จากเอกสารเก่าอายุกว่า 60 ปี เห็นได้ชัดว่ารถแข่งคันแรกของ Toyota ที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ฟูจิ เป็นตัวแทนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์สามห่วง ด้วยความหลงใหลในกีฬามอเตอร์สปอร์ตของผู้ก่อตั้ง Toyota Motor Corporation Mr. Kiichiro Toyoda (พ.ศ.2437-2495) จิตวิญญาณของ Kiichiro ได้หลอมรวมอยู่ในรถแข่ง Toyopet Racer ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งคันจากแบบแปลนที่หลงเหลืออยู่ในโกดังเก็บของ ในยุคแรกเริ่มของ Toyota ประธานบริหาร Kiichiro Toyoda มีแผนงานที่ยิ่งใหญ่ในการบุกเบิกอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายส่งรถเข้าร่วมทำการแข่งขันเป็นครั้งแรก ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการขับของรถยนต์ Toyota ให้ดีขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการแข่งขันแล้วนำมาปรับปรุงให้รถยนต์แบรนด์สามห่วงมีการขับที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ความหลงใหลในโลกแห่งความเร็วของ Kiichiro ถูกเปิดเผยโดยเอกสารทางประวัติศาสตร์ของ Toyota และสิ่งที่ Morizo หลานชายของ Kiichiro ได้ทำการสานต่อ เพื่อแสวงหาการผลิตรถยนต์ที่ดีขึ้น มอเตอร์สปอร์ต ดูเหมือนจะทับซ้อนกันกับความชอบของ Akio Toyoda หรือนามแฝง Morizo ประธานบริหารสูงสุดของ Toyota Motor Corporation คนปัจจุบัน ที่ชอบนั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถแข่ง และมีความหลงใหลในมอเตอร์สปอร์ตเหมือนกับคุณปู่ Kiichiro Toyoda ทุกประการ เนื่องจากมอเตอร์สปอร์ตได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Toyota ซึ่งใช้เก็บข้อมูลของรถแข่งที่ลงทำการแข่งขัน มาปรับปรุงและพัฒนารถยนต์รุ่นผลิตขายจริงของ Toyota ให้ดียิ่งขึ้น
รถแข่งในตำนาน
“อย่างไรก็ตาม มีน้อยคนที่เคยได้ยินชื่อรถแข่งคันนี้ แม้แต่ใน Toyota Motor Corporation เองก็ตาม” Mr. Naoaki Nunogaki, Director of the Toyota Automobile Museum อธิบายในวันต้อนรับสื่อมวนชนของไทย ที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Fuji Speedway Hotel
“Toyopet Racer เป็นรถแข่งคันแรกและคันเดียวที่ Kiichiro Toyoda มีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่เนื่องจากในขณะนั้น Toyota กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ท่ามกลางวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) สมาคมผู้แทนจำหน่าย Toyota ได้เข้ามามีบทบาทรับผิดชอบในการพัฒนารถแข่งรุ่นนี้แทน Toyota Motor Corporation ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในห้วงเวลานั้นการแข่งรถในประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ที่จุดเริ่มต้นของขั้นตอนในการวางรากฐาน พูดง่ายๆ ก็คือ การแข่งรถในดินแดนอาทิตย์อุทัยยังอยู่ในสภาพที่สับสนวุ่นวาย ยิ่งไปกว่านั้น Kiichiro Toyoda ก็มาเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปี 1952 (พ.ศ.2495) เหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้ทำให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดถูกเก็บงำเป็นความลับ” Naoaki Nunogaki กล่าว
Nunogaki เองก็ไม่ทราบถึงการมีอยู่ของรถแข่ง Toyopet Racer ซึ่งเปรียบเหมือนรถแข่งคันแรกของ Toyota จนกระทั่งได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Fuji Speedway คนปัจจุบัน ซึ่ง Nunogaki ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ
เมื่อการพัฒนารถแข่ง Toyopet Racer สิ้นสุดลง มีการเปิดตัวสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2493 ฝ่ายขายของบริษัท Toyota Motor ได้แยกตัวออกไปก่อตั้งเป็นแผนกฝ่ายขายในเดือนเมษายน พ.ศ.2493 และมีการประกาศในนิตยสารประชาสัมพันธ์ “All Toyota (ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2493)” จัดพิมพ์โดยฝ่ายการตลาด ในนิตยสารมีการแนะนำให้ Toyota Motor เข้าร่วมการแข่งรถ ด้วยรถแข่ง Toyopet Racer อย่างไรก็ตาม Kiichiro Toyoda ประธานบริษัทฯ ไม่ได้ทำหน้าที่ในการบริหาร Toyota Motor อีกต่อไป เขาลาออกในเดือนมิถุนายนของปีนั้น จากสาเหตุวิกฤตการณ์ทางการเงินของบริษัท Toyota
ท่ามกลางวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Toyota รถแข่ง Toyopet Racer ได้รับการพัฒนานานถึงห้าปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ทุกอย่างตั้งแต่นักการเมืองญี่ปุ่น ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจในญี่ปุ่นขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกองบัญชาการใหญ่กองกำลังสัมพันธมิตร หรือ GHQ (สำนักงานใหญ่) อย่างเข้มงวด และต้องได้รับใบอนุญาตจาก GHQ เท่านั้นถึงจะทำการผลิตรถยนต์ได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2491 บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น รวมถึง Toyota ก็ได้รับอนุญาตจากกองบัญชาการใหญ่กองกำลังสัมพันธมิตรให้ทำการผลิตรถยนต์ได้ในที่สุด
แต่โชคชะตากลับไม่เข้าข้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของแดนปลาดิบในขณะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากนั้น GHQ ก็ดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด หรือที่เรียกว่า Dodge Line เพื่อเข้าควบคุม ในปี พ.ศ.2492 ยอดขายรถยนต์ของญี่ปุ่นลดฮวบลง และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน บริษัทรถแบรนด์ต่างๆ ของญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้วิธีเลิกจ้าง หรือปลดพนักงาน
ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.2493 Toyota Motor Sales ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อแยกฝ่ายการผลิตออกจากฝ่ายขาย การแยกกันดังกล่าว เพื่อเป็นไพ่ใบสุดท้ายในการฝ่าวิกฤติใหญ่ อย่างไรก็ตาม Toyota เองก็เกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงาน ในตอนแรกพนักงานและผู้บริหารของบริษัทฯ ได้ตกลงที่จะไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่ Toyota ไม่สามารถต้านทานนโยบายที่เข้มงวดทางการเงินของกลุ่มเงินทุนที่ประกอบด้วยธนาคาร 24 แห่ง นำโดยธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดหาเงินทุนเพื่อการปรับโครงสร้างของบริษัท Toyota แนวคิดในการปลดพนักงานจึงมาจากผู้บริหารของกลุ่มเงินทุนนั่นเอง
ท่ามกลางความยากลำบากที่เกิดขึ้น Toyota ได้ทำข้อเสนอเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อลดจำนวนพนักงาน ในที่สุดก็หาข้อตกลงกันได้ แต่ Kiichiro Toyoda รู้สึกถึงความรับผิดชอบและเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจึงก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหารของบริษัทฯ สมาชิกของสหภาพแรงงานบางคนยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่ท่านประธาน Kiichiro จะต้องลาออกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ Kiichiro ก็ยืนหยัดในการตัดสินใจอันเด็ดขาดของตัวเอง ด้วยการวางมือจากตำแหน่งประธานบริหารสูงสุดของ Toyota
“เห็นได้ชัดจากบทความที่ Kiichiro Toyoda เขียนให้กับนิตยสาร Aichi Toyota PR ในภายหลังว่า การพัฒนาและสร้างรถแข่ง Toyopet Racer เป็นความคิดของ Kiichiro ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ประธานบริหารสูงสุดของบริษัทฯ คิดที่จะมีส่วนร่วมในการแข่งรถ ในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างรถคันนี้ที่ Toyota Motor ให้สำเร็จ แต่ Kiichiro มีความเชื่อมั่นว่าอนาคตและการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นนั้นจะขึ้นอยู่กับรถยนต์ขนาดเล็กที่มีความโดดเด่น ด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็กกำลังสูง ประหยัดเชื้อเพลิงและขับได้ดี การที่จะทำเช่นนั้นก็เพื่อต้องการปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีกับรถยุโรปและรถของอเมริกัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
Toyota จำเป็นต้องทำการปรับปรุงเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน ผ่านการเข้าร่วมทำการแข่งขันรถยนต์นานาชาติ Kiichiro ต้องการพัฒนารถแข่งโดยเร็วที่สุดเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน” Naoaki Nunogaki กล่าว เพื่อบรรลุความฝันของเขา Toyota Motor Sale แทนที่จะเป็น Toyota Motor ได้รับเลือกให้พัฒนาและสร้างรถแข่ง ชื่อ Toyopet Racer ใช้เพื่อโปรโมตชื่อ “Toyopet” สำหรับรถยนต์ของ Toyota ซึ่งในเวลานั้นได้รับเลือกจากชื่อที่ส่งเข้ามา หลังจากการอุทธรณ์ของสาธารณชน เพื่อขอคำแนะนำ เห็นได้ชัดจากจดหมายที่ Kiichiro เขียนถึง Motoharu Kobayakawa ว่า โครงการพัฒนารถแข่ง Toyopet Racer เป็นความคิดของ Kiichiro ทั้งหมด
Kobayakawa เป็นคนสนิทของ Kiichiro และเป็นผู้บุกเบิกกีฬามอเตอร์สปอร์ตในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยแข่งรถในฐานะนักแข่งรถสมัครเล่น ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ดูเหมือนว่า Kiichiro ได้ปรึกษากับ Kobayakawa เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ Toyota ในกีฬามอเตอร์สปอร์ต จดหมายดังกล่าวมีข้อความที่กล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นการดีกว่า ที่จะให้ฝ่ายขายของบริษัทฯ เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของบริษัทผู้ผลิตทั้งหมด ผมหวังว่าจะได้คุยกับฝ่ายขายของบริษัทเพื่อความเข้าใจ” นี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความจริงที่ว่า Kiichiro Toyoda เป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังโครงการรถแข่ง Toyopet Racer ซึ่งเป็นความคิดของเขาเองทั้งหมด
แชสซีและเครื่องยนต์
รถแข่ง Toyopet Racer มีต้นแบบมาจาก Toyopet Model SD ซึ่งเปิดตัวในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) และถูกนำมาใช้เป็นรถแท็กซี่สาธารณะ นี่คือรถที่มีตัวถังทำจากเหล็กทั้งหมด เครื่องยนต์เบนซิน S-type แบบ 4 สูบแถวเรียง ความจุขนาด 995 ซีซี พร้อมระบบ side-valves ให้กำลัง 27 แรงม้า ติดตั้งบนโครงสเปซเฟรมที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับ Toyopet Model SB Truck ซึ่งเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่เปิดตัวในปี พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947)
Toyopet Racer ใช้เฟรมแบบโครงบันไดยึดติดกับแท่นเครื่องยนต์ที่ด้านหน้า ประกอบเข้ากับตัวถังดั้งเดิมที่คล้ายกับรถแข่งของยุโรปในสมัยนั้น ซึ่งพัฒนาโดยฝ่ายบริการของผู้แทนจำหน่าย Toyota รถยนต์หมายเลข 1 สร้างเสร็จโดยผู้แทนจำหน่าย Toyota Osaka ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2494 ส่วนรถยนต์หมายเลข 2 สร้างโดย Toyota Motor Aichi “ตัวถังผลิตขึ้นด้วยมือ และการออกแบบนั้นขึ้นอยู่กับช่างที่ทำงานในไซต์งาน ดังนั้นรถหมายเลข 1 และหมายเลข 2 จึงดูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง Toyota มีแผนที่จะสร้างรถแข่งถึง 6 คันในตอนนั้น แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยการสร้างเพียง 2 คันเท่านั้น” Naoaki Nunogaki อธิบาย
เมื่อ Toyopet Racers ได้รับการสร้างขึ้นมาจนเสร็จสมบูรณ์ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นก็ถูกส่งเข้าสู่สภาไดเอทในเดือนมีนาคม พ.ศ.2493 กฎหมายดังกล่าวสะท้อนถึงทัศนคติในยุคสมัยที่มีต่อรถยนต์ในประเทศและการแข่งรถ จุดมุ่งหมายก็คือ การปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์และตัวถัง โดยจัดการแข่งขันที่มีเฉพาะรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ผลิตในประเทศเท่านั้นที่จะสามารถเข้าร่วมทำการแข่งขันได้ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายานยนต์ขนาดเล็ก ที่บริษัทรถยนต์ในญี่ปุ่นจะส่งออกไปขายยังต่างประเทศในอนาคต กล่าวอีกนัยหนึ่ง วัตถุประสงค์หลักของการแข่งรถที่ผลิตในประเทศก็คือ เพื่อส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ภายในประเทศญี่ปุ่นให้รุดหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้มีจุดประสงค์อื่นร่วมอยู่ด้วย เพื่อช่วยสนับสนุนทางการเงินให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น ผ่านการพนันที่ดำเนินการโดยเทศบาลอย่างถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับการแข่งจักรยาน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลานั้น
กฎหมายดังกล่าวผ่านสภาไดเอทเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมปี 1950 ในเดือนตุลาคม การแข่งขันรถยนต์ครั้งแรกในญี่ปุ่นก็ถูกจัดขึ้น ยาวนานถึงหกวัน บนสนามแข่งที่สร้างขึ้นภายในสนามแข่งม้าฟุนาบาชิ เมืองฟุนาบาชิ จังหวัดชิบะ ส่วนใหญ่เป็นรถมอเตอร์ไซค์แข่ง มีการจัดการแข่งขันระหว่าง Datsun, Ohta ซึ่งดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก
การเข้าร่วมการแข่งขันของ Toyopet Racers มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขายรถ Toyopet ซึ่งเป็นรถที่บริษัท Toyota ขายอยู่ในขณะนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การพัฒนาและการผลิต Toyopet Racer และการมีส่วนร่วมในการแข่งรถ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการกระตุ้นยอดขาย บริษัทสามารถกู้คืนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาได้ด้วยการชนะเงินรางวัล และยังได้รับประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ที่เกิดจากการเข้าร่วมการแข่งขัน
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2493 ฝ่ายการตลาดของ Toyota Motor Sales ตัดสินใจใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างรถแข่งสองคันเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2494 ที่สนาม Funabashi หลังจากการหารือระหว่างแผนกเทคโนโลยีและแผนกต้นแบบของ Toyota Motor กลุ่มผู้บริหารของ Toyota ลงความเห็นว่า Toyopet Racer จะได้รับการพัฒนาและผลิตโดยแผนกบริการของผู้แทนจำหน่าย Toyota Osaka และ Aichi Toyota Motor เพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น
วันที่ 1 มีนาคม สองเดือนก่อนที่ Toyopet Racers ทั้งสองจะถูกสร้างจนเสร็จ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2494 (1951) เมื่อ Kiichiro เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่จัดโดยสมาคมผู้แทนจำหน่าย Toyota ในที่ประชุม Kiichiro Toyoda ยืนยันว่า “ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับการแข่งรถ เพื่อวัตถุประสงค์ในพัฒนา ไม่ใช่เพื่อการพนัน เราต้องมีส่วนร่วมหากการแข่งขันจะเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่า รถยนต์ที่ผลิตในประเทศเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้ และการแข่งรถจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ของญี่ปุ่นให้รุดหน้าต่อไป” Kiichiro Toyoda ตอกย้ำปรัชญานี้ ก่อนที่จะเสียชีวิตลงเมื่ออายุเพียงแค่ 57 ปี ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2495 (1952) ในบทความ Auto Race-to Kokusan Jidosha Kogyo (Auto Racing and the Domestic Automobile Industry) Kiichiro Toyoda เขียนบทความลงในนิตยสาร PR ของ Aichi Toyota Motor ฉบับ “Aichi Toyota” ว่า
“ในฐานะประชาชนของประเทศที่แพ้สงคราม เป็นไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจที่เราจะพยายามเลียนแบบประเทศอื่นๆ ในการออกแบบและสร้างรถยนต์ที่ทำขึ้นมาสำหรับการแข่งรถโดยเฉพาะ แต่เราสามารถปรับให้กำลังเครื่องยนต์รุ่นปัจจุบัน มีเรี่ยวแรงมากกว่า 100 แรงม้า หรือออกแบบแชสซีพิเศษที่มีความเสถียรสูง นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับผลลัพธ์ที่น่าสนใจในการแข่ง ในขณะที่ทำเช่นนั้น เศรษฐกิจของเราจะค่อยๆ ฟื้นตัว และถ้าเราก้าวหน้าอย่างมั่นคง มันจะทำให้ Toyota สามารถสร้างรถแข่งที่ลงทำการแข่งขันในต่างประเทศได้ แต่การทำเช่นนี้เราต้องตั้งเป้าที่จะสร้างเครื่องยนต์ที่มีความจุอย่างน้อย 1,000 ซีซี กับกำลังมากถึง 200 แรงม้า”
“นั่นเป็นวิธีที่รถยนต์ญี่ปุ่นจะได้รับการยอมรับในต่างประเทศ แลจะทำให้รถรุ่นใหม่เริ่มขายได้อย่างมั่นคงในประเทศอื่นๆ ยังมีหนทางอีกยาวไกล ขึ้นอยู่กับความพยายามที่เราทุ่มเทลงไปทั้งหมด ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าเวลาดังกล่าวจะมาถึงในที่สุด บางคนเชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่นมีรากฐานที่ดีอยู่แล้ว และแม้ว่าพวกเขาอาจพูดถูกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถบรรทุก แต่ส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ในญี่ปุ่นจึงยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา และยังไม่เติบโตจนประสบความสำเร็จ อาจมีอนาคตที่สดใสสำหรับอุตสาหกรรมนี้รออยู่ แต่เราต้องจำไว้ว่ายังมีความยากลำบากอีกมากรออยู่ข้างหน้า”
“การแข่งรถและอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ เปรียบเสมือนล้อทั้งสองด้านของรถ รถไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยหมุนเฉพาะล้อด้านเดียว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ล้อทั้งสองด้านจะหมุนพร้อมกัน และเราจะก้าวหน้าต่อไป…”
นี่คือข้อพิสูจน์ถึงวิสัยทัศน์ของ Kiichiro Toyoda สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งผู้ผลิตญี่ปุ่นจะต่อยอดเทคโนโลยีของตนผ่านการแข่งรถ และพัฒนารถยนต์ขนาดกะทัดรัดสมรรถนะสูงที่สามารถแข่งขันกับบริษัทในต่างประเทศ นำพาบริษัทผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นก้าวไปสู่ความสำเร็จในตลาดรถยนต์ต่างประเทศได้ ในโลกของการแข่งรถก็เช่นกัน พวกเขาจะแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ผลิตในต่างประเทศ
การพัฒนาและการผลิต Toyopet Racer ซึ่งเป็นรถแข่งคันแรกของ Toyota ที่ใช้ส่วนประกอบหลายอย่างของ Toyopet Model SD เป็นก้าวแรกในการบรรลุวิสัยทัศน์นี้ ในปี 2020 Nunogaki ตัดสินใจแจ้งต่อประธาน Akio Toyoda ว่าเขาและทีมวิศวกรต้องการชุบชีวิตรถแข่งคันนี้เพื่อส่งต่อจิตวิญญาณของ Kiichiro Toyoda ให้กับคนรุ่นหลัง
“น่าเสียดายที่โครงการ Toyopet Racer เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายของการแข่งรถนั้น ไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ หรือประสบความสำเร็จในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม เจตจำนงของผู้ก่อตั้ง Toyota Motor Corporation ที่จะสร้างรถยนต์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นโดย Kiichiro Toyoda รถแข่งเพียงหนึ่งเดียวที่ช่วยสร้างแรงบันดานใจ ให้การพัฒนารถยนต์ในยุคแห่งความยากลำบากของ Toyota กลายเป็นความจริง เป็นมรดกตกทอดจนมาถึงประธานบริหารคนปัจจุบัน Mr. Akio Toyoda ซึ่งเป็นหลานชายของ Kiichiro Toyoda วิธีที่ดีที่สุดในการส่งต่อจิตวิญญาณนี้ไปยังคนรุ่นหลังก็คือ การฟื้นฟูยานพาหนะสำหรับการแข่งขันคันนี้ให้สำเร็จ” Naoaki Nunogaki, Director of the Toyota Automobile Museum กล่าว…
Nunogaki กล่าวต่อว่า “ประธาน Akio Toyoda มองว่าการแข่งรถเป็นสถานที่สำหรับการพัฒนารถยนต์ให้ดีขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะนำไปสู่อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในวันที่ 22 และ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เขานั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถแข่งที่ใช้เชื้อเพลิงแบบใหม่ เพื่อเข้าร่วมและจบการแข่งขัน “2021 Super Taikyu Series Round 3, Fuji Speedway 24 Hours” ด้วยรถ Corolla ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งเหมือนกับปรัชญาที่เริ่มต้นมาจากรถแข่ง Toyopet Racer นอกจากนี้มันยังเป็นรถแข่งเพียงคันเดียวที่คุณปู่ของ Akio Toyoda มีส่วนร่วมในการพัฒนา ผมได้บอกกับท่านประธาน ถึงความฝันที่จะฟื้นคืนชีพเครื่องจักรนี้” Akio Toyoda เห็นชอบอย่างรวดเร็ว และอนุมัติให้เริ่มต้นการบูรณะทันที นั่นกลายจุดเริ่มต้นของโครงการเพื่อฟื้นฟู Toyopet Racer โดยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Nunogaki และพนักงานของ Toyota ที่รับอาสาเข้าร่วมงานฟื้นฟู…..
Mr. Naoaki Nunogaki, Director of the Toyota Automobile Museum
มีส่วนร่วมในการพัฒนา Harrier รุ่นที่ 1, Altezza และ ist เป็นหัวหน้านักออกแบบ ในปี พ.ศ.2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไปของ Global Design Planning Division รับผิดชอบด้านกลยุทธ์การออกแบบและการสร้างแบรนด์โดยรวมของ Toyota เขาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์รถยนต์ Toyota ตั้งแต่ปี 2014 ในเดือนมกราคม 2020 เข้าดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปแผนก Corporate Citizenship.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ย้อนอดีตห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์แบรนด์ TOYOTA ล้มลุก คลุกคลาน จนประสบความสำเร็จ
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
– Website : www.thairath.co.th
– LINE Official : Thairath
This website uses cookies.