Motor Sport Sponsored

ภารกิจเทควันโด – ไทยรัฐ

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

ฟอลโลว์ โตเกียวเกมส์ ยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 อย่างต่อเนื่อง วันนี้ได้รับเกียรติจาก “เสี่ยบิ๊ก” ธนฑิตย์ รักตะบุตร เลขาธิการสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้จัดการทีมเทควันโดไทย มาบอกเล่าการเดินทาง และความเป็นอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา ในยุคที่เรายังต้องสู้กับโควิด-19 ว่าเป็นอย่างไร

ภารกิจในการล่าเหรียญทองของนักกีฬาเทควันโดในช่วงแรกที่กรุงโตเกียวมีอะไรบ้าง ลองไปอ่านกัน…

คณะนักกีฬาเทควันโด ออกเดินทางโดยสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ JL034 ในคืนวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม 2564 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง เราเดินทางมาด้วยกัน 5 คน โดยมีผม ธนฑิตย์ รักตะบุตร เลขาธิการ ในฐานะผู้จัดการทีม รวมถึง เช ยอง ซอก โค้ชทีมชาติไทย วิชิต สิทธิกันฑ์ ผู้ช่วยโค้ช “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ และ “จูเนียร์” รามณรงค์ เสวกวิหารี

ทางสมาคมฯ โดย ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ให้เราเดินทางในชั้นธุรกิจ เพื่อให้มีพื้นที่ และเว้นระยะห่าง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สืบเนื่องจากมาตรการในการจัดที่นั่งของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์สำหรับนักกีฬาโอลิมปิกที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน จะได้รับการเว้นระยะ ซ้ายขวาหน้าหลัง 2 ที่นั่ง นั้นได้บังคับใช้สำหรับการโดยสารเครื่องบินภายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในชั้นธุรกิจของเที่ยวบินที่เราโดยสารมานั้น ไม่มีผู้โดยสารท่านอื่นเลย มีแต่คณะนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยเท่านั้น

เราเดินทางมาถึงสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม เวลาประมาณ 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่สายการบินให้เราลงเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของโอลิมปิกมาต้อนรับ และนำเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง

การเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ยากมากๆ รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่อนุญาตให้คนไทยเข้ามาท่องเที่ยว ยกเว้นในกรณีที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลเท่านั้น

เราจึงต้องเตรียมเอกสารตามที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นกำหนด และประสานงานกับทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ
เริ่มตั้งแต่การจดบันทึกอุณหภูมิร่างกาย 14 วันก่อนเดินทาง การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR โดยโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น เราต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน 5 วัน และ 3 วันก่อนวันที่จะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น
เราต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน OCHA (www.ocha.go.jp) ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและติดตาม เจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

เราเดินออกจากเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังสถานีที่ 1 เพื่อสแกน QR code บน application OCHA จากนั้นก็เริ่มกระบวนการตรวจเอกสารทั้งหมดที่เราเตรียมมา รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ที่สนามบินฮาเนดะ โดยตรวจผ่านทางน้ำลาย (Saliva test) เราผ่านสถานีตรวจเอกสาร และสแกน QR code เข้าระบบประมาณ 8 สถานีในสนามบินฮาเนดะ

โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และแพทย์หลายสิบคนคอยแนะนำ และอำนวยความสะดวก หลังจากผ่านกระบวนการตรวจและคัดกรองเชื้อโควิด-19 แล้ว เจ้าหน้าที่ได้พาเรามาทำ Olymic ID Card ซึ่งใช้เวลาไม่นาน

เราผ่าน ตม.ออกมาได้อย่างราบรื่น ได้รับความสะดวกสบาย และความเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่ที่สนามบิน และอาสาสมัครที่มาต้อนรับ ในระหว่างทางที่เราเดินไปยังจุดพักรอรถ เราได้พบกับคุณปัทมาวดี เอื้ออารีย์จิต ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว และคณะมาต้อนรับ และมาอวยพรให้เทควันโดทีมชาติไทยการลงชิงชัยในครั้งนี้

ที่จุดพักคอย เราได้รับของว่างและน้ำดื่ม เมื่อผลตรวจเชื้อออกมาเป็นลบ เราจึงได้ขึ้นรถโดยสารมุ่งหน้ามายังหมู่บ้านนักกีฬา เราใช้เวลาประมาณ 30 นาที เดินทางโดยรถยนต์จากสนามบินฮาเนดะ มาถึงหมู่บ้านนักกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้จัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาดูแลเราเป็นอย่างดี ใช้เวลาเพียง 30 นาที เราก็ได้เข้าพักในห้องพักที่ได้จัดไว้

Tokyo Olympic 2020 เป็นโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต ที่ผมมีโอกาสได้มาร่วม และมาในฐานะผู้จัดการทีม นับเป็นมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ผมได้ร่วมงานกับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย และเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีระเบียบ มีขั้นตอน และพิธีการที่ไม่เหมือนมหกรรมกีฬาใดๆ ในโลกนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทาง จำกัดสถานที่ในการเดินทาง โดยเราจะไปได้ 3 ที่ คือ หมู่บ้านนักกีฬา สนามซ้อม และสนามแข่ง

ไม่อนุญาตให้ใช้รถโดยสารสาธารณะ ไม่อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ที่กำหนด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ต้องเลือกเวลาการลงไปรับประทานอาหาร ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกวัน ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมการแข่งขัน สื่อมวลชนและบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาในหมู่บ้านนักกีฬา ไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมในสนามแข่งขัน และนักกีฬาที่ชนะจะต้องคล้องเหรียญรางวัลด้วยตนเอง

ภายในห้องรับประทานอาหาร ซึ่งเราเดินมาจากอาคารที่พักไม่เกิน 10 นาที ก็จัดไว้เป็นอย่างดี มี 2 ชั้น รองรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ได้ 4,500 คน มีอาหารเสิร์ฟตลอด 24 ชั่วโมง กว่า 700 เมนู ทั้งอาหารยุโรป เอเชีย และฮาลาล มีครบ แถม ไอศกรีมมีให้ไม่อั้น

ถึงจะมีความยากลำบาก และมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยม ต้องขอแสดงความชื่นชมทั้งรัฐบาล ผู้จัดการแข่งขัน นักกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมการแข่งขันจากทุกประเทศทั่วโลกที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกำหนด และมาตรการอันเข้มงวดด้วยความเต็มใจ

ด้วยนโยบายที่ชัดเจน ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้การจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่จัดขึ้นในปี 2021 นี้เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่จดจำของมวลมนุษยชาติ ครั้งนึงในประวัติศาสตร์การกีฬาบนโลกใบนี้

ฝากพี่น้องชาวไทยร่วมเชียร์และส่งกำลังใจ ให้ “เทนนิส” พาณิภัค และ “จูเนียร์” รามณรงค์ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ในวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้นะครับ…

ธนฑิตย์ รักตะบุตร

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.