รองอธิบดี 'โกศลวัฒน์' เตือนซิ่งรถระวัง หลังอส.ออกหนังสือเวียนอัยการฟ้องศาลขอยึด

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัวกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือเวียนให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาผู้ขับรถ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากการใช้รถใช้ถนนโดยให้อัยการใช้ดุลพินิจในการขอริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ความว่า โดนยึดรถ..! เมาแล้วขับรถย้อนศร…! รถที่รัก รถคันโปรด.. รถคู่ชีพ ต้องจากไป…เพราะ “ข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ข้อหานี้ ไม่ต้องเมาอัยการก็ฟ้องให้ยึดรถได้..! แข่งรถ ก็ใช่ อัยการแขวง ใช้ข้อหานี้ฟ้องให้ยึดรถมาแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4730 / 2564 จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ของกลางไปตามถนนพุทธรักษา อันเป็นทางสาธารณะในขณะเมาสุราและขับรถย้อนศรสวนทิศทางการเดินรถไม่เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้อันเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นที่สัญจรไปมาบนถนน รถยนต์ของกลางจึงถือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องของอัยการโจทก์โดยตรงอันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33

สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือเวียน ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรโดยเฉพาะผู้ขับรถ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากการใช้รถใช้ถนน โดยให้อัยการใช้ดุลพินิจในการขอริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ใน…ข้อหา..”ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” อย่าฝ่าฝืน อัยการแขวง จะใช้ดุลพินิจ ขอให้ศาลสั่งริบรถ..! อย่างเคร่งครัด #อัยการหนุ่ยบอกให้รู้ขับรถเคารพกฎหมายจราจร จะไม่ถูกฟ้องยึดรถ รถที่รัก รถคู่ชีพ รถคันโปรด จะได้อยู่กับคุณไปนานๆ…. ไม่ถูกศาลตัดสินให้ริบรถ..!

นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่าจากที่โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าปกติคดีเมาแล้วขับ หรือขับรถแข่งบนทางสาธารณ ไม่ได้มีโทษยึดรถ แต่ผู้ขับขี่มีพฤติการณ์ “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” แล้วพนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งพนักอัยการมา อัยการจะพิจารณาสั่งฟ้องข้อหา”ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” เข้าไปด้วย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8) และขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ตาม ป.อาญา มาตรา 33 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางอยู่แล้ว

นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้อาจรวมไปถึงคดีขับรถประมาท อาทิ ขับรถฝ่าไฟแดง ที่มีลักษณะอันตรายหรือขับรถจงใจเบียดปาดหน้ากัน ซึ่งตามปกติคดีลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะไปจบที่สถานีตำรวจ แค่จ่ายค่าปรับก็จบคดี แต่ต่อไปนี้ตนในฐานะรองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง ซึ่งมีเขตอำนาจรับผิดชอบคดีลักษณะนี้ ได้ประสานไปยังทุก อัยการศาลแขวงให้ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสถานีตำรวจทั้งกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรี เพื่อดูพฤติการณ์ผู้ขับขี่ว่าเข้าข่ายขับขี่รถที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นหรืออาจทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ให้ทำสำนวนส่งมายังพนักงานอัยการใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องมีคำสั่งริบรถของกลางที่ใช้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัดตามหนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป

QR Code LINE @Matichon

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก

Line @Matichon ได้ที่นี่

LINE @Matichon