่อนคลายเป็นกันเองกับคนทั่วไปมากขึ้น แต่ก็ยังคงกระตือรือร้นและกระฉับกระเฉงในการทรงงาน แม้จะมีพระชนมพรรษาล่วงเลยวัยเกษียณอายุมามากแล้วก็ตาม

เจ้าชายแฮร์รี พระราชโอรสพระองค์รองเคยประทานสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการทรงงานอย่างหนักของพระราชบิดาว่า “ท่านเสวยอาหารค่ำเอาเสียตอนดึกดื่น แล้วยังจะกลับไปที่โต๊ะทรงงานอีก สุดท้ายก็บรรทมโดยฟุบหลับไปกับสมุดหนังสือบนโต๊ะนั่นเอง”

หิธาน เมห์ธา ซึ่งทำงานกับกองทุนเพื่อเอเชียแห่งอังกฤษ (British Asian Trust) ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าให้บีบีซีฟังว่า “ทรงรักงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างยิ่ง ตอนเกิดน้ำท่วมที่ปากีสถานท่านติดต่อมาหาผมทันทีที่ทรงทราบข่าว แม้จะเป็นเวลาสามทุ่มของวันศุกร์ก็ตาม ทรงถามอย่างร้อนพระทัยว่า จะเราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่ประเมินความเมตตาเอื้ออาทรของพระองค์ไว้ต่ำไป”

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ทรงยึดถือเป็นหลักในการทรงงานมักเป็นสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน โดยทั่วไปแล้วทรงปรารถนาจะอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและความเป็นพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงต้องการปรับเปลี่ยนพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ในระดับหนึ่งด้วย เรียกได้ว่า แนวทางของพระองค์นั้นจะมีทั้งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงและอนุรักษ์นิยมไปพร้อมกัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

เสด็จยังโรงสีข้าวแบบโบราณในมณฑลกลอสเตอร์เชียร์ เมื่อเดือนก.ค. 2020

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

มีพระราชดำรัสเรื่องป่าไม้และการใช้ที่ดิน ในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว

ในอดีตทรงประสบปัญหาบ่อยครั้งในเรื่องการประสานงานและขอความร่วมมือจากรัฐบาล เช่นในกรณีอื้อฉาว “บันทึกแมงมุมดำ” (black spider memos) ที่มีการส่งพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์อันยุ่งเหยิงเหมือนใยแมงมุมถึงรัฐบาลอังกฤษหลายฉบับ โดยข้อความในนั้นมีการแสดงความเห็นส่วนพระองค์ต่อนโยบายต่าง ๆ ในเชิงกดดันรัฐบาลหลายเรื่อง ตั้งแต่การเกษตร การวางผังเมือง การศึกษา ไปจนถึงการอนุรักษ์ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์

อดีตรัฐมนตรีผู้หนึ่งกล่าวแสดงความเห็นว่า แม้ในมุมมองส่วนตัวเขาไม่รู้สึกว่า ถูกกดดันโดยการแทรกแซงทางการเมืองจากสถาบันกษัตริย์ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเกิดความคิดฝังใจว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามไม่ใช่บุคคลที่ยืดหยุ่น วางตัวเป็นกลางในแบบของสถาบันที่เป็นศูนย์รวมใจของชาติ หรือพร้อมจะรับฟังฝ่ายตรงข้าม แต่ทรงขึ้นครองราชย์มาในแบบของปัจเจกบุคคลหัวรั้น ซึ่งมีชุดความคิดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ติดตัวมาด้วย

ในเรื่องนี้กษัตริย์พระองค์ใหม่เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนมาแล้วเมื่อปี 2006 โดยตรัสในเชิงประชดประชันว่า “หากนั่นคือการแทรกแซง ผมจะรู้สึกภาคภูมิใจมาก เพราะยังไงผมก็เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง หากผมไม่ดิ้นรนทำอะไรเลยผู้คนก็จะตำหนิ แต่พอผมพยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาคนก็พากันวิจารณ์อีก”

ที่มาของภาพ, PA Media

คำบรรยายภาพ,

กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามมีพระราชสมภพที่พระราชวังบักกิงแฮมในปี 1948

ต่อมาทรงได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอีกรายเพิ่มเติมว่า ทรงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ข้องแวะการเมืองระดับชาติและการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ แล้ว แต่ทรงทนเงียบอยู่ไม่ได้หากเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน

ท่าทีเช่นนี้ชวนให้สงสัยว่า กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงได้รับการสนับสนุนจากพลเมืองสหราชอาณาจักรมากน้อยแค่ไหน และพระองค์จะเป็นที่ศรัทธาชมชอบในหมู่พสกนิกรหรือไม่

ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของ YouGov เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ชี้ว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามทรงกำลังมีคะแนนนิยมในหมู่สาธารณชนเพิ่มขึ้น โดยผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนเกือบ 2 ใน 3 มองพระองค์ในแง่บวก แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของพระองค์ก็ยังคงตามหลังพระราชมารดาและเจ้าชายวิลเลียมอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ทรงงานด้านการวางผังเมืองที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในมณฑลดอร์เซต

วิกตอเรีย เมอร์ฟี นักวิจารณ์ข่าวราชสำนักมองว่า การที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามไม่สู้ได้รับความนิยมมากนัก อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ของพระองค์ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงทางโทรทัศน์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์อันร้าวฉานของพระองค์กับเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1997

ที่มาของภาพ, Chris Jackson / Clarence House

คำบรรยายภาพ,

ทรงฉายพระรูปร่วมกับสมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระสุนิสา และพระราชนัดดา ในสวนของพระตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์

อิทธิพลลบจากสื่อมวลชน ทำให้มีความพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ขนานใหญ่ ในช่วงก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก โดยศาสตราจารย์พอลีน แม็กคลาแรน จากมหาวิทยาลัยลอนดอนบอกว่า มีการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป จากภาพลักษณ์คนชั้นสูงที่ดูเย่อหยิ่งเย็นชา มาเป็น “นักปราชญ์ด้านสิ่งแวดล้อม” ที่แม้จะยังดูเคร่งขรึมจริงจัง แต่ก็เป็นผู้รู้ซึ่งมีความเอื้ออาทรและทำเพื่อส่วนรวม

ที่มาของภาพ, PA Media

คำบรรยายภาพ,

ทรงดูโศกเศร้าเสียพระทัยอย่างชัดเจนในพิธีพระศพเจ้าชายฟิลิป พระราชบิดา

นอกจากเรื่องของการเอาชนะใจปวงประชาแล้ว ยังคงมีด่านอุปสรรคที่ท้าทายและรอให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงก้าวข้ามไปอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะสางเรื่องอื้อฉาวของพระราชวงศ์ที่ยังคาราคาซัง เช่นในกรณีของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก หรืออนาคตที่น่ากังวลของเครือจักรภพซึ่งมีหลายประเทศที่ถอนตัว หรือไม่ยอมรับกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐอีกต่อไป ซึ่งคนทั่วโลกจะต้องคอยเฝ้าดูกันอย่างใจจดใจจ่อว่า รัชกาลใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นจะผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้หรือไม่และด้วยวิธีใดกันแน่